พระพุทธเจ้าเสด็จไปนั่งขัดสมาธิที่ร่มไม้จิก อันมีนามว่า มุจจลินท์ อันตั้งอยู่ในทิศบูรพาหรือทิศอาคเนย์ แห่งไม้มหาโพธิ์ เสวยวิมุตติสุขอยู่ ณ ที่นั้นอีก 7 วัน. ช่วงนั้น ฝนตกพรำตลอด 7 วัน พญานาคนามว่า มุจจลินท์นาคราช มีอานุภาพมาก อยู่ที่สระโบกขรณี ใกล้ต้นมุจลินท์นั้น มีความเลื่อมใสในรูปพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระรัศมีโอภาส อันงามกว่าเทวดาทั้งหลาย จึงเข้าไปใกล้ แล้วขดเข้าซึ่งขนดกาย แวดวงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ 7 รอบ และแผ่พังพานอันใหญ่ ป้องปกเบื้องบนพระเศียร มิให้ลมและฝน ถูกต้องพระกายพระผู้มีพระภาคเจ้า. ครั้งล่วง 7 วัน ฝนหายขาดแล้ว พญานาคก็คลายขนด จำแลงกายเป็นมานพ เข้าไปถวายอัญชลีหน้าพระพักตร์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปล่งอุทานวาจาว่า “ความสงัดเป็นสุข สำหรับบุคคลผู้เห็นธรรมแล้ว ยินดีอยู่ในที่สงัด รู้เห็นตามความเป็นจริง ความไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความปราศจากความกำหนัด คือความล่วงกามทั้งหลายเสียได้ ด้วยประการทั้งปวง เป็นสุขในโลก ความนำอัสมิมานะ คือความถือตัวออกให้หมดไป เป็นสุขอย่างยิ่ง”
ภาพวาดพุทธประวัติ 18 ท้าวสหัมบดีพรหม อาราธนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรม
ประทับอยู่ภายใต้ต้นราชายตนะหรือไม้เกดครบ ๗ วันแล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จแปรสถานที่ประทับ กลับไปประทับอยู่ภายใต้ต้นอชปาลนิโครธหรือต้นไทร ซึ่งเคยเสด็จไปประทับหนหนึ่งมาแล้ว ครั้งนี้นับเป็นสัปดาห์ที่ ๕ ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ ที่นี่ พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้มา ทรงเห็นว่า เป็นธรรมที่มีความหมายสุขุมละเอียด ก็ทรงบังเกิดความท้อพระทัยว่า จะมีใครสักกี่คนที่จะฟังธรรมของพระองค์รู้เรื่อง พระทัยหนึ่งจึงเกิดความมักน้อยว่าจะไม่แสดงธรรมเพื่อโปรดใครเลย. ท่านผู้รจนาคัมภีร์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ได้แต่งเรื่องสาธกให้เห็นเป็นปุคคลธิษฐานประกอบเข้าในตอนนี้ว่า พระดำริของพระพุทธเจ้าเรื่องนี้ได้ทราบไปถึงท้าวสหัมบดีพรหมในเทวโลก ท้าวสหัมบดีพรหมจึงตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเปล่งศัพท์สำเนียงอันดังถึงสามครั้งว่า "โลกจะฉิบหายในครั้งนี้"
ปฐมสมโพธิว่า "เสียงนั้นก็ดังแผ่ไปทั่วหมื่นโลกธาตุ ท้าวสหัมบดีพรหมจึงพร้อมด้วยเทวาคณานิกรลงมากราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรม" ตอนท้าวสหัมบดีพรหมลงมาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมโปรดชาวโลกนี้ กวีท่านแต่งเป็นอินทรวงศ์ฉันท์ภาษาบาลีไว้ว่า "พรหฺมา จ โลกาธิปตี สหมฺปติ, กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ, สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา, เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ" แปลว่า "ท้าวสหัสบดีพรหม ประณมกรกราบอาราธนาพระพุทธเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐว่า สัตว์ในโลกนี้ ที่มีกิเลสบางเบาพอที่จะฟังธรรมเข้าใจนั้นมีอยู่ ขอพระองค์ได้โปรดแสดงธรรมช่วยเหลือชาวโลกเทอญ". ต่อมาภาษาบาลีที่เป็นฉันท์บทนี้ ได้กลายเป็นคำสำหรับอาราธนาพระสงฆ์ในเมืองไทยให้แสดงธรรมมาจนทุกวันนี้
ภาพวาดพุทธประวัติ 19 ทรงแสดงปฐมเทศนา
พระพุทธเจ้าทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ว่าด้วยอริยสัจสี่ แก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เป็นการแสดงธรรมครั้งแรก จึงเรียกว่า ปฐมเทศนา
ภาพวาดพุทธประวัติ 20 โปรดยสกุลบุตร
สมัยนั้น มีมาณพคนหนึ่งชื่อ ยสะ เป็นบุตรชายของเศรษฐีในเมืองพาราณสีกับนางสุชาดา เป็นที่รักใคร่ของพ่อแม่ พ่อแม่ก็ทะนุถนอมอย่างแก้วตา มีชีวิตการเป็นอยู่คล้ายคลึงกับที่พระสิทธัตถโคตมะ คือพ่อแม่ได้ปลูกเรือนให้ ๓ ฤดู กล่าวคือ มีความสุขสบายที่สุด ได้รับการบำเรอด้วยดนตรี ล้วนแต่สตรีประโคมไม่มีบุรุษเจือปน. ค่ำวันหนึ่ง ยสกุลบุตรนอนหลับก่อน หมู่ชนบริวารหลับต่อภายหลัง แสงไฟยังตามสว่างอยู่ ยสกุลบุตรตื่นขึ้นกลางดึก เห็นหมู่ชนบริวารกำลังนอนหลับ มีอากัปกิริยาพิกลต่างๆ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนเมื่อก่อน คือบางนางมีพิณตกอยู่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ที่คอ บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก บางนางสยายผม บางนางมีเขฬะไหล บางนางบ่นละเมอต่างๆ หมู่ชนบริวารเหล่านั้นปรากฏแก่ยสกุลบุตรดุจซากศพทิ้งอยู่ในป่าช้า. ครั้นยสกุลบุตรได้เห็นแล้วก็เกิดความสลดใจคิดเบื่อหน่ายมาก ถึงกับออกอุทานว่า”ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ทนดูอากัปกิริยาพิกลต่างๆนั้นไม่ได้ รำคาญใจ จึงสวมรองเท้าเดินออกจากประตูเมือง ตรงไปทางที่จะไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน โดยไม่รู้สึกตัวเองว่าไปถึงไหน แต่ก็รู้สึกว่าสบายใจ ก็เดินเรื่อยไปไม่หยุด
ในเวลานั้นจวนใกล้รุ่ง พระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ทรงได้ยินเสียงยสกุลบุตรออกอุทานเช่นนั้น เดินมายังที่ใกล้ จึงตรัสเรียกยสกุลบุตรว่า “ยสะที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด นั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมให้ฟัง“ ยสกุลบุตรได้ยินว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” มีความพอใจ จึงถอดรองเท้าเข้าใกล้ ถวายบังคมแล้วนั่งที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงตรัสอนุปุพพิกถาเทศนา คือ ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ ได้แก่ การพรรณนาทานกถา การให้ก่อน แล้วพรรณนาศีล ความรักษากายวาจาให้เรียบร้อยเป็นลำดับแห่งทาน พรรณนาสวรรค์ พรรณนาโทษของกามคุณ ที่บุคคลใคร่ ซึ่งความสุขไม่ยั่งยืน และพรรณนาอานิสงส์แห่งการออกจากกาม อันเป็นลำดับแห่งโทษของกามเรียกว่าเนกขัมมะ ฟอกจิตของยสกุลบุตรให้ปราศจากมลทินให้เป็นจิตสมควรรับธรรมเทศนา ให้เกิดดวงตาเห็นธรรมเหมือนผ้าที่ปราศจากมลทินควรแก่การได้รับน้ำย้อมฉะนั้น แล้วทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค เมื่อจบพระธรรมเทศนา ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมพิเศษเป็นโสดาบุคคล
ฝ่ายมารดาของยสกุลบุตร ขึ้นไปบนเรือนในเวลาเช้า ไม่เห็นลูกชายจึงบอกแก่ท่านเศรษฐีผู้สามีให้ทราบ ท่านเศรษฐีใช้ให้คนไปตามหาทั้ง ๔ ทิศ ส่วนตนเองก็ออกเที่ยวหาด้วยบังเอิญไปในทางที่จะไปยังป่าอิสปตนมฤคทายวัน ได้เห็นรองเท้าของลูกชายตั้งอยู่ ณ ที่นั้นแล้วตามเข้าไปใกล้. ครั้นเศรษฐีเข้าไปถึงแล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสอนุปุพพิกถาเทศนาอริยสัจ ๔ ให้เศรษฐีได้เห็นธรรมแล้ว เศรษฐีทูลสรรเสริญธรรมเทศนาแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกว่า “ข้าพเจ้าถึงพระองค์กับพระธรรมและภิกษุสงฆ์เป็นสรณะที่พึงระลึกที่นับถือ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต”. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เศรษฐีเมืองพาราณสีนั้นได้เป็นอุบาสก อ้างพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบทั้ง ๓ สรณะ ก่อนกว่าชนทั้งปวงในโลก. ครั้งนั้นยสกุลบุตรได้พิจารณาภูมิธรรมที่พระบรมศาสดาตรัสสอนเศรษฐีผู้เป็นบิดาอีกวาระหนึ่ง จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดายังไม่ทราบว่า ยสกุลบุตรมีอาสวะสิ้นแล้วจึงบอกความว่า “พ่อยสะ มารดาของเจ้าเศร้าโศก พิไรรำพัน เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาของเจ้าเถิด”
ยสกุลบุตรแลดูพระบรมศาสดา พระบรมศาสดาจึงตรัสแก่เศรษฐีให้ทราบว่า “ยสกุลบุตร ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ไม่ใช่ผู้ควรจะกลับไปครองเรือนอีก” เศรษฐีทูลสรรเสริญว่า “เป็นลาภของยสกุลบุตรแล้ว” และทูลอาราธนาพระบรมศาสดา กับยสกุลบุตรเป็นผู้ตามเสด็จ เพื่อทรงรับภัตตาหารในเช้าวันนั้น ครั้นเศรษฐีทราบว่า พระบรมศาสดาทรงรับด้วยพระอาการดุษณีภาพแล้ว ก็ลุกจากที่นั่งแล้วถวายอภิวาท ทำประทักษิณ (คือเดินเวียนขวา) ๓ รอบ แล้วหลีกไปยังเรือนแห่งตน และแจ้งเรื่องทั้งหมดให้ภรรยาและสะใภ้ได้ทราบ พร้อมกับให้จัดอาหาร บิณฑบาตเช้า เพื่อถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วย
เมื่อเศรษฐีผู้บิดาทูลลาพระบรมศาสดากลับไป ไม่ช้ายสกุลบุตรจึงทูลขออุปสมบท พระบรมศาสดาทรงอนุญาต ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ให้อุปสมบทด้วยพระวาจาว่า ”เอหิภิกขุ ท่านจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” เช่นเดียวกับที่ทรงประทานแก่ปัญจวัคคีย์ แต่ในที่นี้ไม่ตรัสว่า ”เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” เพราะพระยสะได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว คือเป็นพระอรหันต์เสียก่อนแล้ว สมัยนั้น ได้มีพระอรหันต์ขึ้นในโลกเป็น ๗ ทั้งพระยสะ
ที่มา : http://www.tairomdham.net
ภาพวาดพุทธประวัติ โดย อ.คำนวน ชานันโท สุดยอด พุทธจิตรกร (ตอนที่ 1), (ตอนที่ 2), (ตอนที่ 3), (ตอนที่ 4), (ตอนที่ 5), (ตอนที่ 6), (ตอนที่ 7), (ตอนที่ 8), (ตอนที่ 9)
0 comments: