วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

เรื่อง ความยินดีที่เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ

สมภพจะมาชวนท่านสาธุชนคุยกันเรื่องของหลักธรรม เรื่อง ความยินดีที่เป็นไปเพื่อสิ้นอาสวะ

ท่านสาธุชนทั้งหลาย…  ความยินดีที่เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิด หรือ เมื่อเกิดแล้ว ควรควบคุมมิให้เติบโตเป็นเหตุให้ตกไปสู่อบาย, ควรบรรเทาเบาบาง และละขาดได้ในที่สุด อันนี้ ท่านเรียกว่า ฉันทะ บ้าง นันทิ บ้าง ราคะ บ้าง ตัณหา บ้าง ฯลฯ

แต่ความยินดีที่ควรเจริญ นี่ก็มีอยู่ ซึ่งเมื่อปลูกฝัง เมื่อพัฒนาให้มากขึ้น ก็จะเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ กล่าวคือ กิเลสชนิดที่หมักเราให้จมอยู่ในวัฏฏะนั่นแหละ

ก็ความยินดีนี้ มีชื่อเรียกให้ต่างกับ ฉันทราคะ หรือ ตัณหา ว่า อารามะ แปลว่า มีธรรม ๖ ประการที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นที่ยินดี หรือจะแปลให้เข้าใจง่ายๆว่า ผู้มีความยินดีต่อธรรม ๖ ประการเหล่านี้

พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ว่า ๑. ผู้ยินดีธรรม (ธัมมาราโม)  ๒. ผู้ยินดีภาวนา (ภาวนาราโม) ๓. ผู้ยินดีการละ (ปหานาราโม) ๔. ผู้ยินดีปวิเวก (ปวิเวการาโม คือ ยินดีต่อความวิเวกหรือสงัดทางกาย คือ คลุกคลี, จิตตวิเวก สงัดทางจิต ที่พรากจากนิวรณ์ และ อุปธิวิเวก สงัดจากอุปธิคือสังขาร) ๕. ผู้ยินดีความไม่พยาบาท (อัพยาปัชฌาราโม ยินดีต่อความไม่พยาบาท คือ ยินดีต่อการไม่มีทุกข์)  ๖. ผู้ยินดีธรรมที่ไม่เนิ่นช้า (นิปปปัญจาราโม ยินดีต่อพระนิพพาน ที่เรียกในที่นี้ นิปปปัญจะ เพราะไม่มีตัณหา มานะ และทิฏฐิ ที่เป็นธรรมทำให้เนิ่นช้าคือติดข้องอยู่ในสังสารวัฏ)

ผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แหละ นอกจากในปัจจุบันนี้จะมีความสุขและโสมนัสมากยิ่งแล้ว ยังถือว่า เป็นผู้เสร้างเหตุแห่งความสิ้นอาสวะ ซึ่งเป็นเหตุแห่งสรรพทุกข์อีกด้วย.  (เรียบเรียงจากพระสูตรที่ชื่อว่า สุขสูตร อันเป็นพระสูตรว่าด้วยธรรมทำให้มีสุขโสมนัส มาในอังคุตรนิกาย ฉักกนิบาต เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๔๙)

เห็นไหมเล่า ท่านสาธุชนทั้งหลาย.  เมื่อสร้างความยินดีในธรรม ๖ นี้อยู่เนืองๆ ถือว่าได้ลงมือสร้างเหตุเบื้องต้นแห่งความสำเร็จทั้งปวงทีเดียว  จะเรียกความยินดีแบบนี้ ว่า ฉันทะ ก็ได้เหมือนกัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบข้อที่ ๑ ในอิทธิบาทธรรม (ธรรมที่เป็นพื้นฐานแห่งความสำเร็จ) ก็ได้, กุศลธธรรมฉันทะ ก็ได้, กัตตุกัมยตาฉันทะ ซึ่งหมายถึง ความปรารถนาจะทำบุญนั่นเอง.

ก็เพราะเมื่อขาดกุศลฉันทะเป็นมูลเหตุจูงใจเสียแล้ว ความตั้งใจและความพยายามกระทำต่อไปจนกระทั่งสัมฤทธิผล เห็นทีจะไม่เกิดขึ้น.   ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงย้ำไว้ท้ายพระสูตรนี้ว่า

“ผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้มากด้วยสุขและโสมนัสอยู่ในปัจจุบันเทียว และย่อมเป็นผู้ปรารภเหตุ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย”. เอาละครับ สนทนากันเพียงย่อๆ ไม่ขอลงในรายละเอียดมากนัก.  วันเสาร์หน้ากลับมาพบกันใหม่.  สำหรับวันนี้ ต้องขออนุโมทนา

สมภพ สงวนพานิช

ขอขอบคุณ ที่มา: http://dhamma.serichon.us

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: