"สามเณรสานุ" เณรหนุ่มเสียงทอง ผ้าเหลืองร้อน
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
สามเณรรูปที่จะเขียนถึงนี้เป็นสามเณรหนุ่มนามว่า สานุ เรื่องราวของเธอบันทึกไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕ ข้อ ๘๑๔-๘๑๘ และเรื่องราวละเอียดมีอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๘. หนุ่มน้อยสานุบวชเณรอยู่ในพระเชตวัน ไม่บอกว่าใครเป็นพระอุปัชฌาย์ บอกแต่ว่าเมื่อบวชแล้วก็ปรนนิบัติอุปัชฌาย์อย่างดี พร้อมทั้งมีมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ รู้จักต้อนรับอาคันตุกะด้วยอัธยาศัยไมตรี สานุสามเณรมีเสียงดี สวดพระธรรมด้วยทำนองสรภัญญะได้ไพเราะ ภิกษุทั้งหลายมักจะเชื้อเชิญให้เณรสวดบทธรรมให้ฟังเสมอ
เณรสานุคงรักแม่มาก ทุกครั้งที่สวดธรรมจะกล่าวว่า ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลจากการสวดธรรมนี้แก่มารดาข้าพเจ้า ว่ากันว่าเวลามีคนอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ ถ้าผู้ที่เขาอุทิศให้ไม่รู้ตัวและไม่อนุโมทนา เขาก็ไม่ได้รับส่วนบุญนั้น ว่ากันอย่างนั้น มารดาสามเณรจึงไม่ได้อนุโมทนาบุญเพราะไม่รู้. แต่นางยักษิณีตนหนึ่ง อ้างว่าเคยเป็นมารดาของเณรในชาติก่อนรู้ว่าเณรอุทิศส่วนบุญให้ก็เปล่งวาจาอนุโมทนา พวกยักษิณีรวมทั้งเทวดา (คงเทพซีไม่สูงนัก) ต่างก็เกรงใจนางยักษิณีตนนั้น เวลาเธอไปไหนพวกยักษ์ ยักษิณีและเทวดาทั้งหลายต้องหลีกทางให้เพราะเธอเป็นแม่ “คนสำคัญ”
ความสำคัญของสามเณรอยู่ที่การมีศีลาจารวัตรอันงดงาม ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ไม่ขาดตกบกพร่อง เมื่อเป็นหนุ่มเต็มที่ก็คิดอยากสึกไปครองเพศคฤหัสถ์ จึงถือบาตรและจีวรเดินออกจากวัดรูปเดียวมุ่งหน้าไปยังเรือนของมารดา มารดาก็แปลกใจที่เห็นบุตรมารูปเดียว เพราะตามปกติจะมาพร้อมกับอุปัชฌาย์บ้าง ภิกษุหนุ่มและเณรน้อยอื่นๆ บ้าง จึงเอ่ยปากถาม
“อาตมาจะลาสึก โยม” เณรหนุ่มบอกมารดา “สึกทำไมล่ะ ลูกบวชก็ดีอยู่แล้ว แม่ก็สบายใจที่เห็นลูกเจริญในพระศาสนา” แม่ตกใจไม่นึกว่าจะได้ยินคำพูดนี้จากปากลูกชาย. แม่อ้อนวอนให้ลูกชายบวชอยู่ต่ออย่างไร ลูกชายก็ไม่ฟัง คงตัดสินใจแน่วแน่แล้ว อย่างว่าล่ะครับ “ฝนจะตก ขี้จะแตก ลูกจะออก พระจะสึก ห้ามไม่ได้หรอก” โบราณว่าอย่างนั้น
จริงๆ แล้ว ได้เหมือนกัน หากผู้ห้ามคืออุปัชฌาย์อาจารย์ต้องเก่งในการโน้มน้าวจูงใจให้ศิษย์อยากอยู่ต่อ บางทีมิใช่พระเล็กเณรน้อยที่ “กระสัน” (ศัพท์ศาสนาแปลว่าอยากสึก) พระเถระผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ในเมืองไทยนี้เอง พระเถระเปรียญสูงสุดรูปหนึ่ง ส่งใบลาไปยังกรมการศาสนา ส่งแล้วไปนอนมือก่ายหน้าผากคิดที่วัด รุ่งเช้ารีบมาขอคืน ทำอย่างนี้ตั้ง ๓ ครั้ง รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ จนกระทั่งได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชื่ออะไรไม่ต้องรู้ดอกครับ ไม่ใช่เรื่องลับ แต่เป็นเรื่อง “ปกปิด” เหมือนที่นักการเมืองชอบอ้าง ฮิฮิ
เมื่อลูกชายยืนยันว่าสึกแน่ มารดาก็บอกว่า ไม่เป็นไร ลูกฉันข้าวยาคูเสร็จแล้วค่อยว่ากัน จึงรีบเข้าครัวตักข้าวสารใส่หม้อล้างน้ำ ในขณะที่เณรหนุ่มนั่งรออยู่ที่ระเบียง
นางยักษิณีแม่ในอดีตของเณรพอรู้ว่าลูกชายจะมาสึก จึงรีบมาเข้าสิงร่างของเณร โดยบิดคอเณรจนตาถลน น้ำลายไหลฟูมปาก ดิ้นตูมๆ แม่เณรและชาวบ้านร้องเอะอะโวยวาย พากันมาห้อมล้อม จุดธูปเทียนเซ่นสรวงผีสางไปตามเรื่อง
มารดาเณรร้องไห้คร่ำครวญว่า “ผู้ที่รักษาศีลในวันพระ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ รักษาศีล ๘ ศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์ ยักษ์ทั้งหลายย่อมไม่ตอแยกับคนเหล่านี้ ฉันได้ยินอรหันต์ทั้งหลายพูดอย่างนี้ ไม่จริงเสียแล้ว ผีเข้าสิงสานุสามเณรบุตรของฉัน ต่อหน้าต่อตาฉัน”
นางยักษิณีพูดผ่านสามเณรว่า “ที่ท่านได้ยินนั้นถูกต้องแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายกล่าวไว้ไม่ผิดดอก แต่สามเณรบุตรอุบาสิกาไม่คิดประพฤติพรหมจรรย์ต่อแล้ว กำลังจะทำชั่ว ถ้าสานุฟื้นจงบอกเธอว่า อย่าคิดทำอย่างนี้ทั้งที่ลับและที่แจ้ง ขืนทำไม่ว่าจะหนีไปไหนก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้”
ว่าแล้วก็ออกจากร่างสามเณร
สามเณรฟื้นขึ้นมาหลังนางยักษิณีเข้าสิงเพื่อขัดขวางไม่ให้สึก ลืมตาดูคนรอบๆ ข้างร้องไห้ฟูมฟาย ตัวเองก็นอนแอ้งแม้งบนพื้น จึงเอ่ยปากถามแม่ว่า “แม่ร้องไห้ถึงคนตายแล้ว หรือคนยังมีชีวิตอยู่ที่จากไป อาตมาเองก็ยังมีชีวิตอยู่ แม่ร้องไห้ถึงทำไม”
มารดาตอบทั้งน้ำตาว่า “โยมแม่มิได้ร้องไห้ถึงคนตายแล้วหรือจากไป ที่ร้องไห้เพราะสงสารคนที่ละกามแล้วเวียนกลับมาหากามอีก คนเช่นนี้ถึงมีชีวิตอยู่ก็เรียกว่าตายแล้ว ลูกถูกคนเขายกจากหลุมเถ้ารึงแล้วยังอยากตกลงไปอีก ถูกเขายกขึ้นจากเหวแล้วยังอยากตกลงไปอีก ลูกเป็นดุจของที่เขาขนออกจากไฟไหม้แล้ว ยังปรารถนาจะเข้าไปยังกองไฟอีกหรือ”
มารดาสามเณรพูดกับลูกชายโดยนัยอุปมาอุปไมย สามเณรฉลาดปราดเปรื่องอยู่แล้ว จึงตอบมารดาหลังจากนิ่งสงบไปพักหนึ่งว่า “อาตมาไม่ต้องการสึกแล้วล่ะ”
มารดาดีใจ หุงข้าวยาคูถวายสามเณรลูกชายฉัน ถามอายุลูก ทราบว่าอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงจัดแจงให้เธออุปสมบทเป็นพระภิกษุ. พระสานุมีประสบการณ์เกี่ยวกับจิตของตัวแล้ว รู้ว่าจิตของคนเรานี้มันแวบไปโน่นไปนี่ ชอบครุ่นคิดแต่เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ความคิดคำนึงที่น่าพึงพอใจ จึงพยายามบังคับจิตของตน
พระพุทธองค์ทรงทราบปัญหาของพระหนุ่ม จึงตรัสสอนเธอในวันหนึ่งว่า
จิตนี้ เมื่อก่อนนี้ ชอบท่องเที่ยวไปในอารมณ์ตามความใคร่ ตามความพอใจ ตามสบาย วันนี้เราจะไม่ปล่อยมันเป็นเช่นนั้นอีก เราจะข่มมันโดยอุบายที่แยบคาย ดุจดังควาญช้างถือขอบังคับช้างตกมันฉะนั้น
“ขอ” ในที่นี้พระองค์ทรงใช้ศัพท์ว่า “โยนิโส” อันหมายถึง “โยนิโสมนสิการ” นั่นเอง. แปลกันว่า อุบายอันแยบคาย อุบาย คือเทคนิควิธีแยบคายหรือรอบคอบ ถูกต้อง เหมาะสม พูดกันด้วยภาษาสามัญก็คือ ให้ใช้ปัญญาควบคุมจิต ปัญญาจะเป็นตัวบอกเองว่า จะทำอย่างไร แค่ไหน
พระเซนรูปหนึ่งคิดว่าการจะบรรลุต้องปฏิบัติเคร่งครัด ไม่เหมือนใคร จึงขึ้นไปนั่งสมาธิบนยอดไม้ ไม่กินไม่นอนเป็นเวลา ๓ วัน อาจารย์เซนเดินมาพบเข้าจึงถามว่าไปทำอะไรอยู่บนนั้น
พระหนุ่มตอบว่า “ผมกำลังนั่งสมาธิเพื่อเป็นพุทธะ” อาจารย์เซนได้ยินดังนั้นจึงคว้าก้อนอิฐข้างทาง มาถูกับมือจนเลือดไหล พระหนุ่มถามว่า ท่านทำอะไร อาจารย์บอกว่า ผมจะถูให้มันเป็นกระจกใส
พระหนุ่มบอกว่า ท่านจะบ้าเรอะ ท่านถูกจนมือขาดมันก็เป็นกระจกไม่ได้ อาจารย์สวนทันทีว่า “คุณจะบ้าเรอะ คุณนั่งจนกลายเป็นลิงก็เป็นพุทธะไม่ได้”
ในเรื่องเล่าว่า พระหนุ่มได้เข้าถึง “ซาโตริ” (การรู้แจ้ง) นี้คือตัวอย่างเทคนิควิธีที่ไม่ใช้ปัญญา ดีว่าได้อาจารย์เป็นกัลยาณมิตร จึงไม่เดินหลงทาง. สานุสามเณรได้รับการชี้แนะจากพระพุทธองค์ พิจารณาตามกระแสดำรัสก็ได้บรรลุพระอรหัตผล
กล่าวกันว่า ท่านเป็นธรรมกถึกเอก สอนชาวชมพูทวีปให้ซาบซึ้งในรสพระธรรม ดำรงชีพอยู่นาน ๑๒๐ ปีจึงดับขันธ์
ที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57221
0 comments: