ลำดับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา, โดย สุชีพ ปุญญานุภาพ
๑. คัมภีร์ดั้งเดิมคือบาลี เดิมพระพุทธพจน์อยู่ในลักษณะการจำแล้วบอกกันต่อๆ มา เมื่อมีการจารึกลงในใบลานจึงเกิดคัมภีร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่ากันว่า “บาลีพระไตรปิฎก” ซึ่งรวบรวมไว้ดังนี้
คัมภีร์ทั้งหมดนี้เรียกว่า คัมภีร์ดั้งเดิม (Original Pali) หรือบางทีเรียกว่า บาลีพุทธวจนะ (Canon)
๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๒ เรียกว่า อรรถกถา หรือ วรรณนา (Commentaries) ซึ่งมีทั้งอรรถกถาพระวินัยปิฎก, อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก, และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก, อรรถกถาพระสุตตันตปิฎกและอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ที่อธิบายต่อเนื่องกันจนตลอดก็มี ที่อธิบายเฉพาะคัมภีร์ๆ ก็มีเช่น
สมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย, สุมังคลวิลาสินี ทีฆนิกาย, ปปัญจสูทนี มัชฌิมนิกาย, สารัตถปกาสินี สํยุตตนิกาย, มโนรถปูรณี อังคุตตรนิกาย, ปรมัตถโชติกา ขุททกนิกาย, ธัมมปทัฏฐกถา ขุททกนิกาย, ปรมัตถทีปนี ขุททกนิกาย, ชาตกัฏฐกถา ขุททกนิกาย, สัทธัมมปัชโชติกา ขุททกนิกาย, สัทธัมมปกาสินี ขุททกนิกาย, วิสุทธชนวิลาสินี ขุททกนิกาย, มธุรัตถวิลาสินี ขุททกนิกาย, อัฏฐสาลินี ธัมมสังคณี, สัมโมหวิโนทนี วิภังค์, ปัญจปกรณัฏฐกถา หรือปรมัตถทีปนี ธาตุกถาปัฏฐาน
อธิบายอรรถกถา เรียกว่า ฎีกา (Sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๓ ตัวอย่างเช่น
- อธิบายสมันตปาสาทิกา เรียกว่า ฎีกาสารัตถทีปนี, - ฎีกาอธิบายพระอภิธรรม เรียกว่า อภิธัมมัตถวิภาวินี
อธิบายฎีกา เรียกว่า อนุฎีกา (Sub-sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๔ เช่น อนุฎีกาวิมติวิโนทนี ของพระวินัย เป็นต้น
๓. นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้นว่าด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์บาลี อธิบายศัพท์ต่างๆ รวมเรียกว่า สัททาวิเสส เป็นชื่อที่เรียกกันในวงการนักปราชญ์บาลีฝ่ายไทย ดังปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททาวิเสสต่างๆ ด้วย โดยมี พระพุฒาจารย์ เป็นแม่กอง เช่น มูลกัจจายนปกรณ์ รูปสิทธิธาตุปทีปิกา อภิธานัปปทีปิกา และสูจิ เป็นต้น. พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน ส่วนอรรถกถาแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ.๙๕๖ ส่วนฎีกาแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๕๘๗ คัมภีร์อนุฎีกานั้นแต่งขึ้นภายหลังฎีกายุคต่อๆ มาเป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑ เมื่อพิจารณาตามหลักพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า “มา ปิฏกสมฺปทาเนน” อย่าถือโดยอ้างตำรา เพราะอาจผิดพลาดตกหล่น หรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์แก่ใจตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวาง และให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้นๆ ด้วยตนเอง
แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้ มิให้ติดตำราจนเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และเข้าใจในพระไตรปิฎก จึงเป็นลำดับแรก เรียกว่า ปริยัติ, การลงมือทำตามโดยควรแก่จิต อัธยาศัย เรียกว่า ปฏิบัติ, การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้นๆ เรียกว่า ปฏิเวธ.
0 comments: