วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

พระมหากัสสปะเถระ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์

“ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ... สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ ..ย่อมเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ ผู้ควรแก่ทักษิณา เป็นผู้ควรอัญชลีกรรม เป็นนาบุญของโลก”

พระมหากัสสปะเถระ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์

ท่านพระมหากัสสปะ เป็นบุตรกปิลพราหมณ์ กัสสปโคตร ในบ้านมหาติฏฐะ จังหวัดมคธรัฐ มีชื่อว่า ปิปผลิ เรียกตามโคตรว่ากัสสปะ พออายุครบ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคล (แต่งงาน) กับนางภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี เป็นบุตรีพราหมณ์โกสิยโคตร เมืองสาคละ จังหวัด มคธรัฐ

พราหมณ์ผู้เป็นบิดาพร้อมกับนางพราหมณีผู้มารดา ก็ปรึกษากันหาภรรยาให้แก่บุตรของตน จึงมอบสิ่งของมีเงินและทอง เป็นต้นให้แก่พราหมณ์ ๘ คน แล้วส่งไปเพื่อให้แสวงหาหญิงที่มีลักษณะดีงาม มีฐานะเสมอกันกับสกุลของตน พราหมณ์ทั้งแปดคน รับสิ่งของทองหมั้นแล้วก็เที่ยวแสวงหาไปจนกระทั่งถึงเมืองสาคละ

ในพระนครนั้น มีธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรคนหนึ่ง ชื่อว่า ภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี รูปร่างสะสวยงดงามสมกับเป็นผู้มีบุญ พราหมณ์เหล่านั้นครั้นได้เห็นแล้ว จึงเข้าไปสู่ขอกับบิดามารดาของนาง เมื่อตกลงกันแล้วจึงมอบสิ่งของทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคล และส่งข่าวให้กปิลพราหมณ์ได้ทราบ

ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้น ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะแต่งงานเลย จึงเข้าไปในห้อง เขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้นางทราบ "นางผู้เจริญ จงได้สามีที่มีชาติและโคตร โภคสมบัติเสมอกับนาง อยู่ครอบครองเรือน เป็นสุขเถิด ฉันจักออกบวช ต่อไปภายหลังนางจะได้ไม่ต้อง้ดือดร้อน" ครั้นเขียนเสร็จแล้ว มอบให้คนใช้นำไปส่ง 

แม้นางภัททกาปิลานี ก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน จึงได้เขียนจดหมายเช่นนั้นให้คนใช้นำมา คนถือจดหมายทั้งสอง มาพบกันระหว่างทาง ต่างไต่ถามความ ประสงค์ของกันและกันแล้วจึงฉีกจดหมายออกอ่าน แล้วทิ้งจดหมายฉบับนั้นเสียในป่า เขียนจดหมายมีเนื้อความ แสดงความรักซึ่งกันและกันขึ้นมาใหม่แล้วนำไปให้คนทั้งสอง 

ครั้นกาลต่อมาการอาวาหมงคลเป็นการสำเร็จเรียบร้อย โดยคนทั้งสองไม่ได้มีความประสงค์ สักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องกันเลย แม้จะขึ้นสู่เตียงนอนก็ไม่ได้ขึ้นทางเดียวกัน ปิปผลิมาณพขึ้นข้างขวา นางภัททกาปิลานีขึ้นข้างซ้าย เมื่อเวลานอนตั้งพวง ดอกไม้สองพวงไว้กลางที่นอน เพราะกลัวร่างกายจะถูกต้องกัน ถึงกลางวันก็ไม่ได้มีการหัวเราะยิ้มหัวต่อกันเลย เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบุตรหรือธิดาด้วยกัน.  สกุลของสามีภรรยาคู่นี้มั่งมีมาก มีการงานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์มาก มีคนงานและพาหนะสำหรับใช้งานก็มาก. 

ครั้นต่อมาบิดามารดาเสียชีวิต ปิปผลิมาณพได้ครองสมบัติ ดูแลการงาน สืบทอดจากบิดามารดา สามีและภรรยาต่างก็มีความเห็นร่วมกันว่า  ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาปเพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี จึงมีใจเบื่อหน่าย พร้อมใจกันจะออกบวช ได้แสวงหาผ้ากาสายะ ถือเพศเป็นบรรพชิต ออกบวชมุ่งหมายเป็นพระอรหันต์ในโลก สะพายบาตรลงจากปราสาทหลีกหนีไป ปิปผลิเดินหน้า นางภัททกาปิลานีเดินหลัง.  พอถึงทางแยกแห่งหนึ่งจึงแยกจากกัน ปิปผลิเดินไปทางขวา ส่วนนางภัททกาปิลานีเดินไปทางซ้าย จนบรรลุถึงสำนักของ นางภิกษุณี ภายหลังได้บวชเป็นนางภิกษุณี และได้บรรลุพระอรหัตตผล.  ส่วนปิปผลิเดินทางไปพบสมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่ใต้ร่มไทร ซึ่งเรียกว่า พหุปุตตนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน มีความเลื่อมใสเปล่งวาจาประกาศว่า พระศาสดาเป็นครูของตน ตนเป็นสาวกของพระศาสดา

พระศาสดา ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ด้วยการประทานโอวาท ๓ ข้อว่า 

๑. กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงใจ ไว้ในภิกษุที่เป็นผู้เฒ่าและปานกลางอย่างดีที่สุด, ๒. เราจักฟังธรรมซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักตั้งใจฟังธรรมนั้นแล้วพิจารณาเนื้อความ, ๓. เราจักไม่ละสติ ที่เป็นไปในกาย คือพิจารณาเอาร่างกายเป็นอารมณ์

ครั้นประทานโอวาทแก่พระมหากัสสปะอย่างนี้แล้วเสด็จหลีกหนีไป ท่านพระกัสสปะได้ฟังพุทธโอวาทแล้ว ก็เริ่มบำเพ็ญเพียร ในวันที่ ๘ นับจากวันที่อุปสมบทมา ก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผล.  ตามปกติท่านพระมหากัสสปะนั้นถือธุดงค์ ๓ ข้อ คือ ถือทรงผ้าบังสุกุล จีวรเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และถืออยู่ป่าเป็นวัตร.   

ด้วยเหตุนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ทรงธุดงค์".   อานิสงส์แห่งการถือธุดงค์ของท่านมีปรากฏดังนี้ คือ สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน ทรงรับสั่งให้ท่านเลิกการธุดงค์ ท่านไม่ยอมเลิกแล้วแสดงคุณแห่งการถือธุดงค์ ๒ ประการ คือ  ๑. เป็นการอยู่เป็นสุขในบัดนี้, ๒. เพื่ออนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลัง จักได้ถือเป็นทิฏฐานุคติ คือ ปฏิบัติตาม


พระบรมศาสดา ก็ประทานสาธุการว่า ดีละ ดีละ เธอปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนส่วนมาก เธอจงทรงผ้าบังสุกุลจีวร เธอจงเที่ยว บิณฑบาต เธอจงอยู่ในป่าเถิด ทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า พระมหากัสสปะ.  นอกจากนี้ท่านยัง มีคุณความดีมีพระบรมศาสดาทรงยกย่องหลายสถาน เช่น 

๑. ทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไปทรง (ห่ม) ประทานผ้าสังฆาฎิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงสรรเสริญว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเป็นตัวอย่าง 

๒. กัสสปะเข้าไปในตระกูล ชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเหมือนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกาย วาจา ใจในตระกูล เป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในตระกูลเหล่านั้น เพิกเฉยแล้วตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีใจฉันใด ผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น 

๓. กัสสปะมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณา ในเวลาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น, และ  ๔. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติชอบ โดยยกเอาท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง

ท่านพระมหากัสสปะ นั้นดีแต่ในการปฏิบัติ หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ธรรมเทศนาอันเป็นอนุสาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากธัมมสากัจฉา (การสนทนากันในเรื่องธรรมะ) กับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวทบทวนพระพุทธดำรัสบ้าง.  

ในขณะพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ดูท่านจะไม่เด่นนัก เป็นเพียงพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่งเท่านั้น มาปรากฏเป็นพระสาวก สำคัญเมื่อพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว คือ ในเวลานั้นท่านเป็นพระสังฆเถระ พอถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ ๗ วัน ท่านประชุมสงฆ์เล่าถึงการที่ภิกษุชื่อว่า สุภัททะ ผู้บวชเมื่อแก่ กล่าวคำมิดีมิชอบต่อพระธรรมวินัยในคราวเมื่อเดินทางจากปาวานคร ปรึกษาหารือในทางที่จะทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นแบบฉบับ พระสงฆ์ก็ยินยอมเห็นพร้อมด้วย ท่านจึงเลือกภิกษุผู้ทำสังคายนาได้ ๕๐๐ องค์

การทำสังคายนาในครั้งนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พระอุบาลี และพระอานนท์เป็นกำลังสำคัญในการวิสัชนาพระวินัย พระธรรม (พระสูตร และพระอภิธรรม) ตามลำดับ ได้พระเจ้าอชาตศัตร ูเป็นศาสนูปถัมภก.  

ทำอยู่ ๘ เดือนจึงสำเร็จ เรียกว่า ปฐมสังคายนา เมื่อท่านทำสังคายนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้อยู่ที่พระเวฬุวนาราม ในกรุงราชคฤห์ ไม่ประมาท ปฏิบัติธรรมเป็นนิตย์ ดำรงชนมายุสังขาร ประมาณได้ ๑๒๐ ปี ท่านก็ปรินิพพาน ณ ระหว่างกลาง กุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์

ขอขอบคุณ ที่มา: http://www.thammapedia.com, http://www.dhammathai.org

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: