วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ธรรมเนียมการฟังพระปาติโมกข์

ธรรมเนียมการฟังพระปาติโมกข์

เรื่องนี้มีเหตุมาจากภาพที่นำมาประกอบเรื่อง กล่าวคือมีญาติมิตรที่เห็นภาพพระสวดพระปาติโมกข์นี้แล้ว เกิดสงสัยว่า ในขณะที่พระภิกษุรูปอื่นๆ ประนมมือฟัง แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่ง (ทางขวาของภาพ) กลับเปิดหนังสืออ่านเหมือนไม่ได้สนใจฟัง หรือว่าท่านกำลังทำอะไรของท่าน?

เรื่องนี้ชาววัดอาจเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่น่าสงสัย แต่ชาวบ้าน-โดยเฉพาะชาวบ้านสมัยใหม่-ส่วนมากไม่รู้ไม่เข้าใจ. จะว่าไปแล้ว อาจไม่รู้ไม่เข้าใจหมดทั้งภาพนั่นเลย คือไม่รู้ว่าในภาพนั้นพระท่านทำอะไรกัน

ผมขออนุญาตบรรยายสรุป

๑. ในภาพนั้น พระท่านกำลังประชุมกันฟังพระปาติโมกข์

พระปาติโมกข์คือศีล ๒๒๗ ข้อของพระที่เราคงเคยได้ยินตัวเลขนี้กันมาแล้ว -

พระมีศีล ๒๒๗ ข้อ, เณรมีศีล ๑๐ ข้อ, แม่ชีมีศีล ๘ ข้อ, ชาวบ้านทั่วไปมีศีล ๕ ข้อ

๒. “พระปาติโมกข์” ที่ว่านี้เป็นภาษาบาลี มีต้นฉบับอยู่ในพระไตรปิฎก

๓. มีพุทธานุญาตหรือพุทธบัญญัติให้พระภิกษุในพระพุทธศาสนาประชุมกันฟังพระปาติโมกข์เดือนละ ๒ ครั้ง กำหนดวันทางจันทรคติ คือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ครั้งหนึ่ง แรม ๑๕ ค่ำ (หรือแรม ๑๔ ค่ำ กรณีเดือนคี่ คือเดือนอ้าย เดือน ๓ เดือน ๕ ... เดือนคี่จะมีแค่แรม ๑๔ ค่ำ ไม่มีแรม ๑๕ ค่ำ) ครั้งหนึ่ง เรียกการประชุมกันเช่นนี้ว่า “อุโบสถสังฆกรรม” มักเรียกกันง่ายๆ ว่า “ฟังพระปาติโมกข์” หรือบางทีก็เรียกเป็นภาษาปากว่า “ลงโบสถ์”

๔. หลักปฏิบัติในการประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ก็คือ - 

(1) ต้องประชุมกันในโบสถ์ 

(2) ต้องมีพระภิกษุเข้าร่วมประชุมตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป 

(3) ภิกษุรูปหนึ่งทำหน้าที่สวดพระปาติโมกข์ (ตามข้อ ๒) จะนั่งบนที่นั่งซึ่งสูงกว่าภิกษุรูปอื่นๆ บัดนี้นิยมเรียกที่นั่งเช่นว่านี้ว่า “เตียงพระปาติโมกข์” หรือ “ธรรมาสน์พระปาติโมกข์” 

(4) พระภิกษุทุกรูปต้องนั่งไม่ห่างกันเกินเอื้อมมือถึง เรียกว่า “นั่งในหัตถบาส” 

(5) “สวด” คือท่องปากเปล่าจากความจำ ท่องกันสดๆ เดี๋ยวนั้น จะใช้วิธีอ่านเอาจากหนังสือ เปิดเทป เปิดเครื่องบันทึกเสียงสวดแทนใดๆ ไม่ได้

(6) เพื่อเป็นหลักประกันว่า ทุกถ้อยคำที่สวดออกมาถูกต้องตรงตามต้นฉบับในพระไตรปิฎก จึงกำหนดให้พระภิกษุรูปหนึ่งทำหน้าที่สอบทานหรือตรวจทาน โดยวิธีเปิดต้นฉบับพระปาติโมกข์แล้วอ่านตามไปทุกตัวอักษร ถ้าพระภิกษุที่สวดสวดผิดตรงไหน พระภิกษุที่สอบทานจะทักขึ้น พระภิกษุที่สวดจะต้องกลับมาสวดถ้อยคำตรงนั้นใหม่ให้ถูกต้องก่อนจะสวดต่อไป.  พระภิกษุที่เห็นในภาพกำลังเปิดหนังสืออ่าน นั่นคือพระภิกษุที่ทำหน้าที่สอบทานพระปาติโมกข์

(7) การสวดพระปาติโมกข์ยังมีระเบียบปฏิบัติอื่นๆ อีกด้วย เช่น ต้องจุดเทียนตั้งไว้ใกล้ๆ (ตามที่เห็นในภาพ) เรียกเทียนที่จุดในการนี้ว่า “เทียนพระปาติโมกข์” (ในกฐินหลวงหรือกฐินพระราชทานจะมีเทียนพระปาติโมกข์ประกอบอยู่ในองค์กฐินด้วย) ต้นเหตุมาจากสวดในเวลากลางคืน จึงต้องจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่าง ทั้งเพื่อเป็นประโยชน์ในการมองเห็นต้นฉบับหนังสือที่นำมาสอบทาน เมื่อทำเช่นนั้นนานมาจึงถือเป็นธรรมเนียมต้องจุดเทียนเสมอ แบบเดียวกับ “เทียนส่องธรรม” ในเวลาพระเทศน์นั่นเอง

เท่าที่บรรยายมา หวังว่าชาวบ้านสมัยใหม่จะเข้าใจธรรมเนียมการฟังพระปาติโมกข์ของชาววัดได้บ้างแล้วพอสมควร.  ยังมีเรื่องน่ารู้ทำนองนี้อีกเยอะที่ชาววัดควรนำมาบอกเล่าให้ชาวบ้านเข้าใจ 

ขออาราธนาผ่านทางโพสต์นี้นะขอรับ ช่วยกันเหนื่อยหน่อยเถอะ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ มกราคม ๒๕๖๔

ธรรมเนียมการฟังพระปาติโมกข์ ----------------------------- เรื่องนี้มีเหตุมาจากภาพที่นำมาประกอบเรื่อง...

Posted by ทองย้อย แสงสินชัย on Friday, January 29, 2021
Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: