“สุขสามเณร” ผู้ให้ความสุขแก่คนทั้งปวง
เรื่องราวของสุขสามเณร คล้ายกับบัณฑิตสามเณร แม้กระทั่งแรงบันดาลใจให้บรรลุธรรมก็อย่างเดียวกัน พุทธวจนะที่ตรัสสอนพระภิกษุเนื่องมาแต่สามเณรเป็นเหตุก็คล้ายกับที่ตรัสในเรื่องสามเณรบัณฑิต ความคล้ายกันอาจเกิดจากการเอาอย่างกันก็ได้
บัณฑิตสามเณรอาจเป็นแรงบันดาลใจให้สุขสามเณรก็เป็นได้ ที่พูดถึงนี้นึกถึงสามเณรประยุทธ์ สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณร และจบพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วย
โยมพ่อของสามเณรอีกรูปหนึ่งมีลูกชายก็ตั้งชื่อเลียนแบบสามเณรประยุทธ์ว่า “ประยูร” ตั้งใจว่าจะให้ลูกจบเปรียญ ๙ ประโยคเช่นเดียวกัน จึงให้ลูกชายบวชหลังจากจบประถมศึกษา สามเณรประยูรก็สามารถสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคตั้งแต่เป็นสามเณรเช่นกัน จบพุทธศาสตรบัณฑิตเช่นกัน
ที่น่ามหัศจรรย์ก็คือต่างก็เป็นปราชญ์ในทางพระพุทธศาสนา ดำรงสมณเพศยืนยาวมาจนเป็นพระราชาคณะ เจริญวัฒนาในพระบวรพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน สามเณรประยูรบอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลแห่งการ “เลียนแบบ” อันเกิดจากแรงจูงใจเป็นสำคัญ (ตอนแรกโยมพ่ออยากให้ทำ แต่ตอนหลังเห็นคุณค่าด้วยตนเอง จึงทำตามด้วยความเต็มใจ) สามเณรสุขที่กล่าวถึงนี้ อาจเกิดแรงบันดาลใจอยากเอาอย่างสามเณรบัณฑิตก็เป็นได้ จึงมีอะไรคล้ายกับสามเณรบัณฑิต
สามเณรสุข เกิดในตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรเถระในเมืองสาวัตถี ตอนแม่ตั้งครรภ์เกิดแพ้ท้องอยากกินอาหารที่เป็นเดนของภิกษุสงฆ์ นางจึงนิมนต์พระสารีบุตรพร้อมภิกษุจำนวนมากไปฉันภัตตาหารที่บ้านตนเอง นุ่งผ้าย้อมฝาด นั่งท้ายอาสนะ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้วก็กินอาหารที่เป็นเดนของพระสงฆ์
ว่ากันว่าตลอดระยะเวลาที่เด็กน้อยอยู่ในครรภ์ ไม่มีใครมีความทุกข์เลย มีแต่ความสุขความสบายกันถ้วนหน้า เมื่อคลอดออกมา บุตรน้อยคนนี้จึงมีชื่อว่าเด็กชายสุข เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ เด็กชายสุขก็พูดกับแม่ว่าอยากบวชอยู่กับพระเถระ แม่ก็ไม่ขัดใจ จัดแจงให้บวชเป็นสามเณรรับใช้พระสารีบุตร โยมบิดามารดาบวชให้ลูกชายแล้วก็อยู่ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ที่วัดเป็นเวลา ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับบ้าน
พระสารีบุตรได้พาสามเณรไปบิณฑบาตที่บ้านโยมในวันที่ ๘ ขณะเดินผ่านท้องนา สามเณรน้อยเห็นคนไขน้ำเข้านา เห็นช่างศรดัดลูกศร เห็นช่างไม้ถากไม้ จึงเรียนถามอุปัชฌาย์เช่นเดียวกับสามเณรบัณฑิตและก็ได้คำตอบเช่นเดียวกัน
สามเณรสุขคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เอ่ยมาข้างต้นนั้น ไม่มีจิตใจ แต่คนสามารถบังคับให้มันเป็นไปตามความต้องการได้ เราเองมีจิตใจ มีความคิด ไฉนจะบังคับตัวเองไม่ได้เล่า คิดดังนี้แล้ว จึงกราบเรียนอุปัชฌาย์ว่า ถ้าท่านจะรับบาตรและอนุญาตให้กระผมกลับไปบำเพ็ญกรรมฐานที่วัดก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง พระเถระรับบาตรจากมือสามเณรและอนุญาตให้กลับวัดตามประสงค์ สามเณรสั่งอุปัชฌาย์ว่า ถ้าจะกรุณานำอาหารที่มีรส ๑๐๐ (สงสัยว่าอาหารอร่อยมาก) มาฝากก็จะเป็นพระคุณมาก พระเถระว่าจะไปเอาที่ไหน
สามเณรบอกว่าถ้าไม่ได้ด้วยบุญท่านก็ด้วยบุญของกระผมขอรับ ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร บังเอิญว่าพอฉันเสร็จญาติโยมก็ฝากอาหารมีรส ๑๐๐ มากับพระเถระ พระเถระรีบนำอาหารนั้นกลับวัด เพื่อให้ทันก่อนเที่ยง
พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยพระญาณ ทรงทราบต่อไปว่าขณะที่สามเณรกำลังเข้าฌานแน่วดิ่งอยู่นั้น สารีบุตรอาจมา “ขัดจังหวะ” ทำให้เป็นอันตรายแก่การบรรลุมรรคผล พระองค์จึงเสด็จไปดักพระสารีบุตรที่หน้าซุ้มประตูพระเชตวัน
ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ พระสารีบุตรก็ถวายวิสัชนาได้อย่างถูกต้องทั้ง ๔ ข้อ (ปัญหาก็เช่นเดียวกับที่ถามในเรื่องสามเณรบัณฑิต) เมื่อทรงเห็นว่าสามเณรได้บรรลุพระอรหัตแล้ว พระองค์จึงตรัสให้พระสารีบุตรรีบนำอาหารไปให้สามเณร
ว่ากันว่าขณะที่สามเณรฉันข้าว พระอาทิตย์ก็ยังไม่เที่ยงวัน หลังจากสามเณรฉันเสร็จล้างบาตรแล้ว เงาพระอาทิตย์ก็เอียงวูบบ่ายคล้อยไปอย่างรวดเร็ว พระภิกษุทั้งหลายจึงโจษขานกันเซ็งแซ่ว่า เมื่อกี้นี้ยังเช้าอยู่เลย พอสามเณรฉันเสร็จก็บ่ายคล้อยทันที ทำไมเวลาเช้ามีมาก เวลาเย็นมีน้อย แปลกแท้ๆ
พระพุทธองค์เสด็จมาตรัสบอกภิกษุเหล่านั้นว่า เวลาผู้มีบุญบำเพ็ญสมณธรรมมักจะเป็นเช่นนี้แหละ แล้วก็ตรัสพระคาถาว่า :-
ชาวนา ไขน้ำเข้านา ช่างศร ดัดลูกศร ช่างไม้ ถากไม้ คนดี ย่อมฝึกตน
พระคาถาที่ตรัสก็คล้ายที่ตรัสเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เปลี่ยนเพียง “บัณฑิตย่อมฝึกตน” มาเป็น “คนดีย่อมฝึกตน” เท่านั้น
คัมภีร์ได้เล่าเรื่องราวในอดีตชาติของสามเณรสุขว่า ที่สามเณรสุขเกิดมาสบายอยากได้อะไรก็ได้โดยง่าย เพราะเธอได้ทำบุญมาแต่ปางก่อน ว่ากันว่า บุตรเศรษฐีคนหนึ่งได้รับมรดกจากบิดาจำนวนมาก จึงใช้ทรัพย์นั้นอย่างฟุ่มเฟือย
วันหนึ่งแกสั่งให้ตระเตรียมอาหารมีรสเลิศราคาแสนแพง ตกแต่งสถานที่อย่างโอ่อ่า แล้วประกาศทั่วเมืองว่า เศรษฐีหนุ่มจะนั่งรับประทานอาหารที่รสเลิศและหรูที่สุดในวันนี้ เชิญประชาชนทั้งหลายมาดู ประชาชนต่างก็พากันมามุงดูเศรษฐีรับประทานอาหารโคตรแพง โคตรอร่อย ขณะนั้นกระทาชายชาวบ้านนอกคนหนึ่งมาเที่ยวกรุงกับเพื่อนทราบเรื่องก็อยากไปดูกับเขาบ้าง พอได้กลิ่นอาหารเท่านั้นก็เกิดน้ำลายไหล อยากกินขึ้นมาทันที จึงร้องขอแบ่งจากเศรษฐีบ้าง
เมื่อถูกปฏิเสธ เขาจึงร้องขึ้นมา ถ้าผมไม่ได้กินอาหารนี้ ผมคงต้องตายแน่นอน ได้โปรดเมตตาผมเถิด ว่าแล้วก็ลงนอนดิ้นอย่างน่าสงสาร เศรษฐีเห็นท่าว่าเจ้าหมอนั้นจะตายจริงๆ ก็สงสาร จึงบอกว่าฉันให้เปล่าไม่ได้ดอก ถ้าแกอย่างได้จริงๆ แกต้องทำงานรับใช้ฉัน ๓ ปี แล้วฉันจะให้อาหารแกถาดหนึ่ง
เงื่อนไขตั้ง ๓ ปีแน่ะครับ ปรากฏว่าชายบ้านนอกแกยอมแฮะ
เมื่อแกทำงานรับใช้เศรษฐีด้วยความขยันหมั่นเพียรครบ ๓ ปี เศรษฐีเห็นในความตั้งใจจริงของกระทาชายนายคนนี้ จึงให้ตระเตรียมสถานที่อย่างโอ่โถง จัดที่นั่งสำหรับรับประทานอาหารอย่างสมเกียรติ ให้คนในบ้านทุกคนยกเว้นภรรยาของตนคอยปรนนิบัติรับใช้เขา ได้เวลาก็เชิญเขามานั่งในที่ที่จัดไว้ ให้คนนำถาดอาหารพิเศษมาเสิร์ฟ ท่ามกลางประชาชนที่ทราบข่าวพากันมามุงดูจำนวนมาก
จะไม่ให้มุงดูอย่างไรได้ เพราะไม่เคยมีใคร “บ้า” ขนาดยอมรับใช้เขาถึง ๓ ปี เพียงเพื่อจะได้กินอาหารเพียงถาดเดียว คนพิลึกอย่างนี้ก็มีด้วย อยากดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ว่าอย่างนั้นเถอะ
ขณะที่ชายบ้านนอกแกนั่งหน้าบานจะกินอาหารที่รอมาถึง ๓ ปี พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเดินอุ้มบาตรผ่านมา เขาเหลือบเห็นพระก็นึกขึ้นมาว่า เราเกิดมายากจนข้นแค้น แค่อยากจะกินอาหารอร่อยถาดเดียวต้องลงแรงรับจ้างเขาทำงานถึง ๓ ปี ถ้าเราจะกินอาหารนี้เราก็อิ่มชั่ววันเดียว อย่ากระนั้นเลย เราถวายทานแก่พระคุณเจ้าดีกว่า ด้วยผลบุญนี้ เราพึงมีอยู่มีกินอย่างสบายในชาติหน้า
คิดได้ดังนี้จึงยกอาหารถาดนั้นไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า นัยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าเพิ่งออกจากฌานสมาบัติ และทานที่ถวายแก่พระที่เพิ่งออกจากฌานสมาบัตินั้นมีอานิสงส์มาก ส่วนมากมักจะให้ผลทันตาเห็น. กรณีกระทาชายนายนี้ก็เช่นกัน แกได้รับผลทันตาเห็นเลยทีเดียว เศรษฐีนายจ้างแกอยากรู้ว่ากระทาชายนายลุงเชยได้อาหารรสเลิศประเภท “เชลล์ชวนชิม” แล้ว แกจะกินเอร็ดอร่อยปานใด หรือว่าจะมูมมามจนท้องแตกตายเหมือนชูชก จึงส่งคนมาดูแล้วให้ไปรายงาน
คนของเศรษฐีมาเห็นกระทาชายนายนี้แกยกอาหารถวายพระ จึงกลับไปรายงานให้เศรษฐีทราบ เศรษฐีให้เรียกเขาไปหา ชมเชยการกระทำของเขาและให้ทรัพย์จำนวนหนึ่ง ขออนุโมทนาในผลบุญที่เขากระทำ. กระทั่งพระราชา เมื่อทรงทราบก็ทรงเลื่อมใสในการกระทำของเขา จึงทรงขอแบ่งส่วนบุญจากเขา และพระราชทานทรัพย์ให้เขาจำนวนมาก สถาปนาให้เขาในตำแหน่งเศรษฐีนามว่า “ภัตตภติกะเศรษฐี” แปลว่า เศรษฐีผู้รับจ้าง (๓ ปี) เพื่ออาหาร (ถาดเดียว)
คัมภีร์ยังกล่าวด้วยว่า คนเราทำบุญแล้วได้อานิสงส์มาก เพราะประกอบด้วย “สัมปทา” (ความถึงพร้อมสมบูรณ์) ๔ ประการ คือ ๑. ผู้รับทานมีศีลบริสุทธิ์ เช่น เป็นพระอริยบุคคล (วัตถุสัมปทา) ๒. สิ่งของที่จะให้ทานได้มาด้วยความสุจริต (ปัจจยสัมปทา) ๓. จิตเลื่อมใสใน ๓ กาล คือ ก่อนให้ กำลังให้ และหลังจากให้แล้ว (เจตนาสัมปทา) ๔. ผู้รับทานเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ (คุณาติเรกสัมปทา)
กระทาชายนายนี้แกมีครบทั้ง ๔ ประการ ข้าวถาดเดียวของแกจึงบันดาลให้ได้เป็นเศรษฐีทันตาเห็น เศรษฐีอดีตกระยาจกคนนี้แหละมาเกิดเป็นสามเณรสุขรูปที่กล่าวถึงนี้
ที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=58993
0 comments: