มีสามเณร ๒ รูป ประวัติคล้ายกันมาก ยังกับเรื่องของคนคนเดียวกันคือ เรื่องสามเณรบัณฑิต กับ สามเณรสุข
รูปแรกมีเรื่องเล่าอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ รูปหลังมีประวัติอยู่ในธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ คล้ายกันอย่างไร ขอเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้ครับ. บัณฑิตสามเณร เป็นบุตรชายของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรเถระ อัครสาวก พอเกิดมาเด็กในบ้านที่โง่เซอะกลายเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณโต้ตอบฉับไวน่าอัศจรรย์ พ่อแม่จึงถือเป็นนิมิตหมายอันดี ตั้งชื่อลูกชายว่า บัณฑิต พ่อแม่ตั้งใจว่า จะไม่ขัดใจลูก ถ้าลูกต้องการอะไรอย่างไร จะพยายามทำตามทุกอย่างตามประสาคนรักลูกมาก
บังเอิญว่าเด็กชายบัณฑิตเป็นบัณฑิตสมชื่อ โตมาได้ ๗ ขวบ ก็คิดอยากบวชเป็นลูกศิษย์พระสารีบุตร พ่อแม่จึงพาไปมอบให้พระเถระบวชเณร บวชลูกชายแล้ว ก็อยู่ในวัดนั้นเอง เลี้ยงพระสงฆ์ ๗ วัน วันที่ ๘ จึงกลับมาบ้าน รอสามเณรน้อยไปบิณฑบาตที่บ้าน
วันนั้น พระสารีบุตรพาบัณฑิตสามเณรไปยังเรือนของพ่อแม่สามเณรสายกว่าปกติ ระหว่างทางจากวัดไปยังหมู่บ้าน ผ่านทุ่งนา สามเณรน้อยเห็นชาวนาไขน้ำเข้านา ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างศรกำลังดัดลูกศร ผ่านไปอีกหน่อยเห็นช่างไม้ถากไม้ทำเฟอร์นิเจอร์ จึงถามไถ่ตามประสาเด็กอยากรู้อยากเห็น. พระเถระก็อธิบายให้ฟัง ขณะฟังคำอธิบายของพระเถระ สามเณรน้อยก็ “ฉุกคิด” ขึ้นในใจว่า
น้ำไม่มีจิตใจ คนยังบังคับให้มันไหลไปโน่นไปนี่สนองความต้องการของคนได้ ลูกศรก็ไม่มีจิตใจ คนก็ดัดให้ตรงได้ตามต้องการ ไม้ไม่มีจิตใจ ช่างไม้ก็ถากไม้ให้มันเกลี้ยง และให้เป็นรูปร่างต่างๆ ตามชอบใจ ไฉนเราซึ่งมีจิตใจจะฝึกฝนตนให้ได้สิ่งที่ต้องการไม่ได้เล่า คิดดังนั้นจึงกล่าวกับอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ถ้าท่านจะกรุณาให้ผมกลับวัดไปบำเพ็ญภาวนาก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง พระเถระบอกกับสามเณรว่าตามใจ แล้วก็รับบาตรจากสามเณรเดินไปหมู่บ้านรูปเดียว
ศิษย์น้อยสั่งว่า กรุณานำอาหารมาเผื่อด้วย ได้ปลาตะเพียนก็ดี (แน่ะ สั่งเอาตามใจชอบด้วย) พระเถระถามว่า จะได้มาจากไหน (ไม่ได้ไปจ่ายตลาดนะจ๊ะ). สามเณรน้อยบอกว่า ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของท่าน ก็ด้วยบุญของผม แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
สามเณรกลับไปวัด เข้ากุฏิปิดประตูนั่งกรรมฐานท่ามกลางความเงียบสงัด เพราะพระเณรออกไปภิกษาจารกันหมด จิตของเธอจึงเป็นสมาธิแน่วแน่ ฝ่ายพระสารีบุตรเป็นห่วงจะเลยเวลาเพลเพราะจวนจะเที่ยงแล้ว ได้อาหาร (มีปลาตะเพียนด้วยแน่ะครับ ว่ากันว่าเพราะบุญสามเณร) จึงรีบกลับวัด
พระพุทธเจ้าเสด็จไปดักหน้าพระสารีบุตรที่ประตูพระเชตวันมหาวิหารเพราะทรงทราบว่าสามเณรกำลังจะบรรลุอรหัตผล ถ้าพระสารีบุตรเข้าไปในเวลาดังกล่าวจะ “ขัดจังหวะ”
พระพุทธองค์จึงตรัสถามปริศนา ๔ ข้อให้พระสารีบุตรตอบ พระเถระก็ตอบได้ถูกต้อง ความประสงค์ของพระพุทธองค์ก็เพียงหน่วงเหนี่ยวพระเถระมิให้ไปรบกวนสมาธิสามเณรเท่านั้น มิใช่เพื่อทดสอบปัญญาพระอัครสาวก หรือเล่น “เกมทายปัญหา” แต่ประการใด
เมื่อพระสารีบุตรวิสัชนาปัญหา ๔ ข้อจบลง ก็พอดีสามเณรได้บรรลุพระอรหัตพร้อมปฏิสัมภิทา พระพุทธองค์ตรัสตอบพระสารีบุตรว่า ไปเถิดสารีบุตร สามเณรคงหิวแล้ว ว่ากันว่า วันนั้นพระเถระเข้าบ้านสายกว่าปกติ กว่าจะฉันเสร็จ กว่าจะนำอาหารกลับมาให้สามเณรน้อยก็ผ่านไปหลายชั่วโมง คือตกบ่ายแล้ว
แต่คัมภีร์ได้เขียนไว้ว่าเดือดร้อนถึงท้าวสักกเทวราช (ท้าวอมรินทร์เทวราช) ต้องสั่งให้สุริยเทพบุตรฉุดรั้ง “สุริยมณฑล” ให้นิ่งอยู่กับที่อย่าให้เลยเที่ยงไป จนกว่าสามเณรจะฉันเสร็จ ว่าอย่างนั้น พอสามเณรฉันเสร็จ ล้างบาตร เช็ดบาตรเท่านั้น พระอาทิตย์ซึ่งนิ่งอยู่กับที่ก็ติด “เทอร์โบ” โคจรปรู๊ดปร๊าดตกบ่ายทันที คงประมาณบ่ายสองบ่ายสามกระมัง ไม่อย่างนั้นเหล่าภิกษุคงไม่เกิดฉงนฉงาย ถึงกับพูดว่า วันนี้แปลก ทำไมบ่ายเร็วนัก สามเณรเพิ่งจะฉันเสร็จเมื่อกี้นี้เอง ดีนะที่ไม่กล่าวหาว่า สามเณรศิษย์พระสารีบุตรฉันเย็น
พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระทั้งหลายเกิดฉงนฉงายใจ จึงตรัสว่า เวลาผู้มีบุญทำสมณธรรม จันทเทพบุตรฉุดมณฑลพระจันทร์รั้งไว้ สุริยเทพบุตรฉุดมณฑลพระอาทิตย์รั้งไว้ อย่างนี้แหละ แล้วทรงยกสามเณรบัณฑิตเป็นตัวอย่างของคนที่มองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้วเกิดแง่คิดในการปฏิบัติจนได้บรรลุพระอรหัตผล โดยตรัสพระคาถาว่า :-
ชาวนา ไขน้ำเข้านา ช่างศร ดัดลูกศร ช่างไม้ ถากไม้ บัณฑิต ย่อมฝึกตน
เรื่องราวของสามเณรบัณฑิตมหัศจรรย์กว่านี้มาก แต่ผมตัดส่วนที่เป็นอิทธิปาฏิหาริย์ออกบ้าง ถ้าเราไม่มองแค่ชาตินี้ชาติเดียว เราจะเห็นว่าความสำเร็จอะไรอย่างง่ายดายและความมหัศจรรย์บางอย่างเกี่ยวกับสามเณรบัณฑิต เป็นผลเนื่องมาจาก “บุญเก่า” ที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อนทั้งนั้น
เรื่องนี้มองเห็นได้ในปัจจุบัน บางคนตั้งแต่เกิด ไม่ได้ทำบุญกุศลอะไรเห็นๆ กันอยู่ แต่ชีวิตสะดวกสบาย เกิดมาในกองเงินกองทองต้องการอะไรก็ได้ ถามว่า เขาทำเอาในชาตินี้หรือ เปล่าทั้งนั้น คนนิสัยอย่างนี้ พื้นเพจิตใจอย่างนี้ถ้าให้เริ่มจาก “ศูนย์” เหมือนคนอื่น รับรองไม่พ้นกระยาจกธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง ที่เขามีอยู่เป็นอยู่ เชิดหน้าเหยียดหยามคนอื่นอยู่นั้น เพราะผลบุญเก่าทั้งนั้น
คัมภีร์กล่าวว่า สามเณรบัณฑิตนั้น ในอดีตชาติอันยาวนานโพ้นเกิดเป็นชายทุคตะ (คนยากจน) คนหนึ่ง เห็นเขาพากันนิมนต์พระคนละสิบรูป ยี่สิบรูปไปฉันที่บ้าน ก็อยากทำบุญกะเขาบ้าง จึงชวนภรรยาไปรับจ้างเขาเพื่อเอาข้าวน้ำมาถวายพระ ไป “จองพระ” ไว้รูปหนึ่ง
หลังจากได้ค่าจ้างแล้วก็พากันตระเตรียมอาหารถวายพระ นายทุคตะไปถามผู้จัดการในการทำบุญว่าจองพระรูปไหนให้ตน ตนจะไปนิมนต์ไปฉันที่บ้าน ผู้จัดการบอกว่าลืมจดบัญชีไว้ ขอโทษขอโพยนายทุคตะเป็นการใหญ่ นายทุคตะแทบล้มทั้งยืนครวญกับผู้จัดการว่า นายเป็นคนชวนผมทำบุญ ผมก็ไปรับจ้างหาเงินมาตระเตรียมอาหารถวายพระตามคำชวนของนายแล้ว นายไม่มีพระให้ผม จะให้ผมทำอย่างไร
ผู้จัดการหาทางออกให้เขาว่า พระพุทธเจ้ายังไม่มีใครนิมนต์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาต่อคนยากไร้อยู่แล้ว แกรีบไปนิมนต์พระองค์เถอะ นายทุคตะได้ยินดังนั้นก็รีบไปกราบแทบพระบาทกราบทูลอาราธนาพระองค์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านตน พระองค์ทรงรับ ประทานบาตรให้นายทุคตะอุ้มนำหน้า อัญเชิญเสด็จไปยังเรือนของตน
เรื่องเล่าถึงพระอินทร์ปลอมเป็นพ่อครัวหัวป่า ฝีมือเยี่ยมมาช่วยนายทุคตะทำกับข้าวจานเด็ดให้โดยไม่คิดค่าบริการแต่อย่างใด ถ้าไม่พูดถึงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ก็คงจะเป็นเพื่อนบ้านสักคนมาช่วยทำอาหารให้นั่นเอง. หลังจากพระพุทธองค์เสวยเสร็จ เสด็จกลับพระอาราม ก็เกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์คือ เรือนน้อยๆ ของนายทุคตะเต็มเปี่ยมไปด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ (ทำไมแค่ ๗ ไม่ใช่ ๙ ก็ไม่รู้สิครับ) เป็นที่ฮือฮามาก คนเข้าใจกันว่าเป็นเพราะผลแห่งทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้า
พระราชาแห่งเมืองนั้นทรงทราบเรื่อง เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง รับสั่งให้ขนรัตนะเหล่านั้นออกมากองยังลานบ้าน ตรัสถามว่าทรัพย์สมบัติมากมายปานนี้ มีใครมีบ้างในเมืองนี้ เมื่อไม่มีใครมีมากเท่านายทุคตะ จึงทรงสถาปนาเขาในตำแหน่งเศรษฐี มีศักดิ์เป็นศรีของเมืองต่อไป
เขาจึงได้นามว่า ทุคตเศรษฐี แต่บัดนั้น เขาสำนึกเสมอว่าสมบัติเหล่านี้ได้มาเพราะการทำบุญทำทาน เขาจึงไม่ประมาทในการทำบุญทำทานจนสิ้นชีวิต ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดเป็นบุตรของตระกูลอุปฐากพระสารีบุตรในบัดนี้
ได้รับขนานนามว่า บัณฑิต เพราะพอเกิดมา คนโง่ๆ ที่พูดไม่รู้เรื่องในบ้าน กลายเป็นคนฉลาดมีไอคิวสูงโดยอัตโนมัติ
คนใช้ประเภทนายบอกว่า “อย่าลืมเอาแอปเปิ้ลแช่ตู้เย็นนะ” แล้วก็เอาลูกเจ้านายที่ชื่อ “แอปเปิ้ล” ยัดตู้เย็นจนตาย ถ้าไปอยู่บ้านพ่อแม่เด็กชายบัณฑิต ก็จะฉลาดหมดเลยครับ
สามเณรบัณฑิตมี “บุญเก่า” ที่สั่งสมไว้มาก จึงอำนวยให้เธอประสบความสำเร็จในชีวิตแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะสำเร็จเป็นสามเณรอรหันต์แต่อายุเพียง ๗ ขวบ เรื่องผลบุญผลบาปเป็นอจินไตยครับ คนธรรมดาสามัญอย่าคิดสงสัย คิดจนหัวแทบแตกก็ไม่เข้าใจดอก ขืนคิดมากเดี๋ยวจะเป็นอย่างที่พระบาลีว่า อุมฺมาทสฺส ภาคีอสฺส = เขาพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า
ที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=58994
0 comments: