วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

"พระอรหันต์ในบ้าน" (พระมหาสนอง ปจฺโจปการี)

คำว่า "พระในบ้าน" ในที่นี้มิได้หมายถึงพระสงฆ์องคเจ้า  แต่หมายถึงพระที่อยู่ในบ้านจริง หมายความว่า ในครอบครัวหนึ่ง ๆ จะมีพระอยู่ ๒ องค์ คือ พระพ่อกับพระแม่  พ่อแม่เรานี่แหละเป็นพระของเรา เป็นพระที่นั่งอยู่ในบ้าน  เป็นพระที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด....ท่านเป็นพระ  เป็นเทวดา และเป็นพระอรหันต์ของลูก

ผู้เป็นลูกควรคิดไตร่ตรองอยู่เสมอว่า ในโลกนี้คงไม่มีใครรักเราเท่าชีวิตเหมือนกับพ่อแม่  แม่รักเรายิ่งกว่าชีวิตของท่านเสียอีก ดังบทกลอนที่ว่า :-

"รักของใครหรือจะแท้เท่าแม่รัก, ผูกสมัครรักมั่นมิหวั่นไหว, หวงใดเล่าเท่าหวงดั่งดวงใจ, ที่แม่ให้กับลูกอยู่ทุกครา, ยามลูกขื่นแม่ขมตรมหลายเท่า, ยามลูกเศร้าแม่โศกวิโยกกว่า, ยามลูกหายแม่ห่วงคอยดวงตา, ยามลูกมาแม่หมดลดห่วงใย"

พ่อแม่คือพระพรหมของลูก เพราะปฏิบัติอยู่ในพรหมวิหาร๔คือ เมตตา, กรุณา,  มุทิตา, อุเบกขา. พ่อแม่เป็นบูรพาจารย์ของลูก (คนแรก) "บูรพาจารย์"  คือ ครูคนแรกที่สอนให้ลูกพูด ให้รู้จักเรียก พ่อแม่  ลุงป้า...พ่อแม่จะสอนลูกให้อ่อนน้อม...สอนให้ลูก...รู้จักโอบอ้อมอารี...วจีไพเราะ...สงเคราะห์ชุมชนและและวางตนให้เหมาะสม. มีลูกบางคน พอโตขึ้นมาหน่อย...กลับด่าแม่...ตีแม่...เถียงแม่...ทำให้แม่ผิดหวัง ทำให้แม่เสียใจ  บางครั้งถึงกับทำให้แม่ต้องหลั่งน้ำตา...น้ำตาแม่ที่ไหลออกมา...เพราะลูกชั่ว...มันเป็นน้ำตาที่ไหลออกมา...ด้วยความน้อยใจ...ดังคำกลอนที่ว่า :- 

"ลูกคนใดกระทำกรรมแก่แม่, สุดเลวแท้ชั่วช้าสิ้นราศี, ลูกด่าแม่ตีแม่ลูกกาลี, ลูกอับปรีย์ทำแม่ช้ำน้ำตาริน,  น้ำตาแม่  รินไหลเมื่อลูกร้าย, น้ำตาแม่  เป็นสายเมื่อลูกหมิ่น, น้ำตาแม่  หลั่งลงรดพื้นดิน, เมื่อได้ยิน  ลูกเสเพลเนรคุณ

พ่อแม่คือพระอรหันต์ของลูก,  พระอรหันต์ หมายถึง บุคคลที่เราควรเคารพบูชา ขอให้เราไตร่ตรองถึงพระคุณของแม่ แต่ก่อนแม่ต้องทำงานหนักเพื่อใคร? แม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเพื่อใคร?  แม่ยอมทำงานหนักก็เพื่อลูก เพื่อส่งเสียให้ลูกได้เล่าเรียน จะได้มีอนาคตที่สดใส ดังคำกลอนที่ว่า :- 

"แม่เป็นผู้ให้  กำเนิดเกิดลูกรัก, แม่เป็นผู้ให้  ที่พักพิงอาศัย, แม่เป็นผู้ให้ ความการุณอุ่นกายใจ, แม่เป็นผู้ให้  อะไรอะไรไม่รามือ".   "ลูกเจ็บไข้แม่ก็ให้การรักษา, ลูกโตมาแม่ก็ส่งเรียนหนังสือ, ลูกต้องการตำราแม่หาซื้อ, ลูกปรึกษาหารือแม่ยินดี".  "ดวงใจแม่  สะอาดแท้  กว่าทุกสิ่ง, ดวงใจแม่  สะอาดยิ่ง  กว่าสิ่งไหน, ดวงใจแม่  สะอาดเกิน  กว่าสิ่งใด, ดวงใจแม่มีไว้  เพื่อลูกเอย"

คนสมัยใหม่นี้ บางคนก็ไขว่เขว ไม่ค่อยรักพ่อแม่ เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่  ไม่เชื่อฟัง ไม่เคารพ บางทีก็ดูหมิ่นหาว่าคุณพ่อและคุณแม่นี้ไม่ได้เข้าโรงเรียน เป็นคนหัวโบราณ ไม่ทันสมัย เราอย่าไปมองอย่างนั้น... เราต้องเคารพนับถือท่าน อย่าเอาอย่างเหมือนผู้หญิงคนหนึ่ง. 

มีเรื่องเล่าว่า  ยังมีหญิงสาวผู้หนึ่ง ได้ไปเรียนต่อเมืองนอก จบปริญญาโทกลับมาบ้าน พอมาถึงบ้านรู้สึกว่าอะไร ๆ มันขวางหูขวางตาไปหมด มันเหลือเกินจริง ๆ ทำตัวเย่อหยิ่ง ยะโส...โอหัง...พองใหญ่ ไม่มีใครสู้

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เรียกแม่ว่า  แม่...แม่เปิดหน้าต่างให้หนูหน่อยซิ...อากาศร้อน  ส่วนแม่ก็เปิดหน้าต่างให้  จากนั้นก็พูดว่า "แม่เอาน้ำมาให้หนูดื่มหน่อยซิ...หิวน้ำ".  แม่ก็เอามาให้ "แม่ยุงกัดหน้าแข้งหนู มาปัดยุงให้หนูหน่อยซิ" จะใช้แม่อยู่อย่างตลอด

วันหนึ่ง...แม่เหลือทนแล้ว จึงพูดว่า "ลูกนี่ ตั้งแต่ลูกไปเรียนเมืองนอกกลับมานี่ ไม่เหมือนเดิมเลยนะ เดี๋ยวนี้...ลูกใช้แม่เหมือนกับคนใชักับทาส" เมื่อแม่พูดอย่างนี้ ลูกสาวชี้หน้าด่าแม่ว่า  "แม่นี่ไม่ได้เรื่องเลย ไม่กตัญญูรู้คุณคนเอาเสียบ้างเลย แม่พูดอย่างนั้นได้อย่างไร" แล้วยังพูดซ้ำอีกว่า

"แม่พลอยได้หน้าได้ตาก็เพราะหนูนี่แหละ หนูไปเรียนจบปริญญาโทเมืองนอกมา เพราะฉะนั้น แม่จะต้องเอาใจใส่ปฏิบัติหนูให้ดี ๆ หน่อย" ความคิดของสาวคนนี้ใช้ไม่ได้ ไม่คำนึงถึงว่าใครให้เกิดมา ใครให้การศึกษา ใครส่งไปเรียนต่อเมืองนอก

ในทำนองเดียวกัน  ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อปัญญานันท ได้นั่งรถแท็กซี่ไปธุระ...มองเห็นคนขับรถแท็กซี่แก่แล้ว จึงถามว่า นี่โยม...อายุเท่าไหร่แล้ว (๖๒ปี)  อายุมากแล้ว ทำไมยังขับรถอยู่ล่ะ ?  ลูกเต้าไม่มีดอกหรือ ?  ชายผู้นั้นบอกว่า  "ผมมีลูก ๖ คน ๕ คนแรกเป็นข้าราชการ ส่วนคนสุดท้องปัญญาอ่อนบ้า ๆ บอ ๆ หลวงพ่อถามอีกว่า  "ลูก ๆ ไม่ว่าหรือ ที่แก่แล้วยังขับรถอยู่อย่างนี้"

เขาบอกว่า...ลูก ๆ ก็บ่นเหมือนกัน เพราะพ่อแก่แล้วไม่น่าขับรถแท็กซี่ จึงบอกลูกว่า...เอาเถอะ ต่อไปพ่อ...จะเลิกขับรถ  แต่ว่าลูกทุกคนต้องให้เงินพ่อเดือนละ ๑๐๐ บาท ๕ คน ก็ ๕๐๐ บาท ส่วนผู้เป็นลูกบอกว่า  เรื่องนี้ต้องเปิดประชุมสภาวิสามัญ ปรึกษาหารือกันเสียก่อน ในที่ประชุมเสนอญัตติว่า

"พ่อแก่แล้ว...อายุมากแล้ว...ไม่ควรจะให้ขับรถ...เดี๋ยวจะไม่ปลอดภัย  วันนั้นพ่อบอกว่า...ให้ลูกแต่ละคนสละเงินเดือนคนละ ๑๐๐ บาททุกเดิอน ใครจะรับหลักการนี้ย้าง"

พวกลูก ๆ ปรึกษาหารือกัน ในที่สุดก็ลงมติว่า  "ไม่รับหลักการ"  เพราะต่างคนก็พูดว่า...ข้าวยากหมากแพง...เศรษฐกิจไม่ดี...ลูกก็หลายคน...บ้านก็ต้องเช่า...ข้าวก็ต้องซื้อ...รถก็ต้องผ่อน

คิดดูละกัน  พ่อแม่เลี้ยงลูก ๖ คนไม่บ่นเลย ส่งให้เล่าเรียนเป็นข้าราชการ ลูก ๖ คน จะเลี้ยงพ่อกัยแม่ ๒ คนไม่ได้ต้องเกี่ยงกัน คนโน้นก็ว่าของแพง คนนี้ก็ว่าลูกหลายคน คนนั้นก็บ่นว่า...บ้านก็ต้องเช่า ข้าวก็ต้องซื้อ อ้าวสารพัด พ่อแม่เลี้ยงลูกไม่เคยเกี่ยง...๑๐ คนก็ได้ ๑๒ คนก็ได้ แต่ว่าลูก ๖ คน กลับเลี้ยงพ่อแม่ไม่ได้ ลองนึกดูสิว่า...ชะตากรรมชีวิตของชายชราผู้นั้น ยังจะต้องขับรถแท็กซี่ต่อไปอีกหรือไม่ ?

อดีตที่ผ่านมา เราอาจจะเผลอลืมสติไปบ้าง แต่ต่อจากนี้ไปขอเรามีสำเหนียกอยู่เสมอว่า  ขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  เมื่อเราได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน เข้าไปหาพ่อแม่...เอาหัวหนุนตักท่าน...ท่านจะเอามือลูกศีรษะเราเบาๆ พร้อมกับบอกว่า...ลูกเอ๋ย...แม้คนทั้งโลกจะบอกว่าลูกของแม่ชั่วช้าสามานย์ แต่แม่ก็นึกเสมอว่า...ลูกของแม่นั้นเป็นคนดีเสมอ  เพราะว่า....เจ้าคือเลือด...คือเนื้อ...คือหัวใจของแม่...ลูกคือแก้วตาดวงใจของแม่

ที่ผ่านมาพ่อแม่ต้องทำงานหนักเพราะใคร?   เหน็ดเหนื่อยเพื่อใคร?  แม่นั้นทำงานหนักก็เพื่อลูกมิใช่หรือ ?   เมื่อนึกได้แล้วก็ควรตอบแทนบุญคุณท่าน ทำให้ท่านมีความสุขกายสบายใจ  อย่าให้เหมือนกับลูกบางคน เที่ยวทำบุญตักบาตรครบ ๙ รูป ๙ วัด แต่ลืมพระในบ้าน คือ พ่อแม่  ปล่อยให้ท่านอด ๆ อยาก ๆ  แล้วมัดจะได้บุญอย่างไร  อยากจะบอกว่า :-       

"ตักบาตรกี่พันครั้งก็ยังด้อย, ถ้าหากปล่อยให้พ่อแม่กินไม่อิม, สร้างพระเครื่องเข้าพิธีกี่หมื่นพิมพ์, บุญไม่เท่าสร้างรอยยิ้มให้พ่อแม่ได้อิ่มใจ"

ขอให้ลูกทุกคน ๆ คนประณมมือขึ้น กล่าวคำมั่นสัญญา และขอขมาต่อคุณพ่อคุณแม่พร้อม ๆ กัน  ว่าตามดังนี้ "ด้วยกายก็ดี  ด้วยวาจาก็ดี  ด้วยใจก็ดี...ที่ลูก ๆ เคยล่วงเกิน เคยกระทำ  ความผิดต่อคุณพ่อและคุณแม่...เคยทำให้คุณพ่อและคุณแม่ต้องเสียใจ...ต้องผิดหหวังต้องน้ำตาไหล. บัดนี้...ลูกสำนึกผิดแล้ว  ลูกจะกลับตัวใหม่...เริ่มต้นใหม่  เริ่มเป็นคนดี  เชื่อฟังคำสั่งสอนของพ่อแม่และครูอาจารย์...จะไม่ทำให้คุณพ่อและคุณแม่ต้องผิดหวัง...ไม่ทำให้ครูอาจารย์ต้องเดือดร้อน... ด้วยสัจวาจานี้...ขอพรอันประเสริฐจงบังเกิดมีแก่ลูกตลอดกาลนานเทอญ"

จากหนังสือธรรมะ...ปาร์ตี้  แฮปปี้...เถอะโยม เขียนโดย พระมหาสนอง  ปจฺโจปการี

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: