“สามเณรเรวตะ” อรหันต์น้อยผู้ชอบอยู่ป่า : ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เล่าเรื่องสามเณรน้องชายพระสารีบุตรมาแล้วหนึ่งรูปคือ สามเณรจุนทะ คราวนี้มาถึงเรื่องราวของสามเณรเปี๊ยก นามว่า เรวตะ หรือ เรวัต บ้าง ดังได้กล่าวแล้วว่า พระสารีบุตรท่านได้พบชีวิตใหม่ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า เพราะพระอัสสชิเป็นผู้แนะนำ เมื่อท่านบวชเข้ามาแล้วจึงเคารพพระอัสสชิ อาจารย์ของท่านมาก ถึงกับนอนหันศีรษะไปยังทิศต่างๆ ที่ทราบว่าท่านอัสสชิอยู่
เมื่อท่านเข้ามาในพระพุทธศาสนาก็อยากเห็นลูกหลานได้เข้ามาลิ้มรสแห่งสันติสุขอย่างท่านบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมน้องชายมาบวชกันทุกคน
น้องคนเล็กที่ชื่อเรวตะนี้ ตอนนั้นยังเล็กมาก แต่ท่านก็บอกพระสงฆ์ที่อยู่หมู่บ้านท่านไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าน้องชายท่านอยากบวช ก็จงให้บวชเลย โยมทั้งสองก็คอยระวังแจกลัวลูกชายคนโตจะมาเอาน้องคนเล็กไปบวชอีก จึงชิง “ตัดหน้า” ด้วยการจัดการให้ลูกชายแต่งงานตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ
งานแต่งงานได้จัดขึ้นอย่างหรูหรา เจ้าบ่าวเจ้าสาวยังเล็กเกินกว่าจะรู้เรื่องของโลก เขาพาทำพิธีต่างๆ ก็ตื่นเต้นสนุกสนานตามประสาเด็ก ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็ผลัดกันเข้ามายังห้องพิธี เพื่ออวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาว
“ขอให้อายุมั่นขวัญยืนครองชีวิตคู่ยาวนาน” “ขอให้ถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชร” “ขอให้อายุยืนเหมือนคุณยาย” เสียงอวยพรดังขึ้นไม่ขาดระยะ จนกระทั่งพิธีแต่งงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เป็นที่ชื่นชมของญาติวงศ์ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว
เจ้าบ่าวน้อยเรวตะได้ยินคำอวยพรก็สะดุดใจทันที ภาพคุณยายอายุเกินร้อยร่างกายทรุดโทรม หนังเหี่ยวฟันหลุด ผมขาวโพลน เดินแทบไม่ได้ มือไม้สั่นเทิ้ม ต้องให้คนคอยพยุงลุกพยุงนั่ง จึงถามผู้ใหญ่ว่า เจ้าสาวของผมก็จะเป็นเช่นคุณยายใช่ไหม? “ใช่แล้ว จะอายุยืนปานนั่นแหละ” ญาติๆ ตอบ.
“แล้วผมก็จะเป็นเช่นนั้นไหม?” “เป็นคือกัน คักแท้ๆ เด้ ลูกเอ๋ย” เสียงตอบยืนยัน ผู้ตอบนึกว่าเป็นการให้กำลังใจ. ตรงข้ามกับสร้างความสลดหดหู่ให้เกิดขึ้นแก่เจ้าบ่าวน้อย พลันภาพพระพี่ชายก็ผุดขึ้นในใจ สงสัยอุปติสสะพี่ชายเราคงคิดเห็นเช่นเดียวกันนี้ จึงเบื่อหน่ายออกไปบวช อย่ากระนั้นเลย เราไปบวชดีกว่า
คิดว่าถ้าจะลาบวชตรงๆ คงไม่ได้รับอนุญาตเพราะเพิ่งแต่งงาน จึงคิดจะหนีไปบวชขณะที่เขาแห่เพื่อส่งตัวเจ้าบ่าวไปยังห้องหอที่เตรียมไว้อย่างสวยหรูนั่น เรวตะได้ช่องทางหลบหนีไปยังสำนักวัดป่าซึ่งอยู่ใกล้ทางผ่าน เข้าไปขอบวช. ภิกษุทั้งหลายรู้ว่าเด็กน้อยเป็นน้องชายพระสารีบุตร จึงจัดการบวชเณรให้ เพราะถือว่าได้รับอนุญาตจากพระพี่ชายแล้ว
พระสารีบุตรรู้ว่าน้องชายคนเล็กได้บวชเป็นสามเณรแล้ว คิดจะไปนำตัวมาอยู่ด้วยที่พระเชตวันมหาวิหาร แต่พระพุทธองค์ตรัสว่าให้รอสักพรรษาหนึ่งก่อน ออกพรรษาแล้วค่อยไป พระองค์ก็จะเสด็จไปด้วย. ต้องเข้าใจนะครับ น้องชายท่านอยู่เมืองราชคฤห์ พระเชตวันมหาวิหารอยู่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ห่างกันคนละรัฐทีเดียว ระยะทางมิใช่ใกล้
ฝ่ายสามเณรน้อยเรวตะคิดว่า ถ้าอยู่ที่วัดป่านั้น พวกญาติอาจตามมาพบและนำตัวกลับบ้าน จึงเรียนกรรมฐานจากพระเถระทั้งหลายแล้วเข้าไปอยู่ในป่าสะแก ซึ่งอยู่ห่างจากวัดประมาณ ๓๐ โยชน์ (๔๐๐ เส้นเป็นหนึ่งโยชน์ เอา ๓๐ คูณก็แล้วกัน)
ภายในพรรษานั้นเอง สามเณรน้อยบำเพ็ญจิตภาวนาจนได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นสามเณรน้อยอรหันต์. เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระสารีบุตรไปทูลลาพระพุทธเจ้า เพื่อไปเยี่ยมสามเณรน้องชายอีก ท่านคงเป็นห่วงว่าอยู่อย่างไรเพราะตัวยังเล็กนัก คราวนี้พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ก็จะไปด้วย จึงพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากเสด็จดำเนินไปยังเมืองราชคฤห์
ว่ากันว่ามีทางไปยังป่าสะแกสองเส้นทาง เส้นทางหนึ่งเป็นทางตรงระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ แต่เต็มไปด้วยพวก “อมนุษย์”
อีกเส้นทางหนึ่งเป็นทางอ้อมระยะทางประมาณ ๖๐ โยชน์ สะดวกสบายไม่มีอันตราย พระพุทธองค์ทรงเลือกเส้นทางตรง แม้จะไม่ค่อยปลอดภัยนักก็ไม่สู้กระไร เพราะคงไม่เกิดอะไรขึ้นกับขบวนพระสงฆ์ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข
แต่เส้นทางนี้ค่อนข้างกันดาร ไม่ค่อยมีผู้คน อาหารบิณฑบาตย่อมหายาก สงสัยกันว่าทำไมพระพุทธองค์ทรงเลือกเส้นทางนี้ ไม่กลัวพระสงฆ์อดตายหรืออย่างไร
ไม่อดและไม่ตายแน่นอนครับ เพราะทรงทราบว่าในขบวนตามเสด็จมีพระสีวลีเถระอยู่ด้วย พระสีวลีเป็นพระเถระมีบุญ มีลาภมาก ไปไหนๆ ก็จะมีลาภเสมอ คราวนี้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าเข้าป่ากันดาร ถึงไม่มีผู้คนจะนำข้าวปลาอาหารมาถวายพระสงฆ์ เหล่าเทพยดาทั้งหลายก็พากันตระเตรียมอาหารมาถวายตลอดทาง
ฝ่ายสามเณรน้อยอรหันต์เรวตะก็นิรมิตพระคันธกุฎีถวายพระพุทธองค์ประทับ สร้างเรือนยอด ลานจงกรม สถานที่พักกลางวันและกลางคืนถวายพระภิกษุสงฆ์ด้วยอิทธิฤทธิ์ ทำให้พระสงฆ์ทั้งปวงคิดว่ากำลังอยู่ในวัดสวยงามท่ามกลางป่า
แท้ที่จริงแล้วก็คือป่าสะแกดีๆ นี้เอง ที่กลายเป็นสถานที่มีสิ่งปลูกสร้างโอ่โถง สวยงามได้เพราะอำนาจอิทธิฤทธิ์บันดาล
พระแก่สองรูป เห็นกุฏิตึก เห็นอาคารต่างๆ สร้างอย่างสวยงาม ก็นึกตำหนิว่าภิกษุนี้ (หมายถึงสามเณรเรวตะ) คงมัวแต่ก่อสร้าง จะเอาเวลาที่ไหนบำเพ็ญเพียรทางจิต พระศาสดาเสด็จมาเยี่ยมผู้สนใจแต่กับการก่อสร้างอย่างเรวตะ คงเห็นว่าเป็นน้องชายพระอัครสาวก พูดง่ายๆ ว่า เห็นแก่หน้าว่าอย่างนั้นเถอะ
พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระขรัวตาสองรูปนี้คิดอกุศลต่อพระอรหันต์ขีณาสพ (ผู้หมดสิ้นกิเลส) จะเป็นบาปเป็นกรรมโดยใช่เหตุ จึงทรงบันดาลด้วยอิทธิฤทธิ์ให้ขรัวตาสองรูปนี้ลืมบริขาร เมื่อทั้งสองกลับมาเอาบริขารที่วัด ไม่เห็นตึกรามสวยงามที่เคยพักเลยแม้หลังเดียว มีแต่ป่าสะแกเต็มไปหมด ต้องบุกป่าฝ่าหนามสะแกค้นหาบริขารของตน พบห่อของๆ ตนห้อยอยู่ที่กิ่งสะแกต้นหนึ่ง แล้วกลับไปด้วยอาการงงๆ เหมือนนักมวยถูกหมัดฮุกของฝ่ายตรงข้าม
เหตุการณ์ผ่านไปเดือนกว่าๆ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากการเยี่ยมสามเณรน้อยอรหันต์แล้วก็เสด็จกลับไปยังเมืองสาวัตถี ประทับที่วัดบุพพาราม นางวิสาขามหาอุบาสิการู้ว่าพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมากประทับอยู่ที่วัดบุพพารามของตนจึงตระเตรียมภัตตาหารไว้ถวายในวันรุ่งขึ้น
ขรัวตาสองรูปอยู่ในจำนวนนั้นด้วยรีบไปบ้านนางวิสาขาแต่เช้าตรู่ทีเดียว (แสดงว่าต่างคนต่างไป ไม่พร้อมกัน ฉันเสร็จก็กลับวัด) นางวิสาขานำข้าวยาคูมาถวายขรัวตาทั้งสองรูป จึงเรียนถามว่าที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อยเป็นอย่างไร น่าอยู่ไหม
พระแก่คล้อยหลัง พระหนุ่มอีกสองรูปมาถึง นางถวายข้าวยาคูแล้วถามถึงที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อย ทั้งสองพูดด้วยความอัศจรรย์ใจว่า “โอ มหาอุบาสิกา ในป่าในดงอย่างนั้นทำไมมีกุฏิสวยงามมากมายหลายหลัง ยังกับวิมาน น่ารื่นรมย์ดุจเทวสภาชื่อสุธรรมาบนดาวดึงส์สวรรค์ก็มิปาน โยมเอ๋ย”
ฟังภิกษุสองกลุ่มพูดไม่เหมือนกันเลย นางวิสาขาคิดว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างแน่ หลังจากถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์แล้ว จึงกราบทูลถามว่าที่อยู่ของเรวตะอรหันต์น้อยเป็นอย่างไรกันแน่
พระพุทธองค์ตรัสว่า “อุบาสิกา ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือป่าก็ตาม พระอรหันต์อยู่ ณ สถานที่ใด สถานที่นั้นน่ารื่นรมย์ทั้งนั้น” แล้วตรัสโศลกบทหนึ่งว่า ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม หรือที่ดอน พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ที่ใด ที่นั้นไซร้ น่ารื่นรมย์
สามเณรเรวตะหลังจากได้อุสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ในเอตทัคคะ (ในความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ด้านอยู่ป่าเป็นวัตร (คืออยู่ป่าเสมอ) ตลอดชีวิตท่าน ท่านอยู่สงบแต่ในป่า โดยเฉพาะป่าสะแกท่านชอบมาก จนได้นามว่า “ขทิรวนิยเรวตะ” (เรวตะ ผู้ชอบอยู่ป่าสะแก) บางท่านแปลว่า “อยู่ป่าตะเคียน” ก็แล้วแต่จะแปลเถอะครับ
เพราะชอบอยู่ป่านี่เองจึงเกิดเรื่องครั้งหนึ่ง เมื่อท่านชราภาพแล้ว ท่านถูกจับพร้อมของกลางที่พวกโจรมาทำหล่นไว้ เขาหาว่าท่านขโมยของเขามา เมื่อเรื่องถึงพระราชาท่านได้แสดงความบริสุทธิ์ของท่าน ว่าอย่าว่าแต่ขโมยเลย แม้เจตนาสักนิดเดียวที่จะเอาของที่เขาไม่ให้ก็ไม่มีในใจท่าน พระราชาทรงเชื่อจึงให้ปล่อยท่านไป
แล้วท่านก็เข้าเตโชธาตุสมาบัติเหาะขึ้นในอากาศ บัดดลนั้นก็เกิดเปลวเพลิงลุกไหม้เผาร่างท่านเป็นเถ้าธุลี ดับขันธปรินิพพาน ในห้วงนภากาศนั้นแล
ที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=58997
0 comments: