วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต - ไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก (พระพุทธเจ้าเคยถูกด่าว่า "สัตว์นรก")

นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต - ผู้ไม่ถูกนินทา ย่อมไม่มีในโลก (ขุ.ธ. ๒๕/๔๕)

พระพุทธเจ้าเคยถูกด่าว่า “สัตว์นรก”.  ความจริงข้อนี้ไม่มียกเว้น แม้แต่พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายยังไม่พ้น และยังโดนว่าร้ายด้วยคำรุนแรงมากๆ แม้แต่สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา นั่นคือ “สัตว์นรก”

ถามว่าเรื่องนี้มีที่มาอย่างไร ตอบว่าเรื่องนี้ปรากฏในธรรมบทเรื่องพระนางสามาวดี เรื่องก็มีอยู่ว่าพระนางมาคันทิยาซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทน ผูกโกรธพระพุทธเจ้าที่พระองค์ตรัสเปรียบตนว่าเต็มด้วยมูตรและกรีส ตนจึงได้สั่งให้ทาสและกรรมกรทั้งเมืองไปตามด่าพระพุทธเจ้าตลอด 7 วัน ด้วยหวังจะให้พระพุทธเจ้าหนีออกจากเมืองไป.  พวกทาสกรรมกรได้รับใบสั่งมา ก็ลงมือทำตามที่สั่งทันที ทั้งเมืองตามด่าพระพุทธองค์ผู้กำลังเสด็จบิณฑบาตอยู่ในเมืองด้วยอักโกสวัตถุ 10 ประการคือ 

"เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นอูฐ เจ้าเป็นโค เจ้าเป็นลา เจ้าเป็นสัตว์นรก เจ้าเป็นสัตว์ดิรัจฉาน สุคติไม่มีสำหรับเจ้า ทุคติเท่านั้นอันเจ้าพึงหวัง."  ซึ่งเป็นประเด็นที่ใช้ด่ากันในสมัยนั้น

เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พระอานนท์ก็ได้กราบทูลข้อให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตที่เมืองอื่น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเจอคนตามด่าเวลาบิณฑบาต แต่พระบรมครูของโลกกลับทรงปฏิเสธ ทรงตรัสว่า ปัญหาเกิดที่ใด ก็ให้มันจบลงที่ตรงนั้น แล้วก็ทรงบิณฑบาตต่อไปโดยไม่หวั่นไหวต่อเสียงนินทาที่เกิดขึ้นในเมือง เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ถึง 7 วันจึงสงบลงเพราะฝ่ายคนที่มาด่าเห็นว่าไม่อาจทำให้พระองค์หนีไปได้จึงเลิกราไป

หากเป็นคนธรรมดาอย่างเราๆคงจะอยู่ไม่ได้ถ้ามีคนทั้งเมืองมาตามด่าแบบนี้ คงจะต้องรีบย้ายเมืองหนีเป็นแน่แท้ และไม่กลับมาเหยียบอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่พระพุทธเจ้าทรงหยัดสู้ต่อไม่หนีไปไหนถึง 7 วันจนฝ่ายด่าเป็นฝ่ายล่าถอยซะเอง.   ในเหตุการณ์ที่พระพุทธองค์ทรงผจญสงครามน้ำลายครั้งนี้ พระองค์ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ในนาควรรคว่า :-

อหํ  นาโคว  สงฺคาเม   จาปาโต  ปติตํ  สรํ,  

อติวากฺยนฺติติกฺขิสฺสํ   ทุสฺสีโล  หิ  พหุชฺชโน.  

ทนฺตํ  นยนฺติ  สมิตึ    ทนฺตํ  ราชาภิรูหติ, 

ทนฺโต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ   โยติวากฺยนฺติติกฺขติ. 

วรมสฺสตรา  ทนฺตา    อาชานียา  จ  สินฺธวา,

กุญฺชรา  จ  มหานาคา   อตฺตทนฺโต  ตโต  วรํ. 

เราจักอดกลั้นคำล่วงเกิน เหมือนช้างอดทนต่อลูกศรที่ตก จากแล่งในสงครามฉะนั้น, เพราะชนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล.  

ชนทั้งหลาย ย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม พระราชาย่อมทรงสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้ว, บุคคลผู้อดกลั้นคำล่วง เกินได้ ฝึก (ตน) แล้ว เป็นผู้ประเสริฐในมนุษย์ทั้งหลาย.

ม้าอัสดร ๑  ม้าสินธพผู้อาชาไนย ๑  ช้างใหญ่ชนิดกุญชร ๑ ที่ฝึกแล้วย่อมเป็นสัตว์ประเสริฐ  แต่บุคคลที่มีตนฝึกแล้วย่อมประเสริฐกว่า (สัตว์พิเศษนั้น).

พระคาถาเหล่านี้เป็นเครื่องเตือนใจเตือนสติพวกเราชาวพุทธให้ดูวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงรับมือกับคำว่าร้ายจากคนพาลที่หวังจะทำลายขวัญกำลังใจ ถึงแม้จะหนักหนาปานใด พระองค์ก็ไม่ถอยหนี ทรงหยัดสู้ต่อจนได้รับชัยชนะในท้ายที่สุด

ดูเอาเถอะครับ ขนาดพระพุทธเจ้าบรมศาสดาของพวกเรายังต้องผจญกับคำว่าร้ายที่รุนแรงของคนพาลถึง 7 วันเต็มๆเลย จะนับประสาอะไรกับเราซึ่งเป็นคนธรรมดายังไม่หมดกิเลสล่ะครับ

การติฉินนินทาเป็นเรื่องที่ทุกคนเจอหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่สำคัญก็คือเราจะต้องเข้มแข็งไม่ถอยหนียอมแพ้ต่อคนพาล แต่อยู่สู้จนคนพาลต้องเป็นฝ่ายถอยไป ตามแบบอย่างพระพุทธเจ้าของพวกเรา

ถ้ามัวแต่ถอยหนี ก็มีแต่แพ้เท่านั้น  อยู่สู้อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทำดีกว่า  เพราะยังไงเราก็ไม่ถึงกับเจอคนทั้งเมืองด่าก็แล้วกัน.

อ้างอิง

๑) พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ (ภาษาบาลี) เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๔๕.   ๒) พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๑๐๔.   ๓) พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔๐ หน้าที่ ๒๘๕.  ๔) พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ (ภาษาบาลี) เล่มที่ ๒๕ หน้าที่ ๕๗.  ๕) พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๔๓ หน้าที่ ๒๒๓

ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=33&p=1 และ https://casethammakaya.wordpress.com

ผู้ประพฤติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข , คนโง่ ไม่ควรเป็นผู้นำ , ผู้นำ ผู้ตาม , ม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก , ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้สิ่งทั้งปวง ผู้ใดสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้อมตะ , บุญเป็นสิ่งเดียวที่โจรขโมยจากเราไปไม่ได้ , ผู้มีศีลย่อมได้รับคำชื่นชมและมีความสุขสงบใจอันเกิดจากกุศล , ผู้ให้ ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ , สุภาษิตและสำนวนในภาษาอังกฤษ (2) , สุภาษิตและสำนวนในภาษาอังกฤษ (1) , คำคมภาษาอังกฤษ ,  'เชื่อมั่นในตน' เกิดเป็นคนควรจะพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จ , ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน , ชนะตนแล ประเสริฐกว่า , ปัญญาย่อมประเสริฐกว่าทรัพย์ , คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ , ธรรมเป็นเหตุให้ยศเจริญ , ผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก , ชนเหล่าใดประมาท ชนเหล่านั้นเป็นเหมือนคนที่ตายแล้ว , จิตที่บุคคลตั้งไว้ชอบ ,  เพียงดังแก้วมณีโชติรส , ผู้ดำเนินชีวิตโดยธรรม ,  ผู้เห็นภัยในความประมาทโดยปกติ ,  ผู้เพ่งความสงบ พึงละโลกามิสเสีย , พุทธภาษิตเกี่ยวกับความตาย , ความไม่รู้เป็นมลทินร้ายที่สุด , คนชั่วช้า ไม่พ้นตาสังคม ,  เมื่อจักขุวิญญาณเห็นรูป ก็เป็นเพียงแต่เห็น , เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักขิณาทานชื่อว่าน้อย ย่อมไม่มี , ช่วยกันเขียนให้ถูก และแปล อย่าให้ผิด , ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้ การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง , คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร 

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: