วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ผลงานและลักษณะโดดเด่นของพระสารีบุตร

ท่านพระสารีบุตรเป็นทั้งอัครสาวกเบื้องขวา ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะและเป็นพระมหาสาวก ดังคำพุทธดำรัสตอนหนึ่งที่ตรัสว่า :- 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเสพ จงคบสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ทั้งสองรูปนี้เป็นบัณฑิตภิกษุ ผู้อนุเคราะห์ผู้ร่วมประพฤติพรหมจรรย์ สารีบุตรเปรียบเหมือนผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะ ย่อมแนะนำในผลชั้นสูง สารีบุตรพอที่จะบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งอริยสัจ ๔ได้โดยพิสดาร ท่านได้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนา และได้รับยกย่องเป็นพระธรรมเสนาบดี.

ในคราวที่ นิครนถ์นาฏบุตรทำกาละแล้วที่นครปาวา ไม่นานนัก พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก เกิดบาดหมางกัน เกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง

ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ ดังนี้ พระสารีบุตรเห็นโทษของการที่ไม่ได้ทบทวนพระธรรมวินัยไว้เป็นหลักชัดเจน จึงได้กล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ควรทบทวนพระธรรมวินัยไว้เป็นหลักจะได้ไม่ต้องถกเถียงกัน ในอนาคต จึงทูลขอพระผู้มีพระภาคเจ้า ทบทวนพระธรรมวินัย คำสอนของท่านปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก เช่น สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร ที่เป็นแบบอย่างแห่งการทำสังคายนา เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่า เป็นการทำสังคายนาครั้งแรกให้เป็นหมวดหมู่ ในสมัยที่พระพุทธองค์ ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่.

ในสมัยหนึ่ง คราวที่พระเทวทัตได้ประกาศแยกตัวออกจากพระพุทธเจ้าแล้วพาพวกวัชชีบุตรซึ่งเป็นศิษย์ของตนไปอยู่ที่คยาสีลประเทศ พระพุทธองค์ได้มอบหมายให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะไปจัดการปัญหาเรื่องนี้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะได้ตรัสเทศนาให้วัชชีบุตรและสงฆ์บางส่วนกลับมาอยู่ในสงฆ์ดังเดิม และปล่อยให้พระเทวทัตและศิษย์ของท่านอยู่กันอย่างโดดเดี่ยว. พระสารีบุตรมีคุณธรรมเป็นผู้มีความกตัญญูสูง ดังได้แสดงออกเกี่ยวกับพระอัสสชิ ซึ่งเวลานอนหันศีรษะไปทางที่พระอัสสชิพำนักอยู่ ส่วนราธพราหมณ์ พระสารีบุตรท่านระลึกถึงบิณฑบาตหนึ่งทัพพีจึงรับเป็นอุปัชฌาย์แก่ราธะ ซึ่งสมัยต่อมา พระราธะที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะผู้มีปฏิภาณแจ่มแจ้งฯ​ 

และเป็นพระมหาสาวกด้วยองค์หนึ่ง. พระสารีบุตรสมบูรณ์ด้วยขันติธรรม เป็นผู้เอาใจใส่อนุเคราะห์เด็ก เช่น ช่วยเอาเด็กยากไร้มาบรรพชา มีสามเณรอยู่ในความปกครองดูแลซึ่งเก่งกล้าสามารถหลายรูป เช่น สามเณรราหุล สามเณรสังกิจจะ สามเณรทัพพะ เป็นต้น และเอาใจใส่คอยดูแลภิกษุอาพาธอื่นๆ อีกมาก. ได้ทราบว่า ท่านผู้บรรลุอภิญญาใหญ่ย่อมระลึกชาติได้อสงไขยหนึ่งยิ่งด้วยแสนกัป. ในศาสนาของพระศาสดาแม้ของพวกเรามีเพียง ๔ ท่านเหล่านี้คือ พระสารีบุตรเถระ พระมหาโมคคัลลานะเถระ พระพากุลเถระ และพระนางภัททากัจจานาเถรี สามารถระลึกชาติได้ประมาณเท่านี้.

ช่วงบั้นปลายชีวิต

พระธรรมเสนาบดี ทำวัตรแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเข้าสู่ที่พักกลางวัน. เมื่อเหล่าอันเตวาสิกทำวัตรในพระเชตวันนั้นกลับไปแล้ว ท่านก็ปัดกวาดที่พักกลางวัน ปูแผ่นหนัง ล้างเท้า นั่งขัดสมาธิเข้าผลสมาบัติ. ครั้นท่านออกจากผลสมาบัตินั้นตามกำหนดแล้ว เกิดปริวิตกอย่างนี้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายปรินิพพานก่อนหรือพระอัครสาวกหนอ. ก็รู้ว่าอัครสาวกก่อน. จึงสำรวจดูอายุสังขารของตน. ก็รู้ว่าอายุสังขารของตนจักเป็นไปได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จึงดำริว่า จักปรินิพพานที่ไหนหนอ. คิดอยู่ร่ำไปว่า ท่านราหุลปรินิพพานในดาวดึงส์ ท่านพระอัญญาโกญฑัญญะ ในสระฉัททันต์ เราเล่าจะปรินิพพาน ณ ที่ไหน. 

ก็เกิดสติปรารภมารดาขึ้นว่า มารดาของเราแม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มารดานั้นมีอุปนิสัยหรือไม่หนอ ระลึกได้แล้วก็เห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค พิจารณาว่ามารดาจักบรรลุด้วยเทศนาของใคร ก็รู้ว่าจักบรรลุด้วยเทศนาของเรา ไม่ใช่ของผู้อื่น ก็ถ้าหากว่าเราพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเสียไซร้ คนทั้งหลายก็จักว่ากล่าวเราเอาได้ว่า พระสารีบุตรเป็นที่พึ่งได้แม้แก่ชนอื่น ๆ จริงอย่างนั้น ในวันเทศนาสมจิตตสูตรของท่าน เทวดาแสนโกฏิก็บรรลุพระอรหัต เทวดาที่บรรลุมรรค ๓ นับไม่ถ้วน และในที่อื่นปรากฏว่ามีการบรรลุกันมากมาย บัดนี้ พระเถระไม่อาจเพื่อกำจัดแม้เพียงความเห็นผิดของมารดาได้ เพราะฉะนั้น จึงตกลงใจว่า เราจักเปลื้องมารดาออกจากมิจฉาทิฏฐิ แล้วจักปรินิพพานในห้องน้อยที่เกิด ดำริต่อไปว่า เราจักทูลลาพระผู้มีพระภาคไปในวันนี้นี่แหละ จึงเรียกพระจุนทะเถระมาว่า มาไปกันเถิดท่านจุนทะ ท่านจงบอกภิกษุบริษัท ๕๐๐ รูปของเราว่า อาวุโส ท่านจึงถือบาตรและจีวร พระธรรมเสนาบดี ประสงค์จะไปนาลกคาม.

พระเถระก็เก็บเสนาสนะ ปัดกวาดที่พักกลางวัน ยืนอยู่ที่ประตูมองดูที่พักกลางวัน ดำริว่า บัดนี้ นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้ายไม่มีการกลับมา ผู้อันภิกษุ ๕๐๐ รูป แวดล้อมแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลเป็นคำร้อยกรองกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ฉินฺโนทานิ ภวิสฺสามิ โลกนาถ มหามุนิ, คมนาคมนํ นตฺถิ ปจฺฉิมา วนฺทนา อยํ, ชีวิตํ อปฺปกํ มยฺหํ อิโต สตฺตาหมจฺจเย, นิกฺขิเปยฺยามหํ เทหํ ภารโวโรปนํ ยถา, อนุชานาตุ เม ภนฺเต (ภควา) อนุชานาตุ สุคโต, ปรินิพฺพานกาโล เม โอสฺสฏฺโฐ อายุสงฺขโร. 

ข้าแต่พระมหามุนีโลกนาถเจ้า บัดนี้ ข้า พระองค์ตรัสสิ้นแล้ว ไม่มีการไปการมานี้เป็นการ ถวายบังคมลาครั้งสุดท้าย ชีวิตของข้าพระองค์-น้อย ต่อไปนี้ล่วงไป ๗ วัน ข้าพระองค์จะทอด ทิ้งเรือนร่าง เหมือนวางภาระลง ขอพระผู้มี พระภาคเจ้าโปรดอนุญาต ขอพระสุคตโปรด อนุญาต แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด นี้เป็นเวลาปรินิพพาน ข้าพระองค์ปลงอายุสังขารแล้ว พระเจ้าข้า.

ก็เพราะเหตุที่พวกมิจฉาทิฏฐิ ชอบยกโทษว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จงปรินิพพานเถิด ก็จะกลายเป็นว่า พรรณนาคุณของความตายไปเมื่อตรัสว่าอย่าปรินิพพานเลย ก็จะกลายเป็นกล่าวคุณของวัฏฏสงสารไป เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ตรัสแม้คำทั้งสอง. ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะท่านว่า สารีบุตร เธอจักปรินิพพานที่ไหน. เมื่อท่านกราบทูลว่า ห้องน้อย ในนาลกคาม แคว้นมคธมีอยู่ ข้าพระองค์จักปรินิพพานในห้องนั้น พระเจ้าข้า. จึงตรัสว่า สารีบุตร บัดนี้ เธอสำคัญกาลอันควรเถิดเวลานี้ การเห็นภิกษุเช่นนั้น สำหรับพี่น้องของเธอจักหาได้ยาก เพราะฉะนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่พี่น้องเหล่านั้นเถิด.

 พระเถระรู้ว่า พระศาสดาทรงมีพระประสงค์จะให้เราแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ เสียก่อนแสดงธรรม จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วโลดสูง ๗ ชั่วต้นตาล กลับลงมาถวายบังคมแล้วยืนอยู่ท่ามกลางอากาศชั่ว ๗ ต้นตาล แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ อย่าง แล้วแสดงธรรม. ชาวนครทั้งสิ้นประชุมกัน. พระเถระลงมาแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ถึงเวลาไปของข้าพระองค์แล้วพระเจ้าข้า. 

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือธรรมาสน์ ทรงพระดำริว่า จักให้สารีบุตรแสดงฤทธิ์แล้วจึงลุกจากธรรมาสน์ เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังพระคันธกุฎี แล้วประทับยืนบนบัลลังก์แก้วมณี. พระเถระกระทำประทักษิณ(เวียน ๓) ๓ ครั้ง แล้วถวายบังคมในที่ ๔ แห่ง กราบทูลว่า เหนือขึ้นไปแต่กัปนี้ ได้ ๑ อสงไขย กำไรแสนกัป ข้าพระองค์หมอบอยู่แทบบาทมูลของพระอโนมทัสสีมาสัมพุทธเจ้าปรารถนาจะพบพระองค์ ความปรารถนานั้นของข้าพระองค์สำเร็จแล้ว ข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้ว นั่นเป็นการเห็นครั้งแรก นี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย จะไม่มีการเห็นพระองค์อีก แล้วประคองอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยทศนขสโมธาน แล้วกลับบ่ายหน้าไปจนพ้นทัศนวิสัย ตั้งแต่บัดนี้ไป ขึ้นชื่อว่าการไปการมาโนฐานะไร ๆ โดยอำนาจจุติปฏิสนธิไม่มีดังนี้แล้วจึงถวายบังคมลาไป. 

แผ่นมหาปฐพีก็ไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน. พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสกะเหล่าภิกษุผู้ยืนล้อมอยู่ว่า :- ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงตามไปส่งพี่ชายของพวกเธอเถิด. ภิกษุทั้งหลายพากันไปจนถึงซุ้มประตู. พระเถระกล่าวว่า หยุดเถิดผู้มีอายุ พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด แล้วให้ภิกษุเหล่านั้นกลับไป ตนเองก็ไปพร้อมกับบริษัท. พวกผู้คนก็พากันติดตามร่ำไรรำพันว่า แต่ก่อนพระผู้เป็นเจ้า จาริกไปก็กลับมา แต่ครั้งนี้ไปลับไม่กลับมา. พระเถระกล่าวว่า ผู้มีอายุ พวกท่านอย่าประมาท สังขารทั้งหลาย.  ก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วให้ผู้คนเหล่านั้นกลับไป.

ครั้งนั้น พระสารีบุตร อนุเคราะห์ผู้คนตลอด ๗ วัน ในระหว่างหนทาง ถึงนาลกคามในเวลาเย็น แล้วหยุดพักอยู่ที่โคนต้นไทร ใกล้ประตูบ้าน. ครั้งนั้น หลานชายของพระเถระชื่อว่า อุปเรวตะ ไปนอกบ้านพบพระเถระเข้าไปหาแล้วไหว้ยืนอยู่. พระเถระพูดกะหลายชายว่า ย่าของเจ้าอยู่ในเรือนหรือ. หลายชายก็ตอบว่า ขอรับกระผม. พระเถระบอกว่า เจ้าจงไปบอกว่าเรามาที่นี้แล้ว และเมื่อเขาถามว่าเพราะเหตุไรจงบอกว่า ได้ยินว่า ท่านจะพักอยู่ในบ้านนี้วันเดียวจงจัดห้องน้อยที่เราเกิด และจัดที่อยู่สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป. หลานไปบอกว่า ย่า จ๋า ลุงฉันมาแล้ว. ย่าถามว่า เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหนล่ะ. ตอบว่าอยู่ใกล้ประตูบ้าน ก็ถามว่ามาองค์เดียวหรือว่ามีภิกษุอื่นมาด้วย. หลานก็ตอบว่ามีภิกษุ ๕๐๐ รูปมาด้วย. เมื่อถามว่ามาทำไม. หลานก็บอกเรื่องนั้น. นางพราหมมณีคิดว่า ทำไมหนอจึงต้องสั่งให้จัดสถานที่อยู่สำหรับภิกษุถึงเพียงนั้น เขาบวชเมื่อหนุ่มอยากเป็นคฤหัสถ์เมื่อแก่ จึงให้จัดห้องที่เกิด ให้ทำที่อยู่สำหรับภิกษุ ๕๐๐ รูป ตามประทีปไว้ต้อนรับพระเถระ. พระเถระกับภิกษุทั้งหลายขึ้นไปยังปราสาทเข้าไปสู่ห้องที่เกิด

แล้วนั่ง ครั้นแล้วก็ส่งภิกษุทั้งหลายไปด้วยกล่าวว่า จงไปที่อยู่ของพวกท่านกันเถิด. พอภิกษุทั้งหลายไปแล้ว อาพาธกล้าก็เกิดขึ้นแก่พระเถระ. โรคลงโลหิตเกิดเวทนาใกล้ตาย. ภาชนะหนึ่งรอง ภาชนะหนึ่งชักออก. นางพราหมณีคิดว่า ความไปแห่งบุตรของเราไม่เป็นที่ชอบใจ ยืนพิงประตูห้องที่อยู่ของตน.

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูว่าพระธรรมเสนาบดีอยู่ที่ไหน ก็รู้ว่านอนบนเตียงที่ปรินิพพานในห้องน้อยที่เกิดในนาลกคาม เราจักไปดูเป็นปัจฉิมทัสสนะ แล้วพากันมาไหว้ยืนอยู่แล้ว. พระเถระถามว่าท่านเป็นใคร ตอบว่า พวกเราเป็นท้าวมหาราชเจ้าข้า. ถามว่ามาทำไม. ตอบว่ามาเป็นคิลานุปัฏฐาก. พระเถระส่งไปด้วยกล่าวว่า ช่างเถิด คิลานุปัฏฐากมีอยู่ไปเสียเถิดท่าน. ครั้นท้าวมหาราชไปแล้วท้าวสักกะจอมเทพก็มาโดยนัยนั้นเหมือนกัน. เมื่อท้าวสักกะเสด็จไปแล้ว ท้าวสุยามะเป็นต้น แล้วท้าวมหาพรหมก็พากันมา. พระเถระส่งเทพและพรหมเหล่านั้นไปอย่างนั้นเหมือนกัน. นางพราหมณีเห็นพวกเทวดามาและไป คิดว่าพวกเหล่านั้นเป็นใครหนอ จึงมาไหว้แล้วไหว้อีกซึ่งบุตรของเราแล้วก็ไป จึงไปยังประตูห้องของพระเถระ ถามว่าเป็นอย่างไร พ่อจุนทะพระเถระบอกเรื่องนั้นแล้ว กล่าวว่า มหาอุบาสิกามาแล้วขอรับ. พระเถระถามว่าทำไมจึงมาผิดเวลา. นางพราหมณีตอบว่า มาเยี่ยมเจ้าซิลูก แล้วถามว่าพวกใครมาก่อนพ่อ. 

พระเถระตอบว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ อุบาสิกา. นางพราหมณีถามว่า พ่อ เจ้าเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาราชทั้ง ๔ หรือ. ตอบว่าอุบาสิกา ท้าวมหาราชเหล่านั้นก็เหมือนคนวัดทรงถือพระขรรค์อารักขา ตั้งแต่พระศาสดาของเราทรงถือปฏิสนธิ. ถามว่าครั้นท้าวมหาราชเหล่านั้นกลับไปแล้ว ใครมาอีกล่ะลูก. ตอบว่าท้าวสักกะจอมเทพ. ถามว่าเจ้าเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาราชหรือลูก. ตอบว่าอุบาสิกา ท้าวสักกะนั้นก็เหมือนสามเณรถือของเมื่อพระศาสดาของเราลงจากดาวดึงส์ ก็ทรงถือบาตรและจีวรลงมา. ถามว่า ครั้นท้าวสักกะนั้นเสด็จกลับแล้ว ใครสว่างจ้ามาล่ะลูก. ตอบว่าอุบาสิกาผู้นั้นชื่อท้าวมหาพรหม ชั้นสุทธาวาส เป็นทั้งผู้มีบุญคุณ ทั้งครูของแม่ จ๊ะ. ถามว่าเจ้ายังเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ. ตอบว่า จ้ะ อุบาสิกา. ได้ยินว่า ในวันที่พระศาสดาของเราประสูติ ท้าวมหาพรหมทั้ง ๔ ชื่อนี้ ใช้ข่ายทองมารับพระมหาบุรุษ

ครั้งนั้น เมื่อนางพราหมณีคิดว่า บุตรของเรายังมีอนุภาพถึงเพียงนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าศาสดาของบุตรเรา จะมีอานุภาพสักเพียงไหน. ปิติ ๕ อย่างเกิดขึ้นแผ่ไปทั่วเรือนร่างอย่างฉับพลัน. พระเถระคิดว่า มารดาของเราเกิดปิติโสมนัส บัดนี้เป็นเวลาเหมาะที่จะแสดงธรรมจึงกล่าวว่า จะคิดไปทำไมมหาอุบาสิกา. นางพราหมณีกล่าวว่า บุตรของเรามีคุณถึงเพียงนี้ พระศาสดาของบุตรเราจักมีคุณสักเพียงไหน ดังนั้น แม่จึงคิดอย่างนี้นะลูก. พระเถระกล่าวว่า ท่านมหาอุบาสิกา สมัยพระศาสดาของเราประสูติ ออกมหาภิเนษกรมณ์ตรัสรู้ และประกาศพระธรรมจักร หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว ขึ้นชื่อว่าผู้เสมอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติญาณทัสสนะไม่มีแล้วกล่าวพระธรรมเทศนาอันประกอบด้วยพระพุทธคุณอย่างพิสดาร ว่าแม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นต้น. เวลาจบพระธรรมเทศนาของบุตรที่รัก นาง

พราหมณีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วกล่าวกะบุตรว่า พ่ออุปติสสะ เหตุไร เจ้าจึงได้กระทำอย่างนี้ล่ะลูก เจ้าไม่ให้อมตธรรมชื่อนี้แก่แม่ ตลอดเวลาถึงเพียงนี้.

พระเถระคิดว่า บัดนี้ค่าน้ำนมข้าวป้อน ที่นางสารีพราหมณีมารดาของเราให้ไว้ ก็ได้รับชดใช้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จึงส่งนางพราหมณีไปด้วยกล่าวว่า ไปเถิดมหาอุบาสิกา แล้วถามว่าจวนสว่างหรือยัง. ตอบว่าจวนสว่างแล้วขอรับ. สั่งว่าถ้าอย่างนั้น จงประชุมพระภิกษุสงฆ์เถิด. ตอบว่าพระสงฆ์ประชุมกันแล้วขอรับ. สั่งว่ายกเราขึ้นนั่งทีซิ. พระจุณทะ ก็ยกขึ้นให้นั่ง. พระเถระเรียกภิกษุทั้งหลายว่าผู้มีอายุ พวกท่านอยู่กับเรามาถึง๔๔ ปี ไม่ชอบใจกรรมทางกาย หรือกรรมทางวาจาของเราอันใด ผู้มีอายุจงงดโทษนั้นเสียเถิด. ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่าท่านขอรับ พวกเราเที่ยวไปไม่ละท่านเหมือนเงาชื่อว่า กรรมที่ไม่ชอบใจถึงเพียงนี้ย่อมไม่มีแก่พวกเรา แต่ขอท่านโปรดงดโทษแก่พวกเราเสียด้วย.

ครั้นแสงอรุณปรากฏ พระเถระยังมหาปฐพีให้เลื่อนลั่นแล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ. เทพดาและมนุษย์เป็นอันมาก พากันกระทำสักการะในสถานที่ปรินิพพาน. ท่านพระจุนทะถือบาตรและจีวรและผ้าห่อพระธาตุไปยังพระเชตวันพา พระอานนท์เถระเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุกล่าวคุณของพระเถระด้วยคาถา ๕๐๐ คาถา โปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์ ได้ประทานสัญญาแก่พระอานนท์เถระเพื่อเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์. พระเถระก็บอกภิกษุทั้งหลาย.

ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้ามีภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร ได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์. ในเวลาเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์นั้น. พระมหาโมคคัลลานเถระก็ปรินิพพาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือเอาพระธาตุของพระมหาโมคคัลลานะ แม้นั้น โปรดให้สร้างเจดีย์แล้วออกจากกรุงราชคฤห์ บ่ายพระพักตร์ไปทางแม่น้ำคงคา เสด็จถึงบ้านอุกกเวลคามโดยลำดับ. ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในอุกกเวลคามนั้น ทรงมีพระภิกษุสงฆ์เป็นบริวารประทับนั่ง ณ ที่นั้นทรงแสดงพระสูตรที่เกี่ยวด้วยการปรินิพพานของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ออกจากอุกกเวลคามเสด็จถึงกรุงเวสาลี. เมื่อเสด็จเจ้าไปอย่างนั้น ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเวลาเช้าทรงอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี. กถาแสดงตามลำดับในเรื่องนี้มีดังกล่าวมาฉะนี้. พระสารีบุตรปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ ๖ เดือน คือวันเพ็ญ เดือน ๑๒(ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒) เวลาใกล้รุ่ง ที่บ้านตนเอง.

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: