กลุ่มถามตอบปัญหาพระสูตรและพระอภิธรรม
ถามว่า ในพระไตรปิฏกก็มีกล่าวแสดงยืนยันไว้ว่าคฤหัสถ์กับบรรพชิตต่างก็ล้วนสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลได้เช่นกัน ก็ในเมื่อคฤหัสถ์ มีลูกเมียได้ ดูหนังดูละครได้ กินอาหารเมื้อเย็นได้เป็นต้น สบายกว่าบรรพชิตซึ่งทำไม่ได้ ยากลำบากเพราะต้องฝืนกิเลส แล้วการบวชจักมีประโยชน์อะไรเล่า?
คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติ ปัญหา(ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติชอบแห่งคฤหัสถ์และบรรพชิต)
พระเจ้ามิลินท์ "พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ‘คิหิโน วาหํ ภิกฺขเว ปพฺพชิตสฺส วา สมฺมาปฏิปตฺตึ วณฺเณมิ ฯเปฯ อาราธโก โหติ ญายํ ธมฺมํ กุสลํ - ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมกล่าวสรรเสริญสัมมาปฏิบัติทั้งของคฤหัสถ์ ทั้งของบรรพชิต. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ย่อมเป็นผู้บรรลุญายธรรม(มรรคผล)ได้ เพราะได้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติ คือ การเจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณสะสมไว้ ‘(องฺ ทุก.20/88 วาศัพท์ มีอรรถสมุจจยะ จึงแปลว่าทั้ง) ดังนี้. พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าการปฏิบัติส่วนที่เหลือ(สัมมาปฏิบัติศัพท์ มีอรรถ เป็นปธานนัย คือพูดถึงสิ่งที่เป็นปธาน แต่หมายเอาสิ่งที่ไม่ใช่ประธาน ในที่นี้ พูดถึงการเจริญสติปัฏฐานและการเจริญวิปัสสนาญาณ เป็นปธานสัมมาปฏิบัติ แต่หมายเอา สัมมาปฏิบัติส่วนที่เหลือของบรรพชิต จึงแปลว่า สัมมาปฏิบัติส่วนที่เหลือ) ของพวกคฤหัสถ์ มีการครองผ้าขาว มีการบริโภคกาม เช่นการเกลือกกลั้วอยู่กับบุตรภรรยา การเสวยน้ำหมักจันทน์หอมจากแคว้นกาสี ทัดทรงพวงดอกไม้ของหอมใช้เครื่องลูบไล้ผิว ยินดีเงินทอง ประดับต่างหูและไว้ทรงผมแปลกแตกต่างกันไป ผู้คนก็สำคัญว่า เป็นสัมมาปฏิบัติในส่วนที่เหลือเช่นกัน เพราะมีการบรรลุญายธรรมคือมรรคผลได้เช่นกัน ส่วนสัมมาปฏิบัติที่เหลือของบรรพชิต มี การครองผ้ากาสาวะ อาศัยก้อนข้าวของผู้อื่น เป็นผู้บริบูรณ์ถึงพร้อมด้วยจตุปาริสุทธิศีล
4 ประเภท สมาทานสิกขาบทอันเป็นข้อห้าม 150 ข้อ ประพฤติอธิกรณสมถุเทศ(หัวข้อวิธีการสงบระงับอธิกรณ์ 7 วิธี) นับเป็น 1 ข้อ ประพฤติกิริยาอันเป็นมรรยาทที่งดงาม 75 ข้อ รวมเป็นศีลสิกขาบที่ทรงบัญญัติขึ้น 227 ข้อ สมาทานธุดง 13 ข้อ ก็ชื่อว่า มีสัมมาปฏิบัติ เพราะมีการบรรลุญายธรรมคือมรรคผลได้เช่นกัน.พระคุณเจ้า เมื่อเป็นเช่นนั้น ในบุคคล 2 จำพวก ผู้เป็นคฤหัสถ์ และผู้เป็นบรรพชิต จักมีอะไรเป็นข้อแตกต่างกันเล่า, การบำเพ็ญความเพียรที่กล้าหาญก็เป็นอันไร้ค่า การบวชก็เป็นอันหาประโยชน์มิได้ การสมาทานสิกขาบทที่ทรงบัญญัติขึ้นก็เป็นอันเป็นหมัน, การสมาทานธุดงค์ก็เป็นอันว่าสูญเปล่า ประโยชน์อะไรกับความยากลำบากในการบวชเป็นบรรพชิต เพราะความสะดวกสบายอันมีในเพศคฤหัสถ์นั่นแหละ ก็สามารถบรรลุญายธรรมคือมรรคผลได้มิใช่หรือ?"
พระนาคเสน "ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาสิตความข้อที่ว่า ‘ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมกล่าวสรรเสริญสัมมาปฏิบัติทั้งของคฤหัสถ์ ทั้งของบรรพชิต. ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ย่อมเป็นผู้บรรลุญายธรรม(มรรคผล)ได้ เพราะได้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติ คือการเจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนาญาณสะสมไว้ ‘ดังนี้ ก็จริง. ขอถวายพระพร แต่บรรดาบุคคลผู้ปฏิบัติส่วนนี้ด้วยกันนั้น บรรพชิตผู้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติส่วนที่เหลือ มี การสมทานศีลสิกขาบทบัญญัติ สมาทานธุดงค์ เป็นต้น ย่อมเป็นผู้ประเสริฐสุด เพราะเมื่อบวชแล้ว ไม่ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติส่วนที่เหลือก็จะเป็นผู้ห่างไกลความเป็นบรรพชิตแม้ชื่อสมัญญาอันเป็นชื่อเรียกขานกัน ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับแห่งพุทธบริษัทด้วยกันเลย ป่วยการที่จะพูดถึงคฤหัสถ์ทั่วๆไป ขอถวายพระพร คำว่า เป็นผู้ประเสริฐสุด ก็คือผู้เป็นใหญ่ แห่งสามัญผลอันเป็นสถานภาพความเป็นอริยบุคคลนั่นเอง เพราะการบวช มีคุณมากมายเป็นอเนกประการ ประเมินค่ามิได้ ด้วยว่าบรรพชิตผู้จะปฏิบัติสัมมาปฏิบัติในส่วนที่เหลือ มีการสมาทานศีลสิกขาบทบัญญัติ การสมาทานธุดงค์เป็นต้น ได้บริบูรณ์ต้องเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วย ความมักน้อย ความสันโดษ ความสงบเสงี่ยม ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ความปรารภความเพียร ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีเรือน ความมีศีลสังวร 5 ครบบริบูรณ์ ความประพฤติขูดเกลากิเลส ความฉลาดในข้อที่เป็นองค์คุณกำจัดกิเลส
ขอถวายพระพร ผู้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติในส่วนที่เหลื่อได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จึงเปรียบได้กับพระเจ้าจักรพรรดิที่มีแก้วมณี ชื่อว่า 'กามททัสสะ' อำนวยประโยชน์ทุกอย่างให้พระองค์ได้ ตามพระประสงค์
ขอถวายพระพร บุคคลไม่สามารถนับระลอกลูกคลื่นในมหาสมุทรได้ว่า มีจำนวนเท่าใด ฉันใด, ขอถวายพระพร แม้คุณประโยชน์การบวช ซึ่งมีคุณประโยชน์มากมายเป็นอเนกประการ บุคคลก็ไม่สามารถนับจำนวนได้ว่า มีเท่าใด ฉันนั้นเหมือนกัน.
ขอถวายพระพร เพราะคุณประโยชน์การบวช มีมากมายเป็นอเนกประการจนนับไม่ถ้วน อีกทั้งก็มีอานุภาพเยี่ยมยอดด้วย กิจที่พึงทำทุกอย่าง ย่อมสำเร็จได้โดยพลัน คือ ง่ายดายแก่บรรพชิตผู้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติในส่วนที่เหลือ ไม่ใช่สำเร็จโดยพลัน คือง่ายดายแก่คฤหัสถ์ที่ไม่ได้ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติส่วนที่เหลือ.
ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ลูกศรที่ปราศจากปม เพราะขัดเรียบดี ดัดตรงดี ไม่มีสนิม เวลานายขมังธนูยิงไป ก็ย่อมพุ่งตรงไปไดัดี ฉันใด, ขอถวายพระพร กิจที่พึงทำทุกอย่างของบรรพชิตที่ปฏิบัติสัมมาปฏิบัติส่วนที่เหลือได้ครบบริบูรณ์ดี ย่อมเป็นไปด้วยดี ฉันนั้นเหมือนกัน.”
พระเจ้ามิลินท์ "ลึกซึ้งดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับรายละเอียดตามที่ท่านกล่าวมานี้."
ขอขอบคุณ ที่มา: http://dhamma.serichon.us
0 comments: