พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัย ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ" เป็นต้น.
พวกภิกษุเห็นมหาอำมาตย์รับสินบน
ความพิสดารว่า วันหนึ่ง พวกภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้านใกล้ประตูด้านทิศอุดรแห่งนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตแล้วมาสู่วิหารโดยท่ามกลางพระนคร. ขณะนั้น เมฆใหญ่ตั้งขึ้นยังฝนให้ตกแล้ว. ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปสู่ศาลาที่ทำการวินิจฉัยอันตั้งอยู่ตรงหน้า เห็นพวกมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยรับสินบนแล้ว ทำเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ จึงคิดว่า "โอ! มหาอำมาตย์เหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม, แต่พวกเราได้มีความสำคัญว่า 'มหาอำมาตย์เหล่านี้ทำการวินิจฉัยโดยธรรม’" เมื่อฝนหายขาดแล้ว มาถึงวิหาร ถวายบังคมพระศาสดานั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่งแล้ว กราบทูลความนั้น.
ลักษณะบุคคลผู้ตั้งอยู่และไม่ตั้งอยู่ในธรรม
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น ตัดสินความโดยผลุนผลัน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม, ส่วนพวกที่ไต่สวนความผิดแล้วตัดสินความโดยละเอียดลออ ตามสมควรแก่ความผิดนั่นแหละ เป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม" ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
น เตน โหติ ธมฺมฏฺโฐ เยนตฺถํ สหสา นเย
โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ อุโภ นิจฺเฉยฺย ปณฺทิโต
อสาหเสน ธมฺเมน สเมน นยตี ปเร
ธมฺมสฺส คุตฺโต เมธาวี ธมฺมฏฺโฐติ ปวุจฺจติ ฯ
บุคคลไม่ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุที่นำคดีไปโดยความ ผลุนผลัน; ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิต วินิจฉัยคดีและไม่ใช่คดีทั้งสอง ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไปโดยความละเอียดลออ โดยธรรมสม่ำเสมอ, ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว เป็นผู้มีปัญญา เรากล่าวว่า "ตั้งอยู่ในธรรม."
แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เตน แปลว่า เพราะเหตุเพียงเท่านั้นเอง. บทว่า ธมฺมฏฺโฐ ความว่า บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมเครื่องวินิจฉัยที่พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายจะพึงทรงกระทำด้วยพระองค์ ไม่เป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม. บทว่า เยน แปลว่า เพราะเหตุใด. บทว่า อตฺถํ ความว่า ซึ่งคดีที่หยั่งลงแล้วอันควรตัดสิน. สองบทว่า สหสา นเย ความว่า บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอคติ๑- มีฉันทาคติเป็นต้น ตัดสินโดยผลุนผลัน คือโดยกล่าวเท็จ. อธิบายว่า จริงอยู่ ผู้ใดตั้งอยู่ในความพอใจ กล่าวมุสาวาท ย่อมทำญาติหรือมิตรของตน ซึ่งมิใช่เจ้าของนั่นแลให้เป็นเจ้าของ, ตั้งอยู่ในความชัง กล่าวเท็จ ย่อมทำคนที่เป็นศัตรูของตนซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงไม่ให้เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่ในความหลง รับสินบนแล้วในเวลาตัดสิน ทำเป็นเหมือนส่งจิตไปในที่อื่น แลดูข้างโน้นและข้างนี้ กล่าวเท็จ ย่อมนำบุคคลอื่นออกด้วยคำว่า "ผู้นี้ชำนะ ผู้นี้แพ้" ตั้งอยู่ในความกลัว ย่อมยกความชำนะให้ผู้เป็นใหญ่บางคนนั่นแล แม้ที่ถึงความแพ้ ผู้นี้ชื่อว่าย่อมนำคดีไปโดยความผลุนผลัน. ผู้นั้นไม่เป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม.
บาทพระคาถาว่า โย จ อตฺถํ อนตฺถญฺจ ความว่า ซึ่งเหตุที่จริงและไม่จริง. สองบทว่า อุโภ นิจฺเฉยฺย ความว่า ส่วนผู้ใดเป็นบัณฑิตวินิจฉัยเหตุที่เป็นคดีและไม่เป็นคดีทั้งสองแล้ว ย่อมกล่าว. บทว่า อสาหเสน คือ โดยไม่กล่าวเท็จ. บทว่า ธมฺเมน แปลว่า โดยธรรมเครื่องวินิจฉัย คือหาใช่โดยอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้นไม่. บทว่า สเมน คือ ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไป คือให้ถึงความชำนะหรือความแพ้โดยสมควรแก่ความผิดนั่นเอง. สองบทว่า ธมฺมสฺส คุตฺโต ความว่า ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว คืออันธรรมรักษาแล้ว ประกอบแล้วด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม ชื่อว่ามีปัญญา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ผู้ตั้งอยู่ในธรรม" เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมเครื่องวินิจฉัย.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล. เรื่องมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัย จบ.
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=29&p=1
0 comments: