วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

อาโรคฺยปรมา ลาภา สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ - ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง ความรู้จักพอ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

อาโรคฺยปรมา ลาภา  สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ - ความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง ความรู้จักพอ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง

หลายคนคิดว่าต้องประสบความสำเร็จ ต้องมีเงินมากกว่าคนอื่น ต้องมีตำแหน่งสูงกว่าคนอื่น ต้องดูดีกว่าคนอื่น ชีวิตถึงจะพอ บางคนต้องกู้หนี้ยืมสิน เพื่อนำเงินนั้นมาตกแต่งให้ดูมีฐานะ บางคนต้องการใช้ปริญญา หรือแม้แต่ยศ เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ต่ำต้อยกว่าคนอื่น ต้องมีอย่างนี้ถึงดี อย่างนั้นเหมือนเขาถึงดี แต่หากไม่มีคำว่า พอ แค่คำเดียว ชีวิตคนคนนั้น จะไม่มีวันสงบสุขได้เลย พระพุทธเจ้าสอนว่า แม้ว่าคนคนนั้นปรบมือครั้งเดียวแล้วจะมีทองท่วมเข่า แต่ตัณหาไม่เคยพอเลย แต่ถ้าเราพอ พอแค่ตรงนี้ ตรงที่แค่ชีวิตอยู่ได้ ไม่ต้องไปเดือดร้อนว่าคนนั้นเค้ามากกว่าเรา คนนี้เค้ามากกว่าเรา เราน้อยกว่าเขา เราต้องเหนือเขา เราขับแท๊กซี่ต่ำต้อย เราเป็นลูกจ้าง ฯลฯ แต่ถ้าจิต พอ พอแล้วในสิ่งต่าง ๆ แค่นี้ก็พอ ไม่หวัง ก็จะไม่มีอะไรทำให้เราจนได้ เพราะว่าคนจนจริงๆ ก็คือคนที่ฝืดเคือง อยากได้แล้วไม่ได้ แต่ถ้าเราไม่อยากได้ ก็ไม่มีคำว่าน้อยสำหรับเรา คำสอนนี้ เป็นมงคลข้อหนึ่งในมงคล ๓๘ พระพุทธเจ้าสอนว่า ถ้าพอได้แล้ว ทุกข์จะไม่มี (หมายถึงทุกข์ก็ไม่รู้จะมาจากไหน) มีเรื่องประกอบดังต่อไปนี้ 

เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล  

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อาโรคฺยปรมา ลาภา" เป็นต้น.

พระราชาลดพระกระยาหารได้แล้ว

ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงตั้งอยู่ในความเป็นผู้มีพระกระยาหารแห่งข้าวสารทะนานหนึ่งเป็นอย่างยิ่ง ทรงถึงความสุขแล้ว ได้มีพระสรีระอันเบา. ภายหลังวันหนึ่ง ท้าวเธอเสด็จไปสำนักพระศาสดา ถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ความสุขเกิดแก่หม่อมฉันแล้ว หม่อมฉันเป็นผู้สามารถจะติดตามจับเนื้อก็ได้ ม้าก็ได้, เมื่อก่อน หม่อมฉันมีการยุทธ์กับหลาน บัดนี้ หม่อมฉันให้ธิดาชื่อว่าวชิรกุมารีแก่หลานแล้ว ให้บ้านนั้นทำให้เป็นค่าน้ำอาบของธิดานั้นนั่นแล. ความทะเลาะกับหลานนั้นสงบแล้ว สุขแท้เกิดแล้วแก่หม่อมฉัน เพราะเหตุแม้นี้ แม้แก้วมณีของพระเจ้ากุสะ ซึ่งหายไปแล้วในเรือนของหม่อมฉันในวันก่อน บัดนี้ แก้วมณีแม้นั้นมาสู่เงื้อมมือแล้ว, ความสุขแท้เกิดแล้วแก่หม่อมฉัน เพราะเหตุแม้นี้, หม่อมฉันปรารถนาความคุ้นเคยกับเหล่าสาวกของพระองค์ จึงทำแม้ธิดาแห่งญาติของพระองค์ไว้ในเรือน, ความสุขแท้เกิดแล้วแก่หม่อมฉัน เพราะเหตุแม้นี้."

พระศาสดาตรัสว่า "มหาบพิตร ชื่อว่าความไม่มีโรค เป็นลาภอย่างยิ่ง, ทรัพย์แม้เช่นกับความเป็นผู้สันโดษ(พอ) ด้วยสิ่งของตามที่ตนได้แล้ว ไม่มี, ชื่อว่าญาติเช่นกับด้วยผู้คุ้นเคยกัน ไม่มี, ชื่อว่าความสุขอย่างยิ่ง เช่นกับด้วยพระนิพพาน ไม่มี" จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

อาโรคฺยปรมา ลาภา สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ, วิสฺสาสปรมา ญาติ นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ. 

ลาภทั้งหลาย มีความไม่มีโรค เป็นอย่างยิ่ง, ทรัพย์มีความสันโดษ เป็นอย่างยิ่ง, ญาติมีความคุ้นเคย เป็นอย่างยิ่ง, พระนิพพาน เป็นสุขอย่างยิ่ง.

แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อาโรคฺยปรมา ความว่า มีความเป็นผู้ไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง, จริงอยู่ ลาภทั้งหลาย แม้มีอยู่แก่คนมีโรค ไม่จัดเป็นลาภแท้ (เพราะมีแล้วก็ไม่ได้ใช้ ใช้ไม่ได้ เพราะตนเจ็บป่วย) เพราะฉะนั้น ลาภทั้งปวงจึงมาถึงแก่คนไม่มีโรคเท่านั้น เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อาโรคฺยปรมา ลาภา." บาทพระคาถาว่า สนฺตุฏฺฐิปรมํ ธนํ ความว่า ภาวะที่ยินดีด้วยวัตถุ(สิ่งของ)ที่ตนได้แล้ว ซึ่งเป็นของมีอยู่ของตน ของคฤหัสถ์หรือบรรพชิตนั่นแล ชื่อว่าสันโดษ, สันโดษนั้นเป็นทรัพย์อันยิ่งกว่าทรัพย์ที่เหลือ. บาทพระคาถาว่า วิสฺสาสปรมา ญาตี ความว่า มารดาก็ตาม บิดาก็ตามจงยกไว้, ไม่มีความคุ้นเคยกับคนใด คนนั้นไม่ใช่ญาติแท้, แต่มีความคุ้นเคยกับคนใด คนนั่นแม้ไม่เนื่องกัน ก็ชื่อว่าเป็นญาติอย่างยิ่ง คืออย่างสูง เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "วิสฺสาสปรมาญาตี." อนึ่ง ชื่อว่าความสุข เหมือนพระนิพพาน ไม่มี, เหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ." ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล. เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล จบ.

ที่มา: https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=25&p=6

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: