วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564

ตํ ปุตฺตปสุสมฺมตฺตํ พฺยาสตฺตมนสํ นรํ - ผู้ที่มัวเมาอยู่ในบุตรและปศุสัตว์ มีมนัสติดข้องอยู่ ย่อมถูกมฤตยูฉุดคร่าไป

ตํ ปุตฺตปสุสมฺมตฺตํ   พฺยาสตฺตมนสํ นรํ  -  ผู้ที่มัวเมาอยู่ในบุตรและปศุสัตว์  มีมนัสติดข้องอยู่ ย่อมถูกมฤตยูฉุดคร่าไป 

เรื่องนางกิสาโคตมี.   พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนางกิสาโคตมี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ตํ ปุตฺตปสุสมฺมตฺตํ" เป็นต้น.

ความตายเป็นของเที่ยง     

เรื่องข้าพเจ้ากล่าวให้พิสดารไว้แล้ว ในการพรรณนาพระคาถาในสหัสสวรรค ว่า :-  ก็ผู้ใดไม่เห็นบทอันไม่ตาย พึงเป็นอยู่สิ้น ๑๐๐ ปี   ความเป็นอยู่วันเดียว ของผู้เห็นอมตบท ยังประเสริฐกว่า  ความเป็นอยู่ของผู้นั้น. ก็ในคราวนั้น พระศาสดาตรัสว่า "กิสาโคตมี เมล็ดพันธุ์ผักกาดประมาณหยิบมือหนึ่ง ท่านได้แล้วหรือ?" กิสาโคตมี. ไม่ได้ พระเจ้าข้า, (เพราะ) ในบ้านทั้งสิ้น คนตายแหละมีมากกว่าคนเป็นอยู่.

มัจจุย่อมพานระไปเหมือนห้วงน้ำใหญ่      

ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะนางว่า "ท่านเข้าใจว่า ‘บุตรของเราเท่านั้น ตายแล้ว’ ความตายนั่น เป็นธรรมเที่ยงแท้ของสรรพสัตว์, เพราะมัจจุราชคร่าสรรพสัตว์ผู้มีอัธยาศัยยังไม่เต็มเปี่ยมเท่านั้น ซัดลงไปในสมุทร คืออบาย ดุจห้วงน้ำใหญ่ ฉะนั้น" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :- 

ตํ ปุตฺตปสุสมฺมตฺตํ     พฺยาสตฺตมนสํ นรํ,  สุตฺตํ คามํ มโหโฆว    มจฺจุ อาทาย คจฺฉติ ฯ   มัจจุพานระนั้น ผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์  ผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ ไป เหมือนห้วงน้ำใหญ่  พัดเอาชาวบ้านผู้หลับไปฉะนั้น. 

แก้อรรถ   บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ตํ ปุตฺตปสุสมฺมตฺตํ ความว่า ซึ่งนระนั้นผู้ได้บุตรและปศุสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งถึงพร้อมด้วยรูปและกำลังเป็นต้นแล้ว มัวเมาคือประมาทแล้ว ด้วยบุตรและปศุสัตว์ทั้งหลายอย่างนี้ว่า "บุตรของเรามีรูปสวย มีกำลังสมบูรณ์ ฉลาด สามารถในกิจทุกอย่าง, โคของเรามีรูปงาม ปราศจากโรค สามารถนำของไปได้มาก, แม่โคของเรามีน้ำนมมาก."  บทว่า พฺยาสตฺตมนสํ ความว่า ชื่อว่าผู้มีใจข้องแล้ว (ในอารมณ์) เพราะได้บรรดาเงินและทองเป็นต้น หรือสมณบริขารทั้งหลาย มีบาตรและจีวรเป็นต้น บางอย่างเท่านั้นแล้ว ปรารถนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไปกว่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เพราะข้องอยู่ในบรรดาอารมณ์ทั้งหลายที่จะพึงรู้ด้วยจักษุเป็นต้น หรือบรรดาสมณบริขารทั้งหลายมีประการดังกล่าวแล้ว ในอารมณ์และบริขารอันตนได้แล้วนั่นแล.  สองบทว่า สุตฺตํ คามํ ได้แก่ หมู่สัตว์ผู้เข้าถึงความหลับ.  บทว่า มโหโฆว เป็นต้น ความว่า ห้วงมหานทีใหญ่ ทั้งลึก ทั้งกว้าง พัดชาวบ้านเห็นปานนั้นไปหมด โดยที่สุดแม้สุนัข ก็มิให้เหลือไว้ฉันใด มัจจุย่อมพานระมีประการดังกล่าวแล้วไปฉันนั้น.    ในกาลจบเทศนา นางกิสาโคตมีตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.  เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บุคคลผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.   เรื่องนางกิสาโคตมี จบ. 

ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=30&p=9

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: