วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

คุณลักษณะของใจ

ในเบื้องต้นนี้ เนื่องจากผู้ศึกษาหลายท่าน อาจจะเข้าใจสับสนเกี่ยวกับความหมายของคำว่า "จิต" และ "ใจ" ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทั้งสองคำ เป็นคำที่มีความหมายใช้แทนกันได้ คำว่า "จิต" นั้น มักจะพบคำอธิบายในพระอภิธรรมเป็นอันมาก เช่น จิต หมายถึงธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ หรือ ภาพที่นึกคิด เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า "ใจ" และ "จิต" ใช่ว่าจะใช้แทนกันได้ในทุกโอกาสและ "จิต" ก็ยังมีคำอื่นที่มีความหมายคล้ายกันหรือใช้แทนกันได้ เช่น มโน วิญญาณ หทัย มนินทรีย์ เป็นต้น แต่ครั้นเมื่อจะต้องมีการอธิบายถึงรายละเอียดลักษณะของ "ใจ" ผู้เชี่ยวชาญทางคัมภีร์พระพุทธศาสนา มักจะใช้คำว่า "จิต"อธิบายลักษณะของ "ใจ" เสมอ ดังเช่นคำอธิบายที่มีในพระไตรปิฎก ซึ่งได้กล่าวถึงจิตหรือใจนี้ว่า มีกิริยา อาการ ลักษณะ และ ที่อยู่ ดังต่อไปนี้ 1. ทูรงฺคมํ (ทูรังคะมัง) เที่ยวไปไกล 2. เอกจรํ (เอกะจะรัง) เที่ยวไปดวงเดียว 3. อสรีรํ (อะสะรีรัง) ไม่ใช่ร่างกาย 4. คุหาสยํ (คุหาสะยัง) มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย

1. ทูรงฺคมํ หมายถึง เที่ยวไปไกล กล่าวคือจิตมีธรรมชาติคิดไปได้ไกล หมายถึงจิตยังคงอยู่ที่ ตัวเราแต่สามารถคิดไปหน่วงเหนี่ยวเอาอารมณ์ในที่ไกลๆ ได้ และการไปของจิตทุกดวงไม่จำเป็นต้องใช้ยานพาหนะ เพียงแค่คิดจะไปก็สามารถไปได้ เหมือนสมมติว่าขณะนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ แต่บางคนนั้นคิดไปไกล เช่น คิดไปถึงบ้าน ว่าเราจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือคิดไปถึงเพื่อน ว่าหน้าตาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ได้พูดคุยกันต่างๆ นานา คิดไปถึงครอบครัว เป็นต้น

2. เอกจรํ หมายถึง เที่ยวไปดวงเดียว เป็นการบอกอาการของจิต และบ่งความหมายไว้สองอย่าง คือ คิดอารมณ์ได้ทีละอย่าง และคิดได้โดยลำพัง การคิดอารมณ์ได้ทีละอย่าง คือ จิตจะคิดอะไรก็คิดได้ทีละอย่าง จะคิดพร้อมกัน 2 อย่างไม่ได้

คำว่าพร้อมกัน คือ ในขณะเดียวกัน มีวิธีการทดลอง เช่น ลองถือดินสอหรือปากกาไว้ในมือข้างละแท่ง แล้วให้จิตสั่งให้ทั้งสองมือเขียนพร้อมกัน มือหนึ่งเขียนเลข 5 มือหนึ่งเขียนเลข 4 ให้พร้อมกันจริงๆ และ ให้เรียบร้อยด้วย จะพบว่าไม่สามารถทำได้ แม้ว่าจิตไม่สามารถคิดอารมณ์ในขณะเดียวกันได้ แต่ว่าจิตนี้คิดได้เร็วมาก ความคิดของจิตเร็ว กว่าร่างกายหรือเครื่องยนต์ทุกชนิดในโลก หรือแม้แต่ความเร็วของแสง บางทีจิตสั่งการเร็วเกินไป จนร่างกายทำให้ไม่ทันก็มี เช่นคนกลัวจัดจนวิ่งไม่ออก ต้องอยู่กับที่ หรือโกรธมากจนพูดไม่ออก จิตคิดได้โดยลำพัง ซึ่งแตกต่างกับกาย เพราะการไปด้วยกาย ถ้าไปในที่เปลี่ยวยังต้องการเพื่อน แต่การไปด้วยจิตนั้นไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนจิตจึงจะคิดได้ เพราะจิตคิดจะไปไหน ก็คิดไปดวงเดียว แม้คิดทั้งวันจิตก็ไม่เคยเจอจิตของคนอื่น

3. อสรีรํ หมายถึง ไม่ใช่สรีระ ข้อนี้บอกลักษณะของจิตว่า ไม่ใช่ร่างกายของเรา กล่าวคือ จิต เป็นธรรมชาติที่มีจริง มีรูปร่าง มีลักษณะเป็นดวงใสตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์ หรือ นักคิดพยายามคิดหาเครื่องมือจับจิต แต่ก็ไม่สามารถจะจับได้ เพราะจิตนั้นเป็นของละเอียดเกินกว่าที่ จะจับด้วยเครื่องมือเหล่านี้ ในกรณีนี้มีนักคิดสมัยใหม่ บางคนบางกลุ่มเห็นว่า จิตเป็นเพียงปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดจาก

ประสาทส่วนสมองเท่านั้น ไม่ใช่มีธรรมชาติอย่างหนึ่งต่างหาก โดยให้เหตุผลว่า เมื่อคนนอนหลับ ประสาทไม่ทำงาน คนก็ไม่มีความคิดอะไร แสดงว่าจิตไม่มี ถ้าจิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งต่างหาก ก็จะต้องทำงานได้อิสระ แม้สมองจะพัก ในกรณีนี้มีคำอธิบาย คือในเวลาที่เราดูหนัง เวลาดูเราดูที่จอเห็นมีรูปคน รูปสัตว์ต่างๆ ครั้นฉายเสร็จ เขาเก็บจอรูปภาพนั้นก็หายไปหมด แต่ความจริงตัวเรื่องหนังจริงไม่ได้อยู่ที่จอ แต่อยู่ที่ฟิล์ม ระหว่างจิตกับประสาทก็เช่นเดียวกัน จิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่งต่างหากจาก มอง และประสาททางกาย แต่อาศัยประสาททางกายซึ่งเป็นเหมือนจอ และจิตเป็นเสมือนฟิล์ม เป็นต้น

4. คุหาสยํ หมายถึง มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อยู่อาศัย บอกที่อยู่ของจิต ว่าจิตนี้จะอยู่ในร่างกาย ของเรา อยู่ในศูนย์กลางกาย มีนักคิดหลายท่านบอกว่า จิตอยู่ที่หัวใจ แต่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ เพราะถ้าหากจิตอยู่ในหัวใจจริงๆ คนที่ผ่าหัวใจเปลี่ยนหัวใจใหม่ แล้วจิตจะไปอยู่ที่ไหน แสดงให้เห็นว่าจิตไม่ได้อยู่ที่หัวใจ แต่อยู่ในร่างกาย ซึ่งเราสามารถทราบอาการของจิตได้ด้วยการที่จิตของเราออกไปรับอารมณ์ จากทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเราเห็นรูป จิตก็จะวิ่งออกไปรับอารมณ์ทางตา แล้วก็นำมาแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึก เมื่อได้ ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสจิตก็ออกรับอารมณ์ในทวารนั้นๆ เมื่อไม่รับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย -จิตก็คิดอารมณ์ทางใจ คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจิตอยู่ส่วนใดของร่างกาย แต่ทราบชัดว่า จิตนี้มีทางออกจากร่างกายอยู่ 6 ทาง ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำสมาธิได้ผลดีแล้ว ย่อมรู้ว่าจิตหาใช่อยู่ที่หัวใจ หรืออยู่ที่สมองแต่อย่างใด

ที่กล่าวมานี้เป็นลักษณะของจิตเพียงคร่าวๆ เพื่อจะให้เห็นชัดเจนว่า จิตที่เราฝึกนี้มีลักษณะอย่างไรเพราะว่า ถ้าเราไม่รู้ว่า จิตมีลักษณะอย่างไรแล้ว ก็ยากที่จะฝึกจิต เหมือนกับบุคคลที่ทำพลอย ถ้าไม่รู้จักชนิดของพลอยแล้ว ก็ยากที่จะทำพลอยให้ได้กำไร คนที่ฝึกจิตถ้าไม่รู้ลักษณะของจิต ไม่รู้อุปนิสัยของจิต ก็ยากที่จะฝึกจิต แต่ถ้ารู้แล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะควบคุมจิต หรือฝึกจิตของตน แม้ยังฝึกไม่ได้ ก็รู้นิสัยใจคอของจิตว่ามีลักษณะอย่างไร

ที่มา: https://kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=5636

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: