น้ำ คือ ศีล ย่อมล้างมลทิน แก้กรรมได้ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวว่า "น้ำคือศีลย่อมล้างมลทินอันใดของสัตว์ทั้งหลายได้ แม่น้ำใหญ่ ๆ คือ คงคา, ยมุนา, สรภู, สรัสวดี, นินนคา, อจิรวดีหรือมหี หาสามารถล้างมลทินนั้นของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ได้ไม่" (พระพุทธโฆษาจารย์. ๒๕๕๑. คัมภีร์วิสุทธิมรรค. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง. พิมพ์ครั้งที่ ๗. กรุงเทพ : บริษัท ธนาเพรส จำกัด, ๑๔.)
น้ำคือน้ำ จะล้างมลทินไม่ได้ แต่ถ้าหากว่าเรากำหนดจิตเจตนาของเราลงไปว่า น้ำคือศีล ก็สามารถล้างมลทินได้ แก้ไขได้
ถ้าเราอาบน้ำมนต์ เราก็ต้องถือว่า น้ำนี้คือศีล อย่าถือว่าน้ำคือน้ำ ถ้าถือว่าน้ำคือศีลก็จะสามารถแก้ไขมลทินได้. สมมติว่า เราลงไปในแม่น้ำ แล้วเราตัั้งจิตอธิษฐานเลยว่า น้ำนี้เปรียบเสมือนกับศีลที่เราจะชำระล้าง สิ่งที่เราผิดอะไรต่างๆ บัดนี้เราสำนึกเราจะแก้ไข ทำตัวใหม่ด้วยศีล น้ำแห่งศีลนี้จึงชำระล้าง ด้วยวิธีการแบบนี้จึงจะสามารถชำระล้างมลทินได้
แต่ถ้าเราบอกว่า เอาแม่น้ำคงคามาล้างให้สะอาด อย่างนี้ไม่ได้ ล้างยังไงก็ไม่สะอาด เพราะว่าเราไม่ได้ล้างด้วยปัญญา แต่ถ้าเราให้น้ำนี้คือศีล เป็นการล้างด้วยปัญญา เพราะศีลเรากำหนดว่า "ไม่ดี" เราจึงไม่ไปกระทำ แล้วทำไมจึงแก้ไม่ได้ สิ่งนี้แหละ เป็นการแก้กรรมชัดๆ เขาทำถูกแล้วแต่อธิบายผิด คนจึงไม่เข้าใจ ไม่ลึกซึ้ง เลยเอาแต่ว่า!! เอาแต่น้ำมาแล้วรดลงตัวเราแล้วบอกว่าหายไป ไม่มีมลทิน อย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าจะให้หายจากมลทิน เราจะต้องถือว่า น้ำนี้เป็นศีล
เอาแม่น้ำทั้งสายคงคามาชำระล้างก็ไม่สะอาด แต่น้ำหยดเดียวของแม่น้ำคงคา แต่เราให้ถือว่าเป็นศีลก็สะอาดได้ เพราะสะอาดด้วยปัญญา. ยกตัวอย่าง เราไปถึงแม่น้ำคงคา แล้วเอามือกวักตักน้ำขึ้นมา แล้วอธิษฐานว่า น้ำคือศีล แม่น้ำคงคาคือศีลที่จะชำระล้าง สิ่งที่เราทำผิดพลาดมา บัดนี้เราจะตั้งอยู่ในศีล นี่แหละ เป็นการแก้กรรม ยังไงจะแก้ไม่ได้
พราหมณ์ยุคแรกเขาทำถูก แต่ไม่ได้อธิบาย แต่พราหมณ์ยุคหลังๆ นี้อธิบายไม่ถูก ไม่รู้จะพูดยังไง เลยกลายเป็นว่า แม่น้ำคงคาศักดิ์สิทธิ์. เราต้องบอกว่า ทำไมแม่น้ำคงคาถึงศักดิ์ิสิทธิ์ เพราะว่า น้ำเปรียบเสมือนศีล แม่น้ำคงคาเป็นศีล ถ้าเราถือแม่น้ำคงคาเป็นศีล เราก็จะสามารถชำระล้างมลทินได้. แต่ถ้าเราไม่ถือว่าแม่น้ำคงคาเป็นศีล ต่อให้มีแม่น้ำ ๑๐ สาย ก็ชำระล้างไม่ได้ เห็นไหมความหมายเป็นเช่นนี้
เราเปรียบว่าน้ำคือศีล แต่น้ำนี้ไม่ได้มาชำระมลทินของเรา แต่เป็นเพราะว่าเราปฏิบัติในศีล จึงถูกชำระ เพราะศีลทำให้เราละชั่ว ทำดี. ศีลก็คือละชั่ว ทำดี. ศีลทำให้เราพิจารณา "เหตุ" เหตุที่จะมาทำให้เกิดผล "ชั่ว" เราไม่เอา เพราะว่าเรารู้ทัน เป็นปัญญา. ทำไมเราบอกว่าศีลเป็นปัญญา? เพราะว่าทำให้เราพิจารณาได้ว่า อะไรถูก อะไรผิด ไม่ใช่ว่าศีลเป็นของแข็งๆ ทื่อๆ ไม่เป็นปัญญา
ศีลเป็นปัญญา ทำให้เราคิดได้ แต่!! ศีลไม่ใช่ตัวปัญญา.
แต่ศีลเป็นตัวที่ทำให้เราคิดได้ ทำให้เราเกิดปัญญา สำหรับตัวปัญญา คือ ตัวพิจารณาศีล สำหรับตัวที่พิจารณาศีลนี้คือตัวอะไร เราขอยกให้ว่าเป็นโยนิโสมนสิการ (โยนิโสมนสิการ คือ เป็นกระบวนการคิดพิจารณาตั้งแต่ต้นเหตุไปถึงผล ผลไปถึงเหตุ ให้ครบวงจรตามภาวะจริงแท้แห่งธรรม) โยนิโสมนสิการทำให้เราเกิดปัญญา ขบวนการอย่างนี้เขาเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน
ถ้าเราแก้กรรมด้วยศีลแล้ว แต่เรายังมีพฤติกรรมยังเก่าอยู่อีกจะแก้ได้ไหม? ถ้าผิดศีล ก็แก้ไม่ได้ เพราะถ้าเจตนาที่เราตั้งไว้นั้นยังอยู่ เราก็อย่าไปทำผิดศีล. แต่ถ้า ๑๐ วันนี้ เราทำได้ตามที่เราได้อธิษฐานไว้ช่วงที่ล้างน้ำด้วยศีล แต่ในวันที่ ๑๑ เราทำไม่ได้ล่ะ?. ก็เป็นเพราะตบะเราอ่อน ตบะไม่พอ เราทำได้ ๑๐ วัน ก็ได้เหตุที่ดี ๑๐ วัน ส่วนวันที่ ๑๑ ไม่ใช่ ก็คือไม่ใช่ จะเอามารวมกันไม่ได้ เพราะเราทำเหตุดี ๑๐ วัน เราจะเอา ๑๑ วันได้ยังไง?
ศีล เป็นหัวใจในการแก้กรรม
เมื่อก่อนเราเข้าใจศีลลวกๆ หารู้ไม่ว่าศีลมีอานิสงส์เยอะ อย่าไปทอดทิ้งศีล บางคนบอกว่าศีลไม่สำคัญ บางคนบอกว่า ทำไมต้องมีศีล ๕ แต่นั้นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เข้าใจศีล. ศีลเป็นคำนิยามหนึ่งในการแก้กรรม ศีลเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขกรรม. สีลํ กมฺมปฏิกรเณ ปรมํ มญฺญํ โหติ. ศีลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการแก้กรรม. ผู้มีศีลย่อมพ้นจากเคราะห์ภัย
* ขอความเคารพ หากผู้รู้มีสิ่งชี้แนะ น้อมรับฟังเสมอ และขอความกรุณาแย้ง ชี้แจง ชี้แนะ แม้แต่ต้องการให้เพิ่มเติมสิ่งใด ก็ขอได้บอกกล่าวมา
อ.พรหมสิทธิ์ ทิพย์ธาดาวงศ์
เอื้อ-เกื้อ-กัน เป็นกัลยาณมิตรทุกขณะจิต
ขอขอบคุณ ที่มา : dhammathai.org
0 comments: