วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

คนมีปัญญา ควรขจัดมลทินของตน ทีละน้อยๆ ดุจช่างทองขจัดมลทินของทอง


อนุปุพฺเพน เมธาวี  โถกํ โถกํ ขเณ ขเณ  กมฺมาโร รชตสฺเสว นิทฺธเม มลมตฺตโน ฯ คนมีปัญญา ควรขจัดมลทินของตน ทีละน้อยๆ ทุกๆขณะ โดยลำดับ เหมือนนายช่างทอง ปัดเป่าสนิมแร่

บุคคลผู้มีปัญญารุ่งเรืองในธรรม ทำกุศลเนืองนิตย์ ทำกุศลบ่อยๆ ย่อมได้ชื่อว่า กำจัดมลทิน คือกิเลสมีราคะเป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ บัณฑิตย่อมเป็นผู้ชื่อว่า มีมลทินอันขจัดแล้ว คือปราศจากกิเลสเหมือนช่างทองที่หลอมทองแล้วทุบเพียงครั้งเดียว ย่อมไม่อาจขจัดมลทินให้หมดสิ้นไป และไม่สามารถนำมาทำเครื่องประดับต่างๆ ได้ แต่เมื่อหลอมบ่อยๆ ทุบบ่อยๆ จึงจะจัดมลทินออกได้ และยังเหมาะแก่การทำเครื่องประดับต่างๆ ได้ด้วย

ผู้รักในการสั่งสมบุญบารมี แม้เห็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นประโยชน์แล้ว จะไม่มองข้าม จะรีบทำความดีนั้นด้วยจิตใจที่เบิกบานแจ่มใส โดยไม่เห็นแก่ความลำบากหรือความเหน็ดเหนื่อย จนความดีนั้นสำเร็จสมปรารถนาบุญกุศลที่เกิดขึ้นก็จะติดตัวไปทุกภพทุกชาติ. 

มีเรื่องประกอบดังต่อไปนี้ :- เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง      

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อนุปุพฺเพน เมธาวี" เป็นต้น. 

พราหมณ์ทำความเกื้อกูลแก่ภิกษุ      

ดังได้สดับมา วันหนึ่ง พราหมณ์นั้นออกไปแต่เช้าตรู่ ได้ยืนแลดูพวกภิกษุห่มจีวร ในที่เป็นที่ห่มจีวรของพวกภิกษุ. ก็ที่นั้นมีหญ้างอกขึ้นแล้ว. ต่อมา ภิกษุรูปหนึ่งห่มจีวรอยู่ ชายจีวรเกลือกกลั้วที่หญ้า เปียกด้วยหยาดน้ำค้างแล้ว. พราหมณ์เห็นเหตุนั้นแล้วคิดว่า "เราควรทำที่นี้ให้ปราศจากหญ้า" ในวันรุ่งขึ้น ถือจอบไปถากที่นั้น ได้ทำให้เป็นที่เช่นมณฑลลาน.  แม้ในวันรุ่งขึ้น เมื่อภิกษุมายังที่นั้น ห่มจีวรอยู่, พราหมณ์เห็นชายจีวรของภิกษุรูปหนึ่ง ตกไปบนพื้นดินเกลือกกลั้วอยู่ที่ฝุ่น จึงคิดว่า "เราเกลี่ยทรายลงในที่นี้ควร" แล้วขนทรายมาเกลี่ยลง. 

 พราหมณ์สร้างมณฑปและศาลา            

ภายหลังวันหนึ่ง ในเวลาก่อนภัตได้มีแดดกล้า. แม้ในกาลนั้น พราหมณ์เห็นเหงื่อไหลออกจากกายของพวกภิกษุผู้กำลังห่มจีวรอยู่ จึงคิดว่า "เราให้สร้างมณฑปในที่นี้ควร" จึงให้สร้างมณฑปแล้ว.

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง ได้มีฝนพรำแต่เช้าตรู่. แม้ในกาลนั้น พราหมณ์แลดูพวกภิกษุอยู่ เห็นพวกภิกษุมีจีวรเปียก จึงคิดว่า "เราให้สร้างศาลาในที่นี้ควร" จึงให้สร้างศาลาแล้วคิดว่า "บัดนี้ เราจักทำการฉลองศาลา"

จึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ให้ภิกษุทั้งหลายนั่งทั้งภายในทั้งภายนอก ถวายทาน, ในเวลาเสร็จภัตกิจ รับบาตรพระศาสดา เพื่อประโยชน์แก่การทรงอนุโมทนา แล้วกราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมด จำเดิมตั้งแต่ต้นว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ยืนแลดูอยู่ในที่นี้ ในเวลาที่พวกภิกษุห่มจีวร, เห็นเหตุการณ์อย่างนี้ๆ จึงให้สร้างสิ่งนี้ๆ ขึ้น."

พระศาสดาทรงแสดงธรรม   

พระศาสดาทรงสดับคำของเขาแล้ว ตรัสว่า "พราหมณ์ ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลายทำกุศลอยู่คราวละน้อยๆ ทุกๆ ขณะ ย่อมนำมลทิน คืออกุศลของตนออกโดยลำดับทีเดียว" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

อนุปุพฺเพน เมธาวี   โถกํ โถกํ ขเณ ขเณ  กมฺมาโร รชตสฺเสว    นิทฺธเม มลมตฺตโน ฯ  ผู้มีปัญญา (ทำกุศลอยู่) คราวละน้อยๆ ทุกๆ ขณะ โดยลำดับ พึงกำจัดมลทินของตนได้ เหมือนช่างทองปัดเป่า สนิมทอง ฉะนั้น.

แก้อรรถ    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนุปุพฺเพน คือ โดยลำดับ. ผู้ประกอบด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม ชื่อว่า เมธาวี.  สองบทว่า ขเณ ขเณ ความว่า ทำกุศลอยู่ทุกๆ โอกาส. บาทพระคาถาว่า กมฺมาโร รชตสฺเสว ความว่า บัณฑิตทำกุศลอยู่บ่อยๆ ชื่อว่าพึงกำจัดมลทิน คือกิเลสมีราคะเป็นต้นของตน. 

ด้วยว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น บัณฑิตย่อมเป็นผู้ชื่อว่ามีมลทินอันขจัดแล้ว คือไม่มีกิเลส เหมือนช่างทองหลอมแล้วทุบทองครั้งเดียวเท่านั้น ย่อมไม่อาจไล่สนิมออกแล้วทำเครื่องประดับต่างๆ ได้, แต่เมื่อหลอมทุบบ่อยๆ ย่อมไล่สนิมออกได้, ภายหลังย่อมทำให้เป็นเครื่องประดับต่างๆ หลายอย่างได้ฉะนั้น. ในกาลจบเทศนา พราหมณ์ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว ดังนี้แล.  เรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง จบ.    

ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=28&p=2

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: