เมื่อนับตามลำดับศากยวงศ์แล้ว ท่านก็เป็นอนุชาของพระบรมศาสดา เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ท่านได้ออกบวชพร้อมด้วยเจ้าศากยกุมารเหล่านี้ คือ ภัททิยะ, อนุรุทธะ, ภคุ, กิมพิละ โกลิยกุมาร อีกหนึ่งองค์ คือ เทวทัต รวมทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาเป็น ๗ เมื่อพระอานนท์ได้อุปสมบทแล้ว ได้ฟังโอวาทของพระปุณณมันตานีบุตร จนได้บรรลุโสดาปัตติผล
วันหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสขอให้สงฆ์เลือกหาภิกษุอุปัฏฐากพระองค์เป็นประจำ เพราะเมื่อก่อนแต่กาลนี้ ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระองค์ไม่ได้กำหนดแน่นอน คงผลัดเปลี่ยนถวายการอุปัฏฐากกันไป เวลาที่ผลัดเปลี่ยนเมื่อยังไม่มีผู้รับต่อ ต้องเสด็จอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียวได้ความลำบาก. สงฆ์จึงเลือกพระอานนท์ถวาย แต่ก่อนที่ท่านจะรับเป็นพุทธอุปัฏฐาก ก็ได้ทูลขอพร ๘ ประการ คือ
๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๓. อย่าโปรดให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับของพระองค์
๔. อย่าทรงพาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์
๕. จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับเขาไว้
๖. ให้ข้าพระองค์พาบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกลเข้าเฝ้าในขณะที่มาได้ทันที
๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระองค์เกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามได้เมื่อนั้น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคง
๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ขอพระองค์มาตรัสบอกธรรมเทศนาเรื่องนั้น แก่ข้าพระองค์
พระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไรจึงได้ขออย่างนี้ พระอานนท์กราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พร ๔ ข้อข้างต้นก็จะมีคนพูดครหานินทาได้ว่า พระอานนท์ได้ลาภอย่างนั้น ๆ จึงบำรุงพระบรมศาสดา การบำรุงอย่างนี้จะหนักหนาอะไร ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พระ ๓ ข้อเบื้องปลาย คนทั้งหลายก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระบรมศาสดาทำอะไร เพราะพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พรข้อสุดท้าย จักมีผู้ถามข้าพระองค์ในที่ลับหลังพระองค์ธรรมนี้พระองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระองค์บอกไม่ได้ พวกเขาก็จะพูดติเตียนได้ว่า ท่านไม่รู้แม้แต่เรื่องเพียงเท่านี้ ท่านไม่ละพระบรมศาสดาแล้วยังเที่ยวตามเสด็จอยู่ดุจเงาตามตัวสิ้นกาลนานเพราะเหตุไร
ครั้นพระอานนท์กราบทูลคุณและโทษของพร ๘ ประการ อย่างนี้แล้วพระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้ตามที่ขอ ตั้งแต่นั้นมาพระอานนท์ก็อุปัฏฐากพระบรมศาสดาโดยเอื้อเฟื้อ และมีความจงรักภักดีในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ชีวิตก็สามารถ สละแทนพระองค์ได้ พึงเห็นตัวอย่าง เมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรีเพื่อให้ทำอันตรายแก่พระองค์ พระอานนท์ออกยืนขวางหน้าช้างนาฬาคีรีเพื่อมิให้ทำอันตรายแก่พระองค์
เพระเหตุที่ท่านอยู่ในที่ใกล้ชิดพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงแก่ตนเอง และผู้อื่นมีสติทรงจำไว้ได้มาก เอาธุระในการศึกษาเล่าเรียนสาธยายทรงจำไว้ได้มาก จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมมาก
ดังนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ๕ อย่าง คือ เป็นพหูสูต,มีสติ,มีคติ,มีความเพียร, และเป็นพุทธอุปัฏฐาก และเพราะเหตุที่ท่านเป็นพหูสูต เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะทำสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระสุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก ท่านได้บรรลุพระอรหัตตผล ก่อนวันที่จะทำสังคายนา ๑ วัน คือ เมื่อท่านได้รับคำเตือนจากพระมหากัสสปเถระ ครั้นถึงเวลาเย็นก็อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม จนได้สำเร็จพระอรหัตตผลในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ ซึ่งจะจัดว่าเป็นท่ายืน,เดิน,นั่ง หรือนอนท่าใดท่าหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะอยู่ในท่าที่กำลังจะล้มตัวลงนอน
ต่อมาเมื่อท่านพิจารณาถึงอายุสังขารเห็นว่าสมควรจะนิพพานแล้ว จึงไปสู่แม่น้ำโรหิณีซึ่งมีอยู่ในระหว่างศากยวงศ์ และโกลิยวงศ์ ครั้นท่านจะนิพพานได้เหาะขึ้นสู่อากาศแล้วแสดงธรรมสั่งสอนแก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ในที่สุดแห่งเทศนาได้แสดงอิทธิปาฎิหาริย์หลายอย่างแล้วตั้งสัตย์อธิษฐานว่า เมื่อนิพพานแล้วขอให้ร่างกายจงแตกออกเป็น ๒ ส่วนแล้วตกลงข้างพระญาติศากยวงศ์ส่วนหนึ่ง ข้างพระญาติโกลิยวงศ์ส่วนหนึ่ง เพื่อจะป้องกันมิให้ชนทั้ง ๒ พวกเกิดวิวาทกัน เพระเหตุแห่งอัฐิ
ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้วก็นิพพาน* ณ เบื้องบนแห่งอากาศ ท่ามกลางแม่น้ำโรหิณี สรีระร่างกายของท่านก็แตกออกเป็น ๒ ส่วน แล้วตกมายังภาคพื้น สมดังที่ท่านได้อธิษฐานไว้ทุกประการ.
พระอานนทเถระ เมื่อพิจารณาตามประวัติแล้ว แปลกจากพระสาวกรูปอื่นโดยกิเลสนิพพานบ้าง ขันธปรินิพพานบ้าง พระสาวกรูปอื่นบรรลุ พระอรหัตและนิพพานในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน,เดิน,นั่ง,นอน อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ส่วนท่านพระอานนท์ บรรลุพระอรหัตในระหว่าอริยาบถ ๔ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยขันธปรินิพพาน
ขอขอบคุณที่มา : http://www.dhammathai.org
0 comments: