วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2564

โกธํ ชเห วิปฺปชเหยฺย มานํ สํโยชนํ สพฺพมติกฺกเมยฺย - บุคคลพึงละความโกรธ สละความถือตัว ล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย

โกธํ ชเห วิปฺปชเหยฺย มานํ  สํโยชนํ สพฺพมติกฺกเมยฺย, ตํ นามรูปสฺมิมสชฺชมานํ  อกิญฺจนํ นานุปตนฺติ ทุกฺขา ฯ  บุคคลพึงละความโกรธ สละความถือตัว ล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย ทุกข์ทั้งหลายย่อมไม่ตกถึง บุคคลเช่นนั้นผู้ไม่ข้องในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล

๑. พึงละความโกรธ

ความโกรธเป็นอย่างไร รู้จักกันดีอยู่แล้ว ที่ทรงสอนให้ละความโกรธ ก็เพราะความโกรธมีโทษมาก - มีโทษตั้งแต่ตัวผู้โกรธเองและผู้ถูกโกรธ ที่มีโทษแก่ตัวเองนั้น เช่น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น ทำให้น้ำย่อยอาหารไม่ออกมาตามปกติ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มือสั่น ปากสั่น ขาดการควบคุมตน บางคนควบคุมตัวเองไม่ได้เลย ผลที่ออกมาคือการด่า การทุบตี หรือประหารผู้อื่น เมื่อกระทำลงไปเช่นนั้นแล้ว พอหายโกรธก็เสียใจ แต่ทำคืนไม่ได้เสียแล้ว อาจต้องถูกจองจำทำโทษเป็นเวลานานปี เสียชื่อเสียงเกียรติยศ เสียอนาคตอันควรจะรุ่งโรจน์

ความโกรธทำให้สติปัญญามืดมน ความโกรธเหมือนเมฆหมอกมาบังแสงสว่างคือดวงปัญญา สมดังที่พระศาสดาตรัสไว้ว่า"อนฺธตมํ ตทา โหติ ยํ โกโธ สหเต นรํ - เมื่อใดความโกรธครอบงำบุคคลแล้ว เมื่อนั้นเขาย่อมมืดมน" ดังนี้ เมื่อมืดมนก็เหมือนคนเดินในที่มืดไม่รู้ทางควรเว้นหรือควรเดิน ตกหลุมบ่อ และถูกขวากหนามได้ง่ายเป็นอันตรายแก่ตนเอง นี่คือส่วนที่เป็นโทษแก่ตนเองส่วนที่เป็นโทษแก่ผู้อื่นนั้น คือ เมื่อผู้โกรธไปด่าว่าเขาอย่างเจ็บแสบ หรือไปประหารเขา ย่อมทำให้เขาโกรธเคือง ก่อความทุกข์ให้แก่เขา หากเขาต้องตายไปเพราะการประหารนั้น ลูกเมียของเขาก็เดือดร้อนประมาณมิได้ เรียกว่าก่อทุกข์ให้คนจำนวนมากมารดาบิดาของเขาก็พลอยเดือดร้อนด้วย ยิ่งรายที่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ลูกเมียเพียงตัวคนเดียวแล้ว พ่อแม่ลูกเมียของเขาจะได้ใครเลี้ยงลองคิดดูเถิดว่าคนเหล่านั้นจะลำบากสักปานใด แม้มารดาบิดาของผู้โกรธเอง ก็ย่อมจะถึงทุกข์โทมนัสหาน้อยไม่ เมื่อรู้ว่าลูกของตนต้องได้รับโทษทัณฑ์ ต้องติดคุกตะราง ไปลำบากยากแค้น

ความโกรธเป็นของไม่ดี ก่อทุกข์ให้แก่ตนเองและผู้อื่นมากมายฉะนี้ ท่านจึงสอนให้ละเสีย ทรงแสดงอานิสงส์ว่าผู้ละความโกรธได้แล้วย่อมนอนเป็นสุข และไม่ต้องเศร้าโศก ส่วนวิธีละความโกรธนั้น ท่านแสดงไว้มากในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จะขอยกมากล่าวพอได้ใจความดังนี้

วิธีละความโกรธตามนัยวิสุทธิมรรค

(๑) ท่านสอนให้พิจารณาให้เห็นโทษของความโกรธและเห็นคุณของขันติและเมตตาก่อน เพราะบุคคลจะไม่สามารถละสิ่งที่ตนยังไม่เห็นโทษได้

(๒) ให้แผ่เมตตาไปในตนและคนอื่นว่า ขอให้ตนมีความสุขและสรรพสัตว์ทั่วโลกจงมีความสุข ที่แผ่เมตตาให้ตนนั้น เพื่อให้ตนเป็นพยานว่า ตนรักสุขเกลียดทุกข์ฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นก็ฉันนั้น ผู้รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น

(๓) เพื่อบรรเทาความแค้นเคือง พึงแผ่เมตตาไปยังบุคคลผู้เป็นศัตรูคู่เวรบ่อย ๆ จนใจของผู้แผ่อ่อนโยนลง

(๔) ถ้ายังไม่หาย พึงระลึกถึงพระพุทธโอวาทในกกจูปมสูตรบ่อย ๆ ข้อความแห่งกกจูปโมวาทนั้นว่า "ภิกษุทั้งหลาย หากโจรใจเหี้ยมพึงเอาเลื่อยมาเลื่อยเธอให้ขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ ถ้าผู้ใดยังคิดประทุษร้ายโจรนั้นอยู่ ผู้นั้นยังหาชื่อว่าทำตามโอวาทเราไม่ -"อนึ่ง ผู้ใดโกรธตอบ ผู้นั้นเลวกว่าผู้โกรธก่อน ผู้ไม่โกรธตอบ ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามที่ชนะได้โดยยาก ผู้ที่รู้ว่าคนอื่นโกรธตัวแล้ว แต่ส่วนตนเป็นผู้มีสติสงบเสงี่ยมอยู่ ชื่อว่าประพฤติตนเป็นประโยชน์แก่คนทั้งสองฝ่าย คือทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น"

(๕) ทรงเปรียบคนขี้โกรธเหมือนฟืนเผาผี ที่ไฟติดทั้งสองข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ จะจับข้างทั้งสองก็ร้อน จะจับตรงกลางก็เหม็น

(๖) ถ้ายังไม่หายโกรธ ก็พึงระลึกถึงความดีของเขาบ้าง คือโดยปกติคน ๆ หนึ่งย่อมมีอะไรดีอยู่บ้าง แม้ไม่มากสักอย่างหนึ่งพึงระลึกถึงส่วนดีอันนั้นของเขา แล้วบรรเทความโกรธเสีย

(๗) ถ้ายังไม่หายโกรธก็พึงโอวาทตนบ่อย ๆ (ถ้าเป็นพระ) ก็พึงโอวาทว่า

สู้อุตส่าห์ละโลกียสุขทั้งปวงซึ่งเป็นสิ่งที่ละได้โดยยากมาแล้ว ไฉนจึงยอมตนให้ตกอยู่ในอำนาจของความโกรธเล่า ฯลฯ คนเป็นเวรกันทำทุกข์ให้ท่านที่กาย เหตุไฉนจึงลงโทษตนเองที่ใจเล่าความโกรธทำให้ใจของท่านเป็นทุกข์มิใช่หรือ? (ในข้อ ๗ นี้มีความละเอียดน่าสนใจมาก ยกมาเล็กน้อยพอเป็นตัวอย่าง)

(๘) ถ้ายังไม่หายโกรธ ท่านสอนให้พิจารณาถึง กัมมัสสกตา คือความที่สัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นของของตน ใครทำกรรมเช่นใดไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมเช่นนั้นเอง คือจักปรากฎด้วยกรรมของตนเอง เราเป็นผู้โกรธก็จักต้องได้รับผลแห่งความโกรธนี้เอง ฯลฯ

(๙) ถ้ายังไม่หายโกรธ ก็พึงอนุสรณ์ถึงพระจริยาของพระศาสดาที่เคยทรงลำบากมา เคยทรงทุกข์ทรมานเพราะการกระทำของผู้อื่นมากมายหลายชาติหลายประการ แต่หาได้ทรงผูกโกรธหรือผูกเวรต่อผู้ใดไม่ เช่นสมัยที่ทรงเป็นช้างรักษาศีล ทรงยอมให้พรานตัดงาถึง ๓ ครั้ง แต่หาได้มีใจประทุษร้ายในพรานนั้นไม่ ในข้อนี้ ท่านประมวลมาซึ่งจริยาของพระศาสดามากหลายในอดีตเช่น สีลวชาดก เรื่องขันติวาทีดาบส จูฬธรรมปาลชาดก ฉัททันตชาดก เรื่องมหากบี่ (ลิงใหญ่) เรื่องภูริทัตตชาดก เรื่องจัมเปยยกนาคราชเรื่องสังขปาลนาคราช เป็นต้น(๑๐) ถ้ายังไม่หายโกรธ ท่านสอนให้พิจารณาถึงความยาวของสังสารวัฏ ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ คนที่ไม่เคยเป็นมารดา บิดาบุตรธิดา พี่ชาย พี่หญิง น้องชาย น้องหญิงและญาติสายโลหิตมิตรสหายเป็นไม่มี เขาเป็นศัตรูคู่เวรกับเราในชาตินี้ แต่ชาติก่อน ๆ เขาอาจเคยเป็นมารดาบิดาเป็นต้น ผู้มีอุปการะช่วยเหลือเกื้อกูลเรา บางทีอาจเคยยอมสละชีวิตเพื่อช่วยเหลือเราก็ได้

(๑๑) ถ้ายังไม่หายโกรธ ก็พึงระลึกถึงอานิสงส์ของเมตตาที่พระทศพลทรงแสดงไว้ ๑๑ ประการ มีหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข เป็นต้น(๑๒) ถ้ายังไม่หายโกรธอีก ท่านสอนให้แยกธาตุ คือ พิจารณาว่าสิ่งทั้งปวงเป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขามันเพียงสักแต่ว่าธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะโกรธอะไรเล่า

(๑๓) ถ้ายังไม่หายโกรธ ท่าสอนให้เผื่อแผ่แบ่งปัน คือให้ของแก่ผู้ที่เราโกรธ หรือรับของที่เขาให้ หากทำได้ดังนี้ ความโกรธเกลียดย่อมระงับไปอย่างแน่นอน ท่านแสดงอานุภาพของทานไว้ว่า "ทานเป็นเครื่องฝึกคนที่ยังไม่ได้รับการฝึก ยังประโยชน์ทุกอย่างให้สำเร็จ ทายกย่อมบันเทิงด้วยการให้ ฝ่ายปฏิคาหกย่อมนอบน้อมถนอมน้ำใจด้วยปิยวาจา"

ท่านจะเห็นว่า วิธีการของพระพุทธศาสนาในเรื่องนี้ทันสมัยเพียงใด ข้าพเจ้าได้เคยอ่านตำราจิตวิทยาเกี่ยวกับผลร้ายของความโกรธและอุบายเอาชนะความโกรธมาหลายบทหลายสำนวน เห็นว่ามิได้เกินคำแนะนำที่ทางพระพุทธศาสนาได้ให้ไว้นี้เลย พระธรรมนั้นเป็นสวากขาตธรรมจริง ๆ

๒. พึงสละความถือตัว

ความถือตัวแปลมาจากคำว่า "มานะ" แปลอีกอย่างหนึ่งว่า ความทะนงตน ส่วนมานะที่คนทั่วไปใช้ เช่น "จงมานะพยายาม" นั้นไม่ใช่มานะที่กำลังพูดถึงในที่นี้ เพราะเป็นคำมีความหมายเพี้ยนไป คนไทยเข้าใจความหมายไปอีกทางหนึ่งว่า "พยายาม"

ท่านสอนไม่ให้มีมานะว่า สูงกว่าเขา เสมอเขา หรือต่ำกว่าเขา เพราะเมื่อถือตัวว่าเราสูงกว่าก็ทำให้ดูหมิ่นเขา เมื่อถือตัวว่าต่ำกว่าเขา ก็อาจริษยาเขา หรือแสดงอาการน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อถือตัวว่าเสมอเขาก็อาจเป็นเหตุให้แข่งดีกัน แก่งแย่งกัน ชิงกันเป็นใหญ่หรือยกตนให้เด่นธรรมดามีอยู่ว่า ไม่มีใครที่สูงกว่าผู้อื่น หรือมีความรู้ความสามารถดีกว่าผู้อื่นโดยประการทั้งปวง อาจเป็นอย่างนั้นได้คือสูงกว่าหรือมีความรู้ความสามารถมากกว่าก็เพียงในด้านใดด้านหนึ่ง คือในบางเรื่องเท่านั้น เช่น ก. มีความสามารถกว่า ข. ในเรื่องดนตรี แต่ข. มีความสามารถมากกว่า ก. ในด้านงานเกษตร ดังนี้เป็นต้น แม้คนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เป็นนายเป็นลูกน้องของกันและกัน ก็มิได้หมายความว่า นายจะมีความสามารถเหนือลูกน้องไปทุกด้าน นายอาจมีความสามารถในด้านบริหาร แต่เมื่อต้องพิมพ์หนังสือราชการ นายอาจสู้เสมียนพิมพ์ไม่ได้หรือเมื่อต้องกวาดสำนักงาน ล้างส้วม นายอาจทำให้ดีเท่าภารโรงไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

คนเรามีความรู้ความสามารถกันไปคนละอย่าง เมื่อรวมกันเข้าจึงนำภาระของสังคมไปได้ เปรียเหมือนอวัยวะน้อยใหญ่ในตัวคนทำให้คนเป็นคนอยู่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยามกัน ควรเห็นว่า ทุกคนทำหน้าที่ของตนเพื่อจรรโลงสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป

โดยปกติ สัตวโลกมีอัสมิมานะ หรือมานะ ด้วยกันทุกคน โดยปริยายเบื้องสูง หมายถึงความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา ตัวเรา หรือที่ท่านเรียกตามสำนวนจิตวิทยาว่า "ปมเขื่อง - superior complex" พูดอย่างท่านแอดเลอร์ (นักจิตวิทยา ศิษย์ของซิกมันต์ ฟรอยด์) ก็ว่ามีความรู้สึกที่จะทำตัวให้เด่น เมื่อใดการทำตนให้เด่นนั้น ถูกกีดขวางไม่ให้ดำเนินไป เมื่อนั้นปมด้อยก็เกิดขึ้น อันที่จริงปมด้อยก็มิใช่อะไรอื่นมันคือปมเขื่องที่ลดลงนั่นเอง เหมือนความเย็นคือความร้อนที่ลดลง คนมีปมด้อยในเรื่องใด มิได้หมายความว่า ปมเขื่องในเรื่องนั้นของเขาจะไม่มี แต่มีอยู่น้อย เราจะเห็นได้ว่า เมื่อไปเจอคนที่มีปมด้อยในเรื่องนั้นกว่า เขากลับแสดงปมเขื่องได้ทันที ตัวอย่างนักเรียนภาษาอังกฤษเมื่ออยู่ต่อหน้าครูผู้สอนภาษาอังกฤษ เขาจะรู้สึกด้อย เพราะความรู้ในภาษาอังกฤษของเขาสู้ครูไม่ได้ แต่พอลับหน้าครู ได้อยู่ในหมู่นักเรียนชั้นต่ำกว่า เขากลับมีปมเขื่องในเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะสามารถทำตนให้เด่นได้ อธิบายให้นักเรียนชั้นต่ำกว่าฟังได้อย่างภาคภูมิ นี่แสดงว่า ปมด้อยก็คือปมเขื่องที่ลดลงนั่นเอง มิตรสหายที่คบกันอยู่ได้นาน และต่างถูกอกถูกใจกันนั้น ก็เพราะต่างฝ่ายต่างก็หล่อเลี้ยงอัสมิมานะ หรือปมเขื่องของกันและกันไว้ได้ถ้ายิ่งฝ่ายใดยอมลดตนลงให้ ego ของอีกฝ่ายหนึ่งเด่นขึ้นมากเท่าใด ก็จะยิ่งเป็นที่รักที่ปรานีของฝ่ายนั้นมากขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าใครไปข่มอัสมิมานะ หรือปมเขื่องของเขาเข้าโดยที่เขาไม่ได้ยินยอมเอง เขาก็จะต้องเจ็บใจเห็นเป็นว่า ดูถูกันและต้องเลิกคบกัน ท่านจะเห็นว่ามานะมีความหมายในชีวิตมนุษย์และสัตว์เพียงใด ท่านพุทธทาส ภิกฺขุ (อินทปัญโญ) ได้กล่าวไว้ในเรื่อง "ปมเขื่องส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกรรมชั่ว" ตอนหนึ่งว่า "อัสมิมานะ หรือความรู้สึกที่เป็นตัว "ปมเขื่อง" อันนี้เอง เป็นมูลเหตุอันสำคัญชั้นรวมยอดของการทำความชั่ว การทำความดี หรือทั้งทำบุญและทำบาป แต่เป็นความตรงกันข้ามกับการเข้าถึงพุทธธรรมหรือนิพพาโดยตรง"

ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สละเสีย มันเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง สละเสียได้แล้วจะมีความสุข ดังที่พระองค์ทรงเปล่งอุทานเมื่อตรัสรู้ใหม่ ๆ ว่า "อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ - สละอัสมิ มานะเสียได้นั่นแลเป็นบรมสุข" คนที่ต้องทะเลาะวิวาทกัน ต้องรบราฆ่าฟันกัน ก็เพราะกิเลตัวนี้เป็นมูลเดิม ถ้าละมันได้อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ละได้ก็จะมีความสุขอย่างยิ่ง ไม่ต้องเดือดร้อนด้วยเรื่องของโลกใด ๆ

๓. ล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย สังโยชน์ แปลว่า กิเลสที่เกี่ยวเกาะหรือหน่วงเหนี่ยวสัตว์ไว้ในภพ ไม่ให้อิสระไปจาภพ ทรงแสดงไว้ ๑๐ ประการ เป็นเบื้องต่ำ(โอรัมภาคิยะ) ๕ เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยะ) ๕ ดังนี้ สังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ คือ ๑. สักกายทิฏฐิ - ความเห็นในตัวตน ความยึดมั่นในตัวตน ๒. วิจิกิจฉา - ความลังเลสงสัยในคุณพระรัตนตรัย และในทางดำเนินให้ถึงนิพพาน ๓. สิลัพพตปรามาส - ความลูบคลำศีลและพรตหรือวัตร ๔. กามราคะ - ความกำหนัดในกาม  ๕. ปฏิฆะ - ความหงุดหงิด กระทบกระทั่งทางใจ 

๓ ประการแรกพระโสดาบันและพระสกทาคามีละได้ ๒ ประการหลังพระอนาคามีละได้ สังโยชน์เบื้องสูง ๕ คือ ๑. รูปราคะ - ความติดใจในรูปฌาน หรือรูปภพ ๒. อรูปราคะ - ความติดใจในอรูปฌาน หรืออรูปภพ ๓. มานะ - ความทะนงตัว ความถือตัว ๔. อุทธัจจะ - ความฟุ้งซ่าน ๕. อวิชชา - ความไม่รู้ ๕ อย่างนี้ พระอรหันต์ละได้

คำว่าล่วงสังโยชน์ ก็คือข้ามพ้นสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ เมื่อข้ามพ้นแล้ว ย่อมไม่ข้องในนามรูป ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กังวลอีกต่อไปด้วยประการฉะนี้ ทุกข์ย่อมไม่ตกถึงเขา ทุกข์ย่อมไม่ติดตามเขา ไม่เบียดเบียนย่ำยีเขา เรื่องนี้ พระศาสดาทรงแสดงแก่พระนางโรหิณีพระญาติของพระองค์เอง มีเรื่องย่อดังนี้ :-

เรื่องประกอบ เรื่องพระนางโรหิณี

เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ สมัยนั้น พระอนุรุทธะเถระไปเมืองกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยภิกษุบริวาร ๕๐๐ รูป พวกพระญาติทราบข่าวการมาของท่าน จึงพากันมาหาท่าน เว้นแต่พระนางโรหิณี พระเถระเมื่อไม่เห็นพระนางจึงถามพระญาติว่า พระนางโรหิณีไปไหน? ท่านทราบจากพระญาติว่า พระนางโรหิณีไม่เสด็จมาเพราะความละอายที่เป็นโรคผิวหนัง พระเถระจึงให้เชิญพระนางมาและแนะนำให้ทรงทำบุญ "ทำอย่างไรท่าน?" พระนางตรัสถามพระพี่ชาย (พระนางโรหิณีเป็นพระน้องนางของพระอนุรุทธะ มีพี่น้อง ๓ คนด้วยกันคือ มหานามอนุรุทธะ และโรหิณี ทรงเป็นพระราชโอรสธิดาของอมิโตทนะ พระอนุชาของพระจ้าสุทโธทนะ) พระเถระจึงบอกอุบายให้ว่า ให้สละเครื่องประดับออกจำหน่าย ได้เงินมาเท่าใดให้นำมาทำโรงฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ ขอให้พระญาติที่เป็นชายช่วยกันดำเนินการสร้างโรงฉันให้เรียบร้อย พระนางโรหิณีขายเครื่องประดับได้กหาปณะมาหมื่นกหาปณะ ทรงสละให้สร้างโรงฉันทั้งหมด ทำเป็นสองชั้น เมื่อเสร็จแล้วพระนางได้ปัดกวาดโรงฉันเป็นประจำ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ถวายโภชนียขาทนียาหารแก่ภิกษุสงฆ์ โรคผิวหนังของนางค่อย ๆ หายไปทีละน้อยด้วยอาศัยให้บุญช่วย 

ต่อมาพระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมาก เสด็จมาเสวยที่โรงอาหารของพระนางโรหิณี เสวยเสร็จแล้วตรัสถามหาเจ้าของทานเมื่อพระนางโรหิณีมาเฝ้าแล้ว จึงตรัสถามว่า ทราบไหมว่าโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นนั้นเพราะอะไร? พระนางทูลตอบว่า ไม่ทราบ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าเกิดขึ้นเพราะความโกรธ "หม่อมฉันทำกรรมอะไรไว้ พระเจ้าข้า?" พระนางทูลถาม พระศาสดาจึงทรงแสดงปุพพกรรมของพระนางโรหิณี ดังนี้

ปุพพกรรมของพระนางโรหิณี

ความว่า ในอดีตกาล พระนางโรหิณีเกิดเป็นอัครมเหสีของพระเจ้ากรุงพาราณสี มีจิตริษยาหญิงนักฟ้อนคนหนึ่งของพระราชาจึงทำเองด้วย ให้คนอื่นทำด้วย ซึ่งกรรม คือการเอาผงเต่าร้าง หรือหมามุ่ยใหญ่ โรยลงที่ตัวของหญิงนักฟ้อนนั้น เป็นทำนองเย้ยหยันเล่นและให้คนเอาผงเต่าร้างไปโปรยไว้บนที่นอนของหญิงนักฟ้อนนั้น หญิงนักฟ้อนนั้นคันมาก เป็นผื่นพุพองขึ้นมาทันที ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส นี่คือปุพพกรรมของพระนางโรหิณี พระศาสดาทรงเล่าเรื่องนี้แล้วจึงตรัสต่อไปว่า "บุคคลพึงละความโกรธ พึงสละความถือตัวเสีย" เป็นต้น ตามที่พรรณนามาแล้วแต่ต้น พระนางโรหิณี สดับพระธรรมเทศนาแล้วดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล มีสรีระเกลี้ยงเกลาดังทองคำในขณะนั้นเอง จุติจากอัตตภาพนั้นแล้วไปเกิดในภพดาวดึงส์ เป็นเทพธิดาที่รูปงามมาก จนเทพบุตร ๔ องค์ต้องแย่งกัน ไม่อาจตกลงกันได้ จึงพากันไปหาท้าวสักกะจอมเทพแห่งชั้นดาวดึงส์ให้ช่วยตัดสิน ท้าวสักกะถามทีละองค์ว่ามีความรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นนาง

องค์ที่ ๑ ทูลว่า ใจเต้นเหมือนกลองศึกยามสงคราม องค์ที่ ๒ ทูลว่า ใจแล่นไปเร็วเหมือนกระแสน้ำที่ตกจากภูเขา องค์ที่ ๓ ทูลว่า ตาของเขาเหมือนตาปู องค์ที่ ๔ ทูลว่า ใจของเขาหวั่นไหวเหมือนธงบนยอดเจดีย์

ท้าวสักกะเห็นนางแล้วรักเหมือนกัน จึงกล่าวว่า "ความรู้สึกของท่านทั้งหลายยังพอระงับได้ก่อน แต่ฉันเอง ถ้าไม่ได้นางจะต้องตายเอาทีเดียว เพราะฉะนั้นจงให้ฉันเถอะ"

เทพบุตรทั้ง ๔ จึงพร้อมใจกันถวายนางแก่ท้าวสักกะ ปรากฎว่า นางเป็นที่รักที่พอพระทัยของท้าวสักกะยิ่งนัก

ที่มา: http://www.dharma-gateway.com/ubasok/wasin/wasin-005.htm
Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: