พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอปายสูตร ความว่า "อภูตวาที นิรยํ อุเปติ, โย วาปิ กตฺวา น กโรมีติ จาห, อุโภปิ เต เปจฺจ สมา ภวนฺติ, นิหีนกมฺมา มนุชา ปรตฺถ ฯ ชนผู้กล่าวคำไม่จริง ย่อมเข้าถึงนรก ชนใดทำบาปกรรมแล้วกล่าวว่า ไม่ได้ทำ แม้คนทั้งสองนั้นย่อมเข้าถึงนรกเหมือนกัน ชนทั้งสองพวกนั้นเป็นมนุษย์ผู้มีกรรมอันเลวทราม ละไปแล้ว ย่อมเป็นผู้เสมอกันในโลกหน้า"
คนพูดมุสา พุทธองค์ตรัสเอาไว้ชัดเจนว่า ผู้กล่าวเท็จจนเป็นปกติ ละโลกแล้ว บาปนั้น จะทำให้ตกลงไปในนรก ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน ในเปตวิสัย
วิบากของมุสาอย่างเบาที่สุดลงมาเกิดเป็นมนุษย์และจะถูกกล่าวว่าด้วยคำไม่จริง ชีวิตจะต้องเจอมรสุมในเรื่องโอตภัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา หลวงพ่อได้อธิบายรายละเอียดขอบข่ายของการผิดศีลข้อ4 คือมุสาวาตอย่างละเอียดให้ฟังแล้ว มีทั้งมุสา อนุโลมมุสา และปฏิสสวะ
มีทั้งโทษหนัก โทษเบาแตกต่างกันออกไป ถ้อยคำบางอย่างเป็นเพียงกล่าวพลั้งเผลอ ไม่ได้มีเจตนา แต่ก็มีวิบาก ตัวอย่างของผู้สร้างวจีกรรม นำโอตภัยมาสู่ตนเอง เป็นเหตุให้เข้าถึงนรกยาวนานถึงหนึ่งพุทธันดร แม้พ้นจากมหานรกแล้ว วิบากกรรมยังส่งผลให้มาเกิดเป็นเปตร มีลักษณะตัวเป็นคนหัวเป็นหมู
ในสมัยพุทธกาล วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระลงจากภูเขาคิชกูฎพร้อมกับพระลักขณเถระ ท่านได้ทำการยิ้มแย้มในสถานที่แห่งหนึ่ง เมื่อพระลักขณเถระถามว่า ท่านผู้เจริญอะไรเป็นเหตุที่ทำให้ท่านยิ้มแย้ม
พระมหาโมคคัลลานกล่าวตอบว่า “ท่านผู้มีอายุ เวลานี้ยังไม่เหมาะที่จะตอบปัญหานี้ ท่านจงถามคำถามอีกครั้งเมื่อเราทั้งสองได้อยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดาเถิด”
จากนั้นท่านก็ไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ตามปกติเหมือนที่เคยปฏิบัติ เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้วก็ได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ พระลักขณเถระจึงขอโอกาสถามเรื่องเดิมกับพระโมคคัลลานเถระเมื่อมานั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระบรมศาสดา ก็ได้คำตอบว่า
“ผู้มีอายุ กระผมได้เห็นเปตรตนหนึ่ง ร่างกายของมันประมาณสามอาวุธ มีรูปร่างคล้ายมนุษย์ แต่มีศีรษะเหมือนสุกร มีหางเกิดที่ปากและหมู่หนอนจำนวนมากมายได้ไหลออกจากปากของเปตรสุกร เนื่องจากผมไม่เคยเห็นสัตว์ที่มีรูปอย่างนี้มาก่อน จึงได้ทำการยิ้มแย้มให้ท่านได้เห็น”
พระบรมศาสดาตรัสชมเชยพระมหาโมคคัลลานท่ามกล่างคณะสงฆ์ที่ประชุมกันในขณะนั้นว่า “ภิกษุทั้งหลายสาวกของเรามีจักษุ แม้เราตถาคตก็ได้เห็นสัตว์นั้น ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์เหมือนกัน แต่ไมได้พูดให้ใครฟัง เพราะต้องอนุเคราะห์ชนเหล่าอื่นที่ไม่เชื่อ เพราะบุคคลใดฟังแล้วไม่เชื่อในสิ่งที่ตถาคตได้กล่าวไว้ ความไม่เชื่อนั้นจะเป็นภัยแก่บุคคลนั้นเอง บัดนี้เราได้มหาโมคคัลลานเป็นพยาน จึงกล่าวต่อหน้าพวกเธอว่าที่โมคคัลลานพูดนั้นเป็นเรื่องจริง”
ภิกษุสาวกฟังเรื่องนี้แล้วจึงอยากรู้เรื่องราวความเป็นมาของสุกรเปตร จึงได้ทูลถามถึงบุพกรรมของเปรตนั้นว่ามีที่มาอย่างไร เขาทำกรรมอะไรไว้ถึงได้เกิดมาเป็นเปตรสุกร พระบรมศาสดาตรัสเล่าถึงบุพกรรมของเปตรนั้นให้ฟังว่า
นับย้อนถอยหลังจากนี้ไปหนึ่งพุทธันดร เป็นยุคของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า มนุษย์ในยุคสมัยนั้นมีอายุยืนถึงสองหมื่นปี ครั้งนั้นมีพระเถระสองรูป มีความรักใคร่ปรองดองกันฉันพี่น้อง คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความเป็นสมณะธรรมอย่างมีความสุขตามอัตภาพ ในอาวาสใกล้หมู่บ้านตำบลหนึ่ง พระเถระสองรูปนั้น รูปหนึ่งมีพรรษา60 อีกรูปหนึ่งมีพรรษา59
พระเถระที่มีพรรษาน้อยกว่าจะคอยถือบาตรและจีวรของพระเถระและได้ทำวัตรปฏิบัติทุกอย่างเหมือนกับท่านเป็นสามเณร ซึ่งคอยช่วยปัดกวาดเสนาสนะ ซักจีวรตักน้ำฉันท์น้ำใช้ถวายพระมหาเถระ เมื่อพระเถระทั้งสองรูปอยู่กันอย่างสมัครสมานสามัคคีดุจพี่น้องท้องเดียวกันนั้น
ก็มีพระธรรมกถึกรูปหนึ่งเดินทางมาขอพักในที่พักของทั้งสอง บังเอิญว่าในวันนั้น เป็นวันธรรมสวนะ พระเถระทั้งสองจึงนิมนต์พระธรรมกถึกแสดงธรรมให้ฟัง พระธรรมกถึกก็กล่าวธรรมกถา ด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะเสนาะโสต พระเถระทั้งสอง ครั้งได้ฟังแล้วก็มีจิตยินดี อิ่มเอิบเบิกบานใจที่ได้ฟังธรรม จึงนิมนต์ให้พระธรรมกถึกอยู่นานๆ เพื่อจะได้ฟังธรรมที่มีความสุขุมลุ่มลึก โดยที่พระเถระทั้งสองไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า เรื่องร้าวฉานในเพศสมณะของพวกท่านกำลังจะบังเกิดในไม่ช้า
พอวันรุ่งขึ้น พระเถระทั้งสองพาพระธรรมกถึกเข้าไปบิณฑบาตารในหมู่บ้าน หลังจากเสร็จก็ได้กล่าวเชื้อเชิญพระธรรมกถึกให้แสดงธรรมโปรดญาติโยม ครั้นชาวบ้านได้ฟังธรรมแล้วก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ได้กล่าวนิมนต์ให้ท่านมาฉันภัตราหารในวันรุ่งขึ้น เพราะฉะนั้นในวันถัดไปพระเถระทั้งสองก็ได้พาพระธรรมกถึกออกเที่ยวบิณฑบาตรและมาแวะพักฉันภัตราหารที่บ้านของชาวบ้านที่ได้นิมนต์เอาไว้ ครั้นเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างนี้ พระภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะก็มีจิตคิดเป็นอกุศลว่า วัดนี้บรรยากาศสงบ ร่มรื่น น่าอยู่ ข้าวปลาอาหารก็ไม่ขาดตกบกพร่อง เราสมควรจะอยู่ที่แห่งนี้ แต่ถ้าหากพระสองรูปนี้อยู่ด้วย ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาลาภสักการะของเรา
เพราะพระเถระทั้งสองรูปนี้มีความมักน้อยสันโดษเกินไป และมีความเคารพยำเกรงต่อกันดุจพี่น้อง เราควรจะหาทางกำจัดพวกท่านออกไปจากวัดแห่งนี้ให้ได้ เพื่อความอยู่เป็นสุขของตัวเราเอง เมื่อคิดกลอุบายได้แล้ว พอตกเย็น พระธรรมกถึกได้ไปเทศให้พระเถระทั้งสองรูปฟังตามปกติ
ครั้นพระอนุเถระขออนุญาตกลับไปพักที่กุฏิก่อน พระธรรมกถึกจึงได้โอกาสสนทนากับพระมหาเถระสองต่อสองว่า ท่านผู้เจริญ เรามีเรื่องบางอย่างอยากจะเล่าให้ท่านฟังแต่เกรงว่าหากพูดไป ท่านอาจจะรับไม่ได้ก็จะกลายเป็นบาปของเราเสียเปล่า
เมื่อพระมหาเถระคะยั้นคะยอถามว่ามีเรื่องอะไรจะให้ช่วยก็บอกมาเถิด พระธรรมกถึกทำเป็นนั่งตรึกตรองก่อนจะบอกว่าเรื่องที่จะพูดนั้นสำคัญมาก ถ้าพูดไปแล้วท่านอาจไม่สบายใจ ว่าแล้วก็ขอตัวกลับที่พัก โดยทิ้งประเด็นเรื่องสำคัญที่ไม่กล้าพูดเอาไว้ ทำให้พระมหาเถระแม้อยากจะปล่อยวาง แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนำกลับไปคิดที่กุฏิ
วันต่อมา พระธรรมกถึกได้เข้าไปหาพระอนุเถระ ได้พูดจาเหมือนที่พูดค้างไว้กับพระมหาเถระ ทำอย่างนี้สามวันติดต่อกัน จนพระเถระทั้งสองรูปเริ่มระแวงและอยากจะรู้เรื่องที่พระธรรมกถึกปกปิดเอาไว้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ในโรกียปาติสูตร ความว่า “ดูก่อนพระภิษุทั้งหลายเรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ว่า แม้เพราะขาดเงินอันเต็มไปด้วยผงทองคำเป็นหีบ ท่านผู้นี้ก็ไม่จงใจพูดมุสา แต่สมัยต่อมาเราเห็นเขาถูกลาภสักการะและความสรรเสริญครอบงำก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลายลาภสักการะและความสรรเสริญ ทารุณ เดือดร้อน หยาบคาย อย่างนี้แล” สาเหตุหลักๆของการพูดมุสา โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะความโลภ ความโลภเมื่อครอบงำจิตใจแล้วทำให้เกิดความลำเอียง คือลำเอียงเพราะรัก บางทีก็ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง หรือลำเอียงเพราะกลัวก็มี เมื่อใจลำเอียงเสร็จแล้ว วาจาก็พลอยเอียงไปด้วย ทำให้พูดเท็จ ทั้งๆที่รู้และก็พูดหักค้านประโยชน์ของคนอื่น การกระทำก็เอียงหลงไปทำในเรื่องที่ผิดศีลผิดธรรม เพื่อหวังลาภสักการะ ยอมละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเอง เหมือนการพูดมุสาของพระธรรมกถึกจากตอนที่แล้ว
วันหนึ่ง เมื่อพระธรรมกถึกอยู่กันสองคนกับพระมหาเถระจึงแกล้งทำเป็นไต่ถามว่า “ท่านผู้เจริญทำไมพระอนุเถระจึงไม่ถูกกับท่าน ท่านทำอะไรให้พระอนุเถระขุ่นเคืองใจรึเปล่า” พระมหาเถระรีบปฏิเสธทันทีว่า “ท่านสัตบุรุษ พวกเราทั้งสองเป็นเหมือนบุตรที่เกิดจากท้องมารดาเดียวกัน หากรูปใดได้สิ่งของที่ควรแก่สมณะมาแล้วก็จะแบ่งปันให้อีกรูปหนึ่ง แม้ผมเองก็ไม่เคยเห็นข้อบกพร่องของพระอนุเถระเลย พวกเราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมาโดยตลอด ท่านเข้าใจผิดไปเองหรือเปล่า”
พระธรรมกถึกก็ทำทีเห็นดีเห็นงามไปด้วย บอกไปอาจจะเป็นเช่นนั้น คงฟังผิดไปเอง ขออภัยที่นำเรื่องไร้สาระมาเล่าให้ฟัง แล้วก็อำลาจากไป ทิ้งปมให้พระมหาเถระนั่งคิดอยู่คนเดียวว่าได้ประพฤติผิดพลาดทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมต่อพระอนุเถระตั้งแต่เมื่อไร เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านทั้งสองได้ประพฤติสาราณียกรรมต่อกันได้อย่างบริบูรณ์ ครั้นมาพูดชักใบให้เรือเสียเหล่านี้ จึงอดคลางแคลงใจไม่ได้
ต่อมาพระธรรมกถึกได้เข้าไปหาพระอนุเถระและพูดในทำนองคล้ายกับที่ตัวเองได้พูดกับพระมหาเถระ พระอนุเถระก็ปฏิเสธทันทีว่าไม่เคยพูดหรือทำเรื่องอะไรให้ระคายเคืองพระมหาเถระเลย ฝ่ายพระธรรมกถึกได้ฟังแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าได้กำลังก่อบาปมหันต์ คิดอย่างเดียวว่าต้องทำให้พระสองรูปนี้ทะเลาะกันให้ได้
ครั้นเวลาผ่านไปได้ไม่กี่วัน พระธรรมกถึกก็แอบมาบอกพระมหาเถระเหมือนเดิมว่า “ท่านสัตบุรุษ พระอนุเถระพูดกับผมว่า อย่าได้คบหากับพระมหาเถระเลย เพราะท่านไมได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณะธรรมอะไรเลย ที่ผมต้องคอยอุปฐากมหาเถระก็เพราะต้องการบำเพ็ญวัตรของภิกษุผู้มีพรรษาน้อยกว่าเท่านั้นเอง” พระมหาเถระพอได้ฟังก็รู้สึกเหมือนสายฟ้าฟาดลงกลางกระหม่อมจึงโกรธเคืองมากที่พระอนุเถระกล้ามานินทาท่านต่ออาคันตุกะ ทั้งๆที่ท่านไม่ได้ทำตัวเหลวไหลอย่างนั้นเลย
ต่อมาพระธรรมกถึกได้ไปหาพระอนุเถระพูดจาส่อเสียดให้ฟังว่า “ท่านผู้เจริญ พระมหาเถระได้บอกกับผมว่าอย่าได้คบกับอนุเถระนะ เพราะท่านเอาแต่นอน ตอนนี้ก็แกล้งทำเป็นอุปฐากดูแลเป็นอย่างดี เพื่อหวังให้ท่านชื่นชมเท่านั้น พอลับหลังก็ไม่ยอมทำอะไร ท่านอย่าได้คบหากับพระอนุเถระเลย” พระอนุเถระฟังแล้วรู้สึกเหมือนถูกมีดทิ่มแทงหัวใจ ไม่นึกไม่คิดมาก่อนเลยว่าพระมหาเถระที่ตัวเองเคารพมาโดยตลอดจะใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นให้เสียหายขนาดนี้ แม้ไม่ได้โกรธพระมหาเถระ แต่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ จึงตั้งใจว่า “เอาเถิด น้ำแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่รับบาตร ไม่ยอมเดินตามหลังของพระมหาเถระตลอดไป”
วันรุ่งขึ้น เมื่อพระมหาเถระทั้งสองมาพบกันที่ศาลา ก็เกิดมีปากเสียงกันเพราะความเข้าใจผิด พระมหาเถระจึงขับไล่พระอนุเถระไปอยู่ที่อื่น ขณะตัวท่านเองก็รู้สึกระอายใจที่จะอยู่วัด เพราะถ้าญาติโยมถามหาก็จะอึดอัดใจเสียเปล่า จึงออกธุดงค์ไปอยู่ที่อื่น
ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระธรรมกถึกเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ครั้นถูกชาวบ้านไต่ถามถึงพระมหาเถระทั้งสองรูป ก็ปรักปรำท่านว่า ท่านทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรงเพราะเรื่องราวสักการะจึงแยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านได้ฟังแล้วก็ไม่เชื่อ กลับคิดสงสัยว่าคงเกิดจากพระธรรมกถึกแน่ๆ แต่ก็ไม่กล้ากล่าวว่าขึ้นมาเพราะไม่มีพยานหลักฐาน จึงได้แต่เสียใจที่พระมหาเถระทั้งสองต้องมาบาดหมางกัน พระมหาเถระทั้งสองแม้จะแยกกันอยู่ แต่ก็ไม่มีความสบายใจเลย
เวลาได้ล่วงผ่านไป 100ปี วันหนึ่งบังเอิญว่าพระเถระทั้งสองได้เข้าไปในวิหารแห่งเดียวกัน พอมองเห็นกันก็จำได้ ไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ น้ำตาไหลอาบแก้มด้วยความคิดถึงกัน พระอนุเถระไต่ถามว่า “ท่านผู้เจริญตั้งแต่ผมถือบาตรและจีวรท่าน ตั้งใจดูแลท่านเป็นอย่างดี สิ่งที่ผมเคยทำผิดพลาดท่านเคยเห็นบ้างไหม”
ท่านมหาเถระได้ตอบว่าไม่เคยเห็นเลย พระอนุเถระจึงถามกลับว่า "เมื่อไม่เคยเห็นเลยแล้วทำไมท่านผู้เจริญยังบอกพระธรรมกถึกว่าอย่าคบหาสมาคมกับกระผมเล่า" พระมหาเถระปฏิเสธว่า “เปล่าเลยผู้มีอายุ ผมไม่เคยพูดอย่างนั้น แม้ผมก็เหมือนกัน ได้ยินว่าท่านนินทาเรื่องของผมให้พระธรรมกถึกฟัง จริงหรือ” พระอนุเถระยืนยันว่า “ท่านผู้เจริญ แม้ความคิดก็ไม่เคยคิด แล้วผมจะกล้านินทาท่านได้อย่างไร” เมื่อรู้ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง จึงกล่าวขอขมาต่อกันทำให้รู้สึกสบายใจเหมือนยกภูเขาออกจากอก จากนั้นก็ได้เดินทางกลับมาที่วัดเดิมเพื่อชำระคดีกับพระธรรมกถึก เมื่อความจริงถูกเปิดเผยพระธรรมกถึกก็ไม่อาจที่จะอยู่ที่วัดนั้นได้อีกต่อไป จึงหลบหนีไปอยู่ที่อื่น. สมณะธรรมที่อุตส่าห์บำเพ็ญมาสองหมื่นปี ไม่อาจช่วยท่านได้ เมื่อมรณภาพลง พระธรรมกถึกก็ได้ไปเกิดในอเวจีมหานรก หมกไหม้อยู่สิ้นพุทธันดรหนึ่ง พอมาในภพชาตินี้ต้องกลายเป็นเปตรสุกรเสวยทุกข์อยู่ที่ภูเขาคิชกูฎ
นี่เป็นอุทาหรณ์ให้เราพึงสังวรไว้ว่า อย่าไปสร้างบาปด้วยคำพูด เพราะบาปอกุศลทุกชนิดล้วนติดไปข้ามชาติ มีผลเป็นความทุกข์ทรมานในปรโลก เพราะการที่ใครสักคนจะกล่าวคำเท็จได้นั้น เขาจะต้องบิดเบือนความจริงในใจ ทั้งทำลายสัจธรรมที่มีอยู่ในใจ ความเท็จของเขาจึงทำลายใจเขาก่อนใคร และทำลายใจเขามากกว่าใคร ยิ่งกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใจของเขาก็จะยิ่งทรุดโทรมเสื่อมสมรรถภาพลงไป นี่คือผลร้ายของการพูดเท็จ
เราควรทำชีวิตให้มีคุณค่าและคุ้มค่า ด้วยการเพิ่มเติมบุญบารมีอย่างเดียว ให้รู้จักสำรวมระวังวาจา อย่าให้คำพูดของเราไปกระทบใครให้เดือดร้อน อย่าสร้างโอตภัยให้กับตัวเอง ควรฝึกเป็นผู้มีปิยวาจา กล่าวถ้อยทำที่สมานไมตรี ทำคนที่แตกแยกให้กลับคืนดีกันใหม่ เมื่อเดินทางไปไหน ใกล้หรือไกลอานิสงค์นี้จะทำให้เราเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ตลอดไป
ที่มา : https://www.kalyanamitra.org/th/Dhammaforpeople_detail.php?page=296
0 comments: