พราหมณ์ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าขัตติยราชอีกสององค์ ทำลายรัฐ พร้อมทั้งผู้ครองรัฐเสียแล้ว ย่อมสัญจรไป อย่างไร้ทุกข์
เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา" เป็นต้น.
อาคันตุกภิกษุเข้าเฝ้าพระศาสดา
ความพิสดารว่า วันหนึ่งภิกษุอาคันตุกะหลายรูปด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระศาสดาผู้ประทับนั่ง ณ ที่ประทับกลางวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง. ขณะนั้น พระลกุณฏกภัททิยเถระเดินผ่านไปในที่ไม่ไกลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระศาสดาทรงทราบวารจิต (คือความคิด) ของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นหรือ? ภิกษุนี้ฆ่ามารดาบิดาแล้ว เป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่" เมื่อภิกษุเหล่านั้นมองดูหน้ากันและกันแล้ว แล่นไปสู่ความสงสัยว่า "พระศาสดา ตรัสอะไรหนอแล?" จึงกราบทูลว่า "พระองค์ตรัสคำนั่นชื่ออะไร?" เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา ราชาโน เทฺว จ ขตฺติเย, รฏฺฐํ สานุจรํ หนฺตฺวา อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ ฯ
พราหมณ์ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าขัตติยราชอีกสององค์ ทำลายรัฐ พร้อมทั้งผู้ครองรัฐเสียแล้ว ย่อมสัญจรไป อย่างไร้ทุกข์
แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สานุจรํ ได้แก่ ผู้เป็นไปกับด้วยผู้จัดการส่วยให้สำเร็จ คือเจ้าพนักงานเก็บส่วย. ก็ในพระคาถานี้ บัณฑิตพึงทราบวินิจฉัยว่า ตัณหา ชื่อว่ามารดา เพราะให้สัตว์ทั้งหลายเกิดในภพ ๓ เพราะบาลีว่า "ตัณหายังบุรุษให้เกิด." อัสมิมานะ (การถือว่าเป็นเรา) ชื่อว่าบิดา เพราะอัสมิมานะอาศัยบิดาเกิดขึ้นว่า "เราเป็นราชโอรสของพระราชาชื่อโน้น หรือเป็นบุตรของมหาอำมาตย์ของพระราชาชื่อโน้น" เป็นต้น. ทิฏฐิทุกชนิด ย่อมอิงสัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิทั้งสอง เหมือนชาวโลกอาศัยพระราชาฉะนั้น เพราะฉะนั้น สัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ จึงชื่อว่าพระราชาผู้กษัตริย์สองพระองค์. อายตนะ (อายตนะภายใน ๖ มีจักษุเป็นต้น. ภายนอก ๖ มีรูปเป็นต้น) ชื่อว่าแว่นแคว้น เพราะคล้ายคลึงกับแว่นแคว้น โดยอรรถว่ากว้างขวาง. ความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดี ซึ่งอาศัยอายตนะนั้น ดุจบุรุษเก็บส่วย จัดการส่วยให้สำเร็จ ชื่อว่าเจ้าพนักงานเก็บส่วย. บทว่า อนีโฆ ได้แก่ ไม่มีทุกข์. บทว่า พฺราหฺมโณ ได้แก่ ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว. ในพระคาถานี้ มีอธิบายดังนี้ "ผู้ชื่อว่ามีอาสวะสิ้นแล้ว เพราะกิเลสเหล่านั้นมีตัณหาเป็นต้น อันตนกำจัดได้ด้วยดาบ คืออรหัตมรรคญาณ จึงเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไปอยู่." ในกาลจบเทศนา ภิกษุเหล่านั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว. แม้ในพระคาถาที่ ๒ เรื่องก็เหมือนกับเรื่องก่อนนั่นเอง.แม้ในกาลนั้น พระศาสดาทรงปรารภพระลกุณฏกภัททิยเถระเหมือนกัน เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
มาตรํ ปิตรํ หนฺตฺวา ราชาโน เทฺว จ โสตฺถิเย, เวยฺยคฺฆปญฺจมํ หนฺตฺวา อนีโฆ ยาติ พฺราหฺมโณ ฯ
บุคคลฆ่ามารดาบิดา ฆ่าพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสองได้แล้ว และฆ่าหมวด ๕ แห่งนิวรณ์มีวิจิกิจฉานิวรณ์ เช่นกับหนทางที่ เสือโคร่งเที่ยวไปเป็นที่ ๕ แล้ว เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ ไปอยู่.
แก้อรรถ บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า เทฺว จ โสตฺถิเย คือ ผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสองด้วย. ก็ในพระคาถานี้ พระศาสดาตรัสสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิให้เป็นพระราชาผู้เป็นพราหมณ์ทั้งสอง เพราะพระองค์เป็นใหญ่ในพระธรรมและเพราะพระองค์เป็นผู้ฉลาดในวิธีเทศนา. บัณฑิตพึงทราบวิเคราะห์ ในบท เวยฺยคฺฆปญฺจมํ นี้ว่า หนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไป มีภัยรอบด้าน เดินไปลำบาก ชื่อว่าทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้ว. แม้วิจิกิจฉานิวรณ์ ชื่อว่าเป็นดุจทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้ว เพราะความที่วิจิกิจฉานิวรณ์นั้น คล้ายกับหนทางอันเสือโคร่งเที่ยวไปแล้วนั้น, วิจิกิจฉานิวรณ์เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วนั้น เป็นที่ ๕ แห่งหมวด ๕ แห่งนิวรณ์นั้น เพราะฉะนั้น หมวด ๕ แห่งนิวรณ์ จึงชื่อว่ามีวิจิกิจฉานีวรณ์ เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วเป็นที่ ๕.
ในพระคาถาที่ ๒ นี้ มีอธิบายดังนี้ว่า "ก็บุคคลฆ่าหมวด ๕ แห่งนีวรณ์มีวิจิกิจฉานีวรณ์ เช่นกับหนทางที่เสือโคร่งเที่ยวไปแล้วเป็นที่ ๕ นี้ไม่ให้มีส่วนเหลือ ด้วยดาบคืออรหัตมรรคญาณ เป็นพราหมณ์ ไม่มีทุกข์ เที่ยวไปอยู่." บทที่เหลือ เป็นเช่นกับบทที่มีในก่อนนั่นแล ดังนี้แล. เรื่องพระลกุณฏกภัททิยเถระ จบ.
ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=31&p=4
0 comments: