วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

หลักการปกครองสงฆ์ : ต้นแบบของประชาธิปไตยที่ดี


“วโส อิสฺสริยํ โลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก” นี่คือพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับอำนาจว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และยังได้ตรัสเกี่ยวกับการใช้อำนาจหรือความยิ่งใหญ่ไว้ 3 ประการคือ

1. ใช้โดยยึดถือความคิดของตนเองเป็นใหญ่เรียก อัตตาธิปไตย ซึ่งเปรียบได้กับเผด็จการ

2. ใช้โดยยึดโลกหรือประชาชนเป็นใหญ่เรียกว่า โลกาธิปไตย ซึ่งเปรียบได้กับประชาธิปไตย

3. ใช้โดยยึดความถูกต้อง และเป็นธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจเรียกว่า ธัมมาธิปไตย

ในการปกครองสังฆมณฑลพระพุทธองค์ได้ใช้ทั้งอัตตาธิปไตย และโลกาธิปไตยควบคู่ไปกับธัมมาธิปไตย ทั้งนี้จะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นหลังตรัสรู้จนถึงปรินิพพาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรในระยะแรกๆ เมื่อมีผู้ฟังธรรม และได้ดวงตาเห็นธรรม เกิดความเลื่อมใส มีความประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ ก็ทรงบวชให้โดยการตรัสว่า เอหิ ภิกขุ จงเป็นภิกษุมาเกิด เพียงแค่นี้ผู้นั้นก็เป็นภิกษุโดยสมบูรณ์ และการให้บวชด้วยวิธีนี้เรียกว่า เอหิ ภิกขุ อุปสัมปทา

การอนุญาตให้บวชในทำนองนี้ก็คือ การให้อำนาจของความเป็นศาสดาเพียงผู้เดียว เรียกได้ว่า อัตตาธิปไตย

ต่อมา เมื่อมีสาวกเพิ่มขึ้น และแต่ละรูปได้เดินทางไปยังต่างแคว้นแดนไกล เทศนาสั่งสอน เมื่อมีผู้ศรัทธาประสงค์จะบวชเป็นภิกษุ จะต้องเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อขออุปสมบท ได้รับความลำบากในการเดินทาง จึงได้อนุญาตให้สงฆ์คือ ภิกษุจำนวน 5 รูปขึ้นไป ประชุมกันแล้วให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรได้

ต่อมา การให้บวชด้วยวิธีนี้ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากผู้มาขอบวชบางคนเป็นโจร เป็นนักโทษหนีการจับกุม และเป็นโรคร้ายที่สังคมรังเกียจ เช่น โรคเรื้อน เป็นต้น มาขอบวชเพื่ออาศัยเพศภาวะของภิกษุเลี้ยงชีพ เป็นต้น จึงได้ทรงบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติต้องห้ามในการให้อุปสมบทแก่ผู้ขอบวชเรียกว่า ปริสสมบัติ เช่น จะต้องไม่เป็นโจร จะต้องไม่หนีราชการ และไม่เป็นโรคร้าย เป็นต้น

นับจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มาขออุปสมบทในท่ามกลางสงฆ์ โดยการถามผู้มาขอบวชและผู้มาขอบวชจะตอบคำถามทุกข้อโดยครบถ้วน ถ้าไม่มีภิกษุใดในที่ประชุมคัดค้านโดยการนิ่ง การบวชจึงดำเนินต่อไปได้ แต่ถ้ามีผู้คัดค้านเพียงรูปเดียว การบวชนั้นเป็นอันล้มเลิก

จากขั้นตอนและวิธีการให้การอุปสมบทข้างต้น จะเห็นได้ว่าจะต้องมีการเห็นด้วย 100% จากผู้เข้าร่วมทำสังฆกรรม มิใช่เพียงเสียงข้างมาก เฉกเช่นในการออกเสียงลงมติในระบอบประชาธิปไตย

แต่การใช้เสียงข้างมากตัดสิน ในทำนองเดียวกันกับการออกเสียงลงมติตามระบอบประชาธิปไตย ก็มีปรากฏในพระวินัยที่ว่าด้วยการระงับอธิกรณ์หรือการพิจารณาความผิดของภิกษุ ซึ่งถูกโจทก์หรือถูกฟ้องร้องว่ากระทำผิดวินัย ในกรณีนี้พระพุทธองค์ได้บัญญัติให้สงฆ์ในอาวาสนั้น ประชุมกันแต่งตั้งคณะวินัยธรขึ้นมา ทำการสอบสวนผู้ที่ถูกกล่าวหา และถ้าพบว่ามีมูลความผิด แต่ผู้กระทำผิดไม่ยอมรับผิด ก็ให้ลงคะแนนล้ม และถ้าผลการลงคะแนนปรากฏว่า เสียงข้างมากเห็นอย่างใด ก็ให้ตัดสินตามนั้น วิธีนี้เรียกว่า เยภุยยสิกา คือ การใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน ในทำนองเดียวกัน การออกเสียงลงมติในสภาตามระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

แต่ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา การใช้เสียงข้างมากจะต้องเป็นธรรม ปราศจากอคติ 4 และมีเมตตาเป็นที่ตั้ง

โดยนัยแห่งหลักการและวิธีการดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ได้เกิดขึ้นในพุทธศาสนาเมื่อ 2,600 กว่าปีมาแล้ว และเป็นรูปแบบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์กว่าที่เป็นอยู่ในการเมือง การปกครองในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. สังฆมณฑล เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเป็นสัพพัญญู หยั่งรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงสามารถบัญญัติกฎเกณฑ์และกติกา ทั้งในส่วนที่เป็นข้อห้าม และข้ออนุญาต สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมทางสังคมทุกยุค ทุกสมัย จึงสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในการปกครององค์กรสงฆ์ได้ โดยไม่ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ถึงกระนั้น พระพุทธองค์ก็ได้อนุญาตให้สงฆ์แก้ไขสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ไม่เคยปรากฏว่าสงฆ์หมู่ใดแก้ไข

2. พุทธบริษัท 4 ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระศาสนา เป็นผู้มีศีล เป็นเครื่องควบคุมกายและวาจาให้อยู่ในภาวะปกติ ไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมทุจริต ทั้งทางกาย และทางวาจา มีสมาธิเป็นเครื่องควบคุมจิตให้สงฆ์ไม่ถูกความโลภ ความโกรธ และความหลงครอบงำ ตั้งมั่งอยู่ในธรรมและมีปัญญาคอยชี้นำแนวทางการดำเนินชีวิต

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการนี้ สังฆมณฑลจึงดำรงอยู่ได้ 2,600 กว่าปี

ส่วนว่าที่มีปัญหาความวุ่นวายเกิดขึ้นในบางช่วง บางตอนของเวลา และในบางสถานที่นั้น เป็นผลมาจากการกระทำของชาวพุทธเทียม หรือพุทธจอมปลอมได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ แต่ไม่ศึกษาคำสอนที่ถูกต้อง และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่รู้อย่างผิดๆ เชื่ออย่างผิดๆ และทำตามอย่างผิดๆ เช่น ภิกษุมีศีลไม่ครบ 227 ข้อ อุบาสก อุบาสิกา มีศีลไม่ครบ 8 ข้อ เป็นต้น

แต่ในที่สุด ชาวพุทธจอมปลอมที่ว่านี้ ก็จะเสื่อมถอยและอันตรธานไปเมื่อความจริงถูกเปิดเผย ดังที่ได้เกิดขึ้นกับเจ้าสำนักขายศรัทธาทั้งหลายในอดีตที่ผ่านมา

แต่ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีนักการเมืองเป็นองค์ประกอบหลัก จะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้ยากตราบเท่าที่เหตุปัจจัยต่อไปนี้ยังคงอยู่

1. รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท ไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

2. ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักการ และวิธีการของการปกครองในระบอบนี้ดีพอที่จะเลือกคนดี และปฏิเสธคนเลว

3. นักการเมือง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ไม่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้แทนที่ดี โดยการทำงานการเมืองเพื่อประโยชน์ของประชาชน และช่วยกันป้องกันมิให้คนโกงได้มีโอกาสแสวงหาประโยชน์ไปในทางมิชอบ

การเมืองไทยวันนี้ยังห่างไกลความเป็นประชาธิปไตยในด้านเนื้อหาที่แท้จริง เป็นได้แค่รูปแบบคือ เข้าสู่วงการเมืองด้วยการเลือกตั้ง แต่เข้าไปสู่การเมืองแล้วทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อตนเอง และพวกพ้อง ก่อนทำเพื่อประเทศ จึงน่าจะพูดได้ว่า มาจากประชาชน แต่ทำเพื่อตนเอง (By people but for themselves)

ขอขอบคุณ ที่มา: https://mgronline.com/daily/detail/9610000124923

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: