วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564

๙. วิธุรชาดก - พระวิธุรบัณฑิต ผู้บำเพ็ญสัจจะบารมี


ในเมืองอินทปัตต์ แคว้นกุรุ พระราชาทรงพระนามว่า ธนัญชัย ทรงมีนักปราชญ์ประจำราชสำนักชื่อว่า วิธุร วิธุรเป็นผู้มีวาจาฉลาดหลักแหลม เมื่อจะกล่าวถ้อยคำสิ่งใดก็สามารถทำให้ผู้ฟังเกิดความเลื่อมใสครัทธราและ ชื่นชมยินดีในถ้อยคำนั้น

ในครั้งนั้นมีพราหมณ์อยู่ 4 คน เคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาแต่เก่าก่อน ต่อมาพราหมณ์ทั้งสี่ ได้ออกบวช เป็นฤษีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าหิมพานต์ และบางครั้งก็เข้ามาสั่งสอนธรรมแก่ผู้คนในเมืองบ้าง ครั้งหนึ่งมีเศรษฐี 4 คน ได้อัญเชิญฤาษีทั้งสี่ไปที่บ้านของตน เมื่อฤาษีบริโภคอาหารแล้ว ได้เล่าให้เศรษฐีฟังถึง สมบัติในเมืองต่างๆ ทีตนได้เคยไปเยือนมา

ฤาษีองค์หนึ่งเล่าถึงสมบัติของพระอินทร์ องค์ที่สองเล่าถึงสมบัติของพญานาค องค์ที่สามเล่าถึงสมบัติพญาครุฑ และองค์สุดท้ายเล่าถึงสมบัติของพระราชาธนัญชัยแห่งเมืองอินทปัตต์ เศรษฐีทั้งสี่ได้ฟังคำพรรณนาก็เกิดความ เลื่อมใสอยากจะได้สมบัติเช่นนั้นบ้าง ต่างก็พยายามบำเพ็ญบุญ ให้ทาน รักษาศีลและอธิษฐาน ขอให้ได้ไปเกิดเป็นเจ้าขอสมบัติดังที่ต้องการ. ด้วยอำนาจแห่งบุญ ทาน และศีล เมื่อสิ้นอายุแล้ว เศรษฐีทั้งสี่ก็ได้ไปเกิดในที่ที่ตั้ง ความปรารถนาไว้ คือ คนหนึ่งไปเกิดเป็น ท้าวสักกะเทวราช คนที่สองไปเกิดเป็น พญานาคชื่อว่า ท้าววรุณ คนที่สามไปเกิดเป็น พญาครุฑ และคนที่สี่ไปเกิดเป็นโอรสพระเจ้าธนัญชัย ครั้นเมื่อพระราชาธนัญชัยสวรรคตแล้ว ก็ได้ครอง ราชสมบัติในเมืองอินทปัตต์ต่อมา  

ทั้งท้าวสักกะ พญานาควรุณ พญาครุฑ และ พระราชา ล้วนมีจิตใจ ปรารถนาจะรักษาศีล บำเพ็ญธรรม ต่างก็ได้แสวงหาโอกาสที่จะรักษา ศีลอุโบสถและบำเพ็ญบุญ ให้ทาน อยู่เป็นนิตย์.  วันหนึ่งบุคคลทั้งสี่เผอิญได้มาพบกันที่สระโบกขรณี ด้วยอำนาจแห่งความผูกพันที่มีมาตั้งแต่ครั้งยังเกิดเป็นเศรษฐีสี่สหาย ทั้งสี่คนจึงได้ทักทายปราศรัยกันด้วยไมตรี ขณะกำลังสนทนาก็ได้เกิดถกเถียงกันขึ้นว่า ศีลของใครประเสริฐที่สุด.  ท้าวสักกะกล่าวว่า พระองค์ทรงละทิ้งสมบัติทิพย์ในดาวดึงส์ มาบำเพ็ญพรตอยู่ในมนุษย์โลก ศีลของพระองค์ จึงบริสุทธิกว่าผู้อื่น.

ฝ่ายพญานาควรุณกล่าวว่า ธรรมดาครุฑนั้นเป็นศัตรูตัวร้ายของนาค เมื่อตนได้พบกับพญาครุฑ กลับสามารถอดกลั้นความโกรธเคืองได้ จึงนับว่าศีลของ ตนบริสุทธิ์กว่าผู้อื่น 

พญาครุฑกล่าวแย้งว่า ธรรมดานาคเป็นอาหารของครุฑ ตนได้พบนาคแต่ สามารถอดกลั้นความอยากในอาหารได้ นับว่าศีลของตนประเสริฐที่สุด.  ส่วนพระราชาทรงกล่าวว่า พระองค์ได้ทรงละพระราชวังอันเป็นสถานที่สำราญ พรั่งพร้อมด้วยเหล่านารีที่เฝ้าปรนนิบัติ มาบำเพ็ญธรรมแต่ลำพังเพื่อประสงค์ความสงบ ดังนั้นจึงควรนับว่า ศีลของพระองค์บริสุทธิ์ที่สุด. ทั้งสี่ถกเถียงกันเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงชวนกันไปหาวิธุรบัณฑิต เพื่อให้ช่วยตัดสิน วิธุรบัณฑิตจึงถามว่า  "เรื่องราวเป็นมาอย่างไรกัน ข้าพเจ้าไม่อาจตัดสินได้หากไม่ทราบเหตุอันเป็นต้น เรื่องของปัญหาอย่างละเอียด ชัดเจนเสียก่อน"   แล้วทั้งสี่ก็เล่าถึงเรื่องราวทั้งหมด วิธุรบัณฑิตฟังแล้วก็ตัดสินว่า  "คุณธรรมทั้งสี่ ประการนั้น ล้วนเป็นคุณธรรมอันเลิศทั้งสิ้น ต่างอุดหนุนเชิดชูซึ่งกันและกัน ไม่มีธรรมข้อไหน ต่ำต้อยกว่ากันหรือเลิศกว่ากัน บุคคลใดตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมทั้งสี่นี้ ถือได้ว่าเป็นสันติชนในโลก"  

ทั้งสี่เมื่อได้สดับคำตัดสินนั้น ก็มีความชื่นชมยินดีในปัญญาของวิธุรบัณฑิต ที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีเหตุมีผล ต่างคน ต่างก็ได้บูชาความสามารถของวิธุรบัณฑิต ด้วยของมีค่าที่เป็นสมบัติของตน.  เมื่อพญานาควรุณกลับมาถึงเมืองนาคพิภพ พระนางวิมลา มเหสีได้ทูลถามขึ้นว่า  "แก้วมณีที่พระศอของพระองค์หายไปไหนเพคะ"  พญานาควรุณตอบว่า  "เราได้ถอดแก้วมณี ออกให้กับวิธุรบัณฑิต ผู้มีสติ ปัญญาเฉียบ แหลมมีวาจาอันประกอบด้วยธรรมไพเราะ จับใจเราเป็นอย่างยิ่ง และไม่ใช่แต่เราเท่านั้น ที่ได้ให้ของอันมีค่ายิ่งแก่วิธุรบัณฑิต ทั้งท้าว สักกะเทวราช พญาครุฑ และพระราชา ต่างก็ ได้มอบของมีค่าสูง เพื่อบูชาธรรมที่วิธุรบัณฑิต แสดงแก่เราทั้งหลาย"

พระนางวิมลาทูลถามว่า  "ธรรมของวิธุรบัณฑิตนั้นไพเราะจับใจอย่างไร" พญานาคทรงตอบว่า "วิธุรบัณฑิตเป็นผู้มีปัญญา เฉียบแหลม รู้หลักคุณธรรมอันลึกซึ้ง และสามารถแสดงธรรมเหล่านั้นได้อย่างไพเราะจับใจ ทำให้ผู้ฟังเกิดความชื่นชมยินดีในสัจจะแห่งธรรมนั้น" พระนางวิมลาได้ฟังดังนั้นก็เกิดความปราถนา จะได้ฟังวิธุรบัณฑิตแสดงธรรมบ้าง จึงทรงทำอุบายว่าเป็นไข้ เมื่อพญานาควรุณทรงทราบก็เสด็จไปเยี่ยมตรัสถามว่า "พระนางป่วยเป็นโรคใดทำอย่างไรจึงจะหายจากโรคได้ " พระนางวิมลา ทูลตอบว่า  "หม่อมฉันไม่สบายอย่างยิ่ง ถ้าจะให้หายจากอาการก็ขอได้โปรดประทานหัวใจวิธุรบัณฑิตให้หม่อมฉันด้วยเถิด". พญานาคได้ฟังก็ตกพระทัย ตรัสว่า วิธุรบัณฑิตเป็นที่รักใคร่ของผู้คนทั้งหลายยิ่งนัก คงจะไม่มีผู้ใด สามารถล่วงล้ำเข้าไปเอาหัวใจวิธุรบัณฑิตมาได้ พระนางวิมลาก็แสร้งทำเป็นอาการป่วยกำเริบหนักขึ้นอีก พญานาควรุณก็ทรง กลัดกลุ้มพระทัยอย่างยิ่ง

ฝ่ายนางอริทันตี ธิดาพญานาคเห็นพระบิดาวิตกกังวลจึงถามถึงเหตุที่เกิดขึ้น พญานาควรุณ ก็เล่าให้นางฟัง นางอริทันตีจึงทูลว่า นางประสงค์จะช่วยให้พระมารดาได้สิ่งที่ต้องการให้จงได้ นางอริทันตีจึงป่าวประกาศให้บรรดาคนธรรพ์ นาค ครุฑ มนุษย์ กินนร ทั้งปวงได้ทราบว่า หากผู้ใดสามารถนำหัวใจวิธุรบัณฑิตมาให้นางได้ นางจะยอมแต่งงานด้วย.  ขณะนั้น ปุณณกยักษ์ผู้เป็นหลานของท้าวเวสุวัณมหาราชผ่านมาได้เห็นนางก็นึกรักอยากจะได้นางเป็นชายา จึงเข้าไปหา นางและบอกกับนางว่า  "เราชื่อปุณณกยักษ์ ประสงค์จะได้นางมาเป็นชายา จงบอกแก่เราเถิดว่าวิธุรบัณฑิตเป็นใคร อยู่ที่ไหน เราจะ นำหัวใจของเขามาให้นาง"  เมื่อปุณณกยักษ์ ได้ทราบว่าวิธุรบัณฑิตเป็นมหาราชครูในราชสำนักพระเจ้าธนัญชัย จึงดำริว่า "หากเราต้องการตัววิธุรบัณฑิต จะไปพามาง่ายๆ นั้น คงไม่ได้ ทางที่ดีเราจะต้องท้าพนันสกากับพระเจ้าธนัญชัย โดย เอาวิธุรบัณฑิตเป็นสิ่งเดิมพัน ด้วยวิธีนี้เราคงจะเอาตัววิธุรบัณฑิตมาได้"  คิดดังนั้นแล้ว ปุณณกยักษ์ก็ไปสู่ราชสำนักของพระราชาธนัญชัย และทูลพระราชาว่า "ข้าพระองค์มาท้าพนันสกา หากพระองค์ชนะข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะถวายแก้วมณีวิเศษอันเป็นสมบัติสำหรับพระจักรพรรดิ กับจะถวายม้าวิเศษคู่บุญจักรพรรดิ"  

พระราชาธนัญชัยทรงปรารถนาจะได้แก้วมณี และม้าแก้วอันเป็นของคู่บุญจักรพรรดิ จึงตอบ ปุณณกยักษ์ ว่าพระองค์ยินดีจะเล่นพนันสกา ด้วยปุณณกยักษ์ก็ทูลถามว่า หากพระราชาแพ้พนัน จะให้อะไร เป็น เดิมพัน. พระราชาก็ทรงตอบว่า "ยกเว้นตัวเรา เศวตฉัตร และมเหสีแล้ว เจ้าจะเอา อะไรเป็นเดิมพันเราก็ ยินยอมทั้งสิ้น". ปุณณกยักษ์ พอใจคำตอบจึงตกลงเริ่มทอดสกาพนัน ปรากฏว่าพระราชาทรงทอดสกาแพ้ ปุณณกยักษ์จึงทวงทรัพย์เดิมพัน โดยทูลพระราชาว่า "ข้าพเจ้าไม่ปรารถนาทรัพย์สมบัติใดๆ ทั้งสิ้น ขอแต่วิธุรบัณฑิตแต่ผู้เดียวเป็นรางวัลเดิมพันสกา"  พระราชาตกพระทัย ตรัสกับปุณณกยักษ์ว่า "อันวิธุรบัณฑิตนั้นก็เปรียบได้กับตัวเราเอง เราบอกแล้วว่า ยกเว้นตัวเรา เศวตฉัตร และ มเหสีแล้ว เจ้าจะขออะไรก็จะให้ทั้งนั้น". ปุณณกยักษ์ทูลว่า "เราอย่ามาโต้เถียงกันเลย ขอให้วิธุรบัณฑิตเป็นผู้ตัดสินดีกว่า". เมื่อพระราชาให้ไปตามวิธุรบัณฑิตมา ปุณณกยักษ์ก็ถามว่า  "ท่านเป็นทาสของพระราชา หรือว่าท่านเสมอกับพระราชา หรือสูงกว่าพระราชา"

วิธุรบัณฑิตตอบว่า  "ข้าพเจ้า เป็นทาสของพระราชา พระราชาตรัสสิ่งใดข้าพเจ้าก็จะทำตาม ถึงแม้ว่าพระองค์จะพระราชทานข้าพเจ้าเป็นค่าพนัน ข้าพเจ้าก็จะยินยอมโดยดี".  พระราชาได้ทรงฟังวิธุรบัณฑิตตอบดังนั้น ก็เสียพระทัยว่า วิธุรบัณฑิตไม่เห็นแก่พระองค์กลับไปเห็นแก่ ปุณณกยักษ์ ซึ่ง ไม่เคยได้พบกันมาก่อนเลย. วิธุรบัณฑิต จึงทูลว่า "ข้าพระองค์จักพูดในสิ่งที่เป็นจริง สิ่งที่เป็นธรรมเสมอ ข้าพระองค์จักไม่หลีกเลี่ยงความเป็นจริงเป็นอันขาด วาจา อันไพเราะนั้นจะมีค่าก็ต่อเมื่อประกอบด้วยหลักธรรม". พระราชาได้ฟังก็ทรงเข้าพระทัย แต่ก็มีความโทมนัสที่จะสูญเสียวิธุรบัณฑิตไป จึงขออนุญาตปุณณกยักษ์ ให้วิธุรบัณฑิต ได้แสดงธรรมแก่พระองค์เป็นครั้งสุดท้าย ปุณณกยักษ์ก็ยินยอม วิธุรบัณฑิตจึงได้แสดงธรรมของผู้ครองเรือนถวายแด่พระราชา ครั้นเมื่องแสดงธรรมเสร็จแล้ว ปุณณกยักษ์ก็ สั่งให้วิธุรบัณฑิตไปกับตน เพราะพระราชาได้ยกให้เป็นสินพนันแก่ตนแล้ว

วิธุรบัณฑิต จึงกล่าวแก่ปุณณกยักษ์ว่า  "ขอให้ข้าพเจ้า มีเวลาสั่งสอนบุตรและภรรยาสักสามวันก่อน ท่านก็ได้เห็นแล้วว่าข้าพเจ้าพูดแต่ความเป็นจริง พูดโดยธรรม มิได้เห็นแก่ผู้ใดหรือสิ่งหนึ่ง สิ่งใด ยิ่งไปกว่าธรรม ท่านได้เห็นแล้วว่าข้าพเจ้า มีคุณ แก่ท่าน ในการที่ทูลความเป็นจริงแก่พระราชา ฉะนั้นขอให้ท่านยินยอมตามความประสงค์ ของข้าพเจ้าเถิด". ปุณณกยักษ์ได้ฟังดังนั้น ก็เห็นจริงในถ้อยคำ ที่วิธุรบัณฑิตกล่าว จึงยินยอมที่จะพักอยู่เป็น เวลาสามวัน เพื่อให้วิธุรบัณฑิตมีเวลาสั่งสอน บุตรภรรยา.  วิธุรบัณฑิตจึงเรียกบุตรภรรยา มาเล่าให้ทราบความที่เกิดขึ้น แล้วจึงสอนบุตร ธิดาว่า "เมื่อพ่อไปจากราชสำนักพระราชา ธนัญชัยแล้ว พระองค์อาจจะทรงไต่ถามเจ้า ทั้งหลายว่า พ่อได้เคยสั่งสอนธรรมอันใดไว้บ้าง เมื่อพวกเจ้ากราบทูลพระองค์ไป หากเป็นที่พอพระทัยก็อาจจะตรัสอนุญาตให้เจ้า นั่งเสมอ พระราชอาสน์ เจ้าจงจดจำไว้ว่าราชสกุลนั้น จะมีผู้ใดเสมอมิได้เป็นอันขาด จงทูลปฏิเสธ พระองค์ และนั่งอยู่ในที่อันควรแก่ฐานะของตน". 

จากนั้น วิธุรบัณฑิตก็แสดงธรรมชื่อว่า ราชวสดีธรรมอันเป็นธรรมสำหรับข้าราชการ จะพึงปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ในหน้าที่การงานและเพื่อเป็นหลักสำหรับ ยึดถือในการปฏิบัติหน้าที่และการแก้ไข ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น.  วิธุรบัณฑิตกล่าวในที่สุด ว่า "เป็นข้าราชการต้องเป็นผู้สุขุมรอบคอบ ฉลาดในราชกิจ สามารถจัดการต่างๆ ให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย รู้จักกาล รู้จักสมัย ว่าควรปฏิบัติอย่างไร". เมื่อได้แสดงราชวสดีธรรมแล้ว วิธุรบัณฑิต จึงได้ออกเดินทางไปกับปุณณกยักษ์ ในระหว่างทางปุณณยักษ์คิดว่า เราเอาแต่หัวใจของวิธุรบัณฑิตไปคงจะสะดวกกว่าพาไปทั้งตัว คิดแล้ว ก็พยายามจะฆ่าวิธุรบัณฑิตด้วยวิธีต่างๆ แต่ ก็ไม่เป็นผล ในที่สุด.  วิธุรบัณฑิตจึงถามว่า  "ความจริงท่านเป็นใคร ท่านต้องการจะฆ่าข้าพเจ้าทำไม". 


 ปุณณกยักษ์จึงเล่าความเป็นมาทั้งหมด วิธุรบัณฑิตหยั่งรู้ได้ด้วยปัญญาว่าที่แท้นั้นพระ นางวิมลา ปราถนาจะได้ฟังธรรมอันเป็นที่เลื่องลือของตนเท่านั้น จึงคิดว่าควรจะแสดงธรรมแก่ปุณณกยักษ์ เพื่อมิให้หลงผิด กระทำ การอันมิควรกระทำ.  ครั้นแล้ววิธุรบัณฑิตจึงได้แสดงธรรมชื่อว่า สาธุนรธรรม ธรรมของคนดีแก่ปุณณกยักษ์ มีใจความว่า บุคคลที่มีอุปการคุณ ชื่อว่าเป็นเผาฝ่ามือ อันชุ่มเสีย แลัวยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ประทุษร้ายต่อมิตรด้วย อนึ่ง ไม่ควรตกอยู่ในอำนาจของ สตรีที่ประพฤติการอันไม่สมควร ปุณณกยักษ์ได้ฟังธรรม ก็รู้สึกในความผิดว่า วิธุรบัณฑิตมีอุปการคุณแก่ตน ไม่ควรจะกระทำร้ายหรือแม้แต่คิดร้ายต่อวิธุรบัณฑิต ปุณณกยักษ์จึงตัดสินใจว่าจะพาวิธุรบัณฑิตกลับ ไปยังอินทปัตต์ ตนเองจะไม่ตั้ง ความปรารถนา ในนางอริทันตีอีกต่อไปแล้ว.  

เมื่อวิธุรบัณฑิต ทราบถึงการตัดสินใจของปุณณกยักษ์จึง กล่าวว่า  "นำข้าพเจ้าไปนาคพิภพเถิด ข้าพเจ้าไม่เกรงกลัวอันตรายที่จะเกิดขึ้น ข้าพเจ้าไม่เคยทำความชั่วไว้ในที่ใด จึงไม่เคยรู้สึกกลัวว่าความตายจะมาถึงเมื่อไร".  ปุณณกยักษ์จึงนำวิธุรบัณฑิตไปเฝ้าพญานาควรุณในนาคพิภพ.  เมื่ออยู่ต่อหน้าพญานาควรุณ วิธุรบัณฑิต ทูลถามว่า สมบัติในนาคพิภพนี้ พญานาควรุณได้มาอย่างไร พญานาควรุณตรัสตอบว่าได้มาด้วยผลบุญ เมื่อครั้งที่ได้บำเพ็ญธรรม รักษาศีลและให้ทานในชาติก่อนที่เกิดเป็นเศรษฐี.  วิธุรบัณฑิตจึงทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ก็แสดงว่าพญานาควรุณทรงตระหนักถึง กรรม และผลแห่งกรรมดี ขอให้ทรงประกอบ กรรมดีต่อไป แม้ว่าในเมืองนาคนี้จะไม่มีสมณชีพราหมณ์ที่พญานาคจะบำเพ็ญทานได้ ก็ขอให้ทรงมีเมตตาแก่บุคคล ทั้งหลายในเมืองนาคนี้ อย่าได้ประทุษร้ายแก่ผู้ใดเลย หากกระทำได้ดังนั้นก็จะได้เสด็จไปสู่เทวโลก ที่ดียิ่งกว่านาคพิภพนี้.  พญานาควรุณได้ฟังธรรมอันประกอบด้วย วาจาไพเราะของวิธุรบัณฑิตก็มีความพอ พระทัยเป็นอันมาก และตรัสให้พาพระนางวิมลา มาพบวิธุรบัณฑิต เมื่อพระนางทอดพระเนตร เห็นวิธุรบัณฑิตก็ได้ถามว่า "ท่านตกอยู่ใน อันตรายถึงเพียงนี้ เหตุใดจึงไม่มีอาการ เศร้าโศกหรือหวาดกลัวแต่อย่างใด"

วิธุรบัณฑิตทูลตอบว่า  "ข้าพเจ้าไม่เคยทำความ ชั่วจึงไม่กลัวความตาย ข้าพเจ้ามีหลักธรรม และมีปัญญา เป็นเครื่องประกอบตัว จึงไม่หวั่น เกรงภัยใดๆ ทั้งสิ้น".  พญานาควรุณและพระนางวิมลาพอพระทัย ในปัญญาและความมั่นคงในธรรมของวิธุรบัณฑิต.  พญานาควรุณจึงตรัสว่า "ปัญญานั้นแหละคือหัวใจของบัณฑิต หาใช่หัวใจที่เป็นเลือดเนื้อไม่".  จากนั้นพญานาควรุณก็ได้ยกนางอริทันตีให้แก่ปุณณกยักษ์ ผู้ซึ่งมีดวงตาสว่างไสวขึ้นด้วยธรรมของวิธุรบัณฑิต พ้นจากความหลงในสตรีคือนางอริทันตี แล้วสั่งให้ปุณณกยักษ์พาวิธุรบัณฑิตไปส่งยังสำนักของพระราชาธนัญชัย.

พระราชาทรงโสมนัสยินดีอย่างยิ่ง ตรัสถา วิธุรบัณฑิตถึงความเป็นไปทั้งหลาย วิธุรบัณฑิตจึงทูลเล่าเรื่องราวทั้งสิ้น และกราบทูลในที่สุดท้ายว่า "ธรรมเป็นสิ่งสูงสุด บุคคลผู้มี ธรรมและปัญญาย่อมไม่หวั่นเกรงภยันตราย ย่อมสามารถเอาชนะภยันตรายทั้งปวงด้วย คุณธรรมและด้วยปัญญาของตน การแสดงธรรม แก่บุคคล ทั้งหลายนั้นคือการแสดงความจริง ให้ประจักษ์ด้วยปัญญา "

คติธรรม : บำเพ็ญสัจจบารมี "เหตุแห่งความพิบัติคือการพนัน และการมีเมตตาจิตย่อมส่งผลให้ได้รับเมตตาจิตตอบด้วยในที่สุด"

ขอขอบคุณ ที่มา : http://www.dhammathai.org

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: