วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนา (Buddhism) เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรุง และแก้ไขสังคมอินเดียในยุคนั้นให้ดีขึ้น จากการกดขี่ของพราหมณ์ จากการเหลื่อมล้ำทางสังคม จากการถือวรรณะจัด จากการนิยมบวงสรวงบูชายัญด้วยสัตว์เป็นจำนวนมาก จากการกดขี่สตรี พุทธศาสนาจึงเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมสังคมอินเดียโบราณให้ขาวสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม คำสอนของพุทธศาสนาทำให้สังคมโดยทั่วไปสงบร่มเย็น ลักษณะพิเศษหลายประการที่แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ ดังนี้

๑.เป็นศาสนาแห่งความรู้และความจริง   

พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรู้ เพราะเป็นศาสนาแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธองค์เอง จากปัญญาของพระองค์ และธรรมที่พระองค์ตรัสรู้คือ อริยสัจ ๔ ก็เป็นความจริงอย่างแท้จริง ทรงตรัสรู้โดยไม่มีใครสั่งสอน นักปราชญ์ทั้งหลายทั้งในอดีตและปัจจุบันจึงกล่าวยกย่องว่า เป็นศาสนาที่ประกาศความเป็นอิสระของมนุษย์ให้ปรากฏแก่โลกยิ่งกว่าศาสนาใดๆ ที่มีมา

๒.เป็นศาสนาแห่งความอิสระเสรีภาพ  พุทธศาสนาแทบจะเป็นศาสนาเดียวที่ไม่ผูกติดกับผู้ดลบันดาลหรือพระผู้เป็นเจ้า ไม่ได้ผูกมัดตัวเองไว้กับพระเจ้า เชื่อในความสามารถของมนุษย์ว่ามีศักยภาพเพียงพอ โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจใดๆภายนอก เชื่อว่ามนุษย์เองสามารถปลดเปลื้องความทุกข์ได้โดยไม่รอการดลบันดาล พุทธศาสนาไม่มีการบังคับให้คนศรัทธาหรือเชื่อ แต่ให้สามารถพิสูจน์ได้โดยตนเอง

๓.เป็นศาสนาอเทวนิยม 

นอกจากศาสนาเชนแล้ว พุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่ไม่เชื่อพระเจ้าเป็นผู้บันดาลทุกสิ่ง ผู้สร้างทุกสิ่ง แม้กระทั่งโลก เพราะเหตุว่าพุทธศาสนาไม่เชื่อในอำนาจการดลบันดาลของพระเจ้า จึงเรียกว่าศาสนาฝ่ายอเทวนิยม คือ ศาสนาที่ไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า

๔.เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ

ในกระบวนการนักคิดของโลกศาสนา พุทธศาสนาได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า เป็นศาสนาแห่งสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะไม่ปรากฏว่ามีสงครามเกิดขึ้นในนามของศาสนา หรือเผยแผ่ศาสนาโดยการบังคับผู้คนให้นับถือ ให้เสรีภาพในการพิจารณา ให้มีปัญญากำกับการศรัทธา ในขณะที่หลายศาสนากล่าวว่า ศาสนิกต้องมีศรัทธามาก่อนปัญญาเสมอ และต้องมีความภักดีต่อพระเป็นเจ้าสูงสุดจะวิพากษ์จิจารณ์ไม่ได้

*มีคนกล่าวอ้างว่า เป็นคำของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า :- "ศาสนาในอนาคต จะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตน และควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ (คือเป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว) และแบบเทววิทยา (คืออ้างเทวดา เป็นหลักใหญ่) ศาสนานั้นเมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจ จึงควรมีรากฐานอยู่บนความสำนึกทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือ ทั้งธรรมชาติและจิตใจ อย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมาย พระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้ ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัยปัจจุบัน ศาสนานั้นก็ควรเป็น พระพุทธศาสนา"


ที่มา: หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย โดย พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, ธรรมะไทย
Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: