วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย - ความชั่ว ไม่ทำเสียเลยเป็นดี

ความชั่ว คือสิ่งที่ทำแล้วสร้างทุกข์สร้างโทษ ทำลายประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมให้ฉิบหายย่อยยับ. ความชั่ว เปรียบเหมือนสิ่งปฏิกูลโสโครก เพราะเมื่อทำไปแล้วย่อมแปดเปื้อน สิ่งปฏิกูลโสโครกนั้นเมื่อแปดเปื้อนเราแล้วยังสามารถล้างออกให้สะอาดได้ แต่ความชั่วเมื่อทำไปแล้ว จะแปดเปื้อนเราไปอีกนาน ต้องชดใช้ผลของมันให้หมดเท่านั้นจึงจะหาย. เมื่อรู้ดังนี้แล้ว พึงพิจารณาเห็นว่า ความชั่วจะสร้างความฉิบหายย่อยยับให้เรา ไม่มีคุณประโยชน์อันใดเลย แล้วอย่าทำมันเลยตลอดชีวิต. มีเรื่องประกอบดังต่อไปนี้ 

เรื่องหญิงขี้หึง    

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงขี้หึงคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อกตํ" เป็นต้น.

หญิงขี้หึงทำกรรมชั่วแล้วคิดปกปิด   

ได้ยินว่า สามีของหญิงนั้นได้ทำความเชยชิดกับหญิงรับใช้ในเรือนคนหนึ่ง. หญิงขี้หึงนั้นมัดมือมัดเท้าหญิงรับใช้คนนั้นไว้แล้วตัดหูตัดจมูกของเขา ขังไว้ในห้องว่างห้องหนึ่ง ปิดประตูแล้ว เพื่อจะปกปิดความที่กรรมนั้นอันตนทำแล้ว (ชวนสามี) ว่า "มาเถิดนาย เราจักไปวัดฟังธรรม" พาสามีไปวัดนั่งฟังธรรมอยู่.  ขณะนั้น พวกญาติผู้เป็นแขกของนางมายังเรือน (ของนาง) แล้ว เปิดประตูเห็นประการอันแปลกนั้นแล้ว แก้หญิงรับใช้ออก. หญิงรับใช้นั้นไปวัด กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระทศพล ในท่ามกลางบริษัท ๔. 

กรรมชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง   

พระศาสดาทรงสดับคำของหญิงรับใช้นั้นแล้ว ตรัสว่า  "ขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้เพียงเล็กน้อยบุคคลไม่ควรทำ ด้วยความสำคัญว่า ‘ชนพวกอื่นย่อมไม่รู้กรรมนี้ของเรา’ (ส่วน) สุจริตนั่นแหละ เมื่อคนอื่นแม้ไม่รู้ ก็ควรทำ เพราะว่าขึ้นชื่อว่าทุจริต แม้บุคคลปกปิดทำ ย่อมทำการเผาผลาญในภายหลัง, (ส่วน) สุจริตย่อมยังความปราโมทย์อย่างเดียวให้เกิดขึ้น" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :- 

อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย  ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกตํ,  กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย  ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ.  

กรรมชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า, (เพราะ) กรรมชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง, ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน, กรรมนั้น เป็นกรรมดีอันบุคคลทำ แล้วดีกว่า.  

แก้อรรถ   บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ทุกฺกตํ ความว่า กรรมอันมีโทษยังสัตว์ให้เป็นไปในอบาย ไม่ทำเสียเลยดีกว่า คือประเสริฐ ได้แก่ยอดเยี่ยม.  สองบทว่า ปจฺฉา ตปฺปติ ความว่า เพราะกรรมนั้น ย่อมเผาผลาญในกาลที่ตนตามระลึกถึงแล้วๆ ร่ำไป.  บทว่า สุกตํ ความว่า ส่วนกรรมอันไม่มีโทษ มีสุขเป็นกำไร ยังสัตว์ให้เป็นไปในสุคติอย่างเดียว บุคคลทำแล้วดีกว่า.   สองบทว่า ยํ กตฺวา ความว่า บุคคลทำกรรมใดแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนในภายหลัง คือในกาลเป็นที่ระลึกถึง ชื่อว่าย่อมไม่ตามเดือดร้อน คือเป็นผู้มีโสมนัสอย่างเดียว กรรมนั้นอันบุคคลทำแล้วประเสริฐ.   

ในกาลจบเทศนา อุบาสกและหญิงนั้น ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. ก็แลชนทั้งหลายทำหญิงรับใช้นั้นให้เป็นไท ในที่นั้นนั่นแล แล้วทำให้เป็นหญิงมีปกติประพฤติธรรม ดังนี้แล.  เรื่องหญิงขี้หึง จบ. 

ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=32&p=6

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: