วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

พหุปการกถา - ว่าด้วยความรู้รักสามัคคีมีอุปการะมาก

พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม และคณะจากศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ แต่งตามมติมหาเถรสมาคมที่ ๕๗๙/๒๕๖๓ มหาเถรสมาคมมีมติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ให้วัดทั่วประเทศใช้จัดแสดงพระธรรมเทศนา

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ  สาคารา  อนาคารา จ  อุโภ อญฺโญญฺญนิสฺสิตา, อาราธยนฺติ สทฺธมฺมํ  โยคกฺเขมํ อนุตฺตรนฺติ.

ณ บัดนี้อาตมภาพจักรับประทานแสดงพระธรรมเทศนาในพหุปการกถา ว่าด้วยความรู้รักสามัคคีมีอุปการะมาก เพื่อเป็นเครื่องประคับประคองฉลองศรัทธา ประดับปัญญาบารมีอนุโมทนากุศลบุญราศีส่วนธัมมัสสวนมัยคือบุญที่ได้จากการฟังธรรมซึ่งท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้พร้อมใจกันบำเพ็ญให้เป็นไปในวันนี้

การฟังพระธรรมเทศนาตามกาลเวลาอันเหมาะสมจัดว่าเป็นมงคลคือเหตุแห่งความเจริญในชีวิต ดังพุทธภาษิตที่ว่า “กาเลน ธมฺมสฺสวนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” แปลความว่า “การฟังธรรมตามกาลเป็นมงคลอันสูงสุด” ทั้งนี้เพราะการฟังธรรมช่วยให้ผู้ฟังได้อานิสงส์ ๕ ประการ ดังที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงพรรณนาไว้ว่า “อสฺสุตํ สุณาติ” เป็นต้น แปลความว่า “๑. ได้ฟังเรื่องใหม่ ๒. ได้วิจัยเรื่องเก่า ๓.ได้บรรเทาข้อกังขา ๔. ได้พัฒนาความคิด ๕. ได้ทำจิตให้ผ่องใส” อานิสงส์การฟังธรรมเหล่านี้บังเกิด มีขึ้นเพราะเหตุที่การแสดงพระธรรมเทศนาประกอบด้วยวาจาสุภาษิตที่นับว่าเป็นมงคลอันสูงสุดสมดังพุทธพจน์ที่ว่า “สุภาสิตา จ ยา วาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ” แปลความว่า “วาจาสุภาษิตเป็นมงคลอันสูงสุด”   

โอกาสนี้เป็นเวลาอันควรที่สาธุชนชาวไทยทั้งหลายจะได้ใส่ใจระลึกถึงวาจาสุภาษิตในพระบรมราโชวาทเรื่องความรู้รักสามัคคีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ ๙ พระราชทานไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔ ว่า “ประเทศของเรารักษาเอกราชอธิปไตยและอิสรภาพให้สมบูรณ์มั่นคงมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะคนไทยทุกหมู่เหล่ารู้รักความสามัคคีและรู้จักทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายให้ประสานส่งเสริมกัน” พระบรมราโชวาทนี้แสดงให้เห็นว่าความรู้รักสามัคคีเป็นคุณธรรมสำคัญที่มีอุปการะมากเพราะช่วยให้ประเทศไทยรักษาเอกราชอธิปไตยและอิสรภาพมาได้จนถึงปัจจุบัน 

ความรู้รักสามัคคีนี้จำแนกออกเป็นคุณธรรมย่อยสามประการคือความรู้ ความรัก และความสามัคคี คุณธรรมประการแรก คือ ความรู้ หมายถึงความกตัญญูรู้อุปการคุณที่คนไทยทุกหมู่เหล่าได้รับจากประเทศไทย คุณธรรมประการที่สอง คือ ความรัก หมายถึงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการแสดงออกซึ่งความกตเวทีคือประกาศความรักให้ปรากฏด้วยการทำปฏิการะตอบแทนคุณของสถาบันทั้งสามด้วยวิธีการต่างๆ คุณธรรมประการที่สาม คือ ความสามัคคี หมายถึง การแสดงออกอย่างพร้อมเพรียงกันในการปฏิบัติหน้าที่ถนอมรักษาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 

คำว่า สถาบันชาติ หมายรวมทั้งคนไทยและแผ่นดินไทยสถาบันศาสนาหมายถึงพระพุทธศาสนาและศาสนธรรมอื่นใดที่สร้างลักษณะนิสัยที่ดีงามให้กับคนไทยสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงพระประมุขของประเทศไทยตามนัยแห่งพระบาลีที่ว่า “ราชา มุขํ มนุสฺสานํ พระราชาเป็นประมุขของปวงชน” การนิยามความหมายของสถาบันทั้งสามนี้สอดคล้องกับการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงออกแบบธงชาติไทยที่เรียกว่าธงไตรรงค์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้ทรงพระราชนิพนธ์อธิบายความหมายแห่งธงไตรรงค์ที่ประกอบด้วยสามสี คือ แดง ขาว น้ำเงิน ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังต่อไปนี้  

“ขอพร่ำรำพรรณบรรยาย  ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด

ขาวคือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์   หมายพระไตรรัตน์     และธรรมะคุ้มจิตไทย

แดงคือโลหิตเราไซร้      ซึ่งยอมสละได้         เพื่อรักษะชาติศาสนา

น้ำเงินคือสีโสภา           อันจอมประชา          ธ โปรดเป็นของส่วนองค์

จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์      จึ่งเป็นสีธง              ที่รักแห่งเราชาวไทย”

สถาบันทั้งสามคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เปรียบเหมือนเสาหลักสามเส้าที่ช่วยค้ำยันประเทศไทยให้ดำรงคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นเสาหลักสามเส้านี้ยังทำหน้าที่พยุงค้ำยันซึ่งกันและกันเพื่อให้แต่ละสถาบันสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงเช่นเดียวกับธงไตรรงค์ซึ่งประกอบด้วยแผ่นผ้าสามสีเย็บติดเป็นผืนเดียวกันอย่างชนิดที่ไม่มีวันแยกขาดจากกันการประสานสามัคคีของสถาบันทั้งสามนี้ ยังมีอยู่ตราบใดความมั่นคงและพัฒนาสถาพรของประเทศไทยก็ดำรงอยู่ได้ตราบนั้นทั้งนี้เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสามเป็น “อญฺโญญฺญนิสฺสิตา”คือต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกันและกันตามหลักปฏิจจสมุปบาทที่ว่า สิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ดังพระบาลีนิกเขปบทที่ยกไว้ ณ เบื้องต้นว่า “สาคารา อนาคารา จ อุโภ อญฺโญญฺญนิสฺสิตา” เป็นต้น แปลความว่า “คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองฝ่ายต่างอาศัยกันและกันจึงทำให้พระสัทธรรมอันเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยมสำเร็จได้”

 ตามนัยแห่งพระบาลีนี้คฤหัสถ์และบรรพชิตต่างฝ่ายต่างพึ่งพาอาศัยกัน กล่าวคือคฤหัสถ์อุปถัมภ์บำรุงบรรพชิตด้วยอามิสทานคือการบริจาคจตุปัจจัยไทยธรรมบำรุงพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันฝ่ายบรรพชิตก็ทำปฏิการะตอบแทนฝ่ายคฤหัสถ์ด้วยธรรมทานคือเทศนาสั่งสอนธรรมคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองฝ่ายเมื่อได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างนี้ย่อมสามารถปฏิบัติหน้าที่ของชาวพุทธ ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตร ได้แก่ ๑) พหูสูตคือศึกษาธรรมจนแตกฉาน ๒) อนุธัมมจารี ปฏิบัติธรรมตามที่ได้ศึกษานั้น ๓) ธัมมเทศนา แสดงธรรมและเผยแผ่ธรรม ๔) ปรัปปวาทนิคคหะ อุปถัมภ์และปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา

โดยนัยนี้พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์อันประกอบด้วยพระมหากษัตริย์และประชาชนทั่วไปให้การอุปถัมภ์บำรุงแก่ฝ่ายบรรพชิตเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ทั้งสี่ประการได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ฝ่ายบรรพชิตก็ทำปฏิการะตอบแทนฝ่ายคฤหัสถ์ด้วยการสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมทางศาสนา และถวายพระธรรมเทศนาแด่พระมหากษัตริย์เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการครองแผ่นดินโดยธรรมตามนัยแห่งพระบาลีในอัคคัญญสูตรที่ว่า “ธมฺเมน ปเร รญฺเชตีติ ราชา” แปลความว่า “พระราชาคือผู้ที่ทำให้ประชาชนยินดีพอใจโดยธรรม” ธรรมที่พระราชาทรงถือปฏิบัติเพื่อสร้างความยินดีพอใจแก่ประชาชนเรียกว่าทศพิธราชธรรม มี ๑๐ ประการ ประกอบด้วยทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน เป็นต้น

บทกลอนต่อไปนี้ สรุปความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างพุทธบริษัททั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิตได้เป็นอย่างดี ดังนี้ 

“วัดจะดี   มีหลักฐาน   เพราะบ้านช่วย,  บ้านจะสวย   เพราะมีวัด   ดัดนิสัย, บ้านกับวัด   ผลัดกันช่วย   ยิ่งอวยชัย, ถ้าขัดกัน   ก็บรรลัย   ทั้งสองทาง”    

ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคฤหัสถ์และบรรพชิตดังพรรณนามานี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้รักสามัคคีที่ทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาเอกราชอธิปไตย และอิสรภาพมาได้จนถึงปัจจุบันความสำคัญของความรู้รักสามัคคีเช่นว่านี้ปรากฏชัดอยู่ในบทปาฐกถาเรื่อง “ลักษณะการปกครองประเทศไทยแต่โบราณ” ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยได้แสดงไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐ ความตอนหนึ่งว่า “ชนชาติไทยมีคุณธรรมสามอย่างเป็นสำคัญ จึงสามารถปกครองประเทศไทยมาได้ คือ ความจงรักอิสระของชาติอย่างหนึ่ง ความปราศจากวิหิงสา อย่างหนึ่งความฉลาดในการประสานประโยชน์ อย่างหนึ่ง”   

ในบรรดาคุณธรรมทั้งสามประการนั้น คุณธรรมประการแรกคือความรักอิสรภาพของชาตินับว่าสำคัญที่สุดในการปกป้องรักษาเอกราชอธิปไตยและอิสรภาพของชาติ ความรักอิสรภาพนี้เป็นไปตามนัยแห่งพุทธภาษิตที่ว่า “วโส อิสฺสริยํโลเก อำนาจเป็นใหญ่ในโลก” บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณปกป้องรักษาความเป็นไทคือการมีอำนาจเป็นใหญ่ในการปกครองตนเองด้วยความเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามนัยแห่งพระบาลีที่ว่า “จเช ธนํ องฺควรสฺสเหตุ” เป็นต้น แปลความว่า “บุคคลควรสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะควรสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ควรสละทั้งทรัพย์อวัยวะและชีวิตเมื่อระลึกถึงธรรม” ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือการที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงนำประชาชนชาวไทยลุกขึ้นกอบกู้อิสรภาพของแผ่นดินอีกตัวอย่างหนึ่งที่สำคัญเช่นกันคือการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของประเทศนักล่าอาณานิคม

คุณธรรมประการที่สอง คือความปราศจากวิหิงสาหมายถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยไม่มีการเบียดเบียนกันคนต่างชาติต่างศาสนาที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารล้วนได้รับการต้อนรับจากคนไทยด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดีสมดังพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖  ที่ว่า ”เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” ความปราศจากการเบียดเบียนนี้ถือเป็นการปฏิบัติตามนัยแห่งพุทธภาษิตที่ว่า “อพฺยาปชฺฌํ สุขํ โลเก การไม่เบียดเบียนกันเป็นสุขในโลก” ดังจะเห็นได้ว่า คนไทยนิยมกล่าวคำว่า ”ไม่เป็นไร” จนติดปากอันแสดงถึงความมีน้ำใจรู้จักให้อภัยกันซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความสามัคคีปรองดองในสังคม สมด้วยบทกลอนที่ว่า

“ถ้าไม่มีการให้อภัยผิด, และไม่คิดที่จะลืมซึ่งความหลัง, จะหาสามัคคียากลำบากจัง, ความผิดพลั้งย่อมมีทั่วทุกตัวคน”

คุณธรรมประการที่สาม คือ ความฉลาดในการประสานประโยชน์หมายถึงการเปิดโอกาสให้คนทุกหมู่เหล่าเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติไทย โดยไม่มีการกีดกันเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนาภาษา เป็นต้น ความฉลาดในการประสานประโยชน์นี้ทำให้เกิดการประนีประนอมในบ้านเมือง ดังที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “เพ่งดูประโยชน์หมู่มาก  ตัวยอมลำบากทุกสิ่งสรรพ์ ประนีประนอมพร้อมกันทุกวันมุ่งรักษ์สามัคคี” ด้วยเหตุนี้ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้ารัชกาลปัจจุบัน ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐจึงทรงมีพระราชดำรัสตอบผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า“ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งการประนีประนอม” การประนีประนอมช่วยสร้างความสามัคคีของคนในชาติและความสามัคคีนั้นย่อมนำความสุขและความเจริญมาให้ ดังพุทธภาษิตที่ว่า “สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำสุขมาให้” 

คุณธรรมสำคัญที่เสริมสร้างความรู้รักสามัคคีของคนไทยดังพรรณนามายังคงได้รับการรักษาสืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ดังที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลปัจจุบันผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทรงมีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๒ ว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" พร้อมกับทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาประชาราษฎรตามที่ทรงประกาศไว้ในพระปฐมบรมราชโองการดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ว่า พระองค์ทรงสืบสานรักษาและต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่าง ๆ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป   

เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกธรรมทางพระพุทธศาสนาสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลปัจจุบันผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงมีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกว่า “ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญแต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสและถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้วจึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครองและรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป  ข้าแด่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยว่าข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด”   ในฐานะที่ทรงเป็นพุทธมามกะสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า รัชกาลปัจจุบันผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทรงประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมในการครองแผ่นดินโดยธรรม ดังกรณีที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์ร่วมกับประชาชนทุกหมู่เหล่าทำกิจกรรมจิตอาสาจนเกิดโครงการจิตอาสาพระราชทานกิจกรรมจิตอาสานี้มีผลเป็นการระดมสรรพกำลังมาร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยน้ำใจเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนพระบรมราโชบายนี้เป็นไปตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ ๑. ทาน หมายถึง การให้สิ่งของ รวมทั้งให้ธรรมทานและวิทยาทาน ๒. ปิยวาจา หมายถึง การกล่าววาจาไพเราะอ่อนหวานสมานสามัคคี รวมถึงกล่าวคำแนะนำและปลุกปลอบใจด้วยความปรารถนาดี ๓. อัตถจริยา หมายถึง การทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมรวมทั้งการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ด้วยวิธีการต่างๆ ๔. สมานัตตตา หมายถึง การวางตนพอดีเสมอต้นเสมอปลายในการติดต่อสมาคมกับผู้อื่นทั้งในยามได้ดีมีสุขหรือในยามตกทุกข์ได้ยาก สังคหวัตถุทั้งสี่ประการนี้เป็นเสมือนกาวใจที่ประสานประชาชนชาวไทยให้มีความสมัครสมานสามัคคี

ดังนั้นโครงการจิตอาสาพระราชทานจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความรู้รักสามัคคีให้กับคนไทยทั้งปวงทั้งนี้เพราะกิจกรรมจิตอาสาช่วยให้คนไทยตระหนักรู้อุปการคุณของชาติมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และมีความจงรักภักดีในสถาบันพระมหากษัตริย์นั่นคือเป็นกิจกรรมที่หล่อหลอมคนไทยให้มีความกตัญญูกตเวทีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ความกตัญญูเกิดจากความตระหนักรู้ว่าสถาบันทั้งสามมีอุปการคุณอย่างมากต่อการดำรงอยู่และความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย ความกตเวที หมายถึงการทำปฏิการะตอบแทนคุณสถาบันทั้งสามนั้นความกตัญญูกตเวทีจัดว่าเป็นภูมิธรรมคือพื้นฐานของคนดีดังพระบาลีที่ว่า “สปฺปุริสภูมิ ยทิทํ กตญฺญุตา กตเวทิตา” แปลความว่า “ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมพื้นฐานของคนดี”

สถาบันชาติอันประกอบด้วยประชาชนคนไทยควรมีความกตัญญูคือตระหนักรู้อุปการคุณอันยิ่งใหญ่ของสถาบันพระพุทธศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ในขณะเดียวกันก็แสดงออกซึ่งความกตเวทีคือปฏิบัติหน้าที่ในการถนอม

รักษาสถาบันชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์อย่างเต็มกำลังความสามารถสมดังพระบรมพุทโธวาทที่ว่า “ธมฺมญฺจเร สุจริตํ บุคคลควรปฏิบัติธรรมคือหน้าที่ให้สุจริต” ในการปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้คนไทยทุกคนควรตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถโดยไม่มีการละทิ้งหน้าที่ ไม่บกพร่องในหน้าที่ ไม่ก้าวก่ายหน้าที่และไม่ทุจริตต่อหน้าที่ตราบใดที่ประชาชนยังรู้รักสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ในการถนอมรักษาสถาบันชาติสถาบันพระศาสนาและสถาบันพระมหากษัตริย์ตราบนั้นความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทยก็คงมีอยู่ต่อไปทั้งนี้เพราะความเสื่อมและความเจริญของสถาบันชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันเหมือนเสาหลักสามเส้าพยุงกันและกัน ฉะนั้นตามนัยแห่งพระบาลีนิกเขปบทที่ยกไว้ ณ เบื้องต้นว่า “สาคารา อนาคารา จ อุโภ อญฺโญญฺญนิสฺสิตา” เป็นต้น แปลความว่า “คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองฝ่ายต่างอาศัยกันและกัน” ดังพรรณนามาพอสมควรแก่เวลา    

เทสนาปริโยสาเน ในอวสานเป็นที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและอานุภาพแห่งกุศลบุญราศีส่วนธัมมัสสวนมัย จงมารวมกันเป็นตบะ เดชะ พลวปัจจัยสัมฤทธิผลเป็นพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้ารัชกาลปัจจุบัน ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ให้ทรงเจริญพระชนมสุขสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการ พระบรมเดชานุภาพแผ่ไพศาล ทรงอภิบาลรักษาประเทศชาติ พระศาสนา และพระบรมราชจักรีวงศ์ ให้ดำรงวัฒนาสถาพร ตลอดจิรัฐิติกาล 

รับประทานแสดงพระธรรมเทศนาในพหุปการกถา พอสมควรแก่เวลา ขอยุติลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการะฉะนี้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.watprayoon.com/main.php?url=news_view&id=2797&cat=B&table=news

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: