วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

ทานวัตถุ10 ประการ - การให้ทานมีวัตถุประสงค์สำคัญในการคลายความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภในจิตใจมนุษย์

อนฺนโท พลโท โหติ    วตฺถโท โหติ วณฺณโท, ยานโท สุขโท โหติ    ทีปโท โหติ จกฺขุโท

ผู้ที่ได้ให้ข้าวปลาอาหารแก่บุคคลอื่น ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำลัง ให้ผ้านุ่งห่ม ได้ชื่อว่าให้พรรณสีกาย ให้ยานเครื่องที่เป็นประโยชน์แก่การไป ได้ชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปแสงสว่าง ได้ชื่อว่าให้ดวงตา ดังนี้ ฯ 

โย อนฺนปานํ วตฺถยานํ   มาลญฺจ คนฺธวิเลปนญฺจ, เสยฺยํ อาวาสํ ปทีปญฺจ   อิตฺถิปุริโส อิธ ลภติ.

สตรีบุรุษคนใดได้ให้ข้าวน้ำผ้านุ่งยวดยานระเบียบดอกไม้ของหอมเครื่องลูบทา และที่นอนที่อยู่และประทีปไว้แล้วในกาลปางก่อน สตรีบุรุษนั้นย่อมได้ในอัตตภาพนี้ ดังนี้

สทฺธาปุพฺพงฺคมํ ทานํ  อปฺปํ กิญฺจิปิ เย กตํ, ปสนฺนา ตีสุ กาเลสุ  ลภนฺติ ติวิธํ สุขํ, สุขมานุสํ ยํ เหติ  สคฺเคสุ จ ปรํ สุขํ, ตโต จ นิพฺพานสุขํ   สพฺพทาเนน ลภติ.

ชนทั้งหลายใดมีศรัทธาเป็นเบื้องหน้า มีจิตผ่องใสในกาลทั้งสามแล้ว ได้กระทำทานน้อยก็ดีมากก็ดี ชนทั้งหลายนั้นย่อมได้ซึ่งความสุขสามประการ คือผลทานนั้นย่อมให้ความสุขซึ่งเป็นของมนุษย์ และย่อมให้ความสุขในสวรรค์เทวโลกอันยิ่งขึ้นไปกว่าความสุขซึ่งเป็นของมนุษย์ และย่อมให้ความสุขคือพระนิพพานอันยิ่งขึ้นกว่าความสุขในสวรรค์เทวโลกนั้น สาธุชนย่อมได้ความสุขสามประการด้วยสรรพทานด้วยประการฉะนี้

สาธโว สุขกามา เย  ปฏฺเฐตฺวา สคฺคโมกฺขมคฺคํ ทานํ ทตฺวา สามคฺคิยา จุตา คจฺฉนฺติ เต สคฺคํ.

สาธุสัตบุรุษทั้งหลายใด มุ่งหมายความสุขปรารถนาหนทางสวรรค์นิพพานแล้ว จงพร้อมเพรียงกันบริจาคทานเถิด สาธุชนทั้งหลายนั้น ครั้นจุติจากมนุษย์โลกแล้ว ย่อมได้ไปบังเกิดสุคติโลกสวรรค์ ด้วยประการดังนี้

อนฺนํ ปานํ วตฺถํ ยานํ    มาลา คนฺธํ วิเลปนํ,  เสยฺยาวสฺถํ ปทีเปยฺยํ   ทานวตฺถู อิเม ทส.

ทานวัตถุทั้งหลายเหล่านี้ 10 ประการ คือ อนฺนํ ให้ข้าว ปานํ ให้น้ำ วตฺถํ ให้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม สำหรับใช้สอย ยานํ ให้เครื่องอุปการะแก่เครื่องไปมา ให้ยาน ให้ค่าโดยสาร ตกรถ ถ้ามีก็ให้ มาลา ให้ระเบียบดอกไม้ คนฺธํ ให้ของหอม วิเลปนํ ให้เครื่องลูบไล้ เสยฺยาวสถํ ให้ที่นอน และที่พักพาอาศัย ที่อยู่ เป็นสุขเบิกบานสำราญใจ ปทีเปยฺยํ ตามประทีปไปในที่มืด เพื่อให้แสงหนทางสว่าง

ธรรมกถา  พระมงคลเทพมุนี หลวงปู่วัดปากน้ำ

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้แสดงธรรมีกถา เป็นจารีตประเพณีสืบมา แต่ไหนแต่ไร พระพุทธเจ้าจะอุบัติตรัสขึ้นในโลก ก็มีทานวัตถุการให้ซึ่งกันและกันอยู่ พระพุทธเจ้าจะไม่อุบัติตรัสขึ้นในโลก ทานวัตถุก็มีให้กันอยู่ เพราะว่าทาน บัญญัติไว้ เป็นทานวัตถุ 10 ประการการให้เป็นข้อสำคัญนัก ไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย ให้พินิจพิจารณาดูเถิด เราเกิดมาเป็นหญิงเป็นชาย เมื่อเกิดมาจากตระกูลพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่ไม่ให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย ลูกหญิงลูกชายนั้นจะนับพ่อแม่เพียงแค่ไหน ถือเพลามากทีเดียวๆ หรือไม่เช่นนั้น ถ้าว่ามีสมบัติมากๆ ก็จะหาเรื่องใส่เอา พ่อแม่ก็เห็นจะนอนตะแคงตายละ ก็เห็นจะลืมตาตาย ไม่หลับตาตายเสียแล้ว สมบัติมากมายอย่างนี้นี่ [ด่า]ว่าต่างๆ นานา เพื่อจะแคะไค้หาอุบายเสียดสีต่างๆ เพราะไม่ได้สมบัติ เขาไม่ให้ นี่ลูกหญิงลูกชายกับพ่อแม่ถึงขนาดนี้ คนอื่นล่ะ คนอื่นเมื่อไม่สงเคราะห์อนุเคราะห์ ก็ไม่อยู่ด้วยทีเดียว หลีกเลี่ยงทีเดียว นี้การให้นี่จำเป็นนะ ไม่ใช่เป็นของไม่จำเป็น จำเป็นทีเดียว

ท่านถึงวางตำรับตำราไว้ พระพุทธเจ้าอุบัติตรัสเกิดขึ้นในโลก เมื่อก่อนท่านอยู่องค์เดียว ท่านก็แสวงหาอาหารบิณฑบาตจำเพาะท่าน ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ตามกาล ท่านพอจะอดทนได้ เมื่อมีผู้เลื่อมใสติดตามท่านไปอีก ตั้งแต่ท่านออกแล้ว ปัญจวัคคีย์ก็ติดท่านไป ทั้ง 5 รูปด้วยกัน แต่ว่าท่านเหล่านี้เลี้ยงตัวกันได้ทั้งนั้น เลี้ยงตัวได้กันทั้งนั้น ติดท่านไป ดูแลท่าน นั่นตอนนั้นท่านยังไม่สำเร็จ แล้วท่านปัญจวัคคีย์มาแยกท่านเสีย ท่านทำพุทธการกธรรม จนสำเร็จ[พระสัมมาสัมโพธิญาณ] ใต้ควงไม้พระศรีมหาโพธิโดยลำพังตัวองค์เดียว มารมาผจญ มารก็สงบไป ได้บรรลุโพธิญาณใต้ควงไม้ศรีมหาโพธินั้น

เพราะฉะนั้น นักปราชญ์ถึงได้วางตำรับตำราไว้ "อนฺนํ ปานํ วตฺถํ ยานํ มาลา คนฺธํ วิเลปนํ เสยฺยาวสฺถํ ปทีเปยฺยํ ทานวตฺถู อิเม ทส" ทานวตฺถู อันว่าทานวัตถุทั้งหลาย อิเม เหล่านี้ ทส 10 ทานวัตถุทั้งหลายเหล่านี้ 10 ประการ

อนฺนํ ให้ข้าว ปานํ ให้น้ำ วตฺถํ ให้ผ้าสำหรับนุ่งห่ม สำหรับใช้สอย ยานํ ให้เครื่องอุปการะแก่เครื่องไปมา ให้ยาน ให้ค่าโดยสาร ตกรถ ถ้ามีก็ให้ มาลา ให้ระเบียบดอกไม้ คนฺธํ ให้ของหอม วิเลปนํ ให้เครื่องลูบไล้ เสยฺยาวสถํ ให้ที่นอน และที่พักพาอาศัย ที่อยู่ เป็นสุขเบิกบานสำราญใจ ปทีเปยฺยํ ตามประทีปไปในที่มืด เพื่อให้แสงหนทางสว่าง 10 อย่างนี้เรียกว่า ทานวัตถุ ฯ

ทานทานวัตถุ : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

พระครูประชาธรรมนาถ หรือหลวงพ่อแฉ่งของชาวราษฎร์นิยม อดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์นิยม ต.ราษฎร์นิยม อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ท่านได้ละสังขารในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๘ ด้วยอาการสงบ เกือบ ๒ ทศวรรษแห่งการมรณภาพ ลูกศิษย์ยังสำนึกในบุญคณ ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๙ กันยายน ของทุกปี ศิษย์จากทั่วสารทิศจะกลับมาทำบุญที่วัดด้วยการ "ตั้งโรงทาน" โดย "เด็กวัด" ที่ออกไปได้ดิบได้ดีกลับมาร่วง "ตั้งโรงทาน" อย่างต่อเนื่อง

สำหรับคำว่า "ทาน" พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้ให้ความไว้ว่า การให้, การแบ่งปัน, การเสียสละ, การเอื้อเฟื้อ หรืออีกความหมายหนึ่งคือ วัตถุที่พึงให้

ทาน ที่แปลว่า การให้, การแบ่งปัน, การเสียสละ, การเอื้อเฟื้อ หมายถึงการให้ทานด้วยจิตใจที่ดีงาม มุ่งเพื่อบูชาพระคุณ เช่นที่ให้แก่บิดามารดา ถวายแก่พระสงฆ์ เป็นต้นบ้าง มุ่งเพื่อสงเคราะห์ เช่นที่ให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก ให้แก่คนทั่วไปด้วยความกรุณาสงสารบ้าง

ทาน ที่แปลว่า วัตถุที่พึงให้ ย่อมาจาก "ทานวัตถุ" หมายถึงสิ่งของสำหรับให้สำหรับเสียสละให้ผู้อื่น ได้แก่สิ่งของที่ถวายพระ สิ่งของที่ควรนำไปให้เพื่อตอบแทนบุญคุณแก่ผู้มีพระคุณ เช่น พ่อแม่ ครู อาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่าไทยทานบ้าง ไทยธรรมบ้าง มี ๑๐ อย่าง ทานสูตร ได้แก่ อาหาร, น้ำ, เครื่องนุ่งห่ม, ยานพาหนะ, มาลัยและดอกไม้, ของหอม (ธูปเทียน), เครื่องลูบไล้ (สบู่เป็นต้น), ที่นอน, ที่อยู่อาศัย, และประทีป (ไฟหรือไฟฟ้า) การให้ทานวัตถุ ๑๐ อย่างนี้มีผลอานิสงส์มากเพราะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างเดียว ไม่มีโทษ ไม่มีพิษภัยแก่ผู้รับ การเลือกของที่จะให้บัณฑิตสรรเสริญ ด้วยจิตใจที่ดีงาม

ทานเป็นบุญอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ทานมัย" คือบุญที่เกิดจากการให้ เป็นสังคหวัตถุ คือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันไว้ได้ และเป็นบ่อเกิดแห่งบารมีที่เรียกว่า ทานบารมี

การให้ทานมีวัตถุประสงค์สำคัญในการคลายความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว ความโลภในจิตใจมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความ ใส สว่าง สะอาดของจิตใจขึ้นมา

ส่วนประเภทของทานมี ๔ ประเภท คือ

๑.ทานที่เป็นอามิส หรืออามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ

๒.ทานที่ไม่เป็นอามิส หรือธรรมทาน คือการให้ที่ไม่เป็นวัตถุสิ่งของ ได้แก่ ให้สติ ให้ธรรมะ สอนคุณธรรม ให้กำลังใจ ให้อภัย (อภัยทาน) ให้วิทยาทาน

๓.อภัยทาน คือการยกโทษด้วยการไม่พยาบาทจองเวร บัณฑิตกล่าวเป็นทานที่ให้ได้ยากที่สุด โดยเฉพาะการให้อภัยศัตรูหรือผู้ที่ทำร้ายตนอย่างสาหัส

และ ๔.วิทยาทาน คือการให้ความรู้ทางโลก

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: