กาลครั้งหนึ่ง มีสหายสองคนรักใคร่กันมากต่างก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันไปมาหาสู่กันอยู่เสมอทั้งสองคนตั้งใจว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งมีลูกสาวอีกฝ่ายหนึ่งมีลูกชายก็จะให้แต่งงานเพื่อครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะได้ผูกพันใกล้ชิดกันไม่มีเสื่อมคลาย อยู่ต่อมาฝ่ายหนึ่งก็มีลูกชายชื่อว่า ทุกูลกุมาร อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกสาวชื่อว่า ปาริกากุมารี เด็กทั้งสองมีรูปร่างหน่าตางดงาม สติปัญญาฉลาดเฉลียว และมีจิตใจมั่นอยู่ในศีล
เมื่อเติบโตขึ้นพ่อแม่ของทั้งสองก็ตกลงจะทำตามที่เคยตั้งใจไว้ คือให้ลูกของทั้งสองบ้านได้แต่งงานกัน แต่ทั้งทุกูลกุมารและปาริกากุมารีต่างบอกกับพ่อแม่ของตนว่าไม่ต้องการแต่งงานกัน แม้จะรู้ดีว่าฝ่ายหนึ่งเป็นคนดี รูปร่างหน้าตางดงาม และเป็นเพื่อนสนิทมาตั้งแต่เด็กก็ตาม
ในที่สุด พ่อแม่ของทั้งสองก็จัดการแต่งงานให้จนได้ แต่แม้ว่าทุกูลและปาริกาจะแต่งงานกันแล้ว ต่างยังคงประพฤติ ปฏิบัติเสมือนเป็นเพื่อนกันตลอดมา ไม่เคยประพฤติต่อกันฉันสามีภรรยายิ่งไปกว่านั้นทั้งสองคนมีความปราถนาตรงกัน คือประสงค์จะออกบวชไม่อยากดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้านธรรมดาซึ่งจะต้องพัวพันอยู่กับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเพื่อเป็นอาหารบ้าง เพื่อป้องกันตัวเองบ้าง
เมื่อได้อ้อนวอนพ่อแม่ทั้งสองบ้านอยู่เป็นเวลานานในที่สุดทั้งสองก็ได้รับคำอนุญาตให้บวชได้จึงพากันเดินทางไปสู่ป่าใหญ่ และอธิษฐานออกบวชนุ่งห่มผ้าย้อมเปลือกไม้และไว้มวยผมอย่างดาบสบำเพ็ญธรรมอยู่ ณ ศาลาในป่านั้น ด้วยความเมตตาอันมั่นคงของทั้งสองคน บรรดาสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นต่างก็มีเมตตาจิตต่อกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกันต่างหากินอยู่ด้วยความสุขสำราญ
ต่อมาวันหนึ่ง พระอินทร์เล็งเห็นอันตรายซึ่งจะบังเกิดแก่ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินี จึงตรัสบอกแก่ดาบสว่า "ข้าพเจ้าเล็งเห็นว่า อันตรายจะเกิดขึ้นแก่ท่าน ขอให้ท่านจงมีบุตรเพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือปรนนิบัติในยามยากลำบากเถิด" ทุกูลดาบสจึงถามว่า "อาตมาบำเพ็ญพรตเพื่อความพ้นทุกข์ อาตมาจะมีบุตรได้อย่างไร อาตมาไม่ต้องการดำเนินชีวิต อย่างชาวโลก ที่จะทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์อีก"
พระอินทร์ตรัสว่า "ท่านไม่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติอย่างชาวโลก แต่ท่านจำเป็นต้องมีบุตรไว้ช่วยเหลือปรนนิบัติ ขอให้เชื่อข้าพเจ้าเถิด ท่านเพียงแต่เอามือลูบท้องนางปาริกาดาบสินี นางก็จะตั้งครรภ์ลูกในครรภ์นางจะได้เป็นผู้ดูแล ท่านทั้งสองต่อไป" เมื่อพระอินทร์ตรัสบอกดังนั้น ทุกูลดาบสจึงทำตาม ต่อมานางปาริกาก็ตั้งครรภ์ ครั้นครบกำหนด ก็คลอดบุตร มีผิวพรรณงดงามราวทองคำบริสุทธิ์ จึงได้ชื่อว่า "สุวรรณสาม" ปาริกาดาบสสินีเลี้ยงดูสุวรรณสามจนเติบใหญ่อยู่ในป่านั้น มีบรรดาสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดแวดล้อมเป็นเพื่อนเล่น ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่สุวรรณสามหมั่นสังเกตจดจำสิ่งที่ พ่อและแม่ได้ปฏิบัติ เช่น การไปตักน้ำ ไปหาผลไม้เป็นอาหาร เส้นทางที่ไปหาน้ำและอาหาร สุวรรณสามพยายามช่วยเหลือ พ่อและแม่ กระทำกิจกรรมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พ่อแม่ได้มีเวลาบำเพ็ญธรรมตามที่ประสงค์
วันหนึ่ง เมื่อทุกูลดาบสและนางปาริกาออกไปหาผลไม้ในป่า เผอิญฝนตกหนักทั้งสองจึงหลบฝนอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ใกล้ จอมปลวก โดยไม่รู้ว่าที่จอมปลวกนั้นมีงูพิษอาศัยอยู่ น้ำฝนที่ชุ่มเสื้อฝ้าและมุ่นผมของทั้งสองไหลหยดลงไปในรูงู งูตกใจจึงพ่นพิษออกมาป้องกันตัว พิษร้ายของงูเข้าตาทั้งสองคน ความร้ายกาจของพิษทำให้ดวงตาบอดมืดมิดไปทันที ทุกูลดาบสและนางปาริกาดาบสินีจึงไม่สามารถจะกลับไปถึงศาลาที่พักได้ เพราะมองไม่เห็นทางต้องวนเวียนคลำทางอยู่แถวนั้นเอง
คนทั้งสองต้องเสียดวงตาเพราะกรรมในชาติก่อน เมื่อครั้งที่ทุกูลดาบสเกิดเป็นหมอรักษาตา ปาริกาเกิดเป็นภรรยาของหมอนั้น วันหนึ่งหมอได้รักษาตาของเศรษฐีคนหนึ่งจนหายขาดแล้ว แต่เศรษฐีไม่ยอมจ่ายค่ารักษา ภรรยาจึงบอกกับสามีว่า "พี่จงทำยาขึ้นอย่างหนึ่งให้มีฤทธิ์แรง แล้วเอาไปให้เศรษฐีผู้นั้น บอกว่าตายังไม่หายสนิท ขอให้ใช้ยานี้ป้ายอีก"
หมอตาทำตามที่ภรรยาบอก ฝ่ายเศรษฐีเชื่อในสรรพคุณยาของหมอก็ทำตาม ตาของเศรษฐีก็กลับบอดสนิทในไม่ช้าด้วย บาปที่ทำไว้ในชาติก่อนส่งผลให้ทั้งสองคนต้องตาบอดไปในชาตินี้ ฝ่ายสุวรรณสาม คอยพ่อแม่อยู่ที่ศาลาไม่เห็นกลับมาตามเวลาจึงออกเดินตามหาในที่สุดก็พบพ่อแม่วนเวียนอยู่ข้างจอมปลวก เพราะนัยน์ตาบอดหาทางกลับไม่ได้ สุวรรณสามจึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อพ่อแม่เล่าให้ฟัง สุวรรณสามก็ร้องไห้ แล้วก็หัวเราะ พ่อแม่จึงถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้แล้วก็หัวเราะ เช่นนั้น สุวรรณสาม ตอบว่า
"ลูกร้องไห้เพราะเสียใจที่พ่อแม่นัยน์ตาบอด แต่หัวเราะเพราะลูกดีใจที่ลูกจะได้ปรนนิบัติดูแลตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ที่เลี้ยงดูลูกมา พ่อแม่อย่าเป็นทุกข์ไปเลยลูกจะปรนนิบัติไม่ให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนแต่อย่างใด" จากนั้น สุวรรณสามก็พาพ่อแม่กลับไปยังศาลาที่พักจัดหาเชือกมาผูกโยงไว้โดยรอบสำหรับพ่อแม่จะได้ใช้จับเป็นราวเดินไป ทำอะไรๆ ได้สะดวกในบริเวณศาลานั้น ทุกๆ วันสุวรรณสามจะไปตักน้ำมาสำหรับพ่อแม่ได้ดื่มได้ใช้ และไปหาผลไม้ในป่ามาเป็นอาหารและตนเอง
เวลาที่สุวรรณสามออกป่าหาผลไม้ บรรดาสัตว์ทั้งหลายจะพากันมาแวดล้อมด้วยความไว้วางใจเพราะสุวรรณสาม เป็นผู้มีเมตตาจิตไม่เคยทำอันตรายแก่ฝูงสัตว์ สุวรรณสามจึงมีเพื่อนแวดล้อมเป็นบรรดาสัตว์นานาชนิด พ่อแม่ลูกทั้งสามจึงมีแต่ความสุขสงบ ปราศจากความทุกข์ร้อนวุ่นวายทั้งปวง
อยู่มาวันหนึ่งพระราชาแห่งเมืองพาราณสี พระนามว่า "กบิลยักขราช" เป็นผู้ชอบออกป่าล่าสัตว์ พระองค์เสด็จออกล่าสัตว์ มาจนถึงท่าน้ำที่สุวรรณสามมาตักน้ำไปให้พ่อแม่ พระราชาสังเกตเห็นรอยเท้าสัตว์ชุกชุมในบริเวณนั้น จึงซุ่มคอยจะยิงสัตว์ที่ผ่านมากินน้ำ ขณะนั้นสุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยมากมาย พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็ทรงแปลกพระทัยว่า สุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึงเดินมากับฝูงสัตว์ ครั้นจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสามจะตกใจหนีไป ก็จะไม่ได้ตัวจึงคิดจะยิงด้วยธนูให้หมด กำลังก่อนแล้วค่อยจับตัวไว้ซักถาม
เมื่อสุวรรณสามลงไปตักน้ำแล้วกำลังจะเดินกลับไปศาลา พระราชากบิลยักขราชก็เล็งยิงด้วยธนูอาบยาถูกสุวรรณสาม ที่ลำตัวทะลุจากขวาไปซ้าย สุวรรณสามล้มลงกับพื้นแต่ยังไม่ถึงตายจึงเอ่ยขึ้นว่า "เนื้อของเรากินไม่ได้หนังของเราเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้จะยิงเราทำไมคนที่ยิงเราเป็นใครยิงแล้วจะซ่อนตัวอยู่ทำไม"
กบิลยักขราชได้ยินวาจาอ่อนหวานเช่นนั้นก็ยิ่งแปลกพระทัย ทรงคิดว่า "หนุ่มน้อยนี้เป็นใครหนอ ถูกเรายิงล้มลงแล้ว ยังไม่โกรธเคืองกลับใช้ถ้อยคำอันอ่อนหวานแทนที่จะด่าว่าด้วยความโกรธแค้นเราจะต้องแสดงตัวให้เขาเห็น" คิดดังนั้นแล้ว พระราชาจึงออกจากที่ซุ่มไปประทับอยู่ข้างๆ สุวรรณสาม พลางตรัสว่า
"เราชื่อกบิลยักขราช เป็นพระราชา แห่งแมืองพาราณสี เจ้าเป็นผู้ใด มาทำอะไรอยู่ในป่านี้" สุวรรณสามตอบไปตามความจริงว่า "ข้าพเจ้าเป็นบุตรดาบส ชื่อว่าสุวรรณสาม พระองค์ยิงข้าพเจ้าด้วยธนูพิษได้รับความเจ็บปวดสาหัส พระองค์ประสงค์อะไรจึงยิงข้าพเจ้า" พระราชาไม่กล้าตอบความจริง จึงแสร้งตรัสเท็จว่า "เราตั้งใจจะยิงเนื้อเป็นอาหาร แต่พอเจ้ามาเนื้อก็ เตลิดหนีไปหมด เราโกรธจึงยิงเจ้า " สุวรรณสามแย้งว่า "เหตุใดพระองค์จึงตรัสอย่างนั้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่านี้ไม่เคยกลัวข้าพเจ้า ไม่เคยเตลิด หนีข้าพเจ้าเลย สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า" พระราชาทรงละอายพระทัยที่ตรัสความเท็จแก่สุวรรณสาม ผู้ถูกยิงโดยปราศจากความผิดจึงตรัสตามความจริงว่า "เป็นความจริงตามที่เจ้าว่า สัตว์ทั้งหลายมิได้กลัวภัย จากเจ้าเลย เรายิงเจ้าก็เพราะความโง่เขลาของเราเอง เจ้าอยู่กับใครในป่านี้ ออกตักน้ำไปให้ใคร"
สุวรรณสามบ้วนโลหิตออกจากปาก ตอบพระราชาว่า"ข้าพเจ้าอยู่กับพ่อแม่ซึ่งตาบอดทั้งสองคนอยู่ในศาลาในป่านี้ ข้าพเจ้าทำหน้าที่ปรนนิบัติพ่อแม่ดูแลหาน้ำและอาหารสำหรับท่านทั้งสอง เมื่อข้าพเจ้ามาถูกยิงเช่นนี้พ่อแม่ก็จะไม่มี ใครดูแลปรนนิบัติอีกต่อไป อาหารที่ศาลายังพอสำหรับ 6 วัน แต่ไม่มีน้ำพ่อแม่ของข้าพเจ้าจะต้องอดน้ำและอาหาร เมื่อปราศจากข้าพเจ้า โอ พระราชาความทุกข์ ความเจ็บปวด ที่เกิดจากถูกยิงด้วยธนูของท่านนั้น ยังไม่เท่าความทุกข์ ความเจ็บปวดที่เป็นห่วงพ่อแม่ของข้าพเจ้าจะต้องได้รับ ความเดือดร้อนเพราะขาดข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติ ต่อไปนี้พ่อแม่คงไม่ได้เห็นหน้าข้าพเจ้าอีกแล้ว"
สุวรรณสามรำพันแล้วร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง พระราชาทรงได้ยินดังนั้นก็เสียพระทัยยิ่งนักว่าได้ทำร้ายสุวรรณสามผู้มีความกตัญญูสูงสุดผู้ไม่เคยทำอันตรายต่อสิ่งใดเลย จึงตรัสกับสุวรรณสามว่า "ท่านอย่ากังวลไปเลยสุวรรณสาม เราจะรับดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ของท่านให้เหมือนกับที่ท่านได้เคย ทำมา จงบอกเราเถิดว่าพ่อแม่ของท่านอยู่ที่ไหน" สุวรรณสามได้ยินพระราชาตรัสให้สัญญาก็ดีใจ กราบทูลว่า "พ่อแม่ของข้าพเจ้าอยู่ไม่ไกลจากที่นี่มาก นัก ขอเชิญเสด็จไปเถิด"
พระราชาตรัสถามว่า สุวรรณสามจะสั่งความไปถึงพ่อแม่บ้างหรือไม่ สุวรรณสามจึงขอให้พระราชาบอกพ่อแม่ว่า ตนฝากกราบไหว้ลาพ่อแม่มากับพระราชา เมื่อสุวรรณสามประนมมือกราบลงแล้วก็สลบไปด้วยธนูพิษลมหายใจหยุด มือเท้าและร่างกายแข็งเกร็งด้วยพิษยา พระราชาทรงเศร้าเสียพระทัยยิ่งนัก รำลึกถึงกรรมอันหนักที่ได้ก่อขึ้นในครั้งนี้ แล้วก็ทรงระลึกได้ว่า ทางเดียวที่จะช่วยผ่อนบาปอันหนักของพระองค์ได้ก็คือ ปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือไป ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สุวรรณสาม เหมือนที่สุวรรณสามได้เคยกระทำมา
พระราชากบิลยักขราชจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้น ออกเดินทางไปศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้ ครั้นไปถึง ทุกูลดาบสได้ยินเสียงฝีเท้าพระราชา ก็ร้องถามขึ้นว่า "นั่นใครขึ้นมา ไม่ใช่สุวรรณสามลูกเราแน่ ลูกเราเดินฝีเท้าเบา ไม่ก้าวหนักอย่างนี้" พระราชาไม่กล้าบอกไปในทันทีว่าพระองค์ยิงสุวรรณสามตายแล้ว จึงบอกแต่เพียงว่า "ข้าพเจ้าเป็นพระราชา แห่งเมืองพาราณสี มาเที่ยวยิงเนื้อในป่านี้" ดาบสจึงเชิญให้พระราชาเสวยผลไม้ และเล่าว่าบุตรชายชื่อสุวรรณสามเป็นผู้ดูแลจัดหาอาหารไว้ให้ ขณะนี้สุวรรณสาม ออกไปตักน้ำอีกสักครู่ก็คงจะกลับมา พระราชาจึงตรัสด้วยความเศร้าเสียพระทัยว่า "สุวรรณสามไม่กลับมาแล้ว บัดนี้สุวรรณสามถูกธนูของข้าพเจ้าถึงแก่ ความตายแล้ว"
ดาบสทั้งสองได้ยินดังนั้นก็เสียใจยิ่งนัก นางปาริกาดาบสินีนั้นแต่แรกโกรธแค้นที่พระราชายิงสุวรรณสามตาย แต่ทุกูลดาบสได้ปลอบประโลมว่า"จงนึกว่าเป็นเวรกรรมของสุวรรณสามและของเราทั้งสองเถิด จงสำรวมจิตอย่าโกรธเคืองเลย พระราชาก็ได้ยอมรับผิดแล้ว" พระราชาตรัสปลอบว่า "ท่านทั้งสองอย่ากังวลไปเลย ข้าพเจ้าได้สัญญากับสุวรรณสามแล้วว่าจะปรนนิบัติ ท่านทั้งสองให้เหมือนกับที่สุวรรณสามเคยทำมาทุกประการ"
ดาบสทั้งสองอ้อนวอนพระราชาให้พาไปที่สุวรรณสามนอนตายอยู่เพื่อจะได้สัมผัสลูบคลำลูกเป็นครั้งสุดท้าย พระราชาก็ทรงพาไป ครั้นถึงที่สุวรรณสามนอนอยู่ ปาริกาดาบสินีก็ช้อนเท้าลูกขึ้นวางบนตัก ทุกูลดาบสก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามประคองไว้บนตัก ต่างพากันรำพันถึงสุวรรณสามด้วยความโศกเศร้า บังเอิญปาริกาดาบสินีลูบคลำบริเวณหน้าอกสุวรรณสามรู้สึกว่ายังอบอุ่นอยู่ จึงคิดว่าลูกอาจจะเพียงแต่สลบไปไม่ถึงตาย นางจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "สุวรรณสามลูกเราเป็นผู้ที่ประพฤติดีตลอดมา มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่อย่างยิ่ง เรารักสุวรรณสาม ยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง ด้วยสัจจวาจาของเรานี้ ขอให้พิษ ธนูจงคลายไปเถิด ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามได้เลี้ยงดู พ่อแม่ตลอดมา ขออานุภาพแห่งบุญจงดล บันดาลให้ สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาเถิด"
เมื่อนางต้งสัตยาธิษฐานจบ สุวรรณสามก็พลิกกายไป ข้างหนึ่งแต่ยังนอนอยู่ ทุกูลดาบสจึงตั้งสัตยาธิษฐาน เช่นเดียวกัน สุวรรณสามก็พลิกกายกลับไปอีกข้างหนึ่ง ฝ่ายนางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ บริเวณเขาคันธมาทน์ ก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า "เราทำหน้าที่ รักษาเขาคันธมาทน์มาเป็นเวลานาน เรารักสุวรรณสาม ผู้มีเมตตาจิต และมีความกตัญญูยิ่งกว่าใคร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้พิษจงจางหายไปเถิด" ทันใดนั้น สุวรรณสามก็พลิกกายฟื้นตื่นขึ้น หายจาก พิษธนูโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นดวงตาของพ่อและแม่ ของสุวรรณสามก็กลับแลเห็นเหมือนเดิม พระราชาทรงพิศวงยิ่งนักจึงตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร สุวรรณสามตอบพระราชาว่า "บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมช่วยคุ้มครองบุคคลนั้น นักปราชญ์ย่อม สรรเสริญ แม้เมื่อตายไปแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้ไปบังเกิด ในสวรรค์ เสวยผลบุญแห่งความกตัญญูกตเวทีของตน"
พระราชากบิลยักขราชได้ยินดังนั้นก็ชื่นชมโสมนัสตรัสกับ สุวรรณสามว่า "ท่านทำให้จิตใจและดวงตาของข้าพเจ้าสว่างไสว ข้าพเจ้ามองเห็นธรรม ต่อนี้ไปข้าพเจ้าจะรักษาศีลจะบำเพ็ญกุศลกิจจะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อีกแล้ว "ตรัสปฏิญญาณแล้วพระราชาก็ทรงขอขมาโทษที่ได้กระทำให้สุวรรณสามเดือดร้อน แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติพ่อแม่ บำเพ็ญเพียรในทางธรรมเมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกร่วมกับพ่อแม่ ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมาคือ ความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย และความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา อันเป็นกุศลกรรมสูงสุดที่บุตรพึงกระทำต่อบิดามารดา
คติธรรม : บำเพ็ญเมตตาบารมี "ว่าด้วยเรื่องของความมีเมตตาจิต ซึ่งจะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันอันตรายใดๆ ธรรมนั้นคือเกราะแก้วมิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้ "
ขอบคุณที่มา: Dhammathai
0 comments: