ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก, อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ
เป้าหมายสูงสุดของชีวิต
ในทุกวันนี้ มนุษย์ส่วนใหญ่ต่างยังไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต และเมื่อไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมของพระพุทธองค์ ชีวิตจึงยังต้องเวียนวนอยู่ในกระแสแห่งความทุกข์ระทม เหมือนถูกตรึงด้วยเครื่องพันธนาการร้อยรัด แต่เมื่อได้ฟังพระสัทธรรม จึงจะเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต แล้วรู้ว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ จะได้ไม่เสียเวลาเพื่อมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงนั้น
มีพุทธพจน์บทหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน อุโภอัตถสูตร ว่า “ทิฏฺเฐ ธมฺเม จ โย อตฺโถ โย จตฺโถ สมฺปรายิโก, อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวุจฺจติ
ผู้มีปัญญาเป็นเครื่องทรงจำ เรากล่าวว่า เป็นบัณฑิต เพราะการยึดได้ซึ่งประโยชน์ในทิฏฐธรรม และประโยชน์ในสัมปรายภพ”
บัณฑิต คือผู้มีใจผ่องใสเป็นปกติ และดำเนินชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เป็นผู้ฉลาดในอุบายแห่งความเสื่อมและความเจริญ มีความทรงจำดี เนื่องจากมีใจใส ทำให้ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้จึงบริสุทธิ์ เมื่อจิตบริสุทธิ์ ดวงจำก็บริสุทธิ์ จึงมีความทรงจำแม่นยำไม่ผิดพลาด เมื่อทรงจำได้มาก ถึงเวลาจะใช้งานก็สามารถนำออกมาใช้งานได้คล่องแคล่ว มีปัญญาแตกฉาน รอบรู้ในทุกๆ ด้าน รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว อะไรถูกอะไรผิด อะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป มีวินิจฉัยที่ถูกต้องร่องรอยตามความเป็นจริง มองเห็นประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างแจ่มแจ้ง
นักปราชญ์ราชบัณฑิตในสมัยก่อน เช่น พระบรมโพธิสัตว์ท่านสอนตนเองได้ รู้ว่าเกิดมา มีอะไรที่เป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ จึงรู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ว่าต้องสร้างบารมีไปจนกว่าบารมีจะเต็มเปี่ยมได้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือ พระนิพพาน ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ไม่ได้บรรลุกายธรรมอรหัต เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายธรรมอรหัต ก็ยังประมาทไม่ได้ อย่างน้อยจะต้องยึดเอาประโยชน์ในปัจจุบันและประโยชน์ในอนาคตไว้ก่อน
ประโยชน์ในปัจจุบัน เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ถึงพร้อมด้วยความหมั่น ตั้งแต่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน นำวิชาความรู้นั้นมาประกอบอาชีพสุจริต ขยันขันแข็งทำงาน ไม่เกียจคร้าน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ได้ทรัพย์มาแล้วก็รู้จักเก็บรักษา ถึงพร้อมด้วยการรักษา ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แต่ใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อตนเองและส่วนรวม และการที่จะให้ชีวิตสมบูรณ์ได้นั้น ต้องมีต้นแบบ ต้องรู้จักคบคนดี มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตเป็นกัลยาณมิตร เพื่อที่จะดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง พบกับชีวิตอันประเสริฐ ชีวิตจะได้ดำเนินอยู่บนหนทางสายกลาง เลี้ยงชีวิตได้เหมาะสม เป็นอยู่อย่างพอดี ถ้าปฏิบัติให้ถึงพร้อมอย่างนี้ได้ จะเกิดความเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน โบราณท่านเรียกธรรมหมวดนี้ว่า หัวใจเศรษฐี ใครที่ปฏิบัติตามแล้ว จะได้เป็นเศรษฐีในปัจจุบันทีเดียว
เมื่อทำประโยชน์ในปัจจุบันให้เกิดขึ้นแล้ว ต้องมองการณ์ไกลถึงประโยชน์ในอนาคตอีกด้วย ที่เรียกว่า สัมปรายิกัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ในภายหน้า ที่จะทำให้เราเดินทางไปสู่สัมปรายภพได้อย่างปลอดภัย หลังจากละโลกไปแล้วต้องไปสู่ชีวิตใหม่ที่สดใสกว่าเดิม นั่นคือ ต้องเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือ มีความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในใจเห็นพระธรรมกายใสแจ่ม ทั้งเลื่อมทั้งใสสว่างเห็นตลอดเวลา เลื่อมใสในพระธรรม เห็นธรรมรัตนะใสแจ่มในกลางพุทธรัตนะ เสื่อมใสในพระสงฆ์ คือ เห็นสังฆรัตนะ ธรรมกายที่ละเอียดกว่า ซ้อนอยู่ในกลางธรรมรัตนะ ความเลื่อมใสจะนำไปสู่ความบริสุทธิ์ภายใน และความบริสุทธิ์นี้จะเป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย จะทำให้เราเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล เมื่อกาย วาจา ใจของเราบริสุทธิ์ ใจจะมีแต่ความคิดที่ดีๆ คิดจะเสียสละ คิดจะเป็นผู้ให้ เราก็จะถึงพร้อมด้วยจาคะ สละความตระหนี่ออกจากใจ โดยเฉพาะสละอารมณ์ที่ไม่ดีออกไป ให้เหลือไว้แต่อารมณ์ที่ดีเท่านั้น อารมณ์สบาย อารมณ์เยือกเย็น มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีแต่ให้ความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประการสุดท้ายคือ ความถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เป็นปัญญาทางธรรมที่จะช่วยชี้หนทางสว่างในชีวิต ช่วยให้เราพ้นจากทุกข์ ไม่พลัดตกไปในอบายภูมิ
ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาพระสัทธรรมคำสั่งสอน ให้รู้จักประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพื่อชีวิตเราจะได้ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โดยเฉพาะปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิเจริญภาวนา เรียกว่าเป็นภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ท่านได้กล่าวไว้ว่า “แสงสว่างใดจะเสมอด้วยแสงสว่างแห่งปัญญานั้นไม่มี” จะสว่างได้ใจต้องหยุด ถ้าใจหยุดเดี๋ยวสว่างเอง เราจะเข้าถึงแสงสว่างภายใน เข้าถึงกายภายใน และเข้าถึงพระธรรมกายเป็นลำดับ
ในอดีตเขารู้จักปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันอย่างนี้ ถึงได้เรียกว่าบัณฑิต เพราะได้ทำประโยชน์ทั้งในภพนี้และภพหน้า ส่วนประโยชน์ที่สูงยิ่งไปกว่านั้น เรียกว่า ปรมัตถประโยชน์ คือประโยชน์อันสูงสุด นั่นคือการทำพระนิพพานให้แจ้ง มีวิธีการเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้เราเข้าไปถึงความรู้แจ้ง คือ ทำใจหยุดอย่างเดียว หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านถึงยํ้าว่า หยุดเป็นตัวสำเร็จ ถ้าหยุดนิ่งได้สนิท เราจะไปถึงเป้าหมายอันสูงสุด คือ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน การฝึกใจหยุดนิ่งจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก จะก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวเราเอง และมวลมนุษยชาติ
เพราะฉะนั้น เราต้องกระทำทั้งประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในอนาคต และประโยชน์อันสูงสุดให้ได้ ต้องมีพระนิพพานเป็นแก่นสาร มีที่สุดแห่งธรรมเป็นเป้าหมาย ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นยอดนักสร้างบารมีที่แท้จริง
ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสกท่านหนึ่ง เกิดมาพร้อมกับสมบัติมากมาย อีกทั้งเป็นคนมีสติปัญญาเฉียบแหลม เรียนจบไตรเพท พอมีโอกาสเข้ามาศึกษาความรู้ทางพระพุทธศาสนา ได้ถามพระภิกษุรูปหนึ่งว่า “ทำอย่างไรจึงจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า และทำอย่างไรถึงจะได้บุญมาก” พระท่านตอบว่าให้หมั่นทำทานอย่างสม่ำเสมอ อุบาสกกลับไปบ้าน ก็ตั้งใจทำบุญตักบาตรทุกวัน ช่วยเหลือเจือจุนคนยากคนจนมิได้ขาด แต่ก็ยังไม่อิ่มใจ จึงได้ย้อนกลับไปถามพระใหม่ว่า "ทำทานแล้วควรทำอย่างไรอีก" พระท่านก็ตอบว่า "ให้ตั้งใจรักษาศีล" เขาก็ตั้งใจรักษาศีล ๕ และศีล ๘ อย่างเต็มที่ จนมีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจขึ้นมา ต่อมาจึงอยากจะทำสมาธิภาวนาให้เหมือนกับพระท่านบ้าง
สุดท้ายจึงเห็นว่า ชีวิตฆราวาสเป็นชีวิตที่คับแคบ มากไปด้วยธุลี โอกาสที่จะทำตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ประดุจสังข์ขัดนั้นทำได้ยาก โอกาสในการทำภาวนาก็ไม่ค่อยมี ท่านจึงได้ตัดสินใจขอบวชเป็นพระภิกษุ เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจแสวงหาหนทางดับทุกข์ ตั้งใจประพฤติตามพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี แล้วก็ทำภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง ปรารภความเพียรอย่างไม่ลดละ เพียงไม่กี่วันก็สามารถทำใจหยุดนิ่ง เข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นพระอรหันต์ในที่สุด พระพุทธองค์ทรงทราบแล้วได้ตรัสอนุโมทนาสาธุการในท่ามกลางพุทธบริษัท และทรงสอนให้เอาเป็นแบบอย่างในการสร้างความดี คือให้สั่งสมความดีไปเรื่อยๆ จนกระทั่งความดีถึงที่สุด
เราจะเห็นว่า สุดยอดของการแสวงหา คือการได้เข้าถึงความสุขภายใน เข้าถึงกายธรรมอรหัตซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เพราะฉะนั้น เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจว่า อะไรคือแก่นแท้ของชีวิต อะไรคือเรื่องหลัก อะไรคือเรื่องรอง ถ้าเราทราบได้อย่างนี้ เราจะได้เป็นคนที่ไม่หลงโลก ไม่เพลิดเพลินอยู่ในโลก จะใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เพราะเราต่างทราบแล้วว่า ธรรมกายคือเป้าหมายของชีวิต เกิดมาแล้วต้องเข้าถึงธรรมกายให้ได้
จะเข้าถึงได้ใจต้องหยุด คือเอาใจมาหยุดนิ่งตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อหยุดถูกส่วนจะเห็นเป็นดวงใสสะอาดบริสุทธิ์ ปรากฏเกิดขึ้นมาที่ศูนย์กลางกาย อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หรือยิ่งกว่านั้น จะขนาดไหนก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่า ดวงปฐมมรรค ซึ่งแปลว่า หนทางเบื้องต้นที่จะเข้าถึงธรรมกาย และธรรมกายจะเกิดขึ้นที่เดียวเท่านั้น คือที่ฐานที่ ๗ ซึ่งกายธรรมนี่แหละเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมของทุกๆ คน
เมื่อถึงธรรมกายก็จะเกิดธรรมจักขุและญาณทัสสนะ การเห็นด้วยธรรมกายเป็นการเห็นที่แตกต่างไปจากการเห็นด้วยตามนุษย์หรือตาทิพย์ คือเห็นได้รอบตัว ทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง ตรงกลาง ระหว่างหัวต่อในเวลาเดียวกัน เห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นรอบตัว เห็นรอบทิศ และก็หยั่งรู้ได้ด้วยญาณทัสสนะของธรรมกาย รู้ทั่วถึง รู้พร้อม รู้ยิ่ง รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดหมดในภพสาม โลกันตร์ และนิพพาน
ธรรมกายนี้มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ธรรมกายโคตรภู ธรรมกายพระโสดาบัน ธรรมกายพระสกทาคามี ธรรมกายพระอนาคามี และธรรมกายพระอรหัต เป้าหมายสูงสุด คือต้องเข้าไปให้ถึงกายธรรมอรหัตที่ละเอียดที่สุด บริสุทธิ์ที่สุด หลุดพ้นจากการบังคับบัญชาของกิเลสอาสวะ ถ้าถึงกายธรรมอรหัตก็ได้ชื่อว่า บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้
ถ้าจับหลักเช่นนี้ได้แล้ว เราจะได้รู้ว่าธรรมกายนี้แหละ เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของมวลมนุษยชาติ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด ที่เรียกว่าเป็นสรณะ ไม่ใช่ต้นไม้ ภูเขาเลากา ไม่ใช่จอมปลวก เจ้าทรงผีสิงอะไรต่างๆ เหล่านี้ล้วนไม่ใช่สรณะ ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง ที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริงนั้นอยู่ภายในตัวของเรานี่เอง คือธรรมกายหรือพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามอย่างนี้เท่านั้นที่เป็นสรณะอันประเสริฐ ควรที่เราจะระลึกนึกถึงอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ให้หมั่นฝึกใจให้หยุด ให้นิ่ง ให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ อย่าเอาภารกิจการงานมาเป็นข้ออ้างสำหรับตัวเรา ทำให้เราทอดธุระในการปฏิบัติธรรม เพราะเวลาในโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด จงใช้เวลาทุกวินาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งกันให้ได้ทุกๆ ท่าน
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
0 comments: