ใจริษยากับใจตระหนี่ไม่ได้ทำให้เป็นคนดูดีมีสง่าราศรี
ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต ให้จิตเกิดความไม่ยินดี ชื่อว่าความริษยา เช่นริษยาในการได้ลาภได้ยศของผู้อื่นเป็นต้น
คนริษยาจะไม่ชอบใจในความมั่งมีหรือการได้ยศของผู้อื่น เห็นผู้อื่นได้ดีย่อมเบือนหน้าหนี ชอบคิดชอบพูดถึงแต่สมบัติของผู้อื่น
ส่วนธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต ให้จิตเกิดความตระหนี่เหนียวแน่น ชื่อว่าความตระหนี่ เช่นไม่ยอมเสียสละแม้แต่ของเล็กๆ น้อยๆ เป็นต้น
คนตระหนี่ชอบซ่อนสมบัติของตน ไม่ชอบให้สมบัติของตนเป็นสาธารณะแก่ผู้อื่น ใจแต่มีความหดหู่ หวงแหน ไม่เคยคิดเผื่อแผ่ ตระหนี่ทุกอย่าง ทั้งที่อยู่ ทั้งตระกูล ทั้งลาภ ทั้งวรรณะ ทั้งธรรม ชอบคิดชอบพูดถึงแต่สมบัติของตน
ความริษยาและความตระหนี่เหล่านี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตของเรามีความสุข ฉะนั้น อย่าคิดว่ามันดีเลย เพราะความริษยาและความตระหนี่เหล่านี้ล้วนมีโทสะเป็นมูล (เกิดจาการไม่เอาใจใส่เป็นอันดีต่ออารมณ์ จึงไม่รู้จักพอในสิ่งที่ได้ในสิ่งที่มีตามกำลังและตามสมควรแก่ตน)
ดังพระพุทธพจน์ว่า
น วากฺกรณมตฺเตน วณฺณโปกฺขรตาย วา
สาธุรูโป นโร โหติ อิสฺสุกี มจฺฉรี สโฐ
ยสฺส เจตํ สมุจฺฉินฺนํ มูลฆจฺจํ สมูหตํ
ส วนฺตโทโส เมธาวี สาธุรูโปติ วุจฺจตีติ ฯ
แปลว่า
“นรชนผู้มีความริษยา มีความตระหนี่ โอ้อวด จะชื่อว่าเป็นคนดี เพราะเหตุสักว่าทำการพูดจัดจ้าน หรือเพราะมีผิวกายงาม ก็หาไม่,
ส่วนผู้ใดตัดโทสชาต มีความริษยาเป็นต้นนี้ได้ขาด ถอนขึ้นให้รากขาด, ผู้นั้นมีโทสะอันคายแล้ว มีปัญญา เราเรียกว่า ‘คนดี’.ดังนี้ ฯ
สาระธรรมจากอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมัตถวรรค (เรื่องภิกษุมากรูป)
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพ ฯ
4/8/65
0 comments: