วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564

กามเป็นสภาวธรรมที่มีโทษอันควรสลดสังเวช

กามเป็นสภาวธรรมที่มีโทษอันควรสลดสังเวช  เมื่อสลดสังเวชก็จะปฏิบัติในหนทางแห่งความหลุดพ้น ด้วยความไม่คลุกคลีและด้วยการแสวงหาปัญญา

กามมี ๒ อย่าง คือ  กิเลสกาม ๑  วัตถุกาม ๑

๑. กิเลสกาม  ได้แก่ ฉันทราคะ คือ โลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ยินดี พอใจติดข้องในอารมณ์

๒. วัตถุกาม  ได้แก่ สภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ ความปรารถนา คือรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันน่าใคร่น่าพอใจ  เพราะฉะนั้น วัตถุกาม ได้แก่ วัฏฏะ ซึ่งเป็นไปในภูมิทั้ง ๓ คือ ทั้งกามภูมิ รูปภูมิ และ อรูปภูมิ เพราะไม่พ้นจากการเป็นวัตถุที่ยินดีพอใจของกิเลสกาม ตราบใดที่ยังดับโลภะไม่ได้ ก็ยังมีวัตถุกามคือสภาพธรรมซึ่งเป็นที่น่ายินดีน่าพอใจของกิเลสกามอยู่ตราบนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีการกำหนดหมายในวัตถุที่น่าใคร่น่าพอใจนั้น (ทั้งวัตถุกามและกิเลสกาม) ว่า “ปราศจากความน่าใคร่น่าพอใจ” แล้วมีจิตคลายความกำหนัดในโลกทั้งปวงที่มีสภาวะน่ากำหนัด (ทั้งมนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก) ผู้นั้นละกิเลสที่เป็นเหตุเนิ่นช้า คือ ๑.ตัณหา ความทะยานอยากเพื่อจะบำรุงบำเรอปรนเปรอตนให้เป็นสุข ๒.ทิฏฐิ ความคิดเห็นผิด ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี อุดมการณ์ต่างๆ ที่ยึดถือไว้โดยงมงาย ๓.มานะ ความถือตัว ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ถือสูงถือต่ำ ยิ่งใหญ่เท่าเทียมหรือด้อยกว่าผู้อื่น ความอยากเด่นอยากยกตนชูตนให้ยิ่งใหญ่เป็นต้นได้

บุคคลนั้น ผู้มีจิตเมตตาไม่เบียดเบียนสัตว์ หวังประโยชน์เกื้อกูล สละละความเกี่ยวข้องในผู้อื่น เพราะเห็นโทษในความเกี่ยวข้องกันด้วยความรักว่าเป็นสภาวะที่มีทุกข์เป็นกำไร จึงเห็นโทษอันเกิดแต่ความรัก แล้วคุ้มครองอินทรีย์คือตา หู จมูก กาย และใจ เมื่อรักษาใจของตนได้แล้ว ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิสามารถเผาได้ มีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น หมั่นประกอบธรรมเป็นเครื่องตื่น เห็นแจ้งไตรลักษณ์ ย่อมเห็นธรรมวิเศษได้ ดังนี้.

สาระธรรมจากปัจเจกพุทธาปทาน 

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)

11/9/64




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: