ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑๖) คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์
ความฝันข้อที่ ๑๓ หินหนักนักหนากลับลอยน้ำ
ฝันว่า ศิลาแท่งทึบก้อนใหญ่ขนาดปราสาทลอยน้ำได้เหมือนเรือ
คำทำนาย:
ในอนาคต ผู้ปกครองบ้านเมืองจะไม่ตั้งอยู่ในธรรม คนเลวจะได้รับการยกย่อง คนเลวจะเป็นใหญ่ ส่วนคนดีจะตกยาก จะไม่มีใครเคารพเชื่อถือคนดี คนทั้งหลายจะเชื่อถือแต่คนที่มีอำนาจเท่านั้น การกระทำ คำพูด และความคิดของคนดี จะถูกหมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล เลื่อนลอย ไร้สาระ ไม่มีใครประพฤติตาม แบบฉบับของคนดีจะถูกเยาะเย้ยถากถาง
แม้ในฝ่ายพระศาสนา พระที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบจะถูกย่ำยีเย้ยหยัน ดูถูกดูแคลน เมื่อพระดีเทศนาถ้อยคำอันใดออกไป ก็จะไม่มีใครเชื่อถือ ดูเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไม่มีน้ำหนัก ประดุจว่าศิลาทึบทั้งแท่งหากแต่กลับลอยละล่องท่องน้ำฉะนั้น
สรุปคำทำนายคือ ในอนาคต คนดีจะถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเชื่อถือเหลียวแล
ความเห็น:
ความฝันข้อนี้เป็นคู่กับข้อก่อน และเป็นที่มาแห่งคำพูดที่ว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจมชล”
คำทำนายข้อนี้ก็ตรงกันข้ามกับข้อก่อน คือ คนดีจะตกต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา ไม่มีใครเชื่อถ้อยฟังคำ การกระทำ คำพูด และความคิดของคนดี จะถูกมองเป็นเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เราคงไม่ลืมว่า คนดีในที่นี้ก็ตรงกันข้ามกับคนเลวในข้อก่อน คือเป็นคนชนิดที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “น ชีวิตเหตุ ปาปกมฺมานิ กโรติ” แปลว่า “ไม่ทำกรรมชั่วเพราะเหตุแห่งชีวิต”
หมายความว่า คนดีจะไม่อ้าง “ความอยู่รอด” ของตัวเอง เพื่อที่จะกระทำอะไรได้ทุกอย่าง รวมทั้งไม่ทำอะไรที่ควรทำทุกอย่างด้วย ความอยู่รอดไม่ใช่เป้าหมายของชีวิตคนดี แต่คนดีจะคำนึงด้วยว่า จะอยู่รอดเพื่อทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมให้แก่ตัวเองและสังคม
คนดีท่านเปรียบกับหิน ในแง่ที่มีน้ำหนัก คือคนดีจะทำจะพูดหรือคิดอะไร ก็มีน้ำหนักควรแก่การเชื่อถือปฏิบัติตาม แต่ในอนาคต หินกลับเบาหวิวลอยน้ำได้ ก็คือคนดีจะไม่ได้รับการยกย่องเชื่อถือนั่นเอง
นี่ก็เป็นเหตุคู่กันกับข้อก่อน คือเมื่อสังคมมีแต่คนที่คิดแต่จะเอาตัวรอดล้วนๆ เสียแล้ว คนดีก็เป็นอันอยู่ไม่ได้อยู่เอง
หากคนดีจะเผอิญหลงเหลืออยู่บ้าง ก็คงจะเป็นอย่างคำกล่าวที่ว่า “ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน” คือคนดีต้องหลบฉากไปเดินอยู่ในตรอกซอกซอยอันเป็นที่ลี้ลับ จะมาเที่ยวเสนอหน้าอวดชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ต้องปล่อยให้ “ขี้ครอก” คือคนเลว เดินวางก้ามเป็นเจ้าถนนกันให้สนุก เรื่องที่ว่าไม่ค่อยจะมีใครเชื่อฟังคนดีนั้น ก็ดูจะเริ่มมีในสังคมไทยอยู่บ้างแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น
- ใครปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองและระเบียบข้อบังคับทุกอย่าง มักจะถูกมองว่าเซ่อ ไม่ทันคน ไม่รู้จักฉวยโอกาส ใครหลบเลี่ยงกฎหมายได้ นับถือกันว่าเก่ง
สังคมกำลังสร้างค่านิยมใหม่ว่าเก่งกับดีเป็นอย่างเดียวกัน คือ เก่งนั่นแหละดี โกงเก่งก็ถือว่าดี และดีไม่ได้หมายถึงมีคุณธรรม แต่ดีก็คือเก่ง
- ใครรอสัญญาณไฟข้ามถนน ถือว่าโง่ อืดอาด ต้องปรู๊ดปร๊าดข้ามทั้งๆ ที่ยังไม่มีสัญญาณให้ข้าม ทำแบบนั้นถือว่าเก่ง คล่องตัว
- พอจะโกงกินได้ ไม่โกง ไม่กิน ถือว่าโง่บัดซบมาก
- เสนอให้สอนวิชาศีลธรรมเป็นอันดับหนึ่ง วิชาอาชีพและวิชาหนังสือเป็นอันดับสอง-สาม คนเสนอความคิดนี้ถูกมองว่าเป็นคนเร่อร่ารุ่มร่าม ไม่มีใครชื่นชมยินดีด้วย ปากอาจจะพูดว่าเห็นดีด้วย แต่ไม่มีใครทำตาม
- ขอให้ช่วยกันต่อต้านและคัดค้านคนทำผิดแต่มีอิทธิพล ความคิดเช่นนี้ดีแน่ แต่ไม่มีใครปฏิบัติ คนมีอิทธิพลทำผิด ใครขืนไปแสดงอาการต่อต้านคัดค้านเข้า จะถูกหาว่าโง่ ไม่เจียมตัว ต้องอยู่เฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้ แบบนี้คือฉลาด และถ้าพลอยยกย่องพินอบพิเทาเข้าเป็นฝักฝ่ายกับคนผิดชนิดนั้น จนได้เศษได้เลย หรือพลอยได้ดิบได้ดีไปด้วยเพราะบารมีของคนเลวที่มีอิทธิพล ก็ยิ่งนับถือกันว่าโคตรฉลาด รู้จักเอาตัวรอดได้เก่ง รู้จักหาความเจริญใส่ตัว
ตัวอย่างทำนองนี้ยังมีอีกเยอะ และนับวันจะยิ่งมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ
แปลว่า คำทำนายเห็นจะไม่พลาดแน่ เตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ดีเถอะครับชาวเรา จะรู้ทันเขาไว้ หรือจะพลอยเป็นไปกับเขาด้วย น่าจะยังพอมีเวลาคิดทบทวนก่อนตัดสินใจ
คำกลอนทำนายพระยาปัตเถวน
หนึ่งฝันว่าเห็นศิลานั้นลอยน้ำ ประหลาดล้ำหลากใจที่ในฝัน
พระทรงญาณบรรหารให้เห็นพลัน ภายหน้านั้นผู้มีศักดิ์จะรักพาล
จะยกย่องทรชาติอันต่ำช้า เป็นเอกอัครเสนาในสถาน
ได้ยศศักดิ์สืบสายเป็นนายการ ได้ท่วงทีพวกพาลสำราญใจ ฯ เอื้อเฟื้อต้นฉบับคำกลอน: อาทิตย์ รักษา
ภาพประกอบ: ภาพวาดที่เจดีย์เยเลพญา เมืองสิเรียม เมียนม่า Spirit of the world บันทึกนักเดินทาง ทริปเที่ยวพม่า 23 ธันวาคม 2558 และภาพจาก google
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓, ๑๐:๔๑
ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก
ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑), (ตอน ๒), (ตอน ๓), (ตอน ๔), (ตอน ๕), (ตอน ๖), (ตอน ๗), (ตอน ๘), (ตอน ๙), (ตอน ๑๐), (ตอน ๑๑), (ตอน ๑๒), (ตอน ๑๓), (ตอน ๑๔), (ตอน ๑๕), (ตอน ๑๖), (ตอน ๑๗), (ตอน ๑๘), (ตอน ๑๙), (ตอน ๒๐), (ตอน ๒๑), (ตอน ๒๒), (ตอน ๒๓)
0 comments: