วันหนึ่งๆ เพียงทำใจให้เบิกบานผ่องใสได้ ก็เป็น “การปฏิบัติธรรม” แล้ว
“ในวันหนึ่งๆ นี้มีบ้างไหมที่จิตใจของเรามีความชุ่มชื่นฉ่ำเย็น เป็นใจที่สบาย ร่าเริง ผ่องใส ปลอดโปร่ง หรือมีแต่ความเร่าร้อน กลุ้มกังวลใจ ถ้าหากว่าเวลาแต่ละวันผ่านไปมีแต่ความกลัดกลุ้ม เดือดร้อน กังวลใจ ก็แสดงว่าเราเสียแล้ว ไม่ใช่ได้ เพราะใจเราเสื่อม เราจะต้องแก้ไขปรับปรุงจิตใจเสียใหม่ ที่ว่า.. “แต่ละวันต้องให้ได้อะไรบ้างไม่มากก็น้อย” นั้น จะต้องได้ความสุขใจ ความร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส ให้แก่ชีวิตนี้บ้าง
ทางพระพุทธศาสนาถือว่า ความร่าเริง เบิกบาน ผ่องใส เป็นลักษณะของจิตใจที่เจริญงอกงาม การทำจิตใจได้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็น “การปฏิบัติธรรม” แล้ว ไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงทำใจให้เบิกบานผ่องใสได้ก็เป็น"การปฏิบัติธรรม" ทางพระท่านใช้คำว่า
๑. มีปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบานใจ ๒. มีปีติ อิ่มใจปลื้มใจ ๓. มีปัสสัทธิ ผ่อนคลายกายใจ
บางคนมีแต่ความเครียดทั้งวัน ความเครียดเป็นความเสียสุขภาพจิต เป็นทางเสื่อมของจิตใจ สิ่งที่ตรงกันข้ามคือ ปัสสัทธิ ความผ่อนคลายกายใจ
๔. มีความสุข สะดวกใจ คล่องใจ ไม่มีอะไรมาบีบคั้นจิตใจ แล้วก็
๕. มีสมาธิ มีใจตั้งมั่น สงบ แน่วแน่ อยู่กับสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย
เรามาสำรวจดูว่า ใจของเรานี้มีคุณภาพดีขึ้นไหม สมรรถภาพจิตใจของเราดี ขึ้นไหม และสุขภาพจิตเช่นความสุขเบิกบานผ่องใสอย่างที่ว่ามาแล้วเรามีบ้างหรือเปล่า อย่างน้อยให้ได้ยิ้มบ้าง
ถ้ายิ้มไม่ได้เลยตลอดวัน ก่อนนอนต้องหาทางยิ้มให้ได้สักครั้งหนึ่ง ออกไปยิ้มกับแม่บ้านหรือออกไปยิ้มกับพ่อบ้าน ออกไปยิ้มกับลูกหรือกับใครสักคนหนึ่ง คิดว่าวันนี้ก่อนวันจะหมดไปเราจะนอนหลับแล้ว ขอให้เราได้ทางใจบ้าง ให้ยิ้มออกสักครั้งก็ยังดี ถ้าทำได้อย่างนี้ แม้ไม่ได้อะไรอื่น ท่านก็ถึอว่าได้แล้ว นี่แหละเป็นความหมายของคำสอนที่ว่า ไม่มากก็น้อย ต้องให้ได้อะไรบ้าง”
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ที่มา : ธรรมนิพนธ์ “สุขนี้มิไกล: ใครปัญญาไวหาได้ทุกสถาน”
0 comments: