วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

“การเห็นแจ้ง” อย่างที่เรียกว่า “เห็นธรรม”

“การเห็นแจ้ง” อย่างที่เรียกว่า “เห็นธรรม”

คนที่ท่องบ่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ทั้งเช้า-เย็น-กลางวัน-กลางคืน หลายร้อยครั้ง หลายพันครั้งมาแล้ว ก็ไม่อาจเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้ เพราะไม่ใช่วิสัยที่จะเห็นได้ด้วยการฟัง ด้วยการท่อง หรือ แม้แต่ด้วยการคำนึงคำนวณตามหลักเหตุผล

การคำนึงคำนวณตามหลักแห่งเหตุผลนั้น ไม่ใช่การ“เห็นแจ้ง”อย่างที่เรียกว่า“เห็นธรรม” การคำนวณตามเหตุผลนั้นต้องอาศัยอยู่กับเหตุผล เมื่อเหตุผลเปลี่ยนแปลงเพราะความไม่เที่ยงเป็นต้น สิ่งนั้นก็พลอยเลื่อนไปด้วย เลื่อนไปตามเหตุผล หรือโยกเยกไปตามอำนาจแห่งเหตุผล

การเห็นธรรมจึงไม่อาจจะเห็นได้ด้วยการคำนวณตามเหตุผล แต่ต้อง“เห็นแจ้ง”ด้วยความรู้สึกในใจแท้จริง” คือ เห็นด้วยใจจริง 

ขอยกตัวอย่าง เช่น บุคคลที่พิจารณาเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำความเจ็บปวดให้แก่ตนผู้เข้าไปหลงรักอย่างสาสมกันแล้ว ดังนี้เป็นต้น นี้เห็นได้ว่าเป็นการเห็นที่ไม่ต้องอาศัยเหตุผล แต่อาศัยการที่ได้กระทบกันจริงๆ และได้เกิดผล “เป็นความรู้สึกแก่จิตใจ”ขึ้นมาจริงๆ จนเกิดเป็นความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด สลดสังเวช ขึ้นมาจริงๆ อย่างนี้จึงเรียกว่า “เห็นธรรม” หรือ “เห็นแจ้ง” การเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมายถึงการเห็นโดยวิธีนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเชื่อว่า คนทุกคนที่มีสติปัญญาตามปรกติ เมื่อได้ผ่านสิ่งต่างๆในโลกมาพอสมควรแล้ว ย่อมจะมีโอกาสใดโอกาสหนึ่งซึ่งได้ผจญกับอารมณ์ต่างๆในโลก จนเกิดผลเป็นความรู้จักสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ว่าเป็นเพียง“มายา” เป็นความหลอกลวง ดังนี้ แล้วเกิดความรู้สึกที่ทำให้ถอยหลัง ไม่หลงใหลพัวพันในสิ่งนั้นอีกต่อไป.

การเห็นแจ้งทำนองนี้ อาจเลื่อนสูงขึ้นไปได้ตามลำดับๆ จนกว่าจะถึงอันดับสุดท้าย ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้าย หรือเรื่องใหญ่ที่สุด ที่ทำให้“ปล่อยวาง” สิ่งทั้งปวงได้ นี้เรียกว่า เป็นการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของบุคคลผู้นั้นอย่างแท้จริง

ส่วนผู้ที่แม้จะท่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ พิจารณาอย่างนั้น อย่างนี้ อยู่ทั้งวัน ทั้งคืน แต่ถ้าไม่เกิดความรู้สึกถอยหลังต่อสิ่งทั้งปวง คือไม่อยากเอาอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ไม่อยากยึดถืออะไรแล้ว ก็เรียกว่า ยังไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น อาตมาจึงสรุปความของการเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไว้ที่คำว่า “เห็น..จนเกิดความรู้สึกว่า..ไม่มีอะไรที่น่าเอาน่าเป็น” และอาตมาจึงได้พยายามชี้แจงหรืออธิบายในส่วนนี้เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เข้าใจคำว่า “ไตรลักษณ์” หรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พร้อมทั้งวิธีปฏิบัติเพื่อให้เห็นแจ้งไปในตัว

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : จากธรรมบรรยาย ตุลาการิกธรรม ครั้งที่ ๒/๒๔๙๙ หัวข้อเรื่อง “ไตรลักษณ์” อบรมผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๔๙๙ ณ ห้องบรรยายของเนติบัณฑิตสภา จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ตุลาการิกธรรม เล่ม ๑” หน้า ๓๑ - ๓๒

File Photos:  Khao Khitchakut National Park

Khao Khitchakut National Park (อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ) is a national park in Chanthaburi Province, Thailand.  The park is located in the Soi Dao Mountains, the Thai part of the much larger Cardamom Mountains,  and is home to waterfalls and forests. The venerated Buddha footprint is also within the park premises.  On 4 May 1977, Khao Khitchakut was designated Thailand's 14th National Park.

Source: Wikipedia











Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: