พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๔)
ชวนกันศึกษาสัทธัมมปฏิรูปกสูตร
ผมเขียนบทความชุด “พระศาสนาอันตรธาน” ไป ๓ ตอน ก็พอดีมีภารกิจเร่งด่วนเข้ามาแทรก ทำให้ไม่มีเวลาเขียนอะไรไปหลายวัน ตอนนี้ภารกิจเบาบางลงแล้ว ขออนุญาตเขียนต่อนะครับ
ผมทิ้งท้ายไว้ในตอนที่ (๓) ว่า - ที่ว่ามานี้เป็นการชวนกันศึกษาสัทธัมมปฏิรูปกสูตรในส่วนที่ว่าด้วยผู้ทำให้พระศาสนาเสื่อม แล้วถ้าจะไม่ให้พระศาสนาเสื่อมล่ะ จะต้องทำอย่างไร?
คำตอบก็อยู่ในสัทธัมมปฏิรูปกสูตรนั่นเอง ขอยกต้นฉบับมาให้ศึกษากันดังนี้
ปญฺจ โขเม กสฺสป ธมฺมา สทฺธมฺมสฺส ฐิติยา อสมฺโมสาย อนนฺตรธานาย สํวตฺตนฺติ ฯ
ดูก่อนกัสสป เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แลย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม
กตเม ปญฺจ ฯ เหตุ ๕ ประการเป็นไฉน?
อิธ กสฺสป ภิกฺขู ภิกฺขุนิโย อุปาสกา อุปาสิกาโย สตฺถริ สคารวา วิหรนฺติ สปฺปติสฺสา
คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ธมฺเม สคารวา วิหรนฺติ สปฺปติสฺสา มีความเคารพยำเกรงในพระธรรม ๑
สงฺเฆ สคารวา วิหรนฺติ สปฺปติสฺสา มีความเคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑
สิกฺขาย สคารวา วิหรนฺติ สปฺปติสฺสา มีความเคารพยำเกรงในสิกขา ๑
สมาธิสฺมึ สคารวา วิหรนฺติ สปฺปติสฺสา ฯ มีความเคารพยำเกรงในสมาธิ ๑
อิเม โข กสฺสป ปญฺจ ธมฺมา สทฺธมฺมสฺส ฐิติยา อสมฺโมสาย อนนฺตรธานาย สํวตฺตนฺตีติ ฯ
เหตุ ๕ ประการนี้แลย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม
ที่มา: สัทธรรมปฏิรูปกสูตร สังยุตนิกาย นิทานวรรค, พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๕๓๕
สรุปว่า ถ้าจะทำให้พระสัทธรรมคือตัวพระศาสนามั่นคง ชาวพุทธจะต้องเป็น “สคารวา” และ “สปฺปติสฺสา” ใน ๕ เรื่อง คือในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา และ สมาธิ
“สคารวา” และ “สปฺปติสฺสา” มีความหมายว่าอย่างไร?
คัมภีร์อรรถกถาบอกว่า ให้เข้าใจโดยนัยตรงกันข้ามกับ “อคารวา” และ “อปฺปติสฺสา”
“อคารวา” ท่านไขความว่า “คารวรหิตา” แปลตามศัพท์ว่า “เว้นจากความเคารพ” หมายถึง ขาดความเคารพ ตรงกันข้ามกับ “อคารวา” ก็คือ “สคารวา” ไม่ขาดความเคารพ คือมีความเคารพ
“คารวะ” หรือเคารพคืออะไร ดูที่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ฝรั่งแปลไว้เป็นภาษาอังกฤษอาจช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น
ฝรั่งแปล “คารว” ว่า reverence, respect, esteem; respect for, reverence towards (การคารวะ, ความเคารพ, ความนับถือ; ความยำเกรง, ความนอบน้อม)
“อปฺปติสฺสา” อรรถกถาไขความว่า “อปฺปติสฺสยา อนีจวุตฺติกา” แปลว่า “ความไม่ยำเกรง คือไม่ประพฤติถ่อมตน” ตรงกันข้ามกับ “อปฺปติสฺสา” ก็คือ “สปฺปติสฺสา” มีความยำเกรง ประพฤติถ่อมตน
ฝรั่งแปล “ปติสฺสา” (สปฺปติสฺสา คือ ส + ปติสฺสา) ว่า deference, obedience (ความเคารพ, ความยำแกรง, ความเชื่อฟัง)
ที่ยกคำฝรั่งมาให้ดูนี้ก็ลอกมาจากพจนานุกรมครับ ไม่ใช่เก่งอังกฤษ เวลาแปลเป็นไทยก็ต้องเปิดดิกทุกคำ อาศัยขยันเปิดหน่อยเท่านั้น
ที่ยกคำฝรั่งมาให้ดูก็เพราะผมเห็นว่า ไทยสมัยใหม่เห็นคำฝรั่งแล้วเข้าใจความหมายคำบาลีได้ดีขึ้น ผมเพียงแต่พยายามจะช่วยให้เข้าใจคำบาลีได้ชัดขึ้นเท่านั้น มิได้แปลว่าเลื่อมใสฝรั่งแต่ประการใด
สรุปว่า “สคารวา” และ “สปฺปติสฺสา” ก็คือ เห็นความสำคัญ ถือเป็นเรื่องสำคัญ และให้ความสำคัญกับเรื่อง ๕ เรื่องนั้นเป็นอย่างยิ่ง
เรื่อง ๕ เรื่องคืออะไรบ้าง และทำอย่างไร แนวปฏิบัติก็ตรงกันข้ามกับอาการที่ทำให้พระศาสนาเสื่อม กล่าวคือ -
(๑) เคารพยำเกรงในพระศาสดา ทั้งด้วยการน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณและด้วยการสำรวมระวังกิริยามารยาทอันดีงามเมื่อเข้าไปสู่พุทธสถาน
(๒) เคารพยำเกรงในพระธรรม คือสนใจใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาพระธรรมวินัย
(๓) เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ทั้งพระสงฆ์ในพระรัตนตรัยและสมมุติสงฆ์
(๔) เคารพยำเกรงในสิกขา คือลงมือปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดมีบริบูรณ์ขึ้นในตน
(๕) ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญพระกรรมฐานจนกว่าจะบรรลุสมาบัติ
จับหลักได้ดังนี้แล้ว คราวนี้แต่ละคนก็ลองหันกลับมาสำรวจตัวเองดูสิครับว่า ทุกวันนี้เราเห็นความสำคัญ ถือเป็นเรื่องสำคัญ และให้ความสำคัญกับเรื่อง ๕ เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
สำรวจแล้ว ทีนี้ก็คงพอจะมองเห็นกันได้นะครับ ที่พูดกันว่าคนนั้นคนโน้น หรือคนที่ทำแบบนั้นแบบโน้นเป็นพวกที่ทำให้ศาสนาเสื่อม-นั้น พูดคลุมหมดหรือยัง แล้วคนนี้-คือตัวเราเองล่ะ-ไม่ได้ทำแบบนั้นแบบโน้นก็จริง ทว่าปฏิบัติตรงตาม “สคารวา” และ “สปฺปติสฺสา” มากน้อยแค่ไหน?
ถ้าปฏิบัติได้มาก พระศาสนาก็เสื่อมน้อย ถ้าปฏิบัติได้น้อย พระศาสนาก็เสื่อมมาก
บอกคนอื่นให้ทำหรืออย่าทำ ยาก ยากมาก ถึงยากที่สุด บอกตัวเองก็ยังยากอยู่ แต่ยากน้อยลง และถ้าหมั่นบอก คือหมั่นฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ ที่ยากก็จะค่อยๆ ง่ายขึ้น และในที่สุดก็จะไม่ยากเลย
เราส่วนมากไม่ได้มองแบบนี้ ไม่ได้คิดแบบนี้ครับ แต่มักจะคิดว่า ความเสื่อมความเจริญของพระศาสนาอยู่ที่พระ ไม่ได้อยู่ที่ข้าพเจ้า ถ้าศึกษาสัทธัมมปฏิรูปกสูตรก็จะเห็นชัดๆ โต้งๆ ชนิดที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะพระพุทธดำรัสตรัสไว้ว่า -
อิธ กสฺสป ภิกฺขู ภิกฺขุนิโย อุปาสกา อุปาสิกาโย ... ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ...
ไม่ใช่เฉพาะพระ คือ “ภิกฺขู” พวกเดียว แต่รวมทั้ง “อุปาสกา อุปาสิกาโย” คือชาวบ้านอย่างเราๆ เข้าไว้ด้วย
การที่เราพากันฝากพระศาสนาไว้กับพระอย่างเดียวจึงเป็นท่าทีที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง และผิดพลาดกันมานานนักหนา อันเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” หมายความว่าพระท่านจะทำอะไรกับพระศาสนาก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของท่าน ชาวบ้านอย่างเราๆ อย่าเข้าไปยุ่ง
ใครขืนเข้าไปยุ่งก็จะถูกตำหนิเอาด้วย คำที่นิยมยกขึ้นมาตำหนิก็คือ ตัวเองศีลห้ายังรักษาไม่ได้ แล้วยังจะไปว่าพระ ...
ทุกวันนี้เราก็ยังคงเข้าใจผิดๆ และมีท่าทีแบบนี้กันอยู่โดยทั่วไป
ถ้าเรายังไม่ปรับท่าที ยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมา และยังไม่พัฒนาตัวเองให้ขึ้นถึงมาตรฐานขั้นต่ำ “เพียงศีลห้าก็รักษาได้” เป็นอย่างน้อย - พระศาสนาก็ไปไม่รอด แล้วก็โปรดอย่าตำหนิพระท่าเดียวว่าทำให้ศาสนาเสื่อม เพราะเราเอง-ก็ด้วย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔, ๑๖:๓๒
0 comments: