วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๒๐)

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๒๐)

คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์

เทียบท่า (๑)

เป็นอันว่าเราได้รับทราบความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศล และคำทำนายฝันของพระพุทธองค์ครบทั้ง ๑๖ ข้อแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความฝันทั้ง ๑๖ ข้อนี้ เป็นเรื่องของความเสื่อมเสียแปรปรวนของสังคมเสียทั้งนั้น น่าสังเกตด้วยว่า ความวิปริตของสังคมดังปรากฏในคำทำนายนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่ยังไม่ปรากฏ หรือโดยปกติแล้วจะไม่ปรากฏในสังคมยุคนั้น (คือก่อนหน้านี้ราวๆ สองพันห้าร้อยปีขึ้นไป) ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเทียบระดับจิตใจของคนยุคนี้กับยุคก่อนหน้านี้ ไม่ต้องนานนัก ประมาณสักชั่วคนที่แล้วมา หรือราวๆ สัก ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมานี้ 

ยุคนั้น นักเลงโตทำร้ายร่างกายกันเพียงแค่ “พอให้ยางแตงออก” คือให้รู้สึกอับอายและเสียศักดิ์ศรีเท่านั้น ในขณะที่ยุคนี้เกิดวิวาทกันทีไร ไม่ได้ถามกันว่าเอาไปโรงพยาบาลไหน แต่ถามกันว่าเอาไปวัดไหน 

ยุคนั้น หัวขโมยชั้นเลวก็ยังไม่กล้าแตะต้องของวัด ในขณะที่ยุคนี้หัวขโมยระดับมีรถยนต์ขี่แอบตัดเศียรพระพุทธรูปเป็นอาชีพ 

ยุคนั้น โจรเข้าไปหลบฝนใต้ชายคาบ้านใด ก็จะไม่แตะต้องอะไรๆ ในบ้านนั้น เพราะสำนึกถึงบุญคุณของบ้านนั้นที่ช่วยคุ้มฝนให้แม้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม (ว่ากันว่าโจรที่ถือเคล็ดว่าขึ้นบ้านไหนต้องมีของติดมือกลับไป ก็จะเอาผ้าขี้ริ้วติดมือไปผืนหนึ่ง!) แต่โจรยุคนี้เจ้าของบ้านต้อนรับด้วยข้าวปลาอาหารอิ่มหนำสำราญดีแล้ว ก็ฆ่าเจ้าของบ้านเสีย แล้วกวาดทรัพย์สินในบ้านไปอย่างใจเย็น 

เพียงแค่ชั่วคนเดียว ส่วนดีในตัวคนบาปยังมีอยู่มากถึงปานนี้ ถ้าถอยหลังไปหลายๆ ชั่วคน จนได้สองพันห้าร้อยปี ระดับจิตใจคนทั่วไปคงจะต้องประณีตงดงามเป็นอันมาก   ศีลธรรมและคุณธรรมความดีต่างๆ ควรจะเป็นพื้นฐานปกติสามัญของคนทั่วไปในยุคสมัยโน้น 

ความเลวในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากจะมีอยู่บ้าง และคงจะต้องมีอยู่บ้างแน่ๆ ก็คงเป็นเรื่องผิดปกติเฉพาะราย เฉพาะกรณี เฉพาะคราว คงจะหาดูรู้เห็นได้ยินได้ฟังไม่ค่อยง่ายนัก 

ดังนั้น ความเสื่อมทรามของสังคมดังที่บรรยายไว้ในคำทำนายฝัน จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนั้น และคงจะเป็นเรื่องที่คนในยุคนั้นคาดคิดไม่เห็นว่า ความวิปริตเสื่อมทรามขนาดนั้นจะมีได้อย่างไรกันหนอ 

ทำนองเดียวกับ-ถ้าเราสามารถหมุนกาลเวลากลับไปที่สมัยสุโขทัยแล้วบอกแก่ผู้คนในยุคนั้นว่า ดวงจันทร์นั้นมนุษย์ในโลกนี้ขึ้นไปเหยียบมาแล้ว คนในยุคนั้นก็คงมองผู้พูดในฐานะคนฝันเฟื่องหรือบ้าๆ บอๆ อะไรคนหนึ่งนั่นแหละครับ

ถ้าเทียบระดับคุณธรรมของมนุษย์ให้เห็นว่าต่างกันขนาดไหน ก็น่าจะเป็นอย่างที่ท่านว่า-ในศาสนาของพระพุทธเจ้าบางพระองค์ ชาวพุทธย่อมบรรลุธรรมขั้นต่ำสุดก็เป็นโสดาบัน ใครตายไปโดยที่ยังเป็นปุถุชนจะถูกสังคมตำหนิติเตียนอย่างยิ่ง (คงจะคล้ายๆ กับสมัยนี้ใครอ่านหนังสือไม่ออกถือว่าบกพร่องอย่างมาก) สมัยนี้ชาวพุทธตายไปทั้งที่ยังเป็นปุถุชนกันทั้งสิ้น ย่อมจะนึกไม่เป็นเห็นไม่ได้ว่า-มีคนบรรลุธรรมกันถึงขนาดนั้นเชียวหรือ

ในคำทำนายฝัน หรือ “ทำนายปัตถเวน” นี้ มีข้อน่าสังเกตอีกด้วยว่า ท่านใช้คำที่เป็นเงื่อนไขแห่งความเป็นไปได้อยู่หลายคำ เช่น 

- อธมฺมิกานํ ราชูนํ อธมฺมิกานญฺจ มนุสฺสานํ กาเล    ในสมัยที่ผู้ปกครองบ้านเมืองไม่มีธรรมะ และผู้คนทั้งปลายก็ไม่มีธรรมะ    - โลเก วิปริวตฺตมาเน   เมื่อโลกวิปริต (ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ)  - กุสเล โอสนฺเน  เมื่อความดีเสื่อมถอยลง  - อกุสเล อุสฺสนฺเน   เมื่อความชั่วเฟื่องฟูขึ้น   - โลกสฺส ปริหีนกาเล   ในสมัยที่โลกเสื่อมทรามลง   - มนุสฺสานํ ปริตฺตายุกกาเล   ในยุคที่มนุษย์มีอายุสั้นลง   - คจฺฉนฺเต คจฺฉนฺเต กาเล   เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ   - สาสเน ปริหายนฺเต    เมื่อศาสนาเสื่อม    - ทุพฺพลราชกาเล    ในสมัยที่ผู้ปกครองอ่อนแอ

เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับกาลเวลาทั้งสิ้น หมายความว่า เมื่อถึงเวลาที่เป็นเงื่อนไขเหล่านี้ สภาพของสังคมก็จะเป็นดังที่กล่าวไว้ในคำทำนายฝันข้อนั้นๆ ถ้าเงื่อนไขแห่งกาลเวลายังไม่เป็นไปตามที่ระบุ สภาพสังคมก็คงจะยังไม่เป็นไปตามคำทำนาย 

ปัญหาก็มีอยู่ว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ายุคไหนสมัยไหนที่เงื่อนไขแห่งกาลเวลาได้เป็นไปตามที่ระบุนั้นแล้วหรือยัง   เช่นที่บอกว่า “เมื่อศาสนาเสื่อม” จะรู้ได้อย่างไรว่าตอนไหน เวลาไหน ศาสนาเสื่อมหรือไม่เสื่อม   หรือที่ว่า “ในสมัยที่ผู้ปกครองอ่อนแอ” จะบอกได้อย่างไรว่าสมัยไหนผู้ปกครองอ่อนแอหรือไม่อ่อนแอ 

เรื่องระยะเวลานี้ คำทำนายบอกไว้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องในอนาคต ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นในสมัยที่กำลังฝันอยู่นั้น แต่คำว่า “ในอนาคต” ก็ไม่มีกำหนดว่า ต่อจากเวลาที่กำลังพูดกันอยู่ในตอนนั้นไปอีกนานไกลแค่ไหน ปีนี้ พ.ศ.นี้ จะถือว่าเป็น “ในอนาคต” ตามคำทำนายฝันได้หรือยัง 

อันที่จริง เรื่องนี้บางทีจะไม่มีปัญหาอะไรมากนัก คือเราเอาสภาพที่เกิดขึ้นตามคำทำนายเป็นเกณฑ์กำหนดเวลา ถ้าเกิดเรื่องอย่างที่คำทำนายว่าไว้เมื่อใด ก็แปลว่าได้ถึงกำหนดเวลา “ในอนาคต” เข้าแล้วเมื่อนั้น   อีกนัยหนึ่ง เรื่องอย่างนี้อาจจะเป็นเรื่องนอกวิสัยแห่งคำพูด คือบอกกันไม่ได้ กำหนดให้แน่ชัดก็ไม่ได้ แต่ว่าเป็นที่รู้กันโดยสำนึกหรือโดยความรู้สึกว่า “นี่มันถึงยุคนั้นเข้าแล้วนี่นะ” 

อีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องสถานที่ คำทำนายไม่ได้ระบุไว้เลยว่า เรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไหน ถิ่นไหน คงบอกแต่เพียงว่าเกิดขึ้นแก่โลกหรือแก่มนุษย์ในโลก ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องที่จะเกิดในสังคมมนุษย์ทั่วไป ไม่จำกัดว่าจะเป็นชาติไหนประเทศไหนในโลกนี้ แม้ต้นกำเนิดของเรื่องนี้จะอยู่ที่อินเดีย แต่ก็ไม่ได้จำกัดว่าผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะเกิดเฉพาะในอินเดียเท่านั้น 

เรื่องความเสื่อมทรามของผู้คนในสังคมนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็เป็นไปตามกฎธรรมดา คือ มีเจริญมีเสื่อม มีขึ้นมีลง ไม่มีอะไรยืนยงคงที่อยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป 

มองในแง่นี้ คำทำนายก็ไม่เป็นของอัศจรรย์อันใด เพราะเป็นการพูดถึงสิ่งที่จะต้องเป็นไปเช่นนั้นอยู่แล้ว เหมือนกับเราเห็นหน้าใครสักคนแล้วบอกว่าเขาจะต้องตาย ก็ไม่เป็นของประหลาด เพราะทุกคนก็จะต้องตายทั้งนั้น 

แต่ความน่าอัศจรรย์มีอยู่ตรงที่ว่าท่านพูดถึง “อาการที่จะเสื่อมไป” ว่าจะเสื่อมไปในรูปใด และอาการที่ท่านทำนายไว้ก็ทำท่าว่าจะเป็นไปเช่นนั้นจริงๆ ทุกข้อไป นี่ก็เหมือนกับเห็นหน้าคนแล้วก็ไม่ได้บอกเพียงว่าเขาจะต้องตาย แต่ยังบอกด้วยว่าจะตายด้วยโรคชนิดนั้นหรือด้วยเหตุนั้นๆ แล้วคนคนนั้นก็ทำท่าว่าจะป่วยเป็นโรคชนิดนั้น หรือเข้าใกล้เหตุข้อนั้นๆ จริงๆ เสียด้วย 

ข้อนี้แหละที่ผมเห็นว่า เรื่องทำนายปัตถเวน หรือมหาสุบินชาดกนี้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อยู่ 

ผมเคยได้ยินคำวิจารณ์ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ซึ่งมีเนื้อหาของเรื่องทำนองเดียวกับทำนายปัตถเวน คือทำนายถึงความเสื่อมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยาในอนาคต คำวิจารณ์นั้นพูดในทำนองที่ว่า ความเสื่อมต่างๆ ที่พูดถึงนั้น เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วในสมัยนั้น เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังได้รู้ได้เห็นกันอยู่ทั่วไปแล้ว ผู้แต่งคำพยากรณ์เป็นแต่เพียงเก็บเอาสภาพเช่นนั้นมาบันทึกไว้ตามข้อเท็จจริง เพียงแต่ว่าพูดให้เป็นเรื่องในอนาคตเสียเท่านั้น คำพยากรณ์จึงไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์อันใด เพราะเอาเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังเกิดขึ้นมาพูด

ทฤษฎีนี้ ผมไม่ค่อยจะเห็นด้วย เพราะไม่รู้ว่าทำเช่นนั้นเพื่อประโยชน์อันใด 

ถ้าจะว่าทำเช่นนั้นเพื่อจะได้ให้ใครๆ เห็นความอัศจรรย์ว่าสามารถทำนายอนาคตได้ ก็ในเมื่อรู้ๆ กันอยู่ว่า เรื่องเช่นนั้นๆ เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังเกิดขึ้น เห็นๆ กันอยู่ทั่วไป มิใช่ยังไม่เกิด แล้วใครเล่าจะยอมหลงเชื่อว่าเป็นคำทำนายอนาคต

ถ้าจะว่าทำไว้สำหรับหลอกคนในอนาคต ก็ดูเป็นเรื่องไร้สาระ ยิ่งเรื่องมหาสุบินชาดกนี้เป็นเรื่องในพระพุทธศาสนา เกี่ยวเนื่องด้วยพระพุทธพจน์ คงไม่มีใครอยากจะเอามาเล่นตลกกันเท่าไรนักเป็นแน่   ถ้าจะว่า ความเสื่อมทรามในสังคมทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงเอามาบันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาและเป็นเครื่องเตือนสติ จะได้ระวังไม่ให้ความเสื่อมเช่นนั้นเกิดซ้ำอีก หรือเมื่อเห็นความเสื่อมเช่นนั้นเกิดขึ้นก็จะได้เกิดธรรมสังเวช และไม่พลอยผสมสร้างความเสื่อมไปกับสังคมขึ้นอีกคนหนึ่ง อะไรทำนองนี้ละก็ ผมก็ออกจะเห็นด้วย เพราะสังคมย่อมจะเสื่อมบ้างเจริญบ้างมาเป็นยุคๆ 

แต่ในช่วงเวลา ๒,๕๐๐ ปีมานี้ เชื่อว่าความเสื่อมของผู้คนในสังคมตามภาพที่บรรยายไว้ในคำทำนาย น่าจะยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่งถึงยุคนี้ คือยุคที่เราๆ ท่านๆ กำลังมีชีวิตกันอยู่ใน พ.ศ.นี้

สรุปว่า ผมยังเชื่ออยู่ว่า เรื่องพุทธทำนาย หรือทำนายปัตถเวน หรือมหาสุบินชาดก ตามที่ผมนำเสนอมาทั้งสิ้นนี้ เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ในแง่ที่ว่า ผู้ให้กำเนิดเรื่องนี้ สามารถวาดภาพพฤติกรรมของสังคมในอนาคตโดยมีรายละเอียดที่ออกจะเป็นจริงเอามากๆ ในยุคนี้ 

ถ้าเรื่องนี้เป็นพุทธทำนายจริง ก็เป็นเรื่องยืนยันถึงพระปัญญาตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าทรงมีอนาคตังสญาณหยั่งรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้จริง   ถ้าเป็นเรื่องที่เกิดจากการมองเห็นหรือความคิดของท่านผู้อื่น ก็แสดงว่าท่านผู้นั้น ซึ่งจะเป็นใครก็ตาม มีคุณสมบัติที่ควรจะแสดงความนับถือได้อย่างแท้จริง 

อันที่จริง ความเสื่อมของมนุษย์ในอนาคต คงจะมีอีกหลายรูปหลายแบบ ที่นอกเหนือไปจากที่ปรากฏในคำทำนายนี้ แต่เพียงเท่าที่มีการพยากรณ์ไว้นี้ ก็ดูเหมือนว่ามนุษย์จะเสื่อมทรามสมบูรณ์แบบแล้ว 

คือ เสื่อมทั้งร่างกายและจิตใจ   ทั้งการกระทำและความคิด    ทั้งในด้านส่วนตัวและส่วนรวม 

ทั้งในส่วนบ้านเมืองและส่วนศาสนา   ทั้งชาวบ้านและชาววัด   ทั้งเด็กและผู้ใหญ่   ทั้งชายและหญิง 

นับว่าเป็นความเสื่อมทรามที่ครอบคลุมทั่วถึงดีแท้ๆ และเพียงเท่านี้ก็คงพอจะทำให้สังคมมนุษย์เข้าถึงภาวะที่เรียกได้ว่า “เน่าเด็ดขาด” ได้แล้วโดยสมบูรณ์ 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓,  ๑๗:๐๗

ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑) (ตอน ๒),  (ตอน ๓) (ตอน ๔) (ตอน ๕) (ตอน ๖), (ตอน ๗) (ตอน ๘) (ตอน ๙) (ตอน ๑๐) (ตอน ๑๑) (ตอน ๑๒),   (ตอน ๑๓) (ตอน ๑๔) (ตอน ๑๕) (ตอน ๑๖) (ตอน ๑๗) (ตอน ๑๘) (ตอน ๑๙) (ตอน ๒๐) (ตอน ๒๑) (ตอน ๒๒) (ตอน ๒๓)



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: