วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564

พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๓)

พระศาสนาอันตรธาน (ตอน ๓)

ชวนกันศึกษาสัทธัมมปฏิรูปกสูตร

ท่านที่สนใจในความเป็นไปของพระศาสนาย่อมจะเคยได้ยินถ้อยคำที่มีผู้ยกขึ้นมาอ้างว่า อย่าไปกลัวว่าศาสนาอื่นเขาจะมาทำลายพระพุทธศาสนาเลย ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้หรอก-นอกจากชาวพุทธด้วยกันเองนี่แหละ  แนวคิดในถ้อยคำนั้นก็หยิบเอาไปจากสัทธัมมปฏิรูปกสูตรนี่แหละ เจอต้นน้ำแล้วนะครับ

แต่คำที่ว่า “ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้” นั้น ท่านคงเอาไปพูดไม่หมดเปลือก หรือถ้าจะเล่นสำนวนก็ต้องว่า-ท่านลืมเอาเปลือกไปพูดด้วย

ในสัทธัมมปฏิรูปกสูตร ข้อความจริงๆ พระพุทธองค์ตรัสว่า :-

น  โข  กสฺสป  ปฐวีธาตุ  สทฺธมฺมํ  อนฺตรธาเปติ  น  อาโปธาตุ  สทฺธมฺมํ  อนฺตรธาเปติ  น  เตโชธาตุ  สทฺธมฺมํ  อนฺตรธาเปติ  น  วาโยธาตุ  สทฺธมฺมํ  อนฺตรธาเปติ

ดูก่อนกัสสป ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ 

อถ  โข  อิเธว  เต  อุปฺปชฺชนฺติ  โมฆปุริสา  เย  อิมํ  สทฺธมฺมํ  อนฺตรธาเปนฺติ  เสยฺยถาปิ  กสฺสป  นาวา  อาทิเกเนว  โอปิลาวติ  ฯ

ที่แท้ โมฆบุรุษในศาสนานี้เองเกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะอับปางก็เพราะต้นหนนั่นเอง 

ที่มา: สัทธัมมปฏิรูปกสูตร สังยุตนิกาย นิทานวรรค,  พระไตรปิฎกเล่ม ๑๖ ข้อ ๕๓๓

พระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า “สทฺธมฺมํ  อนฺตรธาเปติ” แปลว่า “ยังพระสัทธรรมให้อันตรธาน” หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า “สัทธัมมอันตรธาน” แปลว่า “พระสัทธธรรมเลือนหายไป” 

คำว่า “สทฺธมฺม” หรือพระสัทธรรม อรรถกถาไขความว่า หมายถึงปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นี่คือตัวพระศาสนา

คำว่า “อนฺตรธาเปติ” หรือ “อนฺตรธายติ” ที่เราแปลกันว่า “เลือนหายไป” หรือทับศัพท์ว่า “อันตรธาน” อรรถกถาไขความว่า “หายติ” (หา-ยะ-ติ) 

รูปคำบาลี “หาย-(ะติ)” คล้ายกับคำไทย “หาย”   แต่ “หายติ” แปลว่า “เสื่อม” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หายติ” ว่า to diminish, dwindle or waste away, disappear (ลดลง, ลดน้อยลงหรือหมดไป, สูญหายไป)

ถามว่า อะไรที่ไม่มีใครทำลายได้? 

ตอบว่า ในตัวพระสูตรระบุว่า ที่ไม่มีใครทำลายได้คือพระสัทธรรม คือตัวพระศาสนา   หมายความว่า เฉพาะตัวพระศาสนาหรือ “ศาสนธรรม” เท่านั้นที่ท่านบอกว่าไม่มีใครทำลายได้  แต่ต้องไม่ลืมว่า พระพุทธศาสนานั้นไม่มีแต่ “ศาสนธรรม” โด่เด่อยู่อย่างเดียว หากแต่ --

ยังต้องมีศาสนบุคคล ทั้งชาววัดและชาวบ้าน   ยังต้องมีศาสนสถาน เช่นวัดเป็นต้น   ยังต้องมีวัฒนธรรม ประเพณี   ยังต้องมีวิถีชีวิตสงฆ์ วิถีชีวิตชาวบ้าน

คำที่เราเอามาพูดว่า “ทำลาย” พระสูตรท่านใช้คำว่า “อนฺตรธาเปติ” แปลว่า “ทำให้หายไป” อรรถกถาไขความว่า “หายติ” แปลว่า “เสื่อมไป” ไม่ได้มีนัยบ่งบอกว่าเป็นการถูกทำลายให้พินาศย่อยยับ คำแปลที่ฝรั่งแปลก็ไม่ได้ใช้คำว่า to destroy หรือ to demolish

“อนฺตรธาเปติ” หรือ “หายติ” มีความหมายว่า ถูกปล่อยปละละเลยหรือถูกทิ้งขว้างให้เสื่อมโทรมไปเองโดยไม่ต้องมีใครมาทำอะไร

เพราะฉะนั้น ถ้าจะเอาไปพูดให้ถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎก จะต้องพูดว่า 

“ไม่มีใครมาทำให้ศาสนธรรมเสื่อมโทรมได้หรอก นอกจากชาวพุทธด้วยกันเองนี่แหละที่ปล่อยให้เสื่อมโทรมไปเอง” 

กรณีชาวพุทธด้วยกันเองนี่แหละที่ทำลายพระพุทธศาสนาหรือปล่อยให้พระศาสนาเสื่อมโทรม ในพระสูตรท่านระบุไว้ชัดเจนว่า คือชาวพุทธที่มีอาการดังต่อไปนี้ -

(๑)  ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา อรรถกถายกตัวอย่างเช่น กางร่ม สวมรองเท้าเข้าไปยังโบสถ์วิหารลานพระเจดีย์ เดินคุยกันเอะอะไป นี่คือไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา

(๒)  ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม อรรถกถายกตัวอย่างเช่น เมื่อถึงเวลาฟังธรรมก็ไปทำงานอื่น หรือไปนั่งหลับในที่ฟังธรรม หรือนั่งคุยกันฟุ้งซ่านไป (คือไม่สนใจศึกษาพระธรรมวินัยนั่นเอง) นี่คือไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม

(๓)  ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ อรรถกถายกตัวอย่างเช่น ไปหาพระก็ไม่ไหว้ ทำกิริยาอาการไม่เคารพ คะนองมือคะนองเท้า ไม่สำรวม พูดแทรกโดยไม่ขออนุญาตก่อนเป็นต้น นี่คือไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ 

(๔)  ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา หมายถึงไม่ศึกษาปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดมีบริบูรณ์ขึ้น 

(๕)  ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ หมายถึงไม่บำเพ็ญกรรมฐานเพื่อให้เกิดสมาบัติ 

ชาวพุทธที่เคยทำอย่างนี้ กำลังทำอย่างนี้ และจะทำอย่างนี้ต่อไปอีก นั่นแหละคือผู้ที่กำลังทำให้พระศาสนาเสือมโทรม

อย่าลืมว่า สิ่งที่จะถูกทำให้เสื่อมโทรมนั้น ท่านหมายถึงเฉพาะตัวศาสนธรรมเท่านั้น และอย่าลืมว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้มีเฉพาะศาสนธรรมอย่างเดียว

“ศาสนธรรม” หมายถึงหลักธรรมคำสอน 

หลักธรรมคำสอนเป็นนามธรรม จึงไม่มีใครทำลายได้   ศาสนธรรมจะปรากฏได้ที่ไหน   ก็ปรากฏได้ที่ตัวมนุษย์    ตัวมนุษย์ปรากฏได้ที่ไหน    ก็ปรากฏได้ในสังคม    มนุษย์เป็น “สัตว์สังคม” คือต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่ จะไปอยู่นอกฟ้าป่าหิมพานต์คนเดียวไม่ได้  สังคมคือที่ซึ่งมนุษย์มาอยู่รวมกัน

เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคม ก็ต้องมีกฎเกณฑ์แห่งการอยู่ร่วมกัน ที่เราเรียกว่า ระบบการปกครอง   และต้องมีผู้ปกครอง ซึ่งมีคำกลางๆ เรียกว่า รัฏฐาธิปัตย์ แปลว่า ผู้ได้อำนาจรัฐ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ผู้มีอำนาจ”

ผู้ได้อำนาจรัฐอาจกำหนด “ห้ามใครทำอะไร” หรือ “ให้ใครทำอะไร” ก็ย่อมได้

: พระพุทธศาสนาต้องอยู่กับคน >  : คนต้องอยู่กับสังคม >  : สังคมต้องมีผู้ปกครอง >  : ผู้ปกครองต้องมีอำนาจ >

คราวนี้ไม่ต้องอ้อมค้อม พูดกันตรงๆ ที่เมืองไทยนี่เลย จะเห็นได้ชัด ถ้าสมมุติว่า ผู้มีอำนาจสั่งดังต่อไปนี้ >

- นับแต่นี้ไป ห้ามสร้างวัด      - วัดที่มีอยู่แล้ว หากมีพระอยู่ไม่ถึง ๕ รูป ให้สิ้นสภาพวัด และทรัพย์สินทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐ  - ผู้มีอายุไม่ถึง ๖๐ ห้ามบรรพชาอุปสมบททุกกรณี    - ผู้ที่อุปสมบทอยู่แล้ว หากอายุไม่ถึง ๖๐ ต้องลาสิกขาทันที    - ห้ามพระภิกษุสามเณรออกบิณฑบาต

- ห้ามพระภิกษุสามเณรแสดงธรรมทุกรูปแบบ เว้นไว้แต่เป็นการแสดงเพื่อความบันเทิง

- ห้ามตั้งสถานศึกษาหรือสำนักศึกษาและปฏิบัติธรรมทุกรูปแบบทุกระดับ สถานศึกษาหรือสำนักศึกษาและปฏิบัติธรรมที่มีอยู่แล้วให้สิ้นสภาพ ทรัพย์สินทั้งหมดให้ตกเป็นของรัฐ

- บรรดาสถูป เจดีย์ วิหาร พระพุทธปฏิมาเป็นต้น ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอันมีอยู่ในประเทศไทยในวันที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ตกเป็นของรัฐ และรัฐมีอำนาจเปลี่ยนแปลง รื้อถอน ทำลายได้ตามที่เห็นสมควร

ฯลฯ

ถามว่า ตัวอย่างที่สมมุติเล่นสนุกๆ นี่ สามารถเกิดขึ้นในเมืองไทยได้หรือไม่?

ตอบว่า เกิดขึ้นได้แน่นอน-ถ้ารัฏฐาธิปัตย์หรือผู้ได้อำนาจรัฐมิได้เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา 

ถ้ายังสงสัย ก็ขอให้ศึกษาประเทศหรือรัฐที่พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรือง แต่บัดนี้กลายเป็นแผ่นดินของศาสนาอื่นไปแล้ว ก็จะรู้ความจริง

ถ้าเป็นเช่นว่านี้ ถามว่าพระพุทธศาสนาจะไปปรากฏตัวได้ที่ไหน?

พระพุทธศาสนาที่เราพูดกันว่า-ไม่ต้องกลัวคนต่างศาสนาเขาจะมาทำลายหรอก มีใครสามารถทำลายได้นอกจากชาวพุทธด้วยกันเอง-นั่นแหละ   จะเอาพระพุทธศาสนาที่ว่านี้ไปแสดงตัวกับใครที่ไหนได้บ้าง-ในสภาพสังคมที่ผู้ได้อำนาจรัฐมีอำนาจทำได้ดังที่สมมุติมานั้น? 

จะท่องคาถา “ไม่มีใครทำลายพระพุทธศาสนาได้หรอก-นอกจากชาวพุทธด้วยกันเอง” ก็ท่องไป   แต่อย่าลืมคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่ว่ามานี้ไว้ด้วยก็แล้วกัน  ที่ว่ามานี้เป็นการชวนกันศึกษาสัทธัมมปฏิรูปกสูตรในส่วนที่ว่าด้วยผู้ทำให้พระศาสนาเสื่อม   แล้วถ้าจะไม่ให้พระศาสนาเสื่อมล่ะ จะต้องทำอย่างไร?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,   ๙ กันยายน ๒๕๖๔,  ๑๘:๐๙


File Photos:  Wat Doi Prachan is a Buddhist temple in Mae Tha District, Lampang Province, Thailand.

วัดพระธาตุดอยพระฌาน  อำเภอแม่ทะ  จังหวัดลำปาง 











Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: