วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

พระกุณฑธานเถระ เอตทัคคะมหาสาวกในทางผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง

ประวัติพระกุณฑธานเถระ  เอตทัคคะมหาสาวกในทางผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง

ารที่ท่านพระกุณฑธานเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้รับสลากก่อน นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ อัตถุปปัติเหตุ (เหตุเกิดเรื่อง) คือ ท่านได้จับสลากภัตได้ที่ ๑ ถึงสามครั้ง คือเมื่อพระศาสดาจะเสด็จไปสู่อุคคนคร ในกิจนิมนต์ของนางมหาสุภัททา ๑ เมื่อเสด็จไปสู่เมืองสาเกต ในกิจนิมนต์ของนางจุลสุภัททา ๑ เมื่อเสด็จไปสู่สุนาปรันตชนบท ๑ ในกิจนิมนต์ของพระปุณณเถระ ซึ่งในการไปในกิจนิมนต์แต่ละแห่ง ต้องการแต่พระขีณาสพ(อรหันต์)ล้วนๆ ๕๐๐ องค์ดังนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่าเป็น ยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้รับสลากก่อน และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ได้ยินว่า ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านเกิดในเรือนมีตระกูล ในพระนครหงสาวดี วันหนึ่งท่านได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ได้ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายหมู่พุทธบริษัท ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศ แห่งภิกษุผู้จับสลากก่อน ท่านก็ปรารถนาจะได้อยู่ในตำแหน่งเช่นนั้นบ้างในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต จึงได้กระทำกุศลกรรมถวายแด่พระพุทธเจ้าแล้วแสดงความปรารถนาในตำแหน่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าความปรารถนาของเขาหาอันตรายมิได้ จึงได้ทรงพยากรณ์

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงเข้านิโรธสมาบัติอยู่ตลอด ๗ วัน ในวันที่ออกจากสมาบัตินั้น เขาได้น้อมถวายเครือกล้วยใหญ่สีเหลือง แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับกล้วยเครือนั้น แล้วทรงเสวย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเสวยแล้ว ประทับนั่งบนอาสนะของพระองค์ ได้ตรัสพระคาถา เหล่านี้ว่า ยักษ์เหล่าใดประชุมกันอยู่ที่ภูเขานี้ และ คณะภูตในป่าทั้งหมดนั้น จงฟังคำเรา ผู้ใดบำรุงพระ พุทธเจ้าผู้เพียง ดังไกรสรราชสีห์ เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

ผู้นั้นจักได้เป็นท้าว เทวราช ๑๑ ครั้ง จักได้เป็นพระจ้าจักรพรรดิ ๓๔ ครั้ง ในกัปที่แสน พระศาสดาทรงพระนามว่าโคดม โดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราชจักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นั้นได้ด่าสมณะทั้งหลายผู้มีศีล หาอาสวะมิได้ จักได้ชื่ออันสมกับวิบาก แห่งกรรมอันลามก เขาจักได้เป็นโอรสทายาทในธรรม ของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นสาวกมีชื่อว่า กุณฑธานะ  (1-) 

จากนั้นเขากระทำกรรมอันเป็นกุศลอยู่เป็นนิจ ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ครั้นในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า ท่านก็ก็บังเกิดเป็นภุมมเทวดา.ในสมัยนั้น ธรรมดาว่าพระพุทธเจ้าผู้มีพระชนมายุยืน จะมิได้ทำอุโบสถ ทุกกึ่งเดือนเหมือนในสมัยพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนี้ คือในพระวิปัสสีทศพล จะมีการทำอุโบสถทุก ๆ ๖ ปี ส่วนในสมัยพระกัสสปทศพลนี้ทรงให้สวดพระปาฎิโมกข์ทุก ๆ ๖ เดือน ในวันสวดปาฏิโมกข์วันหนึ่งนั้น มีภิกษุ ๒ รูปเดินทางมาโดยตั้งใจว่าจะกระทำอุโบสถ

ภุมมเทวดานี้คิดว่า ความมีไมตรีของ ภิกษุ ๒ รูปนี้มั่นคงเหลือเกิน เมื่อมีคนทำให้แตกแยกกัน ท่านจะแตกกันหรือไม่แตกกันหนอ จึงคอยหาโอกาสเพื่อที่จะทดสอบความคิดของตนกับภิกษุทั้งสองนั้น และคอยติดตามไปใกล้ ๆ ภิกษุทั้งสองนั้น

ครั้งนั้นพระเถระรูปหนึ่งฝากบาตร และจีวรไว้กับพระเถระอีกรูปหนึ่ง ไปยังพุ่มไม้ใกล้แหล่งน้ำเพื่อปฏิบัติสรีระกิจ ครั้นเสร็จแล้วก็ล้างมือล้างเท้าออกมาจากร่มไม้ ภุมมเทวดาเห็นเป็นโอกาสจึงแปลงร่างเป็นหญิงผู้มีรูปโฉมงาม เดินตามอยู่ข้างหลังพระเถระนั้น แล้วทำให้เสมือนผมยุ่งแล้วจัดผมเสียใหม่ ทำเป็นปัดฝุ่นข้างหลัง แล้วจัดผ้านุ่งเสียใหม่ เดินตามพระเถระออกจากพุ่มไม้มายืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง

พระเถระผู้เป็นสหายเห็นเหตุการณ์นี้จึงเกิดความเสียใจคิดว่า ความผูกพันที่ติดตามกันมาเป็นเวลานานกับภิกษุนี้ของเรามาสิ้นไปเสียแล้วในบัดนี้ ถ้าหากเรารู้เช่นเห็นชาติอย่างนี้ เราจะไม่ทำความคุ้นเคยกับภิกษุนี้ให้เนิ่นนานถึงเพียงนี้ พอพระเถระนั้นมาถึงเท่านั้น ก็พูดว่า เชิญเถอะอาวุโส นี่บาตรจีวรของท่าน เราไม่เดินทางเดียวกันกับสหายเช่นท่าน

พระภิกษุผู้เป็นสหายนั้น ครั้นได้ฟังถ้อยคำนั้น ก็บังเกิดความเสียใจยิ่งนักท่านจึงกล่าวกะพระเถระนั้นว่า อาวุโส ท่านพูดอะไรอย่างนี้ ผมไม่มีอาบัติแม้เพียงทุกกฎมาตลอดจนถึงปัจจุบันนี้ นี่ท่านพูดว่าข้าพเจ้าเป็นคนชั่วในวันนี้ ท่านเห็นอะไรหรือ ? พระเถระ นั้นกล่าวว่า จะประโยชน์อะไร เราได้เห็นกรรมที่ท่านกระทำแล้ว ท่านออกมาอยู่ในทีเดียวกับผู้หญิงที่แต่งตัวอย่างนี้ ๆ เพราะเหตุไร พระเถระนั้นจึงตอบว่า อาวุโส กรรมนั้นของข้าพเจ้าไม่มี ข้าพเจ้ามิได้เห็นผู้หญิงคนไหนเลย แม้ท่านจะกล่าวอยู่ถึง ๓ ครั้ง พระเถระอีกรูปหนึ่งก็มิได้เชื่อถ้อยคำ ถือเอาเหตุที่ตนเห็นแล้วเท่านั้นเป็นสำคัญ ไม่เดินทางเดียวกับพระเถระนั้น ไปเฝ้าพระศาสดาโดยทางอื่น แม้ภิกษุอีกรูปหนึ่งก็ไปเฝ้าพระศาสดาโดยทางอื่นเหมือนกัน

แต่นั้นเวลาภิกษุสงฆ์ลงอุโบสถ ภิกษุนั้นจำภิกษุที่ตนเข้าใจผิดนั้นได้นั้นได้ในโรงอุโบสถจึงกล่าวว่า ในโรงอุโบสถนี้มีภิกษุลามกชื่อนี้ เราไม่กระทำอุโบสถร่วมกับภิกษุนั้น จึงออกไปยืนอยู่ข้างนอก

เทวดาขยายความจริง

ภุมมเทวดา เห็นดังนั้นจึงคิดได้ว่า เราทำกรรมหนักแล้ว จึงแปลงเป็นอุบาสกแก่ไปหาภิกษุนั้น กล่าวว่า เหตุไรเจ้ากูจึงมายืนอยู่ในที่นี้ พระเถระกล่าวว่า อุบาสก ก็ภิกษุลามกเข้ามายังโรงอุโบสถนี้ อาตมาจะไม่ทำอุโบสถร่วมกับภิกษุลามกนั้น จึงออกมายืนอยู่ข้างนอก อุบาสกแก่นั้นกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า อย่าถืออย่างนั้นเลย ภิกษุนี้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ผมคือผู้หญิงที่ท่านเห็นนั้น ผมแลเห็นความดีความละอายและความไม่ละอายกระทำกรรมแล้ว ด้วยคิดทดสอบว่า ไมตรีของพระเถระสองรูปนี้มั่นคง หรือไม่มั่นคง ก็เพื่อทดลองท่านทั้งหลายดู ภิกษุนั้นถามว่า สัปบุรุษ ก็ท่านเป็นใคร อุบาสกแก่ตอบว่า ผมเป็นภุมมเทวดา

เทวบุตรนั้นก็หมอบลงแทบเท้าของพระเถระกล่าวว่า ขอจงยกโทษให้ข้าพเจ้าด้วย พระเถระไม่รู้เรื่อง โปรดทำอุโบสถเถิด วิงวอนให้พระเถระเข้าไปสู่โรงอุโบสถแล้ว พระเถระนั้นกระทำอุโบสถในที่เดียวกันก่อน แล้วก็อยู่ในที่เดียวกันกับพระเถระนั้น ด้วยการผูกไมตรีเหมือนดังเดิม ภิกษุผู้ถูกโจทย์นั้นบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ ๆ มาก็ได้บรรลุพระอรหัต

ด้วยผลกรรมอันนั้น ภุมมเทวดาจึงต้องตกอยู่ในอบายตลอดพุทธันดรหนึ่ง และเมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะโดนใส่ร้ายป้ายโทษ กรรมที่ตนมิได้กระทำอยู่ตลอดเวลา

กำเนิดเป็นธานมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ท่านบังเกิดในครอบครัวพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา พวกของท่านตั้งชื่อท่านว่า ธานมาณพ ธานมาณพนั้นเจริญวัยแล้ว เรียนไตรเพท ในเวลาที่มีอายุมากแล้ว ได้ฟังธรรมของพระศาสดาจึงเกิดศรัทธาแล้วบวช ตั้งแต่วันที่ท่านบวชแล้ว ก็ปรากฏหญิงคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อท่านเข้าบ้าน ก็เข้าไปกับท่านด้วย เมื่อออกจากบ้านก็ออกด้วย แม้เมื่อเข้าวิหารก็เข้าด้วย แม้เมื่อยืนก็ยืนด้วย ปรากฏดังนี้อยู่เป็นนิตย์ แต่ตัวพระเถระนั้นเองกลับไม่เห็นหญิงนั้น นี้เป็นด้วยผลของกรรมเก่าของพระเถระนั้นเมื่อครั้งเป็นภุมมเทวดา หญิงนั้นจึงปรากฏแก่คนอื่น ๆ

เมื่อมีการนิมนต์ท่านไปที่บ้านเพื่อฉันภัตตาหาร หญิงทั้งหลายที่ถวายข้าวยาคู และภิกษาในบ้านก็ทำการเย้ยหยันว่า ท่านเจ้าขา ข้าวยาคูกระบวยหนึ่งนี้สำหรับท่าน อีกกระบวยหนึ่งนี้ สำหรับเพื่อนหญิงของท่าน พระเถระจึงมีความเดือนร้อนรำคาญอย่างยิ่ง สามเณร และภิกษุหนุ่ม ต่างแวดล้อมท่าน แม้ไปวิหารก็ทำการหัวเราะเยาะว่า พระธานะเป็นคนชั่ว (ธาโน โกณโฑ ชาโต) ภายหลังท่านจึงมีชื่อว่า โกณฑธานเถระ เพราะเหตุนั้นนั่นแล

พวกภิกษุบอกคฤหัสห์ให้ขับไล่

ภิกษุทั้งหลายเห็นท่านเที่ยวไป โดยมีสตรีติดตามไปอยู่อย่างนั้น จึงบอกท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่า “ท่านเศรษฐี ท่านจงขับไล่ภิกษุผู้ทุศีลรูปนี้ออกจากวิหารของท่านเสีย เพราะว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่ภิกษุที่เหลือ.”

เศรษฐี: ท่านผู้เจริญก็พระศาสดาไม่มีในวิหารหรือ ?    ภิกษุ: มีอยู่ ท่านเศรษฐี.   เศรษฐี: ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้นพระศาสดาคงจักทรงทราบ

ภิกษุทั้งหลายก็ไปแจ้งแก่นางวิสาขาอย่างนั้นเหมือนกัน   นางวิสาขาก็ได้ให้คำตอบแก่ภิกษุเหล่านั้นเหมือนกับท่านเศรษฐี   ฝ่ายภิกษุทั้งหลาย เห็นท่านเหล่านั้นไม่รับถ้อยคำของตน จึงได้ทูลแด่พระราชาว่า  “มหาบพิตร ภิกษุชื่อโกณฑธานะ พาหญิงคนหนึ่ง เที่ยวไป จะยังความเสียหายให้เกิดแก่ภิกษุทุกรูป ขอมหาบพิตรทรงขับไล่ภิกษุนั้นออกจากแว่นแคว้นของพระองค์เสีย”

พระราชา: ก็ภิกษุนั้นอยู่ที่ไหนเล่า ?   พวกภิกษุ: อยู่ในวิหาร มหาบพิตร.   พระราชา: อยู่ในเสนาสนะหลังไหน?   พวกภิกษุ: ในเสนาสนะชื่อโน้น.   พระราชา: ถ้าเช่นนั้น ขออาราธนาพระคุณเจ้าไปเถิด ข้าพเจ้าจักสั่งให้จับภิกษุรูปนั้น

พระราชาเสด็จไปสอบสวนพระโกณฑธานะ

ในเวลาเย็น ท้าวเธอเสด็จไปวิหาร รับสั่งให้พวกราชบุรุษล้อมเสนาสนะนั้นไว้แล้ว ได้เสด็จผินพระพักตร์มาตรงที่อยู่ของพระเถระ

พระเถระได้ยินเสียงเอะอะ จึงได้ออกจากวิหารที่อยู่แล้วยืนอยู่ที่หน้ามุข พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีนั้น ยืนอยู่ข้างหลังพระเถระนั้น พระเถระทราบว่าพระราชาเสด็จมา จึงขึ้นไปยังวิหารนั่งอยู่

พระราชาไม่ทรงไหว้พระเถระ และไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นสตรีนั้น ท้าวเธอทรงตรวจดูที่ซอกประตูบ้าง ที่ใต้เตียงบ้าง ก็มิได้ทรงประสบหญิงนั้นเลย จึงได้ตรัสกะพระเถระว่า  “ท่านขอรับ ผมได้เห็นสตรีคนหนึ่งในที่นี้ เขาไปเสียที่ไหน ?”

พระเถระทูลว่า “อาตมภาพไม่เห็น มหาบพิตร”  แม้เมื่อพระราชา ตรัสว่า “เมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าเห็นสตรียืนอยู่ข้างหลังท่าน”   พระเถระก็ทูลยืนกรานว่า “อาตมภาพไม่เห็น มหาบพิตร”  พระราชาทรงดำริว่า “นี่มันเป็นเรื่องอะไรหนอ?” แล้วตรัสว่า “ขอนิมนต์ท่านออกไปจากที่นี้ก่อน ขอรับ”

เมื่อพระเถระออกไปจากที่นั้น ยืนอยู่ที่หน้ามุข สตรีนั้นก็ได้ยืนอยู่ข้างหลังของพระเถระอีก พระราชาทอดพระเนตรเห็นสตรีนั้นแล้ว จึงเสด็จขึ้นไปชั้นบนอีก

พระราชาแม้จะทรงค้นหาสตรีนั้นในที่ทุกแห่งอีก ก็มิได้ทรงประสบ จึงตรัสถามพระเถระนั้นซ้ำอีกว่า “สตรีนั้นมีอยู่ ณ ที่ไหน? ขอรับ”  พระเถระ: “อาตมภาพไม่เห็น (สตรีนั้น) มหาบพิตร”   พระราชา: “ขอท่านโปรดบอกเถิด ขอรับ เมื่อกี้นี้เอง ผมเห็นสตรียืนอยู่ข้างหลังของท่าน”   พระเถระ: “ขอถวายพระพร มหาบพิตร แม้มหาชนก็พูดว่า 'สตรี เที่ยวไปข้างหลังอาตมภาพ' ส่วนอาตมภาพไม่เห็นสตรีนั้นเลย”

พระราชาทรงสันนิษฐานว่าเป็นรูปเทียม

พระราชาทรงคิดว่า “สงสัยรูปสตรีนั่นจะเป็นรูปเทียม” แล้วรับสั่งกะพระเถระอีกว่า “ท่านขอรับ ขอท่านจงลงไปจากที่นี้ดูที”

เมื่อพระเถระ ลงไปยืนอยู่ที่หน้ามุข ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นสตรีนั้นยืนอยู่ข้างหลังของ พระเถระนั้นอีก ครั้นเสด็จขึ้นไปข้างบน ก็กลับมิได้ทอดพระเนตรเห็น ท้าวเธอทรงซักถามพระเถระอีก เมื่อท่านทูลยืนกรานว่า “อาตมภาพไม่เห็น” ก็ทรงสันนิษฐานได้ว่า “นั่นเป็นรูปเทียมแน่” จึงตรัสกะพระเถระว่า “ท่านขอรับ เมื่อสังกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองเช่นนี้ เที่ยวติดตามไปข้างหลังท่านอยู่ คนอื่นใครๆ จักไม่ถวายภิกษาแก่ท่าน ท่านจงเข้าไปพระราชวังของข้าพเจ้าเนืองนิตย์ ข้าพเจ้าจักบำรุงท่านด้วยปัจจัย ๔” ทรงนิมนต์พระเถระแล้ว ก็เสด็จหลีกไป

พวกภิกษุติเตียนพระราชาและพระเถระ

ภิกษุทั้งหลายกล่าวโทษว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดู กิริยาของพระราชานี้ เมื่อพวกเราทูลว่า ‘ขอพระองค์ทรงขับไล่ ภิกษุนั้นออกจากวิหารเสีย ก็กลับเสด็จมานิมนต์ ปวารณาภิกษุนั้นด้วย ปัจจัย ๔ แล้วเสด็จกลับ”   ภิกษุทั้งหลาย ก็กล่าวกะพระเถระนั้นว่า “เฮ้ย คนทุศีล บัดนี้ พระราชากลายเป็นคนชั่วแล้ว”

แม้พระเถระนั้น ในกาลก่อนไม่อาจจะกล่าวอะไรๆ กะภิกษุทั้งหลายได้ บัดนี้จึงกล่าวตอบทันทีว่า “พวกท่านสิ เป็นผู้ทุศีล พวกท่านสิ เป็นคนชั่ว พวกท่านสิ พาหญิงเที่ยวไป   ภิกษุเหล่านั้น ไปกราบทูลแด่พระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระโกณฑธานะ ผู้ซึ่งข้าพระองค์ทั้งหลายว่ากล่าวแล้ว กลับกล่าวด่าต่างๆ เป็นต้นว่า ‘แม้พวกท่าน ก็เป็นผู้ทุศีล”

พระศาสดาทรงไต่สวนทั้งสองฝ่าย

พระศาสดา รับสั่งให้เรียกพระโกณฑธานะนั้นมาแล้ว ตรัสถามว่า “ภิกษุ ข่าวว่า เธอกล่าวอย่างนั้นจริงหรือ?”

พระเถระกราบทูลว่า “จริง พระเจ้าข้า”   พระศาสดา: “เพราะเหตุไร ? เธอจึงกล่าวอย่างนั้น”   พระเถระ: “เพราะเหตุที่ภิกษุเหล่านั้นกล่าวกับข้าพระองค์”  พระศาสดา: “ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไร ? พวกท่านจึงกล่าวกะภิกษุนี้อย่างนั้น”  พวกภิกษุ: “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เห็นหญิงเที่ยวไปข้างหลังภิกษุนี้ จึงกล่าวอย่างนั้น”

พระศาสดาตรัสกับพระเถระว่า “ภิกษุเหล่านี้เห็นหญิงเที่ยวไปกับเธอ จึงกล่าว ขึ้นอย่างนั้น ส่วนตัวเธอไม่ได้เห็นเลย เหตุไฉนจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านี้ อย่างนั้นเล่า ? ผลนี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยผลกรรมอันเลวของเธอในกาลก่อนมิใช่หรือ ? เหตุไร ในบัดนี้ เธอจึงกระทำกรรมที่ไม่ดีอีกเล่า ?

พวกภิกษุทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ภิกษุนี้ได้ทำกรรม อะไรในปางก่อน ?”

ทีนั้นพระศาสดา จึงตรัสแสดงบุรพกรรมของท่าน (ที่ท่านได้เป็นภุมเทวดาในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า) แก่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว ตรัสกับพระโกณฑธานะนั้นว่า “ภิกษุ เธออาศัยกรรมลามกนี้ จึงมีเรื่องอันแปลกเช่นนี้แล้ว บัดนี้ การที่เธอถือทิฏฐิอันลามกเช่นนั้นอีก ไม่สมควร เธออย่ากล่าวอะไรๆ กับภิกษุทั้งหลายอีก จงเป็นผู้ไม่มีเสียง เช่นกังสดาลอันเขาตัดขอบปากแล้ว เมื่อทำอย่างนั้น จักเป็นผู้ชื่อ ว่าบรรลุพระนิพพาน” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า

มาโวจ  ผรุสํ  กญฺจิ       วุตฺตา  ปฏิวเทยฺยุ  ตํ

ทุกฺขา  หิ  สารมฺภกถา    ปฏิทณฺฑา   ผุเสยฺยุ  ตํ.

สเจ  เนเรสิ  อตฺตานํ      กํโส  อุปหโต  ยถา

เอส  ปตฺโตสิ  นิพฺพานํ    สารมฺโภ  เต  น  วิชฺชติ.

เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกะใครๆ  ชนเหล่าอื่นถูกเธอว่าแล้ว  จะพึงว่าเธอตอบ     เพราะการกล่าวแข่งขันกันให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องเธอ.

หากเธออาจยังตนไม่ให้หวั่นไหวได้  ดังกังสดาลที่ถูกกำจัดแล้วไซร้       เธอนั่นย่อมเป็นผู้บรรลุพระนิพพาน  การกล่าวแข่งขันกัน  ย่อมไม่มีแก่เธอ.

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว แม้พระโกณฑธานเถระ ตั้งอยู่ในพระโอวาทที่ พระศาสดาประทานแล้ว ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยคุณพิเศษ เหล่านี้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ตั้งแต่นั้นหญิงนั้นก็หายไป

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคมหาสาวกผู้รับสลากก่อน

ได้ยินว่า ท่าน ได้จับสลากได้ที่ ๑ ถึงสามครั้ง คือเมื่อพระศาสดาจะเสด็จไปสู่อุคคนคร ในกิจนิมนต์ของนางมหาสุภัททา ๑ เมื่อเสด็จไปสู่เมืองสาเกต ในกิจนิมนต์ของนางจุลสุภัททา ๑ เมื่อเสด็จไปสู่สุนาปรันตชนบท ๑ ในกิจนิมนต์ของพระปุณณเถระ ซึ่งในการไปในกิจนิมนต์แต่ละแห่ง ต้องการแต่พระขีณาสพ (อรหันต์) ล้วนๆ ๕๐๐ องค์ดังนี้

กิจนิมนต์ของนางมหาสุภัททา

ครั้งนั้น มหาสุภัททาอุบาสิกา ธิดาคนโตของอนาถบิณฑิกเศรษฐี แต่งงานกับบุตรชายของอุคคเศรษฐี แห่งอุคคนคร ซึ่งเป็นตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ในอุคคนคร ซึ่งอยู่ห่างจากนครสาวัตถีที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ ๑๒๐ โยชน์ ในวันแต่งงานเศรษฐีให้นางทำบุญกับพวกชีเปลือยซึ่งเศรษฐีถือว่าเป็นสมณะของตน แต่นางไม่ยินยอมบอกว่าสมณะของนางมิใช่เช่นนี้ ภรรยาเศรษฐีจึงถามว่าสมณะของนางเป็นเช่นไร นางจึงกล่าวสมณภาพแห่งพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแก่ท่านเศรษฐีและภรรยา ท่านเศรษฐีจึงบอกให้นางนิมนต์สมณะของนางมารับภัตตาหารที่เรือนเศรษฐีในวันรุ่งขึ้น

นางจึงได้ตระเตรียมข้าวของเพื่อถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ยืนอยู่บนพื้นปราสาทชั้นบน ผินหน้าไปทางพระเชตวันมหาวิหาร กระทำเบญจางคประดิษฐ์ ระลึกถึงพระพุทธคุณทั้งหลาย ทำการบูชาด้วย ของหอม เครื่องอบ ดอกไม้และธูป กล่าว อธิษฐานว่า “ขอดอกไม้เหล่านี้ ตั้งอยู่ในภายใน จงตั้งเป็นเพดาน ณ เบื้องบนพระทศพล ด้วยสัญญานี้ ขอพระทศพลจงรับภิกษาของเรา พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ในวันพรุ่งนี้” ดังนี้แล้ว จึงซัดดอกมะลิ ๘ กำไปในอากาศ

ดอกไม้ทั้งหลาย ลอยไปเป็นเพดานดอกไม้อยู่ที่เบื้องบนพระศาสดา ผู้ทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ๔ พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเพดานดอกมะลินั้นแล้ว ทรงทราบอธิษฐานจิตและรับนิมนต์ของนางสุภัททา ในวันรุ่งขึ้น เมื่ออรุณตั้งขึ้นแล้ว จึงตรัสกะพระอานนทเถระว่า ดูก่อน อานนท์ วันนี้พวกเราจักไปภิกขาจารในที่ไกล เธออย่าให้สลากแก่ภิกษุ ที่เป็นปุถุชน จงให้สลากแก่ภิกษุที่เป็นพระอริยะเท่านั้น พระเถระแจ้ง แก่ภิกษุทั้งหลายว่า อาวุโสทั้งหลาย วันนี้พระศาสดาจักเสด็จภิกขาจาร ในที่ไกล ภิกษุที่เป็นปุถุชนอย่ารับสลาก ภิกษุที่เป็นพระอริยะเท่านั้นจง รับสลากดังนี้ พระกุณฑธานเถระ เหยียดมือออกไปก่อนทีเดียว โดย พูดว่า อาวุโส ท่านจงนำสลากมา พระอานนท์กล่าวว่า พระศาสดาไม่ตรัสสั่งให้ให้สลากแก่ภิกษุเช่นท่าน ตรัสสั่งให้แก่ภิกษุที่เป็นพระอริยะ เท่านั้น ด้วยท่านยังเข้าใจว่าพระเถระยังเป็นพระปุถุชน เมื่อท่านห้ามพระกุณฑธานะดังนี้แล้วก็เกิดปริวิตก จึงไปกราบทูลเรื่องนั้นต่อพระศาสดาแล้ว พระศาสดาตรัสว่า จงให้สลากแก่ผู้ที่ขอเถิด

พระอานนท์เถระคิดว่า ถ้าการให้สลากนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรให้แก่พระกุณฑธานะ พระศาสดาคงจะห้ามไว้ เรื่องนี้ชะรอยจักมีเหตุ จึงย้อนกลับไป ด้วยคิดว่า เราจักให้สลากแก่พระกุณฑธานะ แต่ก่อนที่พระอานนท์จะมาถึงนั้นแหละ พระกุณฑธานเถระก็เข้าจุตตถฌานมีอภิญญาเป็นบาท ยืนอยู่ในอากาศด้วยฤทธิ์ แล้วกล่าวว่า อาวุโส อานนท์ พระศาสดาทรงรู้จักเรา พระศาสดาไม่ทรงห้ามภิกษุเช่นเรา ผู้จับสลากก่อนหรอก ดังนี้แล้วยื่นมือไปจับสลาก ท่านก็ได้ฉลากเป็นที่ ๑

กิจนิมนต์ของนางจุลสุภัททา

เรื่องเป็นเช่นเดียวกับเรื่องของนางมหาสุภัททา ต่างกันที่นางจุลสุภัททา แต่งงานกับบุตรกาฬกเศรษฐี ณ นครสาเกตเท่านั้น

กิจนิมนต์ของพระปุณณเถระ

เล่ามาว่า ในแคว้นสุนาปรันตะ มีสองพี่น้องในหมู่บ้านพ่อค้าแห่งหนึ่ง ชื่อปุณณะ และ จุลปุณณะ ในสองพี่น้องนั้น บางทีพี่ชายก็นำเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปชนบทแล้วก็บรรทุกสินค้ามา บางทีก็น้องชายเป็นผู้ทำ ส่วนในครั้งนี้ ปุณณะผู้พี่ชายให้น้องชายอยู่เฝ้าบ้าน แล้วตัวเองก็นำเอาเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวไปตามหัวเมือง มาถึงกรุงสาวัตถี โดยลำดับ พักกองเกวียนอยู่ใกล้ ๆ พระเชตวัน กินอาหารมื้อเช้าแล้ว นั่งพักผ่อนตามสบาย

สมัยนั้น ชาวกรุงสาวัตถี กินอาหารมื้อเช้าแล้ว อธิษฐานองค์อุโบสถ สวมเสื้อสะอาด ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น แล้วพากันออกไปทางประตูทิศใต้ไปสู่พระเชตวัน เมื่อเขาเห็นคนเหล่านั้นเดินทางกันมาเป็นกลุ่ม จึงถามชายคนหนึ่งว่า พวกนี้ไปไหนกัน นี่นาย คุณไม่รู้อะไรเลยหรือ บัดนี้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก เพราะอย่างนี้แหละหมู่ชนพวกนี้ จึงพากันไปฟังธรรม กถาในสำนักของพระศาสดา เมื่อได้ยินคำว่า พุทธะ จากปากของชายคนนั้นเขาก็เกิดความเลื่อมใส เขาจึงพาบริวารของตนไปสู่วิหารกับหมู่ชนพวกนั้น ยืนอยู่ท้ายสุดของบริษัทฟังธรรมของพระศาสดาที่ กำลังแสดงธรรมอยู่ด้วยพระสุรเสียงที่ไพเราะ แล้วเกิดความเลื่อมใสอยากจะบวช ขึ้นมา เมื่อบริษัททั้งหลายกลับไปแล้ว ก็เข้าเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้ว ทูลอาราธนาเสวยพระกระยาหารในวันรุ่งขึ้น ในวันที่สองจึงให้สร้างปะรำ ตั้งอาสนะ ถวายมหาทานแด่พระสงฆ์มีองค์พระพุทธ เจ้าเป็นพระประมุข ในที่สุดภัตกิจ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับ ปุณณมาณพเมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วก็อธิฐานองค์อุโบสถ แล้วให้เรียกเจ้าหน้าที่คุมของมา บอกว่า ของเหล่านี้ได้จำหน่ายไปแล้ว จงให้สมบัตินี้แก่น้องชายฉัน แล้วก็บวชในสำนักพระศาสดา ตั้งหน้าตั้งตา ทำกัมมัฏฐาน ครั้งนั้น เมื่อท่านเอาในใส่ทำกัมมัฏฐานอยู่ กัมมัฏฐานก็ไม่ปรากฏ ต่อมาท่านจึงคิดว่า ชนบทนี้ไม่เหมาะแก่เรา อย่างไรเสีย เราต้องรับกัมมัฏฐาน ในสำนักพระศาสดาแล้วไปสู่ถิ่นเดิมของเรา จึงเมื่อท่านเที่ยวบิณฑบาตใน ตอนเช้าแล้ว ออกจากการหลีกเร้นในตอนบ่ายแล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอให้ทรงบอกกัมมัฏฐานแล้วจึงหลีกไป ต่อจากนั้นก็ไปวัดมกุฬการาม วัดนั้นอยู่ไม่ไกล ไม่ใกล้หมู่บ้านพ่อค้ามากนัก ไปมาสะดวกเงียบ ไม่มีเสียง พระเถระคิดว่า ที่นี้สำราญ จึงให้สร้างที่พักกลางคืนและกลางวันพร้อมกับที่จงกรม เป็นต้นแล้ว ก็เข้าพรรษาในที่นั้น

ต่อมาอีกวันหนึ่ง ภายในพรรษานั่นเอง มีพ่อค้า ๕๐๐ คน ตั้งใจว่า พวกเราจะออกทะเลไปค้าขาย จึงเอาสินค้าบรรทุกลงเรือ ในวันลงเรือ น้องชาย ของพระเถระเลี้ยงพระเถระแล้ว เมื่อจะไปได้เรียนท่านว่า ท่านขอรับ ขึ้นชื่อว่าทะเลหลวงมีอันตรายมากมายเหลือ จะประมาณได้ ขอให้ท่านช่วยสอดส่องพวกกระผมด้วย แล้วก็ลงเรือ ไปจนถึงเกาะหนึ่ง พวกพ่อค้าคิดว่า พวกเราจะกินอาหารเช้า แล้วก็พากันขึ้นเกาะ บนเกาะนั้นไม่มีอะไร มีแต่ป่าจันทน์ทั้งนั้น ตอนนั้นคนหนึ่งเอามีดฟันต้นไม้ ก็รู้ว่าเป็นจันทน์แดง จึงกล่าวว่านี่ แน่ะ พวกเราไปสู่ทะเลอื่นก็เพื่อประสงค์จะได้ทรัพย์ การได้มาที่นี้นั้น จะหาลาภที่ยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ก็ไม้ท่อนขนาดยาว ๔ นิ้ว ก็ราคาตั้งแสนแล้ว แล้วพวกเขาก็เอาไม้จันทน์บรรทุกจนเต็มลำเรือ

พวกอมนุษย์ที่สิงในป่าจันทน์โกรธ พากันคิดว่า คนพวกนี้มันทำป่าจันทน์ของพวกเราให้ฉิบหายแล้ว พวกเราจะฆ่าพวกมัน แล้วพูดว่า เมื่อพวกมันถูกฆ่าในที่นี้ ป่าทั้งหมดก็จะกลายเป็นป่าช้าไป พวกเราจะ ให้เรือมันจมกลางทะเล แล้วต่อมาในเวลาที่คนพวกนั้นขึ้นเรือแล้วแล่นไปได้ครู่ เดียวเท่านั้น ก็ทำให้เกิดพายุลงอย่างแรง แล้วพวกอมนุษย์เหล่านั้นเองก็พากัน แสดงรูปที่น่ากลัวต่าง ๆ นานา พวกคนก็กลัวพากันไหว้เทพเจ้าของตน ๆ จุลปุณณะ น้องชายพระเถระคิดว่า ขอให้พี่ชายของข้าจงเป็นที่พึ่งด้วย เถิดแล้วก็ยืนระลึกถึงพระเถระอยู่

ในขณะนั้นเอง พระเถระพิจารณาดูก็ได้ทราบว่าพวกเขา กำลังตกอยู่ในความฉิบหาย จึงเหาะขึ้นสู่ฟ้ามายืนอยู่ตรงหน้าพวกอมนุษย์ พวกอมนุษย์เห็นพระเถระพูดว่า พระคุณเจ้าปุณณเถระมา แล้วพากันหลีกไป พายุร้ายก็สงบทันที พระเถระปลอบคนเหล่านั้นว่า ไม่ต้องกลัว แล้วถามว่า อยากจะไปไหนกัน พวกกระผมจะไปที่เดิมของตัวเองนั่นแหละครับท่าน พระเถระเหยียบแผ่นเรือแล้วอธิษฐานว่า จงไปสู่ที่ที่คนพวกนี้ต้องการ พวกพ่อค้าเมื่อไปถึงที่ของตนแล้ว ก็เล่าเรื่องนั้นให้ลูกเมียฟังแล้วชวนว่า มาเถิด พวกเราจงถึงพระ เถระเป็นที่พึ่งเถิด พ่อค้าทั้ง ๕๐๐ คน พร้อมกับพวกแม่บ้านของตนอีก ๕๐๐ คน ตั้งอยู่ในสรณะสาม ประกาศตัวเป็นอุบาสก ต่อจากนั้นก็ให้ขนสินค้าลงจากเรือ แบ่งถวายพระเถระส่วนหนึ่ง แล้วเรียนท่านว่า ท่านครับ นี้เป็นส่วนของพระคุณท่าน

พระเถระตอบว่า อาตมาไม่มีส่วนด้วยหรอก แต่พวกคุณเคยเห็นพระศาสดาแล้วหรือ.   พ่อค้าตอบว่า ยัง ไม่เคยเห็นเลยท่าน.  พระเถระ ถ้าอย่างนั้นขอให้พวกคุณเอา ส่วนนี้ไปสร้างโรงปะรำถวายพระศาสดา แล้วพวกคุณจะได้เห็นพระศาสดา.  พวกพ่อค้านั้นก็รับว่า ดีแล้วท่าน แล้วก็เริ่มสร้างโรงปะรำด้วยทรัพย์ส่วนนั้น และเพิ่มด้วยส่วนของตนอีกมาก

พวกอุบาสกช่วยกันสร้างโรงปะรำและเสนาสนะสำหรับพระภิกษุสงฆ์จนสำเร็จ แล้วเตรียมเครื่องทาน แล้วกราบเรียนพระเถระว่า พระคุณเจ้า พวกกระผม ได้ทำกิจเสร็จแล้ว ขอให้พระคุณเจ้าโปรดทูลพระศาสดามาเถิด ตอนบ่าย พระเถระไปถึงกรุงสาวัตถีด้วยฤทธิ์แล้วกราบทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชาวหมู่บ้านพ่อค้าอยากเฝ้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ได้โปรดกระทำอนุเคราะห์แก่พวกเขาเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว พระเถระทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้วก็กลับไปยังถิ่นของตนตามเดิม

พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาสั่งว่า อานนท์ พรุ่งนี้พวกเราจะเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านพ่อค้าในแคว้นสุนาปรันตะ เธอจง ให้สลากแก่ภิกษุขีณาสพ ๔๙๙ รูป พระเถระสนองพระพุทธบัญชาว่า ดีแล้ว พระ เจ้าข้า แล้วจึงบอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุสงฆ์ แล้วพูดว่า ขอให้พวกภิกษุที่เป็นปุถุชนจงอย่าจับฉลาก ในวันนั้นท่านกุณฑธานเถระ ก็จับสลากได้ที่ ๑

พระศาสดาทรงทำเรื่องนั้นให้เป็นอรรถอุบัติเหตุเกิดเรื่อง จึงทรงสถาปนาพระกุณฑธานเถระ (1-) ไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้จับสลากได้ที่ ๑ ในศาสนาแล

(1-) ฉบับพม่าเป็น โกณฑธานเถระ

เรื่องกล้วยๆ ของกล้วยๆ แต่มีอานิสงส์มากพระกุณฑธานเถระ เอตทัคคะมหาสาวกในทางผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง






Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: