พุทธกิจประจำวัน 5 ประการ ในแต่ละวันพระพุทธเจ้าทรงทำอะไรบ้าง
พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวัน มี ๕ อย่าง คือ
๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ = เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ = เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ = เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ
๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ = เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา
๕. ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ = จวนสว่าง ทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถและที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรมอันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่
(สรุปท้ายว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว. พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ ๕ ประการนี้ให้หมดจด)
"พุทธกิจประจำวัน ๕ ประการ และพุทธจริยา ๓ ประการ" งานการสอนธรรม เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า เป็นงานที่ละเอียดประณีต เพราะทรงมุ่งให้เป็นธรรมที่เกื้อกูลแก่คนทั้งปวงและอำนวยผลให้เป็นความสุข พระพุทธเจ้า จึงทรงมีกิจหลักที่เรียกว่าพุทธกิจ ในแต่ละวันทรงมีพุทธกิจหลัก ๕ ประการ เพื่อบำเพ็ญพุทธจริยา ๓ ประการ เพื่อบำเพ็ญพุทธจริยา ๓ ประการ ของพระพุทธเจ้าให้สมบูรณ์ คือ
พุทธจริยาประการที่หนึ่ง โลกัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ในฐานะที่พระองค์เป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคมโลก ความสำเร็จในจริยาข้อนี้ทรงอาศัยพุทธกิจ ประจำวัน ๕ ประการคือ
- พุทธกิจประการที่ ๑ เวลาเช้าเสด็จออกบิณฑบาต เพื่อเป็นการโปรดสัตว์โลกผู้ต้องการบุญ
- พุทธกิจประการที่ ๒ ในเวลาเย็นทรงแสดงธรรมแก่คนผู้สนใจในการฟังธรรม
- พุทธกิจประการที่ ๓ ในเวลาค้ำทรงประทานพระโอวาทให้กรรมฐานแก่ภิกษุทั้งหลาย
- พุทธกิจประการที่ ๔ ในเวลาเที่ยงคืน ทรงแสดงธรรม และตอบปัญหาแก่เทวดาทั้งหลาย
- พุทธกิจประการที่ ๕ ในเวลาใกล้รุ่ง ทรงตรวจดูสัตว์โลกที่อาจจะรู้ธรรมซึ่งประองค์ทรงแสดง แล้วได้รับผลตามสมควรแก่อุปนิสัยบารมีของคนเหล่านั้น
พุทธกิจประการที่ ๕ นี้เอง เป็นจุดเด่นในการทำงานของพระพุทธเจ้า จนทำให้ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา บางคนมีความรู้สึกว่าทำไมคนแต่ก่อนสำเร็จกันง่ายเหลือเกิน ถ้าศึกษารายละเอียดแล้วจะพบว่าไม่มีคำว่าง่ายเลย เพราะนอกจากจะอาศัยวาสนาบารมีของคนเหล่านั้นเป็นฐานอย่างสำคัญแล้ว การแสดงธรรมของพระองค์นั้น เป็นระบบการทำงานที่มีการศึกษาข้อมูล การประเมินผล การสรุปผลในการแสดงธรรมทุกคราว
หลังจากที่บุคคลนั้น ๆ ปรากฏในข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าคือทรงรู้ว่าเขาเป็นใคร ? มีอุปนิสัยบารมีอย่างไร ? แสดงธรรมอะไรจึงได้ผล ? หลังจากแสดงธรรมแล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไร ?
ดังนั้นการแสดงธรรมทุกครั้งของพระพุทธองค์ จึงบังเกิดผล เป็นอัศจรรย์เพราะจะทรงแสดงเฉพาะแก่ผู้เป็นพุทธเวไนย คือสามารถแนะนำให้รู้ได้เป็นหลัก
พุทธจริยาประการที่สอง ญาตัตถจริยา ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ
เช่นการทรงมีพระพุทธานุญาตพิเศษ ให้พรญาติของพระองค์ ที่เป็นเดียรถีย์ (นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา) มาก่อน ให้เข้าบวชในพระพุทธศาสนาได้ โดยไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาสก่อน (ติตถิยปริวาส คือ วิธีอยู่กรรมสำหรับเดียรถีย์ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา จะต้องประพฤติปริวาส (การอยู่ชดใช้หรืออยู่กรรม) ก่อน ๔ เดือน หรือจนกว่าพระสงฆ์พอใจจึงจะอุปสมาบทได้)
หรือการที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ทรงแนะนำให้พระญาติซึ่งกำลังจะทำสงครามกันได้เข้าใจในเหตุผล สามารถปรองดองกันได้
พุทธจริยาประการที่ ๓ พุทธัตถจริยา ทรงทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า เช่น ทรงวางสิกขาบทเป็นพุทธอาณา สำหรับควบคุมความประพฤติของผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ทรงแนะนำให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตน ทรงวางพระองค์ต่อผู้ที่เข้ามาบวชและแสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา ในฐานะของบิดากับบุตร ผู้ปกครองกัลยาณมิตร ศาสดาผู้เอ็นดูเป็นต้น ตามสมควรแก่บุคคลและโอกาสนั้น ๆ จนสามารถประดิษฐานเป็นรูปสถาบันศาสนาสืบต่อกันมาได้
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 147
0 comments: