ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑)
คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์
นำร่อง
ถ้าเอ่ยคำว่า “นอสตราดามุส” หลายท่านคงจะร้องอ๋อ และทราบดีว่า นั่นคือนักทำนายเหตุการณ์ในอนาคตของโลก เป็นชาวฝรั่งเศส เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๐๔๖ และถ้าเอ่ยคำว่า “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” บางท่านคงจะพอนึกออกถึงถ้อยคำที่กล่าวกันว่า “กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจมชล”
แต่ถ้าผมจะเอ่ยคำว่า “ทำนายปัตถเวน” ก็เชื่อได้ว่าทุกท่านคงจะงงมาก เพราะไม่เคยได้ยินชื่อ แม้แต่หน้าตาของคำว่า “ปัตถเวน” นี่เองก็ดูพิลึกอยู่ ถ้าผมจะบอกว่า “ทำนายปัตถเวน” นี่แหละคือการทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์ของโลก และเป็นคำทำนายที่โคตรแม่น ท่านจะเชื่อหรือไม่?
เรื่องการทำนายอนาคตของบ้านเมืองนั้น ผมเชื่อว่าคงจะมีอยู่ด้วยกันแทบทุกชาติทุกภาษา แต่เรื่องที่ผมจะเล่าสู่กันฟัง (หรือเขียนสู่กันอ่าน) ต่อไปนี้ ไม่มีความประสงค์ที่จะรวบรวมคำทำนายของชาติต่างๆ มาไว้เป็นตำราทำนายฝัน แต่จะขอกล่าวถึงเรื่องทำนายปัตถเวนเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น
ผมจำได้ว่า เคยอ่านหนังสือทำนายปัตถเวนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่คงจะเป็นเด็กที่อ่านหนังสือออกแล้ว นั่นคือ ประมาณ ๖๐ กว่าปีมาแล้ว
จำได้ว่าทำนายปัตถเวนเล่มที่อ่านนั้นมีภาพประกอบด้วย ที่ยังนึกภาพออกก็คือ ภาพผู้ชายนั่งฟั่นเชือกหนังอยู่บนแคร่สูง ใต้ถุนแคร่มีสุนัขหมอบอยู่ตัวหนึ่ง ปลายเชือกหนังห้อยลงมาถึงพื้น และสุนัขตัวนั้นกำลังแทะกินเชือกหนังนั้นอยู่ ภาพประกอบพวกนี้รู้สึกว่าจะเป็นฝีมือ เหม เวชกร จิตรกรฝีมือชั้นครูของเมืองไทย
เนื้อเรื่องทำนายปัตถเวนนั้นผมเคยได้อ่านที่แต่งเป็นกลอน จำติดปากได้ ๒ วรรคว่า
“เทวดาที่รักษาพระศาสนา จะรักษาแต่ฝ่ายอกุศล”
(อีกหลายปีต่อมาจึงปรากฏว่าผมจำผิดไป เพราะกลอน ๒ วรรคนี้ไม่ได้อยู่ในเรื่องทำนายปัตถเวน หากแต่อยู่ในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งหลายตอนมีลีลาเนื้อหาเหมือนทำนายปัตถเวน)
ขณะที่เขียนเรื่องนี้ ผมหาหนังสือทำนายปัตถเวนที่เป็นคำกลอนไม่พบเสียแล้ว กลายเป็นหนังสือหายากเรื่องหนึ่ง เชื่อว่าคงไม่มีใครพิมพ์เผยแพร่บ่อยนัก
เมื่อปี ๒๕๓๐ ขณะที่ผมไปประจำอยู่ที่กรมทหารราบที่ ๓ กรมนาวิกโยธิน (ชื่อหน่วยในขณะนั้น) ค่ายจุฬาภรณ์ นราธิวาส เคยได้รับแจกหนังสือเล่มบางๆ เล่มหนึ่งในงานศพนายทหารประทวนนาวิกโยธินผู้หนึ่ง (พันจ่าเอก สมชัย วิริยะรัตนกุล) ซึ่งเสียชีวิตในขณะออกปฏิบัติหน้าที่ หนังสือเล่มนั้นชื่อ “พุทธทำนาย” เป็นคำกลอนที่ผมเคยอ่าน และเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องทำนายปัตถเวน แต่ข้อความที่นำมาพิมพ์รู้สึกว่าไม่สู้จะสมบูรณ์เป็นบางแห่ง แล้วตอนนี้ผมก็หาหนังสือเล่มนั้นไม่พบอีกเช่นกัน
ตอนที่ผมกำลังลงมือเขียนเรื่องนี้ มีพรรคพวกมาบอกว่า หนังสือเรื่องพุทธทำนายกำลังวางตลาดอยู่ แต่มาในชื่อใหม่ว่า “เหตุเกิดที่ภาราสาวะถี” ผมได้ฟังก็รีบไปซื้อหามาอ่านดูทันที จึงได้ทราบว่าหนังสือเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับทำนายปัตถเวนที่ผมเคยอ่านเมื่อเป็นเด็ก ภาพประกอบก็เป็นชุดเดียวกัน ฝีมือ เหม เวชกร จริงดังที่ผมระลึกได้ ท่านผู้เขียนคือ ศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี นักเขียนพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง แต่ว่าเรื่อง “เหตุเกิดที่ภาราสาวะถี” นี้ ไม่ใช่ทำนายปัตถเวนที่เป็นคำกลอนที่ผมเคยอ่าน หากแต่เป็นบทบรรยายธรรมดา
เมื่อผมอ่านดูโดยตลอดแล้วก็ค่อยโล่งใจ ที่ต้องโล่งใจก็เพราะท่วงทำนองการเขียนใน “เหตุเกิดที่ภาราสาวะถี” ไม่ใช่อย่างที่ผมกำลังคิดจะเขียน
คือว่า “เหตุเกิดที่ภาราสาวะถี” มีท่วงทีเป็นจินตนิยาย มีพรรณนาภูมิสถานบ้านเมือง ตลอดจนเหตุการณ์และความเป็นไปต่างๆ มีตัวละครและคำสนทนาในเชิงนิยาย แล้วไปจบลงตรงความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลและคำตรัสพยากรณ์ของพระพุทธองค์เป็นตอนๆ ไป จะว่าไปแล้วข้อความในเรื่องดูจะหนักไปในทางพรรณนาเรื่องประกอบมากกว่าความฝันและคำทำนายฝัน เฉพาะคำทำนายหรือพุทธพยากรณ์ก็บอกไว้ตรงๆ สั้นๆ ไม่มีคำวิจารณ์หรืออธิบายขยายความแต่ประการใด
เพราะฉะนั้น “คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์” ที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ จึงไม่เหมือน “เหตุเกิดที่ภาราสาวะถี” ของท่านศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี และไม่เป็นการเอาเรื่องมาเขียนซ้ำซ้อนแต่ประการใด
ถ้าจะว่า “เหตุเกิดที่ภาราสาวะถี” เป็นตัวบท ส่วน “คำทำนายฝันครั้งประวัติศาสตร์” เป็นอรรถกถาหรือฎีกาสำหรับอ่านประกอบกัน ก็คงจะพอไปได้กระมัง
ตอนที่ได้อ่านเรื่องทำนายปัตถเวนเมื่อยังเป็นเด็กนั้น ผมไม่รู้สึกอะไรมากไปกว่าเป็นเรื่องทำนองนิยายนิทาน ถ้าจะคิดอะไรบ้างก็คิดแต่เพียงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีคนแต่งขึ้นและคงจะแต่งกันในเมืองไทยนี่เอง อายุที่แต่งก็คงไม่เกินสมัยรัตนโกสินทร์นี่แหละ เพราะสำนวนกลอน (ฉบับที่เป็นคำกลอน) ยังพออ่านเข้าใจได้ง่าย ไม่มีศัพท์แสงเก่าแก่อะไรนัก
ต่อมา เมื่อผมได้ศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนากว้างขึ้นมาหน่อย ก็ไปพบเรื่องทำนายปัตถเวนเข้าในคัมภีร์ที่ใช้ประกอบการเรียน จึงเกิดความสนใจขึ้น ถึงกับต้องหยิบเอาความคิดความเข้าใจในเรื่องนี้ของตัวเองขึ้นมาชำระสะสางกันใหม่
ข้อแรก คือเนื้อหาของเรื่อง ที่ผมเคยรู้สึกว่าเป็นเรื่องทำนองนิยายนิทานนั้น ต้องปรับความคิดใหม่ว่าไม่ใช่เช่นนั้นเสียแล้ว เพราะเนื้อหาของเรื่องเป็นการทำนายสภาพของสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องนิยายนิทานที่เล่ากันสนุกๆ
ข้อสอง คือแหล่งที่มาของเรื่อง ผมเคยเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่แต่งในเมืองไทย ก็คงจะไม่ถูกอีก เพราะคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องนี้เป็นคัมภีร์ภาษาบาลี และไม่ได้แต่งในเมืองไทย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ได้แต่งในกรุงเทพฯ แน่ๆ สำนวนกลอนเรื่องทำนายปัตถเวนที่ผมเคยอ่านนั้นอาจจะแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์จริง แต่เนื้อหาสาระเป็นของมีมาเก่าแก่ ไม่ใช่เพิ่งจะมาคิดผูกเรื่องขึ้นในสมัยนี้
ข้อสาม คืออายุของเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์แน่นอน เพราะคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องนี้แต่งก่อนสมัยรัตนโกสินทร์
ก็เห็นจะต้องเริ่มต้นกันที่คัมภีร์ต้นฉบับของเรื่องนี้แหละครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย, ๒๙ เมษายน ๒๕๖๓, ๑๑:๐๗
ช่วงวันเวลาที่คนไทยต้องร่วมกันให้กำลังใจหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและของโลก
ทำนายปัตถเวน - คำทำนายที่โคตรแม่น (ตอน ๑), (ตอน ๒), (ตอน ๓), (ตอน ๔), (ตอน ๕), (ตอน ๖), (ตอน ๗), (ตอน ๘), (ตอน ๙), (ตอน ๑๐), (ตอน ๑๑), (ตอน ๑๒), (ตอน ๑๓), (ตอน ๑๔), (ตอน ๑๕), (ตอน ๑๖), (ตอน ๑๗), (ตอน ๑๘), (ตอน ๑๙), (ตอน ๒๐), (ตอน ๒๑), (ตอน ๒๒), (ตอน ๒๓)
0 comments: