วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564

"ศึกษากิจวัตร(ประจำวัน)ของพระพุทธเจ้า" โดย พุทธทาสภิกขุ

"ศึกษากิจวัตร(ประจำวัน)ของพระพุทธเจ้า"  โดย พุทธทาสภิกขุ

ปุพฺพณฺเห  ปิณฺฑปาตญฺจ  สายณฺเห  ธมฺมเทสนํ = พระพุทธเจ้าตื่นขึ้นต้องไปบิณฑบาต เพื่อโปรดสัตว์ เพื่อหาโอกาสพบใคร แล้วจะพูดจากับเขา นั่นเราเรียกว่า “โปรดสัตว์”

คําว่า “บิณฑบาต” นี้ ตั้งแต่เช้าจนเที่ยงหรือจนบ่าย. พระพุทธเจ้าอยู่ที่วัดใดวัดหนึ่ง อารามใดอารามหนึ่ง เช้าก็ออกบิณฑบาต, ถ้ายังเช้าเกินไปก็แวะเข้าไปในวัดพวกที่ตรงกันข้าม เช่น เดียรถีย์อย่างนี้ ไปโต้กับเขา เพื่อจะช่วยเขา ก็เรียกว่าอยู่ใน “เที่ยวโปรดสัตว์”ในระหว่างบิณฑบาต แล้วไปบิณฑบาตตามบ้านเรือนนั้นเพื่อโปรดสัตว์ เพื่อต้องพูดจา, การไปรับอาหารนั้น ต้องพูดกับเจ้าของบ้าน ไม่ใช่ทําอย่างพวกเราเดินหลับตาถือบาตรไปเขาใส่ให้แล้วก็ไปต่อไป อย่างนี้

บิณฑบาตครั้งพุทธกาลนั้น เหมือนแบบที่เราจะสาธิตให้ดู ไปถึงบ้านแล้วก็เอาบาตรให้เขาไป เขาไปจัดอาหารลงในบาตรอยู่ในครัว อยู่ทางนี้ก็พูดกับเจ้าของบ้าน พ่อบ้าน ; บางทีก็ฉันที่นั่น แล้วก็พูดกันมาก ฉันแล้วก็อนุโมทนา หมายความว่าพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดแก่เจ้าของบ้าน ให้กล้าหาญในการที่จะมีธรรมะ ให้ร่าเริงในการที่จะมีธรรมะ ให้มีหูตาสว่างขึ้น อย่างนี้เรียกว่า “โปรดสัตว์” ; แล้วก็กว่าจะสายกว่าจะเที่ยง จึงจะไปพักผ่อนหลบร้อนอยู่ที่ไหน แล้วกลับไปที่อาราม อย่างนี้ก็มีโอกาสจะพบคนนั้นพบคนนี้เรื่อยไป ไปนั่งพักผ่อนกลางวันที่ไหนก็ยังมีคนตามไปคุยด้วย ปรากฏอยู่ในพระบาลี ในสูตร ในพระไตรปิฎก เยอะแยะ.

สายณฺเห  ธมฺเทสนํ =  ตอนเย็นพบปะกันพร้อมหน้ากับภิกษุทั้งหลายอยู่ที่ในอารามนั้น ก็พูดจาเฉพาะกับภิกษุที่อยู่ในอารามนั้น เขาเรียกว่า  สายณฺเห  ธมฺมเทสนํ,  แล้วพูดกับชาวบ้านที่ตามไปที่นั่น  ปโทเส  ภิกฺขุ โอวาทํ  = หัวค่ำพูดกับภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งเป็นการให้โอวาทเฉพาะเรื่องเฉพาะกรณี อะไรนี้.

พอตอนดึก แก้ปัญหาเทวดา เพราะว่าพวกเทวดานี้มาแต่ตอนกลางคืนแล้วก็ค่อนไปข้างดึก; เทวดาจะมาจากบนสวรรค์ที่ไหนก็ตามใจ แต่เรื่องที่ปรากฏอยู่ในพระบาลี(ไตรปิฎก)แล้ว มีพระเจ้าแผ่นดินแห่งประเทศนั้นแหละไปเฝ้าพระพุทธเจ้าตอนดึก เพราะกลางวันมันยุ่ง, หัวค่ำก็ยังไม่เสร็จเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องอะไรก็ได้. ใช้คําว่า  อฑฺฒรตฺเต  เทวปญฺหนํ  = อัฑฒรัตเต แปลว่า เที่ยงคืน แก้ปัญหาเทวดา.

ไปเปิด  “สามัญญผลสูตร”  ทีฆนิกาย สูตรที่ ๒ ดู ก็มีเรื่อง พระเจ้าอชาตศัตรู ไปเฝ้าเวลากลางคืน มีเรื่องมาก แล้วปรากฏชัดอยู่ที่ว่า ต้องเอากองทัพไปด้วย ต้องมีคบเพลิงสว่างไสว ; เพราะว่าพระราชาทั้งหลายเป็นผู้มีเวรมีภัยมาก ศัตรูจะทําอันตรายอยู่เสมอ ฉะนั้น จึงต้องมีการคุ้มครองใหญ่หลวง พระราชาไปเวลาดึกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็พูดกันจนหมดเรื่องราว. นี้ก็รวมอยู่ในพวก  อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ  นั้น ในบาลีมีอยู่อย่างนี้ ; แต่ในอรรถกถาเขามักจะพูดว่า เทวดาลงมาจากสวรรค์มาพูดกับพระพุทธเจ้า

ทีนี้ ก็ถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงพักผ่อน ๓-๔ ชั่วโมง, ปจฺจุเสกาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ = ก่อนสว่างก็ ภพฺพาภพฺเพ ดูสัตว์ทั้งหลายที่ ภัพพะ และ อาภัพพะ, ภัพพะ ก็คือว่า สัตว์อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมแล้ว สมควรแล้วที่จะฟังเรื่องนี้, อาภัพพะ ก็ยังไม่สมควรที่จะฟังเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าเล็งญาณส่องโลกไปทั่วโลก ว่าสัตว์ไหน หมู่ใด คนใด สมควรแล้วที่จะฟังเรื่องนี้ ท่านก็ไปบิณฑบาตที่นั่น ในเวลาสว่างขึ้นมา. นี่เรียกว่าทํางานตลอด ๒๔ ชั่วโมงก็ได้

ผู้ที่เป็น “สันยาสี” อย่างพระพุทธเจ้า เอาแรงงานทางจิตที่ไหนมาทํางานมากอย่างนี้ ก็อาศัยอํานาจของ“สุญญตาธรรม” ที่สร้างความเมตตากรุณาขึ้นมาได้, หรือว่าอํานาจเมตตากรุณาที่เหลืออยู่เป็นแรงงานเหลือ. ที่เรียกว่า momentum หรืออะไรทํานองนั้น ก็มาจากสุญญตา, เมตตาแม้ที่เป็นชั้นโลกียะก็เป็นสิ่งที่มาจากสุญญตา คือเห็นความว่าง ความไร้สาระ จึงจะรักผู้อื่นได้. นี้เราเรียกว่า “สุญญตา” หล่อเลี้ยงความเป็นสันยาสีจนวาระสุดท้าย”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายชุดสุญญตาธรรม ครั้งที่ ๘ หัวข้อเรื่อง “สุญญตาธรรมสำหรับวนปรัสถ์และสันยาสี” เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “สุญญตาปริทรรศน์ เล่ม ๒” หน้า ๔๒๙-๔๓๒

พุทธกิจประจำวัน 5 ประการ ในแต่ละวันพระพุทธเจ้าทรงทำอะไรบ้าง





post written by:

0 comments: