คุณชาตกํ - ว่าด้วยมิตรธรรม
"เยน กามํ ปณาเมติ, ธมฺโม พลวตํ มิคี; อุนฺนทนฺตี วิชานาหิ, ชาตํ สรณโต ภยํ ฯ
ผู้เป็นใหญ่ย่อมขับไล่ผู้น้อยได้ตามความต้องการของตน นี่เป็นธรรมดาของผู้มีกำลัง นางมฤคีผู้มีฟันคมแหลมของท่าน ได้คุกคามบุตรและภรรยาของเรา ขอท่านจงทราบเถิด ภัยเกิดแต่ที่พึ่งแล้ว."
"อปิ เจปิ ทุพฺพโล มิตฺโต, มิตฺตธมฺเมสุ ติฏฺฐติ; โส ญาตโก จ พนฺธุ จ, โส มิตฺโต โส จ เม สขา; ทาฐินิมาติมญฺญิตฺโถ [1], สิงฺคาโล มม ปาณโทติ ฯ
ถ้าผู้ใด เป็นมิตรแม้จะมีกำลังน้อย แต่ตั้งอยู่ในมิตรธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นมิตร และเป็นสหายของเรา แน่ะนางมฤคี ท่านอย่าดูหมิ่นสหายของเราอีกนะ เพราะว่า สุนัขจิ้งจอกตัวนี้ให้ชีวิตเราไว้."
1) [มญฺญิโว (สฺยา.), มญฺญวฺโห (ก.)]
อรรถกถาคุณชาดกที่ ๗
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภพระอานนทเถระได้ผ้าสาฎกพันผืน ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า เยน กามํ ปณาเมติ ดังนี้.
เรื่องพระเถระบอกธรรมภายในพระราชวังของพระเจ้ากรุงโกศลมาแล้วในมหาสารชาดก(ชา. ๑.๑.๙๒)ในตอนหลัง พระเถระเมื่อบอกธรรมอยู่ภายในพระราชวังของพระราชาได้มีผู้นำผ้าสาฎกพันผืน ราคาผืนละพันมาถวายแด่พระราชาพระราชาได้พระราชทานผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืนแก่พระเทวี ๕๐๐ นางทุก ๆนางเก็บผ้าสาฎกเหล่านั้นไว้ ในวันรุ่งขึ้นได้นำไปถวายแด่พระอานนทเถระ ตนเองห่มผ้าสาฎกเก่า ๆไปเฝ้าปฏิบัติ พระราชาในตอนเช้า.
พระราชาตรัสถามว่า เราให้ผ้าสาฎกราคาตั้งพันแก่พวกเจ้า เพราะเหตุไรพวกเจ้าจึงไม่ห่มผ้าเหล่านั้นมา. ขอเดชะฝ่าละอองทุลีพระบาท พวกหม่อมฉันได้ถวายผ้าเหล่านั้นแก่พระเถระเสียแล้วเพคะ. พระอานนทเถระรับไว้ทั้งหมดหรือ. รับไว้ทั้งหมดเพคะ.
พระราชาทรงกริ้วพระเถระว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตจีวรเพียง ๓ ผืน พระอานนทเถระเห็นจักทำการค้าผ้าท่านจึงรับผ้าไว้มากมายนัก เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้วจึงเสด็จไปพระวิหาร เสด็จไปยังที่อยู่ของพระเถระทรงนมัสการพระเถระแล้วประทับนั่ง. ตรัสถามว่า „พระคุณเจ้า พวกหญิงในเรือนของข้าพเจ้ายังฟังธรรมหรือเรียนธรรมในสำนักของท่านอยู่หรือ? พระเถระกล่าวตอบว่า „ยังฟังธรรมหรือเรียนธรรมอยู่ พวกหญิงเหล่านั้นเรียนสิ่งที่ควรเรียน ฟังสิ่งที่ควรฟังถวายพระพร.“
„พวกเธอฟังเท่านั้นหรือถวายผ้านุ่งผ้าห่มแก่พระคุณเจ้าด้วย?.“ „ขอถวายพระพร วันนี้พวกหญิงเหล่านั้นได้ถวายผ้าสาฎกราคาหนึ่งพันประมาณ ๕๐๐ ผืน“.
„พระคุณเจ้ารับไว้หรือ?." „ขอถวายพระพรอาตมารับไว้.“ „พระคุณเจ้า! พระศาสดาทรงอนุญาต ผ้าไว้เพียง ๓ ผืนเท่านั้นมิใช่หรือ.?“ „ขอถวายพระพรถูกแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตจีวร ๓ ผืนเท่านั้นแก่ภิกษุรูปหนึ่งโดยหลักการสำหรับใช้ แต่มิได้ทรงห้ามการรับ เพราะฉะนั้น อาตมารับผ้านั้นไว้ก็เพื่อถวายแก่ภิกษุซึ่งมีจีวรเก่ารูปอื่น.“
„ก็ภิกษุเหล่านั้นได้ผ้าไปจากพระคุณเจ้าแล้ว จักทำอะไรกับจีวรผืนเก่า?.“ „ขอถวายพระพรจักทำจีวรผืนเก่าเป็นผ้าห่ม.“
„พระคุณเจ้า ผ้าห่มผืนเก่าเล่าจักทำเป็นอะไร?.“ „ขอถวายพระพรจักทำเป็นผ้านุ่ง.“ „พระคุณเจ้า ผ้านุ่งผืนเก่าเล่าจักทำเป็นอะไร?.“ „ขอถวายพระพรจักทำเป็นผ้าปูนอน.“
„พระคุณเจ้าผ้าปูนอนผืนเก่าเล่าจักทำเป็นอะไร?.“ „ขอถวายพระพร จักทำเป็นผ้าปูพื้น.“ „พระคุณเจ้าผ้าปูพื้นผืนเก่าเล่าจักทำเป็นอะไร?." „ขอถวายพระพรจักทำเป็นผ้าเช็ดเท้า.“
„พระคุณเจ้าผ้าเช็ดเท้าผืนเก่าเล่า จักทำเป็นอะไร?.“ „ขอถวายพระพร ธรรมดาของที่ถวายด้วยศรัทธาจะทำให้เสียไปไม่ควร เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายจักสับผ้าเช็ดเท้าผืนเก่า ผสมกับดินเหนียวฉาบทาที่เสนาสนะ.“ „พระคุณเจ้าของที่ถวายท่านแล้วย่อมไม่ได้ความเสียหาย โดยที่สุดแม้กระทั่งผ้าเช็ดเท้าหรือ?.“ „ขอถวายพระพรถูกแล้วแม้ผ้าที่ถวายอาตมาก็มิได้เสียหายย่อมเป็นของใช้สอยทั้งนั้น.“
พระราชาทรงชื่นชมโสมนัสยิ่งนักรับสั่งให้จ่ายผ้าอีก ๕๐๐ ผืนที่เก็บไว้ในพระตำหนักมาถวายพระเถระ ครั้นทรงฟังอนุโมทนาแล้วจึงทรงนมัสการพระเถระกระทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ. พระเถระก็ได้ถวายผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืนที่ได้มาครั้งแรกแก่ภิกษุผู้มีจีวรเก่า. อนึ่งพระเถระมีสัทธิงวิหาริกอยู่ประมาณ ๕๐๐.
บรรดาท่านเหล่านั้นภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งมีอุปการะแก่พระเถระมาก เช่นกวาดบริเวณสถานที่ เข้าไปตั้งน้ำใช้น้ำฉันถวายไม้สีฟัน น้ำล้างหน้าและน้ำสรง ชำระล้างวัจจกุฏี จัด เรือนไฟและเสนาสนะ. นวดมือ นวดเท้า นวดหลังเป็นต้น. พระเถระได้ถวายผ้า ๕๐๐ ผืน ที่ได้ครั้งหลังทั้งหมดแก่ภิกษุหนุ่มรูปนั้นด้วยเห็นเหมาะสมว่า ภิกษุหนุ่มรูปนี้เป็นผู้มีอุปการะมาก. แม้ภิกษุรูปนั้นก็ได้สบงผ้าเหล่านั้นทั้งหมด ถวายแก่ภิกษุผู้ร่วมอุปัชฌาย์ของตน.
ภิกษุทั้งหลายผู้ได้ผ้าสาฎกเหล่านั้นทั้งสิ้น ก็ตัดย้อมแล้วนุ่งและห่มผ้ากาสายะอันมีสีดุจดอกกรรณิกา พากันเข้าไปเฝ้าพระศาสดานั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า „ข้าแต่พระองค์ พระอริยสาวกชั้นโสดาบัน ยังมีการให้เห็นแก่หน้าอยู่หรือ?.“
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพระอริยสาวกให้เพราะเห็นแก่หน้านั้นไม่มี.“ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า „ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเถระผู้เป็นธรรมภัณฑาคาริก (คลังธรรม) อุปัชฌายะของข้าพระองค์ทั้งหลาย ให้ผ้าสาฎก ๕๐๐ ผืนราคาหนึ่งพันแก่ภิกษุรูปเดียวเท่านั้น แต่ ภิกษุหนุ่มรูปนั้นได้แบ่งผ้าที่ตนได้ให้แก่พวกข้าพระองค์พระเจ้าข้า.“
พระศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานนท์มิได้ให้แก่ภิกษุเพราะเห็นแก่หน้า แต่ว่า ภิกษุหนุ่มรูปนั้นมีอุปการะแก่เธอมาก เพราะฉะนั้น เธอคิดเห็นด้วยอำนาจอุปการะของผู้อุปการะแก่ตนว่า ขึ้นชื่อว่าผู้มีอุปการะเราควรทำอุปการะตอบด้วยอำนาจคุณและด้วยอำนาจการกระทำอันเหมาะสม จึงได้ให้ด้วยความกตัญญูกตเวที ด้วยประการฉะนี้. อันที่จริงบัณฑิตแต่ก่อนก็ยังทำอุปการะตอบแก่ผู้มีอุปการะแก่ตนเหมือนกัน" เมื่อภิกษุเหล่านั้นทูลอาราธนา จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสว่า :-
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นราชสีห์ อาศัยอยู่ในถ้ำเขา. วันหนึ่งราชสีห์นั้นออกจากถ้ำยืนอยู่บนยอดเขามองดูเชิงเขา. ได้มีสระใหญ่ล้อมรอบเชิงเขานั้น. ในที่ดอนแห่งหนึ่งของสระนั้น มีหญ้าเขียวอ่อนเกิดขึ้นบนหลังเปือกตมอันแห้ง. จำพวกเนื้อเล็ก ๆ เป็นต้นว่า กระต่าย แมวและสุนัขจิ้งจอกเที่ยวและเล็มหญ้าเหล่านั้นบนหลังเปือกตมแห้ง.
แม้ในวันนั้นเนื้อตัวหนึ่งก็เที่ยวและเล็มหญ้านั้น. ราชสีห์คิดว่า จักจับเนื้อนั้นกินเสีย จึงกระโดดลงจากยอดเขา วิ่งไปด้วยกำลังของราชสีห์. เนื้อกลัวตายส่งเสียงร้องหนีไป. ราชสีห์ไม่สามารถยั้งความเร็วไว้ได้ จึงตกจมลงไปเหนือเปือกตมแห้ง ไม่สามารถจะขึ้นได้. ได้ยืนปักเท้าทั้งสี่เหมือนเสา อดอาหารอยู่เจ็ดวัน.
ลำดับนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งเที่ยวหาอาหาร ครั้นเห็นราชสีห์นั้นเข้าจึงหนีไปด้วยความกลัว. ราชสีห์เห็นสุนัขจิ้งจอกจึงร้องเรียกแล้วพูดว่า „พ่อมหาจำเริญสุนัขจิ้งจอกอย่าหนีเลย. ข้าพเจ้าติดหล่ม. ช่วยข้าพเจ้าด้วยเถิด.“ สุนัขจิ้งจอกจึงวิ่งเข้าไปหาราชสีห์แล้วพูดว่า „ข้าพเจ้าจะช่วยยกท่านขึ้น แต่เมื่อข้าพเจ้ายกท่านขึ้นมาแล้วข้าพเจ้าเกรงว่า ท่านจะกินข้าพเจ้าเสียนะซิ.“ ราชสีห์พูดว่า „อย่ากลัวเลยข้าพเจ้าจะไม่กินท่านดอก. แต่ข้าพเจ้าจักสนองคุณท่านท่านจงหาทางยกข้าพเจ้าขึ้นเถิด.“
สุนัขจิ้งจอกรับคำปฏิญญาของราชสีห์แล้วจึงตะกุยเลนรอบเท้าทั้งสี่ ขุดเป็นลำรางสี่ตอนของเท้าทั้งสี่แล้วทำให้น้ำไหลเข้าไป. น้ำไหลเข้าไปทำให้เลนอ่อน. ขณะนั้นสุนัขจิ้งจอกจึงเข้าไประหว่างท้องของราชสีห์ ร้องบอกว่า „พยายามเถิดนาย“ เอาศีรษะดุนท้อง. ราชสีห์ออกกำลังโดดขึ้นจากหล่มวิ่งไปยืนอยู่บนบก.
ราชสีห์พักอยู่ครู่หนึ่ง จึงลงไปสู่สระอาบน้ำชำระโคลนตมหายเหนื่อยแล้วจึงฆ่าควายได้ตัวหนึ่ง จึงเอาเขี้ยวฉีกเนื้อวางไว้ข้างหน้าสุนัขจิ้งจอกพร้อมกับพูดว่า „กินเสียเถิดสหาย“ เมื่อสุนัขจิ้งจอกกินแล้ว ตัวจึงกินภายหลัง. สุนัขจิ้งจอกกัดชิ้นเนื้อชิ้นหนึ่งคายไว้.
ราชสีห์ถามว่า „ทำดังนี้เพื่อประสงค์อะไรสหาย?“ สุนัขจิ้งจอกตอบว่า „ทาสีของข้าพเจ้ายังมีอยู่ ชิ้นนี้จักเป็นส่วนของเธอ.“ ราชสีห์กล่าวว่า „เอาไปเถิด“ แม้ตนเองก็คาบเนื้อไปเพื่อนางราชสีห์แล้วกล่าวว่า „มาเถิดสหาย เราจักไปบนยอดเขา ไปยังที่อยู่ของนางสหายของเรา“ แล้วพากันไป ณ ที่นั้น ให้นางราชสีห์กินเนื้อแล้วปลอบสุนัขจิ้งจอกและนางสุนัขจิ้งจอกว่า „ตั้งแต่นี้ไป เราจักปฏิบัติท่าน“ แล้วนำไปยังที่อยู่ของตน ให้สุนัขจิ้งจอกสองผัวเมียอยู่ในถ้ำอีกถ้ำหนึ่งใกล้ประตูถ้ำ.
ตั้งแต่นั้นมาเมื่อราชสีห์ไปหาอาหาร ก็ให้นางราชสีห์และนางสุนัขจิ้งจอกอยู่เฝ้าถ้ำ ตนเองไปกับสุนัขจิ้งจอกฆ่าเนื้อต่างชนิด ทั้งสองตัวกินเนื้อด้วยกัน ณ ที่นั้นแล้วนำมาให้นางราชสีห์และนางสุนัขจิ้งจอก. เมื่อกาลเวลาผ่านไป นางราชสีห์คลอดลูกออกสองตัว. แม้นางสุนัขจิ้งจอกก็คลอดลูกออกสองตัวเหมือนกัน. สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด อยู่กลมเกลียวกันเป็นอย่างดี. อยู่มาวันหนึ่งนางราชสีห์ได้เฉลียวใจว่า „ราชสีห์นี้ดูรักนางสุนัขจิ้งจอกและลูกสุนัขจิ้งจอกเสียเหลือเกิน ชะรอยราชสีห์นี้จะมีการเชยชมกับนางสุนัขจิ้งจอกก็เป็นได้ จึงรักกันถึงอย่างนี้. ถ้ากระไรเราจะเบียดเบียนคุกคามให้สุนัขจิ้งจอกหนีไปจากที่นี้ให้ได้.“
ครั้นถึงเวลาที่ราชสีห์พาสุนัขจิ้งจอกไปหาอาหาร นางราชสีห์จึงเบียดเบียนคุกคามนางสุนัขจิ้งจอกว่า „ทำไมเจ้าจึงอยู่ในที่นี้? ไม่หนีไปเสีย.“ แม้ลูก ๆของนางราชสีห์ก็คุกคามลูก ๆ ของนางสุนัขจิ้งจอกเหมือนกัน. นางสุนัขจิ้งจอกจึงบอกเรื่องนั้นแก่สุนัขจิ้งจอกแล้วกล่าวว่า „เรารู้ไม่ได้ว่า นางราชสีห์นี้ได้ทำตามคำ ของราชสีห์ เราอยู่มานานแล้ว เรากลับไปที่อยู่ของเราเถิด.“
สุนัขจิ้งจอกฟังคำของนางสุนัขจิ้งจอก จึงเข้าไปหาราชสีห์กล่าวว่า „นาย เราอยู่ในสำนักของท่านมานานแล้ว ธรรมดาผู้ที่อยู่นาน ๆ นักย่อมไม่เป็นที่พอใจ ในเวลาที่เราออกไปหาอาหารกัน, นางราชสีห์เบียดเบียนขู่นางสุนัขจิ้งจอกว่า „ทำไม? เจ้าจึงอยู่ในที่นี้ไม่หนีไปเสีย. แม้ลูกราชสีห์ก็คุกคามลูกสุนัขจิ้งจอก ผู้ใด ไม่ชอบให้ผู้ใดอยู่ในสำนักตน ผู้นั้นพึงขับไล่เขาว่า จงไปเสียดีกว่า การรบกวนกันมีประโยชน์อะไร?“ แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :-
„ผู้เป็นใหญ่ย่อมขับไล่ผู้น้อยได้ตามความต้องการของตน นี่เป็นธรรมดาของผู้มีกำลัง นางมฤคีผู้มีฟันคมแหลมของท่านได้คุกคาม บุตรภรรยาของเรา ขอท่านจงทราบเถิด ภัยเกิด แต่ที่พึ่งแล้ว.“
ราชสีห์ได้ฟังคำของนางสุนัขจิ้งจอกแล้วจึงกล่าวกะนางราชสีห์ว่า „นี่แน่ะน้อง เมื่อครั้งกระโน้น เจ้ายังระลึกได้ไหมว่า เราไปหาอาหาร พอถึงวันที่เจ็ดได้มากับสุนัขจิ้งจอกและนางสุนัขจิ้งจอกนี้“. „จำได้จ้ะ.“ „เจ้ารู้ถึงเหตุที่เรามิได้มาตลอด ๗ วันหรือ.“ „ไม่รู้จ้ะ."
„นี้แน่น้อง เราไปด้วยตั้งใจว่า จักจับเนื้อสักตัวหนึ่งแล้วพลาดลงไปติดหล่ม ไม่อาจจะขึ้นมาได้จากนั้นได้ยืนอดอาหารอยู่ ๗ วัน. เรารอดชีวิตมาได้เพราะอาศัยสุนัขจิ้งจอกนี้. สุนัขจิ้งจอกนี้เป็นสหายช่วยชีวิตเรา. จริงอยู่ ผู้สามารถจะตั้งอยู่ในธรรมของมิตรชื่อว่ามีกำลังน้อยไม่มีเลย. ตั้งแต่นี้ไป เจ้าอย่าได้หมิ่นสหายของเรา นางสุนัขจิ้งจอกและลูกน้อย“ แล้วราชสีห์จึงกล่าวคาถาที่สอง ว่า :-
„ถ้าผู้ใดเป็นมิตร แม้จะมีกำลังน้อย แต่ตั้งอยู่ในมิตรธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นญาติ เป็นเผ่าพันธ์ เป็นมิตรและเป็นสหายของเรา แนะนางมฤคีท่านอย่าดูหมิ่นสหายของเราอีกนะ เพราะว่า สุนัขจิ้งจอกตัวนี้ให้ชีวิตเรา.“
ในบทเหล่านั้น บทว่า อปิ เจปิ ได้แก่ อปิศัพท์หนึ่งเป็นอนุคคหัตถะ (อรรถว่า คล้อยตาม) ศัพท์หนึ่งเป็นสัมภาวนัตถะ(อรรถว่า ยกย่อง). ในศัพท์นั้นโยชนาแก้ว่า หากผู้ใดเป็นมิตรแม้จะมีกำลังน้อย แต่ตั้งอยู่ในมิตรธรรม คือ หากสามารถตั้งอยู่ได้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นญาติ เป็นเผ่าพันธุ์ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นมิตรเพราะมีจิตเมตตาและชื่อว่าเป็นสหาย เพราะอยู่ร่วมกัน. บทว่า ทาฐินิมาติมญฺญิโวฺห ความว่า ดูก่อนแม่ราชสีห์ผู้มีเขี้ยวงาม เจ้าอย่าดูหมิ่นสหายของเราและนางสุนัขจิ้งจอกเลย เพราะสุนัขจิ้งจอกให้ชีวิตเราไว้.
นางราชสีห์ฟังคำของราชสีห์แล้วจึงขอโทษสุนัขจิ้งจอกตั้งแต่นั้นมาก็อยู่กลมเกลียวกันกับนางสุนัขจิ้งจอกนั้นพร้อมทั้งลูก. แม้ลูกราชสีห์ก็เล่นหัวกับลูกสุนัขจิ้งจอก แม้เมื่อพ่อแม่ซึ่งชื่นชอบกันได้ล่วงลับไปแล้ว ก็ไม่ทำลายความเป็นมิตรต่อกัน อยู่กันอย่างรื่นเริงบันเทิงใจ. นัยว่า ไมตรีของสัตว์เหล่านั้นมิได้แตกทำลายได้เป็นไปชั่วเจ็ดตระกูล.
พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประกาศอริยสัจทรงประชุมชาดก. ในเมื่อจบอริยสัจ ภิกษุบางพวกได้เป็นโสดาบัน บางพวกได้เป็นสกทาคามีบางพวกเป็นพระอนาคามีบางพวกได้เป็นพระอรหัต. สุนัขจิ้งจอกในครั้งนั้นได้เป็นอานนท์. ส่วนราชสีห์ได้เป็นเราตถาคตนี้แล. จบอรรถกถาคุณชาดกที่ ๗
ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali
0 comments: