วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2564

อินฺทสมานโคตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการสมาคมกับสัตบุรุษ

อินฺทสมานโคตฺตชาตกํ - ว่าด้วยการสมาคมกับสัตบุรุษ

"น  สนฺถวํ [1]  กาปุริเสน  กยิรา,    อริโย  อนริเยน  ปชานมตฺถํ;     จิรานุวุตฺโถปิ  กโรติ  ปาปํ,   คโช  ยถา  อินฺทสมานโคตฺตํ ฯ

บุคคลไม่พึงทำความสนิทสนมกับบุรุษชั่วช้า ท่านผู้เป็นอริยะ รู้ประโยชน์อยู่ ไม่พึงทำความสนิทสนมกับอนารยชน เพราะอนารยชนนั้น แม้อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ก็ย่อมทำบาปกรรม ดุจช้างผู้ทำลายล้างดาบสชื่ออินทสมานโคตร ฉะนั้น."

"ยํ  ตฺเวว  ชญฺญา  สทิโส  มมนฺติ,   สีเลน ปญฺญาย สุเตน จาปิ;  เตเนว เมตฺตึ กยิราถ สทฺธึ,   สุโข หเว สปฺปุริเสน สงฺคโมติ ฯ 

บุคคลพึงรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเรา โดยศีล ปัญญา และสุตะพึงทำไมตรีกับบุคคลนั้นนั่นแล เพราะการสมาคมกับสัตบุรุษนำมาซึ่ความสุขแท้."

1) [สนฺธวํ (ก.)]

อรรถกถาอินทสมานโคตตชาดกที่ ๑

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันทรงปรารภภิกษุว่ายากรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า  น  สนฺถวํ  กาปุริเสน  กยิรา  ดังนี้.

เรื่องภิกษุว่า ยากนั้น จักมีแจ้งในคิชฌชาดกนวกนิบาต (ชาดก ๔๒๗). พระศาสดาตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูก่อนภิกษุแม้เมื่อก่อนเธอก็ไม่เชื่อฟังคำของบัณฑิตทั้งหลาย เพราะเธอเป็นผู้ว่า ยาก จึงเหลวแหลกเพราะเท้าช้างตกมันแล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า :-

ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยละฆราวาส ออกบวชเป็นฤาษี เป็นครูของเหล่าฤาษี ๕๐๐ อาศัยอยู่ในหิมวันตประเทศ. ในครั้งนั้น บรรดาดาบสเหล่านั้นได้มีดาบสชื่ออินทสมานโคตร เป็นผู้ว่า ยากไม่เชื่อฟัง. ดาบสนั้นเลี้ยงลูกช้างไว้เชือกหนึ่ง.

พระโพธิสัตว์ได้ทราบข่าวจึงเรียกดาบสนั้นมาถามว่า „เขาว่า เธอเลี้ยงลูกช้างไว้จริงหรือ?“ ดาบสตอบว่า „จริงขอรับอาจารย์ข้าพเจ้าเลี้ยงลูกช้างไว้เชือกหนึ่งแม่มันตาย.“

พระโพธิสัตว์พูดเตือนว่า „ขึ้นชื่อว่าช้าง เมื่อเติบโตมักฆ่าคนเลี้ยง, เธออย่าเลี้ยงลูกช้างนั้นเลย.“ ดาบสกล่าวว่า „ท่านอาจารย์ข้าพเจ้าไม่อาจทิ้งมันได้."

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ถ้าเช่นนั้นเธอจักได้รู้เอง.“ ดาบสเลี้ยงดูช้างนั้น ต่อมา มันมีร่างกายใหญ่โต. คราวหนึ่งพวกฤาษีพากันไปในที่ไกลเพื่อหารากไม้และผลาผลในป่าแล้วพักอยู่ ณ ที่นั้น ๒-๓ วัน. ช้างก็ตกมันรื้อบรรณศาลาเสียกระจุยกระจาย ทำลายหม้อน้ำดื่ม โยนแผ่นหินทิ้ง ถอนแผ่นกระดานแขวนทิ้งแล้วเข้าไปยังที่ซ่อนแห่งหนึ่งยืนคอยมองดูทางมาของดาบส ด้วยหวังว่า „จักฆ่าดาบสนั้น“ แล้วไป.

ดาบสอินทสมานโคตรหาอาหารไว้ให้ช้างเดินมาก่อนดาบสทั้งหมด ครั้นเห็นช้างนั้น จึงเข้าไปหามันตามความรู้สึกที่เป็นปกติ. ครั้นแล้วช้างนั้นออกจากที่ซ่อนเอางวงจับฟาดลงกับพื้น เอาเท้าเหยียบศีรษะขยี้ให้ถึงความตายแล้วแผดเสียงดังเข้าป่าไป.  พวกดาบสที่เหลือจึงแจ้งข่าวนั้นให้พระโพธิสัตว์ทราบ.  พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ไม่ควรทำความคลุกคลีกับคนชั่ว“ แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-

„บุคคลไม่พึงทำความสนิทสนมกับคนชั่วท่านผู้เป็นอริยะ รู้ประโยชน์อยู่ไม่พึงทำความสนิทสนมกับอนารยชน เพราะอนารยชนนั้น แม้อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน ก็ย่อมทำความชั่ว ดุจช้างผู้ทำลายดาบสอินทสมานโคตรฉะนั้น 

„บุคคลพึงรู้บุคคลใดว่า ผู้นี้เช่นเดียวกับเราด้วยศีล ด้วยปัญญาและแม้ด้วยสุตะ พึงทำ ไมตรีกับบุคคลผู้นั้นนั่นแหละ เพราะการสมาคม กับสัตบุรุษนำมาซึ่งความสุขแท้.“ 

ในบทเหล่านั้น บทว่า  น  สนฺถวํ  กาปุริเสน  กยิรา  ความว่า บุคคลไม่พึงทำความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหา หรือความสนิท สนมด้วยความเป็นมิตร กับคนมักโกรธที่น่าชัง.  บทว่า  อริโย  ในบทว่า  อริโยนริเยน  ปชานมตฺถํ  ได้แก่ อริยะ ๔ จำพวก คืออาจารอริยะ ได้แก่ อริยะในทางมารยาท ๑ ลิงคอริยะ อริยะในทางเพศ ๑ ทัสสนอริยะ อริยะในทางความเห็น ๑ ปฏิเวธอริยะอริยะในทางรู้แจ้งแทงตลอด ๑. บรรดาอริยะเหล่านั้นอาจารอริยะท่านประสงค์เอาในที่นี้.

อธิบายว่า บุคคลผู้เป็นอริยะ รู้จักประโยชน์ คือรู้จักผล ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ดำรงอยู่ในอาจาระ ไม่พึงทำความสนิทสนมด้วยอำนาจตัณหาหรือความสนิทสนมด้วยความเป็นมิตร กับคนที่มิใช่อริยะ คือคนทุศีลไม่มียางอาย. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะคนที่มิใช่อริยะนั้น แม้อยู่ร่วมกันนาน ก็มิได้คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันนั้นย่อมกระทำความชั่ว คือกระทำกรรมอันลามกเท่านั้น. ถามว่า เหมือนอะไร. ตอบว่า เหมือนช้าง ฆ่าอินทสมานโคตรดาบสใดกระทำความชั่ว.

ในบทเป็นต้นว่า  ยเทว  ปญฺญา  สทิโส  มมํ  ความว่า พึงรู้จักบุคคลใดว่า ผู้นี้เหมือนเราโดยศีลเป็นต้นพึงกระทำไมตรีกับบุคคลนั้นเท่านั้น การสมาคมกับด้วยสัตบุรุษย่อมนำความสุขมาให้.

พระโพธิสัตว์สอนหมู่ฤาษีว่า „ธรรมดาคนเราไม่ควรเป็นผู้สอนยาก ควรศึกษาให้ดี“ แล้วให้จัดการเผาศพอินทสมานโคตรดาบส เจริญพรหมวิหารได้เข้าถึงพรหมโลก.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุม ชาดก. อินทสมานโคตรในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุสอนยากนี้ในครั้งนี้. ส่วนครูประจำคณะได้เป็นเราตถาคตนี้แล.  จบอรรถกถาอินทสมานโคตรชาดกที่ ๑

CR: หมายเหตุ ข้อมูลที่มา ภาษาบาฬี จากเว็บไซต์ tipitaka.org คำแปลจาก ฉบับมหิดล, ฉบับสยามรัฐ, ฉบับมหาเถรสมาคม เป็นต้น, ส่วนอรรถกถาแปลโดยมากจากฉบับมหาจุฬาฯ.

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: