วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2564

สุสีมชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะ

สุสีมชาตกํ - ว่าด้วยพระเจ้าสุสีมะ

"กาฬา  มิคา  เสตทนฺตา  ตวีเม [1],    ปโรสตํ  เหมชาลาภิฉนฺนา [2];   เต  เต  ททามีติ  สุสีม  พฺรูสิ,    อนุสฺสรํ เปตฺติปิตามหานํ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าสุสีมะ ช้างประมาณ ๑๐๐ เชือกเศษนี้ประดับด้วยข่ายทอง เป็นของพระองค์ พระองค์ทรงระลึกถึงการกระทำแห่งพระบิดา และพระอัยยกาของพระองค์อยู่เนืองๆ ตรัสว่า เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น ดังนี้ เป็นความจริงหรือ พระเจ้าข้า? "

"กาฬา  มิคา  เสตทนฺตา  มมีเม [3],   ปโรสตํ  เหมชาลาภิจฺฉนฺนา;    เต  เต  ททามีติ  วทามิ  มาณว,  อนุสฺสรํ เปตฺติปิตามหานนฺติ ฯ

ดูกรพ่อมาณพ ช้างประมาณ ๑๐๐ เชือกเศษนี้ประดับด้วยข่ายทอง ซึ่งเป็นของเรา เราระลึกถึงการกระทำแห่งพระบิดา และพระอัยยกาอยู่เนืองๆ พูดว่า เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น ดังนี้ เป็นความจริง."

1) [ตว อิเม (สี. สฺยา. ปี.)]  2) [เหมชาลาภิสญฺฉนฺนา (สี.)]  3) [มม อิเม (สี. ปี.)]

อรรถกถาสุสีมชาดกที่ ๓ 

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหารทรงปรารภการถวายทานตามความพอใจ ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่ม ต้นว่า   กาฬา  มิคา  เสตทนฺตา  ตว  อิเม  ดังนี้.

ความพิสดารมีอยู่ว่า ในกรุงสาวัตถี บางคราวสกุลเดียวเท่านั้นถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. บางคราวมากคนด้วยกันรวมกันถวายเป็นคณะ. บางคราวถวายตามสายถนน. บางคราวชาวเมืองทั้งสิ้น ร่วมฉันทะกันถวายทาน.

แต่ในครั้งนี้ ชาวเมืองร่วมฉันทะกัน เตรียมถวายบริขารทุกชนิด แบ่งออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งพูดว่า พวกเราจักถวายทานพร้อมด้วยบริขารทุกชนิดนี้แก่อัญญเดียรถีย์ พวกหนึ่งพูดว่า เราจักถวายแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข. เมื่อการโต้เถียงกันเป็นไปเนือง ๆ อย่างนี้ พวกสาวกอัญญเดียรถีย์ก็ว่า ถวายแก่อัญญเดียรถีย์เท่านั้น พวกสาวกของพระพุทธเจ้าก็ว่า ถวายแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเท่านั้น ครั้นคำที่ว่า „เราจักกระทำมีมาก พวกที่พูดว่า „เราจักถวายแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข“ ก็มีมากเป็นธรรมดา, ถ้อยคำของคนเหล่านั้นก็ยุติ.

พวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ไม่อาจจะทำอันตรายแก่ทานที่ควรถวายแด่พระพุทธเจ้าได้. ชาวเมืองจึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พากันบำเพ็ญมหาทานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ได้ถวายเครื่องบริขารทุกชนิด.

พระศาสดาทรงกระทำอนุโมทนา ให้มหาชนตื่นด้วยมรรคผลแล้วจึงเสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร. เมื่อภิกษุสงฆ์แสดงวัตรจึงเสด็จประทับยืนที่หน้ามุขพระคันธกุฏีประทานสุคโตวาท แล้วเสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฏี.  ในตอนเย็นภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนาในโรงธรรมว่า „อาวุโสทั้งหลาย พวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ แม้พยายามจะทำอันตรายแก่ทานที่ควรถวายแด่พระพุทธเจ้าก็ไม่อาจจะทำอันตรายได้. การถวายเครื่องบริขารทั้งปวงนั้นมาถึงบาทมูลของพระพุทธเจ้าทั้งหมด.“

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร?“ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกสาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านี้ได้พยายามเพื่อทำอันตรายทานที่ควรแก่เรา มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็พยายาม อนึ่งเครื่องบริขารนั้นก็มาถึงแทบบาทมูลของเราทุกครั้ง“ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่า. :-

ในอดีตกาล ที่กรุงสาวัตถีได้มีพระราชาพระนามว่าสุสีมะในครั้งนั้น  พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพราหมณีของปุโรหิตของพระองค์. เมื่อพระโพธิสัตว์มีอายุได้ ๑๖ ปี บิดาได้ถึงแก่กรรม. อนึ่งปุโรหิตนั้นขณะยังมีชีวิตอยู่ได้เป็นผู้กระทำมงคลแก่ช้างของพระราชา. เขาได้เครื่องอุปกรณ์และเครื่องประดับช้างทุกอย่างที่มีผู้นำมาในที่ทำการมงคลแก่ช้างทั้งหลาย. ในการมงคลครั้งหนึ่ง ๆทรัพย์สินประมาณหนึ่งโกฏิเกิดขึ้นแก่เขา.

ต่อมา เมื่อเขาถึงแก่กรรมมหรสพในการมงคลช้างได้มาถึง. พวกพราหมณ์อื่น ๆเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราช มหรสพในการมงคลช้างได้มาถึงแล้ว ควรประกอบพิธีมงคล แต่บุตรของพราหมณ์ปุโรหิตยังเด็กนัก ไม่รู้ไตรเพทไม่รู้สูตรกล่อมช้าง พวกข้าพระพุทธเจ้าจักทำการมงคลช้างกันเองพระเจ้าข้า.“

พระราชาทรงรับว่า „ดีแล้ว.“ พวกพราหมณ์ต่างพากันรื่นเริงยินดีเดินไปมาด้วยคิดว่า „พวกเราไม่ให้บุตรปุโรหิตทำการมงคลช้าง จักทำเสียเองแล้วก็จะได้รับทรัพย์“  ครั้นถึงวันที่สี่จักมีการมงคลช้าง เพราะฉะนั้น มารดาของพระโพธิสัตว์สดับข่าวนั้น จึงเศร้าโศกคร่ำครวญว่า „ขึ้นชื่อว่าการทำการมงคลแก่ช้างเป็นหน้าที่ของเราเจ็ดชั่วตระกูลแล้ว วงศ์ของเราจักเสื่อมและเราจักเสื่อมจากทรัพย์ด้วย.“

พระโพธิสัตว์ถามว่า „ร้องไห้ทำไมแม่?" ครั้นได้ฟังเหตุการณ์นั้นแล้วจึงปลอบว่า „แม่จ๋า แม่อย่าเศร้าโศกไปเลย บางทีลูกจักทำการมงคลเอง.“ มารดาพูดว่า „ลูกแม่ ลูกไม่รู้ไตรเพท ไม่รู้สูตรกล่อมช้าง ลูกจักทำการมงคลได้อย่างไร?"

พระโพธิสัตว์ถามว่า „แม่จ๋าเมื่อไรเขาจักทำการมงคลช้างกัน?“ มารดาตอบว่า „ในวันที่สี่จากนี้ไปแหละลูก.?  พระโพธิสัตว์ถามว่า „แม่จ๋า อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญไตรเพทสูตรกล่อมช้างอยู่ที่ไหนเล่าแม่?“ มารดาบอกว่า „ลูกรักอาจารย์ทิศาปาโมกข์เช่นว่านี้ อยู่ในเมืองตักกศิลา แคว้นคันธาระสุดทางจากนี้ไปร้อยยี่สิบโยชน์.“

พระโพธิสัตว์ปลอบมารดาว่า „แม่จ๋า ลูกจะไม่ยอมให้วงศ์ของเราพินาศ พรุ่งนี้ลูกจะไปเมืองตักกสิลา เดินทางวันเดียวก็ถึงเรียนไตรเพทและสูตรกล่อมช้างเพียงคืนเดียวเท่านั้น รุ่งขึ้นจะกับมาทำการมงคลช้างในวันที่สี่ ในวันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์บริโภคอาหารแต่เช้า ออกเดินทางคนเดียว เพียงวันเดียวก็ถึงเมืองตักกสิลา เข้าไปไหว้อาจารย์แล้วนั่งอยู่ข้างหนึ่ง.

ลำดับนั้น อาจารย์ถามพระโพธิสัตว์ว่า „เจ้ามาจากไหนเล่าพ่อ.?“ „จากกรุงพาราณสีขอรับท่านอาจารย์.“ „ต้องการอะไรเล่า.?“ „ต้องการเรียนไตรเพทและสูตรกล่อมช้างในสำนักของท่านอาจารย์ขอรับ.“ „ดีละ เรียนเถิดพ่อ.“

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „ท่านอาจารย์ขอรับงานของกระผมค่อนข้างด่วนมาก“ แล้วก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ทราบกล่าวว่า „กระผมมาเป็นระยะทางร้อยยี่สิบโยชน์ เพียงวันเดียวเท่านั้น วันนี้ขอท่านอาจารย์ให้โอกาสแก่กระผมเพียงคืนเดียวเท่านั้น ในวันที่สามจากวันนี้จักมีการมงคลช้าง กระผมขอเรียนทุกวิชาเพียงแต่หัวข้ออย่างเดียวเท่านั้น“

ครั้นอาจารย์ให้โอกาส จึงล้างเท้าอาจารย์วางถุงทรัพย์พันหนึ่งไว้ข้างหน้าอาจารย์ ไหว้แล้วนั่งลงข้างหนึ่ง เริ่มศึกษา พออรุณขึ้นก็เรียนจบไตรเพทและสูตรกล่อมช้าง จึงถามว่า „ยังมีสิ่งอื่น ๆอีกหรือท่านอาจารย์" เมื่ออาจารย์กล่าวว่า „ไม่มีแล้ว จบหมดแล้ว“ ยังสอบทานศิลปะให้อาจารย์ฟังว่า „ท่านอาจารย์ในคัมภีร์นี้มีบทขาดหายไปเท่านี้ มีที่เลอะเลือนเพราะสาธยายไปเท่านี้ ตั้งแต่นี้ไปท่านพึงบอกอันเตวาสิกทั้งหลายอย่างนี้“ เสร็จแล้วบริโภคอาหารแต่เช้าตรู่ไหว้อาจารย์กลับไปกรุงพาราณสีเพียงวันเดียวเท่านั้น  แล้วไปไหว้มารดา เมื่อมารดาถามว่า „เรียนศิลปะจบแล้วหรือลูก?“ บอกว่า „จบแล้วจ้ะแม่" ทำให้มารดาปลาบปลื้มมาก.

วันรุ่งขึ้นเขาเตรียมงานมหรสพมงคลช้างกันเป็นการใหญ่ ประชาชนต่างจัดเตรียมช้างของตน ๆ สวมเครื่องประดับแล้วด้วยทองคำ ผูกธงแล้วด้วยทองคำ คลุมด้วยตาข่ายทอง. ตกแต่งกันที่พระลานหลวง. พวกพราหมณ์ก็ประดับประดารอท่าตั้งใจว่า „พวกเราจักทำการมงคลช้าง.“ แม้พระเจ้าสุสีมะก็ทรงเต็มยศ ให้ข้าราชบริพารถือเครื่องอุปกรณ์เสด็จไปยังมงคลสถาน.

แม้พระโพธิสัตว์ก็ตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับอย่างเด็ก มีบริษัทของตนห้อมล้อมเป็นบริวาร ไปยังสำนักของพระราชากราบทูลว่า „ข้าแต่มหาราชได้ทราบข่าวว่า พระองค์ทรงทำวงศ์ของข้าพระพุทธเจ้าและของพระองค์เองให้พินาศแล้วได้รับสั่งว่า เราจะให้พราหมณ์อื่นทำการมงคลช้างแล้วมอบเครื่องประดับช้างและเครื่องอุปกรณ์ให้จริงหรือพระพุทธเจ้า?“ แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

„ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระนามว่าสุสีมะ ช้างสีดำมีงาขาวประมาณร้อยเชือกเหล่านี้ประดับด้วยข่ายทองเป็นของพระองค์ พระองค์ทรงระลึกถึงการกระทำของพระบิดาและพระอัยยกา อยู่เนือง ๆ ตรัสว่า เราจะให้ช่างเหล่านี้แก่ พราหมณ์เหล่าอื่นดังนี้ เป็นความจริงหรือ พระเจ้าข้า?“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  เต  เต  ททามีติ  สุสีม  พฺรูสิ  ความว่า เราให้ช้างเหล่านี้แก่ท่านคือในสำนักของท่าน. อธิบายว่า เราจะให้ช้างซึ่งประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวงประมาณร้อยเชือก จำพวกสีดำงาขาวแก่พราหมณ์เหล่าอื่น. ข้าแต่พระราชาสุสีมะ พระองค์ตรัสอย่างนี้เป็นความจริงหรือ.   บทว่า  อนุสฺสรํ  เปตฺติปิตามหานํ  ความว่า ทรงระลึกถึงการกระทำของพระบิดาและพระอัยยกาเนือง ๆในวงศ์ของข้าพระพุทธเจ้าและของพระองค์เอง.

ข้อนี้ท่านอธิบายว่า „ข้าแต่มหาราช บิดาและปู่ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายกระทำมงคลช้างแก่พระชนกและพระอัยยกาของพระองค์จนเจ็ดชั่วตระกูล พระองค์แม้ทรงระลึกได้อย่างนี้ ก็ยังทำวงศ์ของข้าพระองค์ทั้งหลายและของพระองค์ให้พินาศ นัยว่า รับสั่งอย่างนี้จริงหรือ?“  พระเจ้าสุสีมะทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์จึงตรัสคาถาที่สอง ว่า :-

ก่อนมาณพ ช้างสีดำมีงาขาวประมาณร้อยเชือกเหล่านี้ ประดับด้วยข่ายทองซึ่งเป็นของเรา เราระลึกถึงการกระทำของพระบิดาและพระอัยยกาอยู่เนืองๆพูดว่า เราจะให้ช้างเหล่านั้นแก่พราหมณ์เหล่าอื่น ดังนี้ เป็นความจริง.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  เต  เต  ททามิ  ความว่า ดูก่อนมาณพ เราพูดว่า เราจะให้ช้างเหล่านี้แก่พราหมณ์ทั้งหลายเป็นความจริงทีเดียว. อธิบายว่า เราพูดกะพราหมณ์เหล่านั้นว่า เราจะให้ช้างเหล่านี้แก่พราหมณ์ทั้งหลายเป็นความจริง.   บทว่า  อนุสฺสรํ  ความว่า เรายังระลึกได้ถึงกิริยาของพระบิดาและพระเจ้าปู่อยู่เสมอ มิใช่ระลึกไม่ได้.

พระราชารับสั่งอย่างนั้น โดยทรงชี้แจงว่า „แม้เราระลึกได้ว่า บิดาและปู่ของเจ้ากระทำพิธีมงคลช้างแก่พระบิดาและพระอัยยกาของเรา ก็ยังพูดอย่างนี้อีกเป็นความจริง.“  ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ได้กราบทูลพระราชาว่า „ข้าแต่มหาราช เมื่อพระองค์ยังทรงระลึกถึงวงศ์ของพระองค์และของข้าพระองค์ได้ เพราะเหตุไรพระองค์จึงทิ้งข้าพระองค์เสียแล้วให้ผู้อื่นกระทำการมงคลช้างเล่าพระเจ้าข้า?“

พระราชาตรัสว่า „นี่แน่เจ้าพวกพราหมณ์เขาบอกเราว่า นัยว่า เจ้าไม่รู้ไตรเพทและสูตรกล่อมช้าง. เพราะฉะนั้น เราจึงให้พวกพราหมณ์อื่นทำพิธี.“

พระโพธิสัตว์บรรลือสีหนาทว่า „ข้าแต่มหาราช บรรดาพราหมณ์ทั้งหมดนี้ แม้สักคนหนึ่งผิว่า สามารถเจรจากับข้าพระองค์ได้ในพระเวทก็ดี ในพระสูตรก็ดีมีอยู่ จงลุกขึ้นมา พราหมณ์อื่นนอกจากข้าพระพุทธเจ้าชื่อว่ารู้ไตรเพทและสูตรกล่อมช้างพร้อมด้วยวิธีทำการมงคลช้าง ไม่มีเลยทั่วชมพูทวีป.“ พราหมณ์แม้สักคนหนึ่งก็ไม่สามารถลุกขึ้นเป็นคู่แข่งกับพระโพธิสัตว์ได้.  พระโพธิสัตว์ครั้นดำรงตระกูลวงศ์ของตนให้มั่นคงแล้วจึงกระทำการมงคล ถือเอาทรัพย์เป็นอันมากกลับไปยังที่อยู่.

พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประกาศสัจธรรมทรงประชุมชาดก. เมื่อจบสัจธรรมแล้ว ชนบางพวกได้เป็นโสดาบัน. บางพวกได้พระสกทาคามีบางพวกได้เป็นพระอนาคามีบางพวกได้บรรลุพระอรหัต. มารดาในครั้งนั้นได้เป็นมหามายาในครั้งนี้ บิดาได้เป็นพระเจ้าสุทโธทนมหาราชพระราชาสุสีมะได้เป็นอานนท์ อาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้เป็นโมคคัลลานะ ส่วนมาณพ คือเราตถาคตนี้แล.  จบอรรถกถาสุสีมชาดกที่ ๓

ที่มา : Palipage: Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: