ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง
[ณ เมืองพาราณสี มีลูกเศรษฐีชื่อยสะ มีปราสาท 3 หลังไว้อยู่ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน พร้อมกับสตรีและเสียงดนตรีตลอดเวลา จนเช้ามืดวันหนึ่ง ยสะตื่นขึ้นมามองเหล่าสตรีรับใช้นอนกันระเกะระกะ เครื่องดนตรีตกอยู่ข้างตัว ผมกระเซอะกระเซิง บางคนน้ำลายไหล บางคนละเมอ ราวกับป่าช้าผีดิบ จึงรู้สึกเบื่อหน่าย]
ย: ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ
[ยสะสวมรองเท้าทองเดินออกจากปราสาท ตรงไปทางป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังเดินจงกรมอยู่ ได้เห็นยสะเดินมาแต่ไกล จึงนั่งลง]
ย: ท่านผู้เจริญ ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ
พ: ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มาเถิดยสะ นั่งลง เราจะแสดงธรรมให้เธอฟัง
[ยสะถอดรองเท้าแล้วนั่งลง]
[พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมตามลำดับตั้งแต่ขั้นต้นขึ้นไป 5 ข้อ (อนุปุพพิกถา) คือ เรื่องทาน ศีล สวรรค์ โทษของกามคือความใคร่ความอยาก และประโยชน์ของการละเว้นจากกาม ซึ่งเมื่อท่านเห็นว่า ยสะมีจิตใจที่พร้อมจะฟังธรรมที่ยากขึ้นแล้ว ก็ได้สอนเรื่องอริยสัจ 4 (ความจริงแท้ 4 ข้อ คือ ทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์) หลังจากฟังแล้ว ยสะเกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เห็นว่าสิ่งต่างๆมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา]
[พอรุ่งเช้า แม่ไม่เห็นยสะอยู่ในปราสาท จึงเข้าไปบอกพ่อให้ตามหา ทางพ่อได้สั่งให้คนขี่ม้ากระจายกันตามหา ส่วนตัวเองได้ออกไปหาทางป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน ซึ่งได้พบรองเท้าวางอยู่ พระพุทธเจ้าได้เห็นพ่อของยสะเดินมาแต่ไกล จึงคิดในใจว่า เราจะบันดาล (อิทธาภิสังขาร) ให้เขามองไม่เห็นลูกที่นั่งอยู่ตรงนี้]
พ่อ: ท่านได้เห็นยสะบ้างไหม?
พ: ท่านคหบดี เชิญนั่ง บางทีเมื่อท่านนั่งตรงนี้ ท่านอาจจะได้เห็นยสะนั่งอยู่แถวนี้เช่นกัน
[เมื่อพ่อของยสะนั่งลงแล้ว พระพุทธเจ้าก็ได้แสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ 4 จนเกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกับยสะ]
พ่อ: คำสอนของท่านแจ่มแจ้งมาก เหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องแสงในที่มืด ข้าพระองค์ขอถือท่าน คำสอนของท่าน และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามคำสอนของท่านเป็นที่พึ่ง (สรณะ) ขอท่านโปรดจำข้าฯว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจากวันนี้เป็นต้นไป
[พ่อของยสะนี้จึงได้เป็นอุบาสกผู้เปล่งวาจาขอถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง (เตวาจิกอุบาสก) คนแรกของโลก]
พ: (คิด) ตอนที่เราแสดงธรรมแก่พ่อของยสะ จิตของยสะได้รู้แจ้ง พ้นจากกิเลสเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ยสะไม่ควรกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีก เราควรคลายอิทธาภิสังขารได้แล้ว
[เมื่อนั้น พ่อของยสะจึงมองเห็นลูกตัวเองนั่งอยู่ จึงได้พูดกับยสะว่า]
พ่อ: ยสะ แม่เจ้าคร่ำครวญถึงอยู่ เจ้ากลับไปหาแม่เถอะ
[ยสะชำเลืองมองไปทางพระพุทธเจ้า]
พ: คหบดี ท่านจะคิดอย่างไร ยสะได้ฟังธรรมเหมือนกับท่าน และได้พ้นจากกิเลสทั้งหลายแล้ว ควรหรือที่จะกลับไปใช้ชีวิตบริโภคกามเหมือนเดิมอีก?
พ่อ: ข้อนั้นไม่ควรเลย
พ: คหบดี ยสะไม่ควรกลับไปใช้ชีวิตบริโภคกามเหมือนเดิมอีก
พ่อ: การที่ยสะหลุดพ้นได้เป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นลาภของยสะ ขอพระองค์โปรดไปรับภัตตาหารของข้าฯในพรุ่งนี้ด้วยเถิด
[หลังจากพ่อกลับไปแล้ว ยสะได้ขอบวช]
ย: ขอข้าฯได้บวชในสำนักของท่านด้วยเถิด
พ: เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด เธอจงปฏิบัติตามคำสอนที่เรากล่าวไว้ดีแล้วเถิด
[เมื่อนั้น ในโลกจึงมีพระอรหันต์ทั้งหมด 7 องค์]
[เช้าวันรุ่งขึ้น พระพุทธเจ้าได้ไปที่ปราสาทของคหบดี พบกับแม่และภรรยาเก่าของพระยสะ หลังจากแสดงธรรมให้ฟังแล้ว ทั้งแม่และภรรยาเก่าของพระยสะก็ได้เป็นอุบาสิกาผู้เปล่งวาจาขอถือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง (เตวาจิกอุบาสิกา) ชุดแรกของโลก]
[หลังจากนั้นได้มีเพื่อนเก่าของพระยสะที่เป็นลูกเศรษฐีใหญ่น้อย 4 คนและที่เป็นคนทั่วๆไปอีก 50 คน ได้มาขอบวชและพ้นจากกิเลสได้ทั้งหมด ในโลกจึงมีพระอรหันต์ทั้งหมด 61 องค์]
ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 6 (พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 มหาขันธกะ เรื่องการบรรพชาของยสกุลบุตร), 2559, น.29-38
ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 1), ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 2), ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 3), ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 4), ช่วง 35 วันแรกหลังการตรัสรู้ (ตอน 5), จะสอนใครเป็นคนแรกดี, สอนธรรมะครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (ตอน 1), สอนธรรมะครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (ตอน 2), สอนธรรมะครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ (ตอน 3)
0 comments: