มีครบแต่จบไม่สวย หรือมีครบทั้งจบลงด้วยดีก็ได้ ข้อนั้นเพราะเหตุใด ? คือ
๑. บุคคลมีอายุยืนยาวนานก็ดี
๒. มีชื่อเสียง มียศ มีบริวารมากก็ดี
๓. มีฐานะดีก็ดี
๔. มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก ทั้งทรงจำอรรถธรรมไว้ได้จนคล่องปากขึ้นใจก็ดี
แต่จะปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มากได้หรือไม่นั้น เพราะเหตุอะไร ?
ในข้อนั้นมีอธิบายว่า
บุคคลเป็นผู้มีอายุยืนยาวนาน เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ มีบริวารมาก มีฐานะดี เป็นผู้มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก ทั้งทรงจำอรรถธรรมไว้ได้จนคล่องปากขึ้นใจ แต่ถ้าบุคคลนั้นมิได้แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ คือเธอเป็นมิจฉาทิฐิ มีความเห็นวิปริต ก็ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก แต่เธอย่อมปฏิบัติเพื่อไม่เกื้อกูลและเพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะว่าบุคคลนั้นทำให้คนหมู่มากออกจากสัทธรรม แต่ให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม แม้คนหมู่มากพากันทำตามอย่างเธอแล้วก็ย่อมประสบทุกข์โดยส่วนเดียว นี้เรียกว่ามีครบแต่จบไม่สวย.
ส่วนบุคคลที่มีอายุยืนยาวนาน เป็นผู้มีชื่อเสียง มียศ มีบริวารมาก มีฐานะดี เป็นผู้มีความรู้เพราะได้สดับตรับฟังหรือศึกษาเล่าเรียนมามาก ทรงจำอรรถธรรมไว้ได้จนคล่องปากขึ้นใจ ทั้งมีสัมมาทิฐิ คือมีความเห็นชอบและไม่วิปริต ย่อมทำให้คนหมู่มากออกจากอสัทธรรม และให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม คนหมู่มากพากันทำตามอย่างเธอแล้วย่อมประสบความสุข นี้เรียกว่ามีครบทั้งจบลงด้วยความดี ประพฤติเป็นประโยชน์สุขแก่คนหมู่มาก ดังนี้แล.
สาระธรรมจากเถรสูตร ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
0 comments: