จะรู้ว่าเรารักตัวเราหรือไม่ ?
พระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถานี้แก่โพธิราชกุมาร ดังนี้ว่า
“ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ควรรักษาตนนั้นไว้ให้ดี บัณฑิตพึงประคับประคองตนไว้ให้ได้ อย่างน้อยก็ยามใดยามหนึ่งใน ๓ ยาม”
อธิบาย
คำว่า “ประคับประคองตน” ในที่นี้หมายถึง ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ควรทำบุญมีให้ทานและรักษาศีลเป็นต้น ถ้าเป็นบรรพชิตก็ควรขวยขวายทำวัตรปฏิบัติศึกษาพระปริยัติและเจริญกัมมัฏฐานเป็นต้น
คำว่า “ยาม” ในที่นี้หมายถึงวัย ได้แก่ ระยะของอายุ มี ๓ วัยคือ ปฐมวัย มัชฌิมวัย และปัจฉิมวัย
ถ้าบุคคลทราบตนว่า “เป็นที่รักของตน” ก็พึงรักษาตนนั้นให้เป็นอันรักษาดีแล้ว คือบุคคลผู้รักษาตนเหล่านั้น ถ้าผู้เป็นคฤหัสถ์คิดว่า ‘จักรักษาตน’ ดังนี้แล้ว ทำบุญทั้งหลายมีให้ทานรักษาศีลเป็นต้นตามกำลังอยู่ หรือผู้เป็นบรรพชิต ถึงความขวนขวายในวัตรปฏิบัติ ปริยัติ และการทำพระกรรมฐานไว้ในใจอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมรักษาตน
ถ้าไม่อาจทำอย่างนั้นได้ใน ๓ วัย ก็ต้องประคับประคองตนไว้แม้ในวัยใดวัยหนึ่งก็ได้ คือถ้าไม่อาจทำกุศลได้ในปฐมวัย เพราะความเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในการเล่นไซร้ ในมัชฌิมวัยก็ไม่ควรประมาทในการบำเพ็ญกุศล แต่ถ้าในมัชฌิมวัยยังต้องเลี้ยงบุตรและภรรยาไม่อาจบำเพ็ญกุศลได้ไซร้ ในปัจฉิมวัยก็ควรบำเพ็ญกุศลให้ได้ จึงชื่อว่าผู้รักษาตน
ด้วยอาการแม้อย่างนี้ ตนเป็นอันบุคคลนั้นประคับประคองไว้ดีแล้วทีเดียว แต่เมื่อเขาไม่ทำอย่างนั้น ตนย่อมชื่อว่าไม่เป็นที่รักของตน ผู้นั้นเท่ากับทำตนนั้นให้มีอบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้าทีเดียว ดังนี้.
สาระธรรมจากเรื่องโพธิราชกุมาร
พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ)
4/9/64
0 comments: