วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564

ถ้าเห็นการยอมรับของสังคมสำคัญกว่าพระธรรมวินัย


ถ้าเห็นการยอมรับของสังคมสำคัญกว่าพระธรรมวินัย

พระพุทธศาสนาก็วินาศ

วิถีชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาย่อมต่างไปจากวิถีชีวิตของผู้ครองเรือน   วิถีชีวิตของพระสงฆ์มี ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือ :-   ๑. สิ่งที่ห้ามทำ  ๒. สิ่งที่ต้องทำ 

การศึกษาของผู้อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” ตามหลักคือ ศีล สมาธิ ปัญญา แต่เมื่อจัดกลุ่มแล้วก็รวมอยู่ใน ๒ เรื่อง คือ :-

๑. ศึกษาว่าอะไรบ้างที่ห้ามทำ แล้วละเว้น สำรวมระวัง ไม่ทำสิ่งนั้น แม้ในเรื่องที่มีโทษเล็กน้อยก็เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่กล้าล่วงละเมิด 

๒. ศึกษาว่าอะไรบ้างที่ต้องทำ แล้วก็พยายามขวนขวายทำสิ่งนั้นไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ก็คือ ผู้อยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ --

๑. ไปทำสิ่งที่ห้ามทำเข้า ทั้งทำเพราะไม่รู้ ทั้งรู้แล้วขืนทำ อ้างว่าจำเป็น และไม่ใช่เรื่องสำคัญ-คือทำแล้วก็ไม่เห็นเสียหายอะไร

๒. พร้อมกันนั้นก็ปล่อยปละละเลยสิ่งที่ต้องทำ อ้างว่าไม่จำเป็น และไม่ใช่เรื่องสำคัญ-คือไม่ทำก็ไม่เห็นเสียหายอะไร

ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์ต้องประชุมกันฟังพระปาติโมกข์ทุกครึ่งเดือน กำหนดในวันพระกลางเดือนและสิ้นเดือน หรือ “วันพระใหญ่” เรียกเป็นคำสามัญว่า “ลงปาติโมกข์” หรือ “ลงโบสถ์”

ถ้าในวัดมีพระไม่ครบองค์สงฆ์ ก็ให้ไปรวมฟังกับวัดใกล้เคียง  ถ้าในวัดไม่มีพระที่สวดพระปาติโมกข์ได้ ก็ให้ไปอาราธนาพระที่สวดได้มาจากต่างวัด 

เมื่อสมัยยังเป็นพระ มีอยู่พรรษาหนึ่งผมไปจำพรรษาที่เขาถ้ำพระ ซึ่งเป็นที่พักสงฆ์ ในเขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ไม่มีโบสถ์ ไม่มีพระที่สวดปาติโมกข์ได้   พอถึงวันพระใหญ่ พระที่เขาถ้ำพระทั้งหมดก็เดินไปวัดดอนทรายซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ ไปร่วมฟังปาติโมกข์ที่นั่น  ปฏิบัติกันอย่างนี้ตลอดมา

ปัจจุบันนี้ พระหลายๆ วัดไม่ได้ลงปาติโมกข์ จะอ้างเหตุอะไรไม่ทราบได้ ในวัดตัวเองก็ไม่ทำ ไปร่วมฟังกับวัดอื่นก็ไม่ไป (บางทีทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นก็ไม่ทำด้วย) วันปาติโมกข์ก็อยู่กันเฉยๆ เจ้าคณะผู้ปกครองก็ไม่กวดขัน ไม่ว่าอะไร

นี่คือ-ไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ

ส่วนเรื่อง-ทำสิ่งที่ห้ามทำ เวลานี้ก็มีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่มีข้อห้ามไว้ชัดเจน ทั้งเรื่องที่ยังถกเถียงกันว่าห้ามหรือไม่ห้าม  หลายเรื่องทำกันจนเป็นเรื่องปกติ

ดังที่เวลานี้ พระยืนบิณฑบาต-จนกลายเป็นพระนั่งบิณฑบาต-เป็นเรื่องปกติไปแล้ว คือทำกันทั่วไป   พระยืนให้พรกันข้างถนนก็กลายเป็นเรื่องปกติ คือทำกันทั่วไป   ผู้คนเอาสตางค์ใส่บาตร ก็เป็นเรื่องปกติ คือทำกันทั่วไป  เรื่องที่พระสมัยก่อนไม่ทำ แต่พระสมัยนี้ทำ และมีแนวโน้มว่าจะทำกันมากขึ้น คือพระขับรถยนต์ไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง เวลานี้เห็นหนาตาขึ้นแล้ว 

แรกเริ่มก็ขับอยู่ในวัด ขนของจากหน้าวัดไปไว้หลังวัด-อย่างนี้เป็นต้น

ต่อมาก็เริ่มขับออกนอกรั้ววัด ไปใกล้ๆ ก่อน   ตอนนี้เริ่มจะขับไปธุระที่นั่นที่นี่-เหมือนชาวบ้าน   เมื่อทำกันทั่วไปเช่นนี้ และไม่มีใคร-โดยเฉพาะผู้ปกครอง-ออกมาวินิจฉัยถูกผิด ตลอดจนผู้คนทั่วไปก็ไม่ว่าอะไร ในที่สุดก็จะกลายเป็นข้ออ้างของพระเณร คืออ้างว่าไม่เห็นมีใครว่าอะไร

คือสังคมยอมรับ 

หลายท่านคงเคยเห็นภาพเจ้าสำนัก ๑๕๐ สิกขาบท-ไม่เอาอรรถกถา จับมือถ่ายรูปกับสุภาพสตรีที่เยอรมัน - จับแบบที่วัฒนธรรมฝรั่งเขาทำกันทั่วไป    มีสิกขาบทบัญญัติไว้ว่า ภิกษุมีความกำหนัดจับต้องกายหญิง มีความผิด เป็นอาบัติสังฆาทิเสส หนักรองลงมาจากปาราชิก 

เจ้าสำนักท่านอ้างว่า ท่านไม่ได้มีความกำหนัด ท่านปฏิบัติตามมารยาทวัฒนธรรมของเขา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีความผิดตามสิกขาบทนี้   แต่ก็มีบทบัญญัติว่า ร่างกายสตรี-แม้แต่เครื่องแต่งกายของสตรีเป็น “วัตถุอนามาส” (ท่านที่รังเกียจภาษาบาลีว่าฟังไม่รู้เรื่อง ขอความกรุณาข้ามไปนะครับ) คือเป็นสิ่งที่ภิกษุไม่พึงจับต้อง 

ในคัมภีร์อรรถกถาบรรยายไว้ว่า แม้แต่เห็นโยมแม่ตกน้ำ ก็ให้หาวิธีช่วยโดยที่จะไม่ต้องจับตัวโยมแม่โดยตรง   แต่พระสมัยนี้บอกว่า จับตัวแม่ไปเลย - พระจับตัว (แม่) ดีกว่าพระจับตังค์ - ฮ่า ฮ่า ฮ่า เอากะท่านสิ

เมื่อมีผู้ช่วยกันหาเหตุผลมาสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่ท่านห้ามทำเช่นนี้ ความอุตสาหะในการที่จะพยายามสำรวมระวัง งดเว้น หลีกเลี่ยง ก็เลยแผ่วลงไป แล้วก็เลยละเมิดกันง่ายๆ โดยอ้างว่าทำอย่างนี้ยังดีกว่าทำอย่างโน้น (ทั้งๆ ที่ทำอย่างนี้หรือทำอย่างโน้นก็คือทำผิดด้วยกันนั่นแหละ)

ต่อไปเราคงได้เห็นพระสงฆ์ไทยจับมือผู้หญิงตามวัฒนธรรมสากลกันทั่วไป   แล้วก็ช่วยกันอ้างว่า-เป็นมารยาทสังคม สังคมยอมรับ  และในที่สุด การยอมรับของสังคมจะอยู่เหนือพระธรรมวินัย   นั่นคือพระเณรจะทำอะไรก็ได้ ขอให้สังคมยอมรับก็แล้วกัน พระธรรมวินัยจะว่าอย่างไรไม่ต้องไปคำนึง 

ผมขอทำนายไว้ว่า อีกไม่เกิน ๒๐ ปีนับจากนี้ พระสงฆ์ในเมืองไทยจะขับรถไปไหนมาไหนกันเองเหมือนชาวบ้าน-โดยที่สังคมยอมรับ  และตรงจุดนี้เอง-คือจุดที่อ้างกันว่า “สังคมยอมรับ” นี่แหละ-จะเป็นต้นทางนำไปสู่ยุค “กาสาวกัณฐะ” ดังที่แสดงไว้ในพระคัมภีร์ 

ถ้ายุค “กาสาวกัณฐะ” จะถึงในก้าวที่ ๕,๐๐๐ ...

การที่พระสงฆ์ในสมัยนี้ช่วยกันสนับสนุนกันเองว่าอย่างนั้นทำได้ อย่างนี้ทำได้ ไม่ผิด ก็ดี การที่สังคมเราในสมัยนี้พากันยอมรับว่าพระสงฆ์ทำอย่างนั้นได้ ไม่ผิด ก็ดี ก็เทียบได้กับเป็นก้าวที่ ๑๐ หรือก้าวที่ ๑๐๐

ก้าวที่ ๕,๐๐๐ ในอนาคตซึ่งจะเป็นยุค “กาสาวกัณฐะ” - แค่มีผ้าเหลืองคล้องคอก็เป็นพระ ก็ไปจากก้าวที่ ๑๐ หรือก้าวที่ ๑๐๐ ที่พวกเรากำลังกระซิกกระซี้ชี้ชวนกันก้าวอยู่ในเวลานี้นั่นเอง

พระสงฆ์สมัย “กาสาวกัณฐะ” -- 

มีบ้านเรือนอยู่เหมือนชาวบ้าน  มีครอบครัว มีลูกมีเมีย เหมือนชาวบ้าน  ประกอบอาชีพต่างๆ เหมือนชาวบ้าน   ทุกอย่าง-เหมือนชาวบ้าน    แต่เวลาที่เอาผ้าเหลืองมาคล้องคอ สังคมยุคโน้นเขาก็ยอมรับกันว่า “นี่คือพระ”    แค่มีผ้าเหลืองคล้องคอ สังคมยุคโน้นก็ยอมรับแล้วว่าเป็นพระ - นี่คือความหมายของ “กาสาวกัณฐะ”

ลองคิดเทียบดูเถิด

สมัยก่อน ถ้าพระมีบ้านเรือนเหมือนชาวบ้าน สังคมสมัยนั้นจะรังเกียจมาก ไม่นับถือว่าเป็นพระ    มาถึงสมัยนี้ กุฏิพระบางแห่งหรูหรายิ่งกว่าบ้านของชาวบ้าน เราบางคนในสมัยนี้ยังรู้สึกรังเกียจอยู่บ้าง แต่โดยส่วนรวมแล้วเราก็ยังนับถือว่าท่านเป็นพระอยู่ 

สมัยนี้ ถ้าพระมีเมียเหมือนชาวบ้าน สังคมเราจะไม่ยอมรับเป็นอันขาดว่า-นั่นเป็นพระ   หากใครจะแย้งว่า ที่นั่นไง ที่โน่นไง เขารู้กันทั้งนั้นแหละว่ามีเมีย มีลูกด้วย ก็เห็นยังเป็นพระอยู่มิใช่เรอะ 

กรณีนั้นโปรดแยกประเด็นให้ถูกว่า ถ้าเป็นเรื่องจริง ที่ “เห็นยังเป็นพระอยู่” นั่นก็เพราะยังไม่มีใครเปิดเผย คือเพราะสังคมยังไม่รู้ความจริง   สมัยนี้ ถ้ามีคนแต่งตัวเป็นพระ พาผู้หญิงไปแนะนำกับใครๆ ว่า “นี่ภรรยาของอาตมา” จะไม่มีใครยอมรับเป็นอันขาดว่า-นั่นเป็นพระ 

เพราะอะไร ก็เพราะเราในสมัยนี้ยังมีความรู้ประจักษ์ใจกันว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีเมียไม่ได้   ไม่ต้องถึงขนาดประกาศว่าเป็นเมีย แค่รวมเพศ เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าขาดจากความเป็นพระไปแล้วทันที   ไม่ต้องถึงขนาดเรื่องมีเมียอันเป็นอันติมวัตถุ-พ้นจากความเป็นพระเด็ดขาด แค่สงสัยเรื่องเงินทอนวัด เรายังจับบังคับสึก ยัดเข้าคุก ไม่มีอนาคตอยู่จนวันนี้   ก็แล้วทำไมเล่า สังคมในยุค “กาสาวกัณฐะ” ก้าวที่ ๕,๐๐๐ ในอนาคต พระมีลูกมีเมียโทนโท่โชว์สังคม สังคมจึงยอมรับกันว่า-นั่นเป็นพระ 

มันก็เหมือนพระขับรถ พระอยู่กุฏิหรูยิ่งกว่าบ้านคน คนโบราณเขารังเกียจว่า-ไม่ใช่พระ   แต่เราสมัยนี้ก็ยังพากันยอมรับว่า-นั่นเป็นพระ   ลองคิดเทียบดูเถิด - ใช่หรือไม่? 

ถ้าพระมีเมีย เราสมัยนี้จะไล่ตะเพิดทันทีว่า-ไม่ใช่พระ   แต่สังคมยุค “กาสาวกัณฐะ” ผู้คนพากันยอมรับว่า-นั่นเป็นพระ   ฉันใดก็ฉันนั้น 

ในที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่า การไม่ศึกษาพระธรรมวินัยนั่นเองคือรากเหง้าแห่งความเสื่อม  จาก-ไม่ศึกษา ขยายไปสู่-ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เห็นว่าการทำเช่นนั้นเป็นโทษเป็นผิด   พระอุ้มแม่ อาบน้ำให้แม่ ป้อนข้าวแม่ กอดแม่   คนสมัยนี้ส่วนหนึ่ง-ซึ่งนับวันจะมีมากขึ้น-พากันสรรเสริญชื่นชมยินดีว่าท่านเป็นลูกที่ประเสริฐแท้   ก็เพราะเขาไม่รู้ว่านั่นเป็นการทำผิดพระวินัย   และที่ไม่รู้ก็เพราะไม่ได้เรียน

เอาละ บางส่วนก็รู้ แต่ไม่เห็นว่าการทำเช่นนั้นจะเสียหายอะไร ซ้ำบางทียกเหตุผลมาอ้างหักล้างเสียด้วย นั่นก็คือ-ไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

ยิ่งเวลานี้พระเณรขาดความอุตสาหะในการศึกษาพระธรรมวินัย-พูดกันตรงๆ ว่าไม่เรียนพระธรรมวินัย ก็ยิ่งไปกันใหญ่   ชาวบ้านน่ะไม่ค่อยจะรู้อยู่แล้ว พระเณรมาซ้ำไม่รู้เสียเองเข้าไปอีก ก็ยิ่งไปกันใหญ่  ท่านผู้ใดยังไม่เคยศึกษาเรื่อง “กาสาวกัณฐะ” ขอแนะนำให้รีบไปหามาศึกษากันไว้เถิด

แต่ไม่ว่าอะไรจะเป็นอย่างไร หลักสำคัญที่ชาวพุทธจะต้องยึดไว้ให้มั่นคงก็คือ คารวธรรม - อย่าขาดคารวธรรมเป็นอันขาด

พุทธคารวตา ธัมมคารวตา สังฆคารวตา   สิกขาคารวตา สมาธิคารวตา ปฏิสันถารคารวตา

คารวธรรมยังมั่นคงอยู่ในใจตราบใด  สังคมพุทธก็จะมั่นคงอยู่ในแผ่นดินไทยและในโลกตราบนั้น

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย,  ๕ กันยายน ๒๕๖๔,  ๑๓:๒๖





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: